"ธรรมกาย"ในพระพุทธศาสนา

คำว่า "ธรรมกาย" นอกจากจะปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว ยังปรากฏอยู่มากมายในคัมภีร์ และพระสูตรทางพระพุทธศาสนามากมายในต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมิใช่ประเทศเดียวที่นับถือพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกจึงมิได้เป็นเอกสารทางพระพุทธศาสนาเพียงชิ้นเดียวที่เพียงพอจะ พิสูจน์ทั้งหมดของพระพุทธศาสนาได้ และเช่นเดียวกัน ถ้าหากจะกล่าวว่า ธรรมกายเป็นของพุทธฝ่ายมหายาน มิได้เป็นของฝ่ายเถรวาท ก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะธรรมกายปรากฏอยู่เด่นชัดมาก่อนเกิดการแบ่งแยกออกเป็นสงฆ์ฝ่ายมหาสังฆิกะกับเถรวาทเสียด้วยซ้ำ ที่อ้างได้เช่นนี้เพราะว่าในอโศกวัฒนะ อันเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของมหาธรรมราชาอโศกมหาราชพระองค์นี้ ได้กล่าวถึงคำว่าธรรมกายและภาวะแห่งธรรมกายไว้ชัดเจนว่า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นประกอบด้วยกายทั้งสองคือ
พระรูปกาย หมายถึง กายที่มีลักษณะครบถ้วนตามลักษณะของพระมหาปุริสลักษณะ
พระธรรมกาย คือ กายภายในที่เกิดจากการตรัสรู้ธรรมของพระองค์

อีกทั้งการสร้างพุทธเจดีย์ของพระองค์ ก็มุ่งสร้างเพื่อบูชาแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ และเพื่อบูชาพระธรรมกายด้วย โดยการสร้างเจดีย์ทรงกลมขึ้นมาแทนดวงธรรม หมายถึงธรรมกาย และแทนพระรูปกายด้วยพระสรีรังคาร จึงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าธรรมกายมีมาแล้ว และเป็นที่รู้จักเข้าใจดีในสมัยนั้น และยังเข้าถึงได้อีกด้วย เช่น พระดำรัสของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ว่า ทรงทำสมาธิเข้าไปเห็น เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยการผ่านการเห็นของพระธรรมกาย -By the vision of Dharmakaya คำนี้เท่ากับเป็นการตอกย้ำอีกด้วยว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเองก็ทรงเข้าถึงสภาวะแห่งธรรมเบื้องต้น ด้วยการปฏิบัติธรรม

จากการศึกษาพบว่า สายการสอนการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นมีพระสงฆ์นิกายหนึ่งซึ่งต่อตรงมาจากพระมหากัสสปะ และพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ชื่อว่า สรวาสติวาท (Saravastivada) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระไวภาษิก (Vaipasika) ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่พระอุปคุปตะ พระอรหันต์คู่พระทัยของพระเจ้าอโศกมหาราชได้รับการถ่ายทอดมา ดังนั้นที่ปรากฏมีกล่าวถึง "ธรรมกาย" ในอโศกวัฒนะ และธรรมกายในการสร้างพุทธเจดีย์ จึงเป็นสิ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงได้รับการสั่งสอนจากพระอุปคุปตะ ผู้เป็นศิษย์ของสรวาสติวาท เท่ากับสรุปได้ว่า พระในสรวาสติวาทเป็นพระที่รู้และเข้าใจเรื่องธรรมกายเป็นอย่างดี จึงสามารถสอนศิษย์ผู้กล้าแข็ง เช่น พระเจ้าอโศกมหาราชให้ทรงยอมรับ และเข้าพระทัยในความเป็นธรรมกายอย่างซาบซึ้งได้เช่นนี้

ณ จุดนี้ทำให้สามารถมองย้อนขึ้นไปได้ว่า เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช เข้าถึง รู้จัก เข้าใจธรรมกายโดยการสอนของพระอุปคุปตะ สายสรวาสติวาท ดังนั้นสรวาสติวาทย่อมรู้จัก และเข้าใจธรรมกาย ส่วนพระในสรวาสติวาท นั้นเองเล่าก็เป็นศิษย์ของพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ดังนั้นพระอานนท์จึงย่อมรู้จักและเข้าใจในธรรมกายดี อีกทั้งพระอานนท์เองก็เรียนรู้มาอีกทีจากพระมหากัสสปะพระอรหันต์เถระในช่วงพุทธกาล จึงเท่ากับเป็นการพิสูจน์ได้แล้วว่า ธรรมกายนั้นมีมาเนิ่นนานนับเนื่องจากพุทธกาลเป็นต้นมา ธรรมกายจึงมิได้เป็นของฝ่ายมหายาน ฝ่ายเถรวาทหรือฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ธรรมกายกลับเป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนาที่ถูกนำมาสอนถ่ายทอดกันต่อๆ มาอีกนับร้อยปี

แม้ในประเทศศรีลังกา ประเทศที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือว่าเป็นต้นกำเนิดของเถรวาทในเมืองไทย ก็เป็นพระพุทธศาสนาที่รับการเผยแผ่โดยตรงมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช ธรรมกายจึงเป็นที่เข้าใจดีในหมู่พุทธศรีลังกา มิฉะนั้นในสมัยหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระชาวศรีลังกา จำนวนมากมายคงจะไม่มุ่งหน้าเข้ามาศึกษา หากว่าท่านเหล่านั้นไม่คุ้นเคยและไม่รู้จักคำว่า "ธรรมกาย"

ส่วนการสร้างเจดีย์ ตามประวัติศาสตร์ต่างพบว่าเจดีย์สำคัญหลายต่อหลายแห่งสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์กับพระธรรมกาย เป็นสัญลักษณ์แห่งธรรมกาย เช่น บรมพุทโธ พุทธเจดีย์ยิ่งใหญ่ที่นักวิชาการเชิงพุทธพยายามจะหาคำอธิบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำว่า "The Dharmakaya Stupa" ซึ่งการศึกษาบรมพุทโธนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่าศึกษามากที่สุดคือ พอล มุส (Paul Mus) ผู้ให้นิยามการสร้างบรมพุทโธว่าเป็น The Theory of Dharmakaya เลยทีเดียว ณ จุดนี้ คือความเจริญรุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัดในหลักฐานของศึกสามนครของไทยเรา คำว่า ธรรมกาย ก็ยังคงมี และยังคงดำเนินด้วยดีอยู่ใน ศรีวิชัย อาณาจักรที่เรืองอำนาจหนักหนาในเส้นทางการค้าเครื่องเทศ หรือเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นจุดที่พระจีนเมื่อจะเดินทางไปศึกษาต่อในนาลันทา ต้องมาพักเพื่อการเรียนภาษาสันสกฤตที่นี่ และสำหรับนาลันทานั้นเป็นพุทธมหาวิทยาลัยยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ และคำว่าธรรมกายก็มีที่นั่น และจะต้องมีมากมาย มิฉะนั้น จีนกับธิเบตจะเอาคำว่าธรรมกายไปจากไหน ในเมื่อพระส่วนใหญ่ของจีนจบไปจากนาลันทา

ย้อนกลับมาที่พระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เชิ้อสายซิเตียน (Scythian ชาวอินเดียรู้จักชนเผ่านี้ในชื่อว่า ศกะ - Sakas) ผู้ทำการสังคายนาพระพุทธศาสนาอีกครั้งก่อนส่งเข้าไปในจีนและกัสมิระ (แคชเมียร์) กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นลูกศิษย์ของพระสรวาสติวาทด้วยเหมือนกัน จึงเป็นการยืนยันได้ว่าการสังคายนาครั้งนั้น คำว่าธรรมกายเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นพระพุทธศาสนาในกัสมิระ ธิเบตและจีนนั้นมีคำว่าธรรมกายอยู่มากมาย ถ้าไม่ถูกส่งไปจากพระเจ้ากนิษกะมหาราชแล้วจะมาจากไหน จึงพิสูจน์ได้อีกชั้นหนึ่งว่า ธรรมกายมีอยู่อย่างเฉิดฉายในสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราชแห่งอินเดียตอนเหนือผู้เรืองนาม ผู้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ประมาณพุทธศักราช 500-600

ถ้าจะให้นิยามคำว่าธรรมกายนั้นก็สามารถหาได้จากหนังสือมากมายที่ค้นคว้าและเขียนไว้โดยนักวิชาการเชิงพุทธชาวตะวันตก เช่น Adrian Snodgrass นักเจดีย์วิทยาคนเดียวของโลก DT. Suzuki, Dwight Goddard, Austin Waddell, Alan W. Watt. หรือที่จะพอดูกันได้ง่ายๆใน Shambhala Dictionary ทีให้คำแปล หรือให้นิยามธรรมกายไว้ว่า

"The Dharmakaya (body of the great order) : is the unity of the Buddha with everything existing. At the same time is represents the LAW (dharma) the teaching expounded by the Buddha"

ธรรมกาย คือการรวบรวมเข้าไว้ซึ่งมวลแห่งธรรมที่สามารถเข้าถึงได้ และในขณะเดียวกัน ธรรมกายยังหมายถึง ธรรมะที่เป็นคำสอนของพระพุทธองค์อีกด้วย

เกษมสุข ภมรสถิตย์

ประวัติย่อ คุณเกษมสุข ภมรสถิตย์

การศึกษา

  • อักษรศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU29
หน้าที่การงาน
  • ประธานบริษัท Trikaya Cultural & Academic Travel Service
  • ประธานบ้านมธุระ (Matura House of Meditation)
งานวิชาการ
  • ศึกษาเรื่องเจดีย์ทรงกลมร่วมกับ Dr. Adrain Anodgrass นักเจดีย์วิทยาที่มีชื่อเสียงชาวออสเตรเลียจาก University of Sydney
  • มีผลงานทางด้านปรัชญาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์พุทธศาสนาจำนวนมาก อาทิเช่น รูปแห่งพุทธะ, ใต้ร่มธุดงค์, นายก้านคนขายดอกบัว
  • ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษในการอบรม Body and Mind Solution ให้กับตันและลูกเรือบริษัทการบินไทย
  • เป็นผู้ชำนาญการพิเศษในเรื่องจิตวิทยาเด็ก
  • เป็นวิทยากรพิเศษในการอบรมหัวหน้าศาลผู้พิพากษา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘