คำถาม : วิชชาธรรมกาย ไม่ใช่วิธีทางพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

คำตอบ : ความสงสัยว่าวิชชาธรรมกาย (วิธีปฏิบัติสายธรรมกาย) นั้นไม่ตรงกับคัมภีร์ วิสุทธิมรรคนั้นขออธิบายดังนี้

ความจริงแล้ววิธีปฏิบัติธรรมตามแนววิชชาธรรมกายนั้น เป็นวิธีที่อยู่ใน 40 วิธี ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นวิธีประยุกต์ หลายท่านเลยคิดว่าไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่คุ้นเคยกันแต่วิธีกำหนดลมหายใจหรือ "อาณาปาณสติ" ที่นิยมกันแพร่หลาย ซึ่ง อาณาปาณสต ิก็เป็นแค่หนึ่งในหลายๆ วิธีเท่านั้น การทำสมาธิไม่ได้สามารถทำได้แค่วิธีเดียว

การปฏิบัติแนววิชชาธรรมกาย หากผู้ปฏิบัตินึกนิมิตเป็นจุดสว่างอาจเรียกว่าเป็น "อาโลกสิณ" หรือกสิณแสงสว่าง หนึ่งในกสิณ 10 แต่เป็นแบบประยุกต์ คือไม่ต้องเจาะรูข้างฝาให้แสงเข้าแบบโบราณ แต่ใช้ "ดวงแก้ว" หรือ "ดวงดาว" ในอากาศแทนจุดสว่างตามแบบโบราณ

หากใครนึกนิมิตเป็นองค์พระ(พระพุทธรูป) หรือ การภาวนา "สัมมา อะระหัง" หรือ "พุทโธ" ก็อาจเรียกว่าใช้วิธี "พุทธานุสติ" คือการระลึกถึงพระพุทธเจ้า หนึ่งในอนุสติ 10 ก็ได้

หรือหากใครวางใจเฉยๆ ณ. ศูนย์กลางกายอาจเรียก "กายคตาสติ" คือสติอยู่กับกายหนึ่งในอนุสติ 10 อีกก็ได้

การนึกนิมิตรดวงแก้วใสอาจเรียก "ธรรมมานุสติ" ก็ได้ เพราะดวงธรรมนั้นมีลักษณะคล้ายดวงแก้วกลมใส บริสุทธิ์ และธรรมะที่พระพุทธองค์ได้สอนสั่งนั้น เป็นนามธรรมที่อาจจะระลึกนึกถึงได้ยาก และธรรมะเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ เราก็อาจใช้ความใสสะอาดบริสุทธิ์ของดวงแก้ว แทนความบริสุทธิ์ของพระธรรมก็ได้

บางท่านอาจนึกนิมิตเป็นหลวงพ่อวัดปากน้ำ ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น "สังฆานุสติ" คือนึกคุณธรรมของพระสงฆ์เป็นอารมณ์

ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่า การบริกรรมนิมิต หรือ บริกรรมภาวนา ล้วนเป็นเพียงแค่อุบายหรือวิธีการทำให้ให้จิตเป็นสมาธิเท่านั้น และวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดสมาธินั้น ไม่ได้จำกัดว่าต้องแค่ 40 วิธีเท่านั้น แต่ควรจะเข้าใจว่าท่านพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่าน รวบรวม "ไว้ได้" 40 วิธีต่างหาก ไม่ใช่ "มีแค่" 40 วิธีเท่านั้น เพราะพุทธวจนะเองก็ไม่ปรากฏว่าจำกัดมีแค่ 40 วิธี

ตัวอย่างเช่น เราอาจใช้อย่างอื่นมาเป็นกสิณนอกจาก 10 อย่างก็ได้ เช่น ใช้เมล็ดงา เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวสาร ข้าวเปลือก ดอกไม้ ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ก็ได้ทั้งนั้น ตัวอย่างก็มีปรากฏมาแล้ว บางคนล้างกระโถนทุกวันใช้กระโถนเป็นนิมิตก็เข้าถึงธรรมกายได้ บางคนทำครัวทุกวันใช้กะทะเป็นนิมิต บางคนชอบพับดอกบัวใช้ดอกบัวเป็นนิมิต บางคนใช้ปอยผม บางคนใช้ดอกไม้ แม้ชาวคริสต์เขาใช้ไม้กางเขน ชาวอิสลามใช้คำภาวนาชื่อพระเจ้าของเขา ฯลฯ ก็ล้วนเกิดสมาธิเข้าถึงธรรมกายมาแล้วทั้งสิ้น

นอกจากนั้นอนุสติอย่างอื่น ปลงอสุภะแบบอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในวิสุทธิมรรคก็น่าทำได้มากมาย เช่นนึกถึงคุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณธรรมของตัวเอง ซากพืช ซากสัตว์ ซากแมลง แม้แต่ซากศพที่เหลือแต่ขี้เถ้าก็ควรจะใช้ได้ ฯลฯ (ซึ่งไม่ปรากฏในคัมภีร์เหมือนกัน)

ที่ทุกๆวิธี สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมดก็เพราะว่านี่เป็นเพียงแค่อุบายให้เกิดสมาธิเท่านั้น หลักสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อใจเป็นสมาธิดีแล้ว ก็จะเกิดดวงสว่างขึ้นเสมอ แม้วิธี "อาณาปาณสติ" ก็เช่นกัน เมื่อจิตละเอียดเป็นสมาธิดีแล้ว ก็จะเกิดดวงสว่าง วิ่งเข้าออกตามลมหายใจเช่นกัน (วิ่งไล่ตามฐานที่ตั้งของใจตั้งแต่ฐานที่ 1 ถึงฐานที่ 7) ซึ่งเมื่อได้ดวงสว่างแล้ว จะต้องน้อมเอาดวงสว่างนั้นมาตั้งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เสมอ จากนั้นจึงดำเนินจิตเข้าไปในกลางดวงสว่างนั้น ก็จะพบกับกายในกายไปตามลำดับ จนถึง "ธรรมกาย" ซึ่งเป็นแผนผังของชีวิตทุกๆชีวิต ไม่มีแตกต่างกันเลย

เมื่อรู้อย่างนี้ เราจึงไม่ควรไป่ยึดติดเพียงแค่วิธีที่ตำราเขียนไว้ แต่ควรให้รู้ถึงวัตถุประสงค์ว่าเขามีไว้ทำไมดีกว่า ถึงจะเป็นผู้ที่ฉลาดรู้ ฉลาดคิด จนสามารถนำไปประยุกต์หาวิธีที่ถูกจริตกับตัวเองได้ และสิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องนี้ น่าจะเป็นเรื่อง "ทุกข์" มากกว่า ว่า ทำอย่างไรเราท่านถึงจะกำจัดกิเลส ให้พ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่หรือ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘