บทที่ 8.8: การบรรลุมรรคผลนิพพาน: สามัญญผลลำดับที่ ๗

ามัญญผลลำดับที่

เมื่อ ผู้เจริญภาวนาสามารถประคองจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ขึ้นไปอีก จิตย่อมบริสุทธิยิ่งขึ้น ผ่องแผ้ว สุกสว่างยิ่งขึ้นอีก ย่อมปราศจากกิเลสและอุปกิเลส จึงยิ่งทวีประสิทธิภาพในการงานยิ่งขึ้นอีก ยังผลให้บรรลุญาณซึ่งสามารถทำให้เล็งเห็นการเกิดและการตายของหมู่สัตว์ ทั้งหลาย สามารถเล็งเห็นความแตกต่างของเหล่าสัตว์โลก อันเป็นไปตามอำนาจกรรมซึ่งตามนุษย์มองไม่เห็น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

ภิกษุ นั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวลควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ (การตาย) และอุบัติ (การเกิด) ของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุอัน บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ที่ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกาย แตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว็ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

มหาบพิตร เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ท่ามกลางทาง ๓ แพร่ง บุรุษผู้มีจักษุยินอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าบ้านบ้าง ออกจากบ้านบ้าง เดินอยู่ตามถนนบ้าง นั่งอยู่ท่ามกลาง ๓ แพร่งบ้าง เขาจะพึงรู้ว่าคนเหล่านี้เข้าบ้าน คนเหล่านี้ออกนอกบ้าน คนเหล่านี้เดินตามถนน คนเหล่านี้นั่งอยู่ท่ามกลางทาง ๓ แพร่งฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวลควรแก่การงาน ตั้งมั่นมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว็ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ... ด้วย ทิพยจักษุอัน บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ มหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

ญาณที่ทำให้สามารถเล็งเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของหมู่สัตว์ ตลอดจนกฎแห่งกรรมนี้ มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า ทิพยจักษุหรือ จุตูปปาตญาณ หรือ ตาทิพย์ นั่นเอง

------------------------------------------------

สามัญญผลสูตร ที.สี ๙/๑๓๗/๑๐๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘