เกี่ยวกับเรา

ความเป็นมา

เมื่อ ๒๖ ปีก่อน...



มีคนหนุ่ม ๖๐ คนได้กระทำการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เอาตนเอง เป็นเครื่องทดสอบ ใช้ห้องแล็ป คือ กลดหลังน้อยบนท้องนาอันเวิ้งว้างแตกระแหงแห้งผาก ณ ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม (วัดพระธรรมกาย) ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมุ่งมั่นที่จะแสวงหาสัจธรรม เพื่อขจัดข้อโต้แย้งที่คลางแคลงใจเกี่ยวกับ
การฝึกสมาธิ
หลังจากสมาทานธุดงค์ รักษาศีล ๘ ฝึกสมาธิวันแล้ววันเล่า ท่ามกลางลมร้อนเดือนเมษายน ในเวลากลางวัน และน้ำค้างที่หนาวเหน็บยามค่ำคืน มีขี้ใต้ต่างแสงนีออน มีกลดเป็นห้องนอน และมีเสื่อกกอีก ๑ ผืนต่างฟูกไว้พักพิง
๑๕ วันผ่านไป เมื่อสิ้นสุดการอบรม คนหนุ่มทั้ง ๖๐ คน แม้จะเกรียมแดด แต่แข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ พวกเขาได้เรียนรู้ไม่เพียงแต่สิ่งที่อยากรู้ แต่ยังเรียนรู้ และได้ทำหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ไม่เคยคอดคิดมาก่อนว่าตนจะทำได้
จากปากต่อปาก จากเพื่อนสู่เพื่อน จากพี่ถึงน้อง ถ้อยคำเชิญชานให้เข้ารับการอบรมธรรมทายาทได้แพร่สะพัดขยายกระจายไป และแล้ว จากวันนั้นถึงวันนี้ เยาวชนอีกนับร้อยนับพัน ก็ได้มาพิสูจน์ตนเอง

จาก ๖๐ คน ในภาคฤดูร้อน ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ มาเป็นกว่า ๑,๐๐๐ คน ในฤดูร้อนปีพ.ศ. ๒๕๓๒ และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ การอบรมธรรมทายาท ได้เพิ่มหลักสูตรเป็นระยะเวลา ๒ เดือน ใน ๑ เดือน แรกเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกระเบียบวินัย มารยาท เพื่อเตรียมบวช ผู้ที่ผ่านหลักสูตรจึงจะได้บรรพชา อุปสมบท และบำเพ็ญสมณธรรมอีก ๑เดือน

โครงการอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน เป็นโครงการปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เยาวชนของชาติตามพุทธวิธี ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียวในการนำมาใช้พัฒนาเยาวชนของชาติอย่างได้ผล โดยใช้เวลาในช่วงการปิดภาคฤดูร้อนของทุก ๆ ปี รับสมัครนิสิตนักศึกษาชาย เข้ามาฝึกฝนตนเองด้วยการปักกลดอยู่ธุดงค์ ฟังธรรม รักษาศีล ๘ อย่าง เคร่งครัด(แต่ไม่เคร่งเครียด) และฝึกสมาธิอย่างจริงจังติดต่อกันเป็นเวลา ๑ เดือน เพื่อเตรียม กาย และใจให้พร้อมที่จะบวช


ธรรมทายาท คือ ใคร

โดยคำแปลแล้ว
ธรรมทายาทคือ ผู้รับมรดกธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยความหมาย
ธรรมทายาทคือ ผู้ตั้งใจฝึกหัดอบรมตนตามคำลั่งสอนของ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด มีความประพฤติดีงาม ชนทั้งหลายสามารถถือเป็นตัวอย่างได้ ยอมสละความสุขส่วนตนทางโลก อุทิศชีวิตเข้ารับใช้พระศาสนา สังคมและประเทศชาติด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังเอาลาภ ยศ สรรเสริญ และ ประโยชน์สุขส่วนตัวเป็นสิ่งตอบแทน แต่มุ่งที่จะประกอบบุญกุศล สร้างสมบารมี ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยเมื่อยังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่
การที่จะบำเพ็ญตนดังนี้ได้ จำเป็นต้องหมั่นศึกษาฝึกฝนอบรมตนให้มีความรู้ความสามารถทั้งทางโลกและทางธรรม และสร้างนิสัยความเป็นผู้นำ ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองด้วย
ธรรมทายาทที่แท้จริงจึงจำเป็นต้องฝึกหัดอบรมตนเอง ให้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

- ต้องตั้งใจศึกษาหาความรู้ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ให้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต ทั้งทางโลก และทางธรรม

- ต้องมีหิริ โอตตัปปะ ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบ ประกอบความเพียร เพื่อให้กายและใจใสสะอาดอยู่เป็นนิตย์

- ต้องฝึกตนให้เป็นผู้มีขันติ เข้มแข็ง อดทน อดกลั้นต่ออำนาจ ฝ่ายต่ำของกิเลส

- ต้องฝึกตนให้เป็นคนรักสงบ รังเกียจการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การรังแก เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

- ต้องสำรวมระวังความประพฤติให้ดีงาม รักศีลยิ่งกว่าชีวิต ฝึกอบรมกิริยามารยาทให้เรียบร้อยอยู่เสมอ

- ต้องฝึกตนให้เป็นคนรู้จักประมาณตน ไม่เห็นแก่กิน ไม่ฟุ่มเฟือย หรูหรา

- ต้องตั้งใจสละความสุขส่วนตัวประพฤติพรหมจรรย์ คือเว้นจาก การเสพย์กามและครองเรือนเยี่ยงคนคู่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะ
บวช หรือไม่ก็ตาม

- ตั้งใจฝึกสมาธิให้แก่กล้ายิ่งขึ้น โดยไม่ทอดธุระ

- ต้องตั้งอยู่ในความกรุณาอันยิ่งใหญ่ สามารถอุทิศตนเข้ารับใช้สังคม และประเทศชาติ ด้วยการนำเอาคำสั่งสอนอันประเสริฐของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไป
ประกาศเผยแผ่ให้ชาวโลกเกิดความเห็นถูกเป็นการจัดแสงสว่างทางปัญญา ส่องวิถีทางที่ถูกต้องสู่มรรคผล นิพพาน อันเป็นเป้าหมายปลายทางของทุกคน


ทางก้าวใหม่คนรุ่นใหม่


นานเท่าไหร่แล้วนะ ที่เราเดินทางมา และจะไกลสักเท่าไรหนอ ที่เราจะต้องเดินต่อไป มีเส้นทางมากมายในชีวิตให้เราเลือกเดิน บางเส้นทางขรุขระ สูงชันเต็มไปด้วยขวากหนาม บางเส้นทางกลับราบเรียบ ว่างเปล่า แต่จะมีเส้นทางไหนเล่า ที่สามารถนำพวกเราไปสู่เป้าหมายชีวิตที่แท้จริง

จากวันผันเปลี่ยนเป็นเดือน นานนับ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว เส้นทางสายนี้ ได้ถูกถากถาง เป็นทางแก่ผู้สืบสานรุ่นแล้วรุ่นเล่า ต่อ ๆ กันไป เส้นทางสายนี้ ได้นำพาเราไปสู่จุดหมายที่สำคัญ เป็นความทรงจำที่ผู้เดินผ่านไปแล้วภูมิใจทุกครั้งที่ระลึกถึง จากจุดเริ่มต้นที่มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่มั่นคง ความตระหนักถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนา การอบรมธรรมทายาทจึงกำเนิดขึ้น ด้วยอุดมการณ์อันชัดเจนว่าการสร้าง
คนให้เป็นคน สร้างพระให้เป็นพระ เป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ตะวันสีทอง... ส่องแสงเรืองรองจับขอบฟ้า เสียงระฆังดังขึ้น นับเป็นสัญญาณของเช้าวันใหม่ เช้าของการฝึกฝนตนเอง เพื่อจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ตลอดระยะเวลา ๑ เดือน ดูสงบเรียบง่ายแต่งามสง่าแฝงไว้ด้วยความศรัทรา อย่างน่าประหลาด การอยู่กลด รักษาศีล ๘ และการฝึกสมาธิเตรียมพร้อมตนเองเพื่อความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ คำว่า ลูกผู้ชายพิสูจน์กันได้ตรงนี้นี่เอง มิได้พิสูจน์กันด้วยกำลัง หรือสิ่งต่าง ๆแต่ด้วยใจของเราเอง นี้สิจึงจะเรียกได้ว่าลูกผู้ชายที่แท้จริง

การ
บวช คือ การยกฐานะของผู้นับถือพระรัตนตรัยขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นสิ่งประเสริฐยิ่งของมนุษยชาติ เป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน
ผู้ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรครบ ๑ เดือน จะได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท บวชเป็นพระภิกษุธรรมทายาท ณ วัดพระธรรมกาย หลังจากนั้น ก็จะเข้ารับการฝึกฝนอบรมต่อ อีก ๑ เดือน เพื่อตอกย้ำความรู้ ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา ทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ ฉะนั้น พระภิกษุธรรมทายาท จึงมิได้บวชอย่างที่เรียกว่า ทำตามขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่ใช่เป็นเพียงการไปจากบ้านเรือนและเลิกนุ่งห่มแบบฆราวาสเท่านั้น แต่เป็นการบวชทั้งกายและใจ เพื่ออบรมตนให้เปี่ยมล้นด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แม้ลาสิกขากลับไปครองเพศฆราวาส ก็ยังเป็นผู้ที่มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม มีความรู้คู่คุณธรรม พร้อมที่จะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองความผ่องใสในผ้ากาสาวพัสตร์ ด้วยใจที่ตรึกนิ่งในธรรม ทั้งหมดนี้จะถูกถ่ายทอดลงในดวงใจของพ่อแม่ ได้ลึกเกินกว่าคำบรรยายใด ๆ แม้วันที่ตราตรึงใจไม่รู้ลืม...หลับตาลง แล้วลองนึกถึงกระแสแห่งความสุขที่ไหลริน มาสู่ดวงใจของพ่อแม่ขณะมองลูกชายของตน ครองกายด้วยผ้ากาสาวพัสตร์อันเรืองรอง และนี่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของเราที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนาธรรมทายาททางก้าวใหม่ของคนรุ่นใหม่ ผู้มุ่งแสวงหาสาระที่แท้จริงให้กับชีวิต แทนการลองผิดลองถูก ผู้พัฒนาฝึกฝนตนเองเป็นบัณฑิต ให้เพียบพร้อมด้วยความรู้ทางโลก และทางธรรม ผู้ที่สามารถก้าวไปสู่สังคมด้วยความเชื่อมั่น อิ่มเอมใจ ด้วยผลแห่งการกระทำของตนเอง ด้วยคำสัญญาที่พรูพรั่ง จากกลางปัญญาอันสว่างแล้วในใจ ว่าจะเป็นบุคคลอันอำไพ ผู้ยังประโยชน์แด่มนุษย์ทุกคน

...ธรรมทายาท ทางสายใหม่ของทุกคน

วัตถุประสงค์การอบรม


๑. เพื่อเป็นการอบรมการฝึกสมาธิอย่างถูกต้อง ณ สถานที่อันร่มรื่น เหมาะสมกับการฝึกสมาธิภายใต้การดูแลของคณะครูสอนภาวนาผู้ปฏิบัติได้ผลดีแล้ว

๒. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ในการฝึกอบรมตนเองให้เป็นผู้ที่มีความอดทน มีความตั้งใจมั่นคงและมีความเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ

๓. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นการขจัดข้อสงสัย ข้อโต้แย้งนานาประการเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ และหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

๔. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม สามารถนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม

๕. เพื่อสร้างธรรมทายาท ผู้เป็นทายาททางธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ ไม่งมงาย ไม่ยึดมั่นในสิ่งผิดเป็นผู้มีสติ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นผู้มีคุณธรรมเพียบพร้อม ครบครัน ทั้งปัญญาทางโลกและทางธรรม



E-mail : info@dmycenter.com This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘