มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ทำบุญก่อนได้ก่อน


มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
ทำบุญก่อนได้ก่อน


ถ้าบุรุษจะพึงทำบุญไซร้ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

การเดินทางไกลในสังสารวัฏนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีเสบียงติดตัวไป เพื่อจะได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย มีความสมบูรณ์เพียบพร้อม ทำให้สามารถสร้างบารมีได้มากยิ่งกว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสร้างบารมีเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์เข้าสู่อายตนนิพพานด้วยแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีบุญใหญ่ไว้เป็นเสบียงหล่อเลี้ยงตนเองและหมู่คณะ ซึ่งบุญที่เราสั่งสมไว้นั้นจะกลั่นกลายเป็นดวงบุญติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลาง กายของเรา คอยส่งผลให้เป็นผู้ถึงพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ทำให้สร้างบารมีได้อย่างสะดวกสบายยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้นการสั่งสมบุญจึงเป็น เรื่องหลักของนักสร้างบารมี ผู้มีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

"ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย

ถ้าบุรุษจะพึงทำบุญไซร้ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้"

การสั่งสมบุญเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญเรื่องหนึ่งที่พวกเรา จะต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการทำภารกิจหน้าที่การงาน และการศึกษาเล่าเรียน เพราะบุญเป็นเครื่องหนุนนำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต ในธุรกิจการงานและสิ่งที่พึงปรารถนา ถ้า ไม่มีบุญมาหล่อเลี้ยง ดวงบุญในตัวจะมีน้อย เวลาจะทำสิ่งใดมักจะติดๆ ขัดๆ ไม่ได้รับความสะดวกสบายและยากที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจไว้ ให้รู้ว่าขณะนั้นกำลังบุญ ในตัวของเรามีน้อยแล้ว ต้องรีบขวนขวายในการทำบุญให้มาก ยิ่งๆ ขึ้นไป

บุญกุศลที่เกิดจากการให้ทานนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและเป็นสิ่งสำคัญที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ทั้งหลายให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะหนทางไปสู่อายตนนิพพานจะต้องมีทานบารมีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เพราะจะทำให้การสั่งสมบุญด้านอื่นๆ ได้รับความสะดวกสบายตามไปด้วย ถ้าหากเราไม่มีโภคทรัพย์สมบัติมากแล้ว เมื่อถึงคราวจะรักษาศีล หรือปลีกเวลามานั่งสมาธิเจริญภาวนา จะทำได้ยากลำบาก ทำได้ก็ไม่ดีเท่าที่ใจปรารถนา ดังนั้นคนมีปัญญาจึงต้องหมั่นให้ทานบ่อยๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศยกย่องพระอัญญาโกณฑัญญะ ให้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ทางด้านรัตตัญญู คือ ผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้บรรลุธรรมก่อนใครๆ ในบรรดาพระสาวกทั้งหมด เพราะเมื่อท่านทำบุญกุศลอะไร ท่านมักทำก่อนใคร เป็นประเภท ตุริตะตุริตัง สีฆะสีฆัง คือ รีบทำความดีโดยไม่มัวรอช้า โอ้เอ้ลังเลใจ ให้ทานเพื่อขจัดความตระหนี่ออกจากใจ เพราะกลัวว่าขณะที่กำลังมีศรัทธา เดี๋ยวความตระหนี่จะเข้ามาครอบงำ จิตใจเสียก่อน ต้องรีบฆ่าความตระหนี่ ตีกระหน่ำให้พ่ายแพ้ไป ไม่ให้งอกเงยขึ้นมา เหมือนตาลยอดด้วน ท่านอัญญาโกณฑัญญะทำอย่างนี้จนเป็นจริตอัธยาศัย
*เหมือนในสมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นพ่อค้าชื่อ มหากาล มีน้องชายคนหนึ่งชื่อว่า จุลกาล ผู้คนสมัยนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงขนาดที่ว่า ต้องต่อแถวกันถวายทาน วันหนึ่งชาวบ้านได้ถวายภัตตาหารหวานคาวแด่คณะสงฆ์ ซึ่งจาริกมาจำพรรษาอยู่ที่หมู่บ้านของท่าน มหากาลเห็นหมู่สงฆ์ผู้มีความสงบสำรวม จึงเกิดความศรัทธาอยากถวายทานบ้าง แต่ไม่มีเงินทองที่จะซื้ออาหารถวาย ท่านจึงปรึกษาน้องชายว่า จะเอารวงข้าวสาลีซึ่งกำลังเป็นน้ำนมอยู่ มาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระภิกษุ

จุลกาลเห็นว่า ไม่น่าจะต้องรีบทำอย่างนั้น รอให้รวงข้าวสุกเสียก่อน จึงค่อยถวายทานทีเดียวเลย แม้น้องชายจะคัดค้านอย่างไร แต่มหากาลก็ไม่ได้สนใจ ท่านคิดว่าขณะที่กำลังมีศรัทธานี้ ต้องรีบให้ทาน เพราะไม่อยากให้พลาดโอกาสที่จะได้บุญใหญ่ ดังนั้นท่านจึงขอแบ่งผลผลิตในส่วนของตนออกมา และให้คนงานช่วยกันผ่าท้องรวงข้าวสาลี นำมาทำเป็นข้าวยาคูผสมกับน้ำนม ถวายแด่พระสัมมาพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ด้วยความปลื้มปีติเบิกบานใจ

ในฤดูการทำนาในครั้งนั้น มหากาลได้ถวายทานรวมทั้งสิ้นถึง ๙ ครั้ง ทั้งในเวลาทำข้าวเม่า ช่วงเกี่ยวข้าว นวดข้าว จนกระทั่งขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง ตลอดฤดูทำนาครั้งนั้น ท่านรู้สึกเต็มอิ่มใจชุ่มอยู่ในบุญ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จึงได้ไปบังเกิดในสวรรค์ เสวยสุขอยู่ในเทวโลก พรั่งพร้อมไปด้วยสมบัติอันเป็นทิพย์ทุกอย่าง เมื่อลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท ได้สั่งสมบุญกุศลเรื่อยมา และเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพภูมิเท่านั้น

มาถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรา ท่านมาเกิดในตระกูลของพราหมณ์มหาศาลมีชื่อว่า โกณฑัญญะ ได้ รับการถ่ายทอดศิลปวิทยาจากบิดา จนเชี่ยวชาญในการดูลักษณะมหาบุรุษ หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน ท่านได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ในพราหมณ์ ๑๐๘ ท่าน ที่ได้รับเชิญให้ไปรับประทานอาหารในพระราชวัง

นอกจากนี้ท่านยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๘ ของพราหมณ์ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการทำนายลักษณะ พราหมณ์ ๗ ท่านตรวจดูลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ต่างทำนายว่า "ถ้าพระราชกุมารนี้อยู่เสวยราชสมบัติ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกบวช จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก"

ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่ม ตรวจดูพระลักษณะโดยละเอียดแล้ว ท่านยกนิ้วชูขึ้นนิ้วเดียว พลางทำนายว่า
"ลักษณะ อันประเสริฐเช่นนี้ มิใช่ลักษณะของผู้ครองเรือน เจ้าชายจักเสด็จออกบวช และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน"
ซึ่งก็เป็นไปตามคำทำนายของท่านจริงๆ เพราะปราสาททั้ง ๓ ฤดู ที่พรั่งพร้อมไปด้วยนางสนมกำนัล ก็ยังไม่อาจผูกพันเหนี่ยวรั้งเจ้าชายสิทธัตถะไว้ได้ เพราะบารมีที่สั่งสมมานั้นเต็มเปี่ยมแล้ว พระองค์จึงตัดสินพระทัยออกผนวช เพื่อแสวงหาหนทางหลุดพ้นในที่สุด
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์เป็นชุดแรก และ ด้วยบุญกุศลที่สั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติ ที่เมื่อจะทำบุญ ทำกุศล ท่านจะทำก่อนเสมอ ทำให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนาเป็นรูปแรก เมื่อพระพุทธเจ้าเทศน์ให้ฟังครั้งที่สอง ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็น พระอรหันต์ผู้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต

เราจะเห็นได้ว่า ความปรารถนาต่างๆ จะสัมฤทธิผลขึ้นมาได้นั้น ล้วนเกิดจากการประกอบเหตุไว้ดีแล้วทั้งสิ้น ใครปรารถนาผลอย่างไร ก็ประกอบเหตุอย่างนั้น เมื่อเรามีจิตศรัทธาปรารถนาที่จะสั่งสมบุญ และลงมือกระทำทันทีโดยไม่รอช้า เวลาบุญส่งผลย่อมได้รับอานิสงส์ก่อนใคร เช่นเดียวกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่นำมาแสดงในครั้งนี้
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. เรื่องพระอัญญาโกณฑัญญเถระ เล่ม ๓๒ หน้า ๒๔๑

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘