หลักฐาน"ธรรมกาย"ทางพุทธศาสนา ( 5 )

จากคัมภีร์ และศิลาจารึก
13. ศิลาจารึกเมืองพิมาย พิมพ์เป็นเล่มชื่อ จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แปลได้ความว่า
" ขอความนอบน้อม จงมีแด่ พระพุทธเจ้า ผู้มีนิรมานกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย ผู้ล่วงพ้นภาวะและอภาวะทั้งสอง ผู้มีอาตมันเป็นสองและหาอาตมันมิได้"

ความเห็น : จารึกนี้แม้เป็นคติของมหายาน ผู้ที่ศึกษาเรื่อง ตรีกายมาบ้าง คงจะพอเข้าใจ ว่าพระพุทธเจ้ามีสามกาย คือ สัมโภคกายคือกายเนื้อ(รูปกาย)ของพระพุทธเจ้า ธรรมกายคือกายที่ตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า นิรมานกายคือกายที่พระพุทธเจ้าทำปาฏิหารหรือเนรมิต ขึ้น ซึ่งหากมองตามหลักวิชชาธรรมกายแล้ว การบอกว่าประพุทธเจ้า มีสามกายก็ไม่ผิดแต่อย่างใดเลย เพียงแต่กายที่เป็นตัวตน (อัตตา)ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคือ ธรรมกายเท่านั้นเอง กายอื่นๆ ยังล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ซึ่งต่อไปผมจะนำเอาหลักฐานเรื่องธรรมกายจากทางฝั่งมหายานให้ท่านได้ศึกษาต่อไป

14. คัมภีร์วิสุทธิมรรค รจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ประมาณ ปี พ.ศ. 1000 ความว่า
" …อันว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ ผู้ทรงสวัสดิภาคย์เป็นอันงามนั้น พระองค์มีพระรูปพระโฉม พระสรีรกายอันวิจิตรด้วยทวัตติงสะมหาบุรุษลักษณะ และพระอสีตยานุพยัญชนะ 80 ทัศ ประเสริฐด้วย พระธรรมกาย อันบริบูรณ์ด้วยแก้ว อันกล่าวแล้วคือ พระสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ อันบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง…"

ความเห็น : จากวิสุทธิมรรคนี้ แสดงว่า พระพุทธเจ้า แม้งดงามด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการและ อนุพยัญชนะ 80 ประการแล้ว ท่านยังเข้าถึง ธรรมกาย ภายใน ซึ่งมีความประเสริฐ มีความใสสว่างดั่งกายแก้ว จะเห็นว่าที่ยกมาจากหลายๆคัมภีร์ จะกล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ประเสริฐด้วยรูปกาย แต่ประเสริฐด้วย ธรรมกายทั้งสิ้น และในที่นี้กล่าวว่า พระธรรมกายยังบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ ซึ่งตรงกับหลักการปฏิบัติธรรมตามแนววิชชาธรรมกายอีกด้วย ที่การเข้าจะถึงกายแต่ละกายหรือธรรมกายนั้น จะผ่านดวงธรรม 6 ดวง คือ ดวงธรรมฯ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก่อนเสมอ

15. หลักศิลาจารึกพระธรรมกาย จารึกเมือ่ปี พ.ศ. 2092 พบที่พระเจดีย์วัดเสือ อ.เมือง จ.พิษณุโลก (จากหนังสือ พระสมถะวิปัสสนากรรมฐานแบบโบราณ) ความว่า
" พระพุทธลักษณะคือ พระธรรมกาย มีพระเศียรอันประเสริฐคือ พระสัพพัญญุตญาณ มีพระเกศางามประเสริฐคือ พระนิพพาน อันเป็นผลอารมณ์แห่ง สมาบัติ มีพระนลาฏอันประเสริฐคือ จตุตถฌาน มีพระอุนาโลมอันประเสริฐ ประกอบด้วยพระรัศมี คือพระปัญญาในมหาวชิรสมาบัติ…

พระพุทธลักษณะคือ พระธรรมกายนี้ อันโยคาวจรกุลบุตรผู้มีญานอันกล้า เมื่อปรารถนาแห่งภาวะแห่งตน เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกเนืองๆ…

…จึงตั้งจิตต์พิจารณาดูธรรมกายในรูปกาย ด้วยการดำเนินในโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ จนจิตต์รู้แจ้งแทงตลอดรูปธรรมและนามธรรมได้แล้ว จักมีตนเป็นที่พึ่ง จักมีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้

…พระโยคาวจรผู้รู้ว่าธรรมกายดำรงอยู่ในหทัยประเทศแห่งสรรพภูติ ทำให้หมุนดั่งว่าหุ่นยนต์ ท่านจึงตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาญาณ เพื่อให้ถึงธรรมกาย เป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมโดยสิ้นเชิง ถึงสถานอันสงบระงับ ประเสริฐเที่ยงแท้ เพราะด้วยอำนาจของธรรมกายนั้นอมตะ…."

ความเห็น : ความนี้สนับสนุนว่า ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือการเข้าถึงพระธรรมกาย ได้สัพพัญญุตญาณ เข้าถึงพระนิพพาน ได้ฌานสมาบัติ เป็นต้น การพิจารณาธรรรมกายในรูปกาย ก็คือการ เจริญสติปัฏฐานสี่ คือการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมนั่นเอง เมื่อใดสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ ก็จะพบที่พึ่งที่แท้จริง เป็นที่พึ่งที่ประเสริฐ เพราะธรรมกาย เป็นอมตะ เป็น นิจจัง สุขัง อัตตา

16. คัมภีร์ ลิ่ว จู่ ถั๋น จิง วู้ ซื่อ สมัยราชวงศ์ถัง ความว่า
" ธรรมกายเป็นทางเอกที่ไร้รูป ใส สะอาดบริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่ขบคิดด้วยปัญญาไม่ได้…
… มาเถอะกัลยาณมิตรทั้งหลาย เรื่องประพฤติธรรมนี้ ต้องเริ่มที่ใจของเรา ไม่ว่าเวลาใดๆ ตรึกนึกภาวนา ทำใจตนเองให้ใสบริสุทธิ์ ปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง เห็นธรรมกายของตนเอง เห็นจากพุทธะที่อยู่ในใจของเรา ทำตนให้หลุดพ้น รักษาศีลด้วยตนเอง เริ่มต้นผิดจากนี้ไปมิได้… "

ความเห็น : ทางพุทธฝ่ายมหายาน มีความเข้าใจเรื่องธรรมกายตกค้างเหลืออยู่มาก แต่เสียดายที่ ความรู้เรื่องการเข้าถึงได้สูญหายไปแล้ว ทางมหายานสามารถอธิบายได้ว่าธรรมกายมีสภาวะอย่างไร แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า มีรูปร่างเป็นอย่างไร เพราะขาดผู้ที่เข้าถึงได้มาเป็นระยะเวลานานนั่นเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘