หลักฐาน"ธรรมกาย"ทางพุทธศาสนา ( 3 )

จากคัมภีร์ และศิลาจารึก
5. คัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาต อรรถกถาปรมตฺถโชติกา ธนิยสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬา หน้า 39 แปลไว้ใน ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาต อรรถกถาธนิยสูตร เล่ม 46 หน้า 84 ความว่า
"ลำดับนั้นนายธนิยะเห็นแล้วซึ่ง ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยปัญญาจักษุ ด้วยศรัทธา ซึ่งตั้งมั่นแล้ว อันเกิดขึ้นแล้วในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลด้วยความเลื่อมใสที่ไม่คลอนแคลน ผู้มีหทัยอัน ธรรมกาย ตักเตือนแล้ว คิดแล้วว่า นับตั้งแต่อเวจีเป็นที่สุด จนถึงภวัครพรหม เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสีย คนอื่นใครเล่าจักบันลือสีหนาทที่มีกำลังเช่นนี้ได้ พระศาสนาของเราเสด็จมาแล้วหนอ ด้วยความดำริว่า เราตัดเครื่องผูกทั้งหลายได้แล้วและการนอนในครรภ์ของเราไม่มี
(ข้ามข้อความบางส่วน…..)
เพราะเหตุที่นายธนิยะพร้อมกับบุตรและภรรยาได้เห็น ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยโลกุตรจักษุ โดยการแทงตลอดอริยมรรค เห็นรูปกายของพระองค์ด้วยโลกิยจักษุ และกลับได้แล้วซึ่งสัทธา ฉะนั้นเขาจึงกล่าวว่า เป็นลาภของข้าพระองค์ไม่น้อยหนอ ที่ข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่า รูปกาย(กายเนื้อ)นั้นสามารถเห็นได้ด้วยโลกิยจักษุ อันเป็นตาที่ยังอยู่ในภพสาม เช่นตาเนื้อ ตาทิพย์ ตาพรหม แต่ยังไม่สามารถเห็น "ธรรมกาย" เพราะธรรมกายต้องเห็นด้วยตาที่เหนือโลก(โลกุตรจักษุ) ซึ่งเป็นตาที่อยู่นอกภพสาม ตาในที่นี้ คือปัญญาจักษุหรือญาณจักษุซึ่งก็คือตาของธรรมกายนั่นเอง นี่แสดงว่านายธนิยะได้เข้าถึงธรรมกายอรหัตแล้ว เพราะแทงตลอดในอริยมรรคแล้วและใช้ตาธรรมกายอรหัตของตน เห็นธรรมกายของพระพุทธเจ้าเช่นกัน และเป็นการยืนยันว่า ความเป็นพระพุทธเจ้าคือการที่ท่านเป็นธรรมกายและทุกคนมีธรรมกาย

6. สุตตันตปิฎก ขุทฺทกนิกาย อปทาน มหาปชาบดีโคตมีเถรี อปทาน เล่ม 33 หน้า 284 ความว่า
"ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิด
ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต
ธรรมกาย อันน่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว
หม่อมฉันให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนม อันระงับเสียซึ่งความอยากชั่วครู่
แม้น้ำนม คือพระสัทธรรมอันสงบระงับล่วงส่วน พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่มแล้ว"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่า นางมหาปชาบดีโคตมี ได้เข้าถึงธรรมกาย จากการสั่งสอนโดยพระพุทธเจ้า และยืนยันว่าธรรมกายไม่ได้มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถ้าได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง จากบทความนี้ อยากอธิบายให้ความเห็นเพิ่มเติม เพราะมีพระเถระบางท่านได้ยกคาถานี้มาประกอบเพื่ออธิบาย"ธรรมกาย" ว่าหมายถึง "หมวดหมู่ของธรรม" ผมยอมรับว่า "กาย" สามารถแปลว่า การประชุมกันหรือหมวดหมู่ได้ แต่หากดูการยกมาในคาถา จะเห็นได้ว่าเป็นการเปรียบเทียบ "รูปกาย" กับ "ธรรมกาย" ซึ่งการยกเปรียบเทียบแบบหนึ่งต่อหนึ่งนี้ ความหมายศัพท์ต้องเหมือนกัน คือ กายที่แปลว่า "Body" ไม่ใช่ แปลว่า"หมวดหมู่"แต่อย่างใด

7. สุตตันตปิฎก ขุทฺทกนิกาย อปทานปัจเจกพุทธาปทาน เล่มที่ 32 ข้อ 2 หน้า 20 แปลไว้ใน ขุทฺทกนิกาย อปทาน ปัจเจกพุทธาปทาน เล่มที่ 32 ข้อ 2 หน้า 11 ความว่า
" นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ทั้งมวลได้ มีจิตโสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบดังราชสีห์ เช่นกับนอแรด"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่าผู้ใดก็ตามหากสามารถเจริญวิปัสสนา จนสามารถถอนความยึดมั่นถือมั่น (ในขันธ์ห้าได้) ก็จะสามารถเข้าถึงธรรมกายอรหัต หากไม่ได้เป็นพระสาวก ของพระพุทธเจ้าองค์ใด ก็จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และจากการที่กล่าวว่า มีธรรมกายมาก แสดงว่าธรรมกายไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีมากมายนับอสงไขยไม่ถ้วน ดังที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนไว้ทุกประการ มีจิตอิสระ แสดงว่าเมื่อบรรลุนิพานแล้ว จิตไม่ได้หายไป (สุญตา) อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่จิตจะเป็นอัตตาคือเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอะไรมาบังคับได้อีก จึงเป็นอิสระ มีสุขอย่างยิ่ง ซึ่งสนับสนุนว่า ธรรมกายและจิตของธรรมกายเป็นอัตตา

8. ขุทฺทกนิกาย จริยาปิฎก อรรถกถาปรมตฺถทีปนี ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า 324 แปลไว้ใน ขุทฺทกนิกาย จริยา อรรถกถาปกิณณกกถา เล่ม 74 หน้า 571 ความว่า
" อีกอย่างหนึ่งบารมีย่อมผูกสัตว์อื่นไว้ในตน ด้วยการประกอบคุณวิเศษ หรือบารมีย่อมขัดเกลาสัตว์อื่นให้หมดจดจากมลทินคือกิเลส หรือบารมีย่อมถึงนิพพานอันประเสริฐสุดด้วยคุณวิเศษ หรือบารมีย่อมกำหนด รู้โลกอื่น ดุจรู้โลกนี้ด้วยคุณวิเศษคือญาณอันเป็นการกำหนดแล้ว หรือบารมีย่อมตักตวงคุณมีศีลเป็นต้นอื่นไว้ในสันดานของตนเป็นอย่างยิ่ง หรือบารมีย่อมทำลายปฏิปักษ์อื่นจาก ธรรมกายอันเป็นอัตตา หรือหมู่โจรคือกิเลสอันทำความพินาศแก่ตนนั้น เพราะเหตุนี้จึงชื่อว่า ปรมะ สัตว์ใดประกอบด้วยปรมะดังกล่าวมานี้ สัตว์นั้นชื่อว่ามหาสัตว์"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่า ธรรมกายเป็นอัตตา และธรรมกายนั้นบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งมวล การสั่งสมบารมีก็เพื่อการเข้าถึงธรรมกายนั่นเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘