มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๔)

มงคลที่ ๘

มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๔)

เพราะฉะนั้นแล บุคคลที่มีตนเป็นใหญ่ควรมีสติเที่ยวไป
บุคคลที่มีโลกเป็นใหญ่ควรมีปัญญาและมีการเพ่งพินิจ
และบุคคลที่มีธรรมเป็นใหญ่
ควรเป็นผู้ประพฤติโดยสมควรแก่ธรรม
มุนีผู้มีความบากบั่นย่อมมีแต่ความเจริญ



พระโพธิสัตว์ตรัสถามโจทก์ว่า "ในเวลาที่นายคามณิจันท์ ตบตีภรรยาของเจ้า มีผู้รู้เห็นหรือไม่"
โจทก์กราบทูลว่า "ไม่มีพระเจ้าข้า"
ทรงถามว่า "ถ้าเช่นนั้นเจ้าจะให้เราทำอย่างไร"
เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าอยากได้บุตรคืนมาพระเจ้าข้า"

"ถ้าอย่างนั้น ท่านคามณิจันท์จงนำภรรยาของบุรุษนี้ไปไว้ในเรือนจนกว่านางจะมีครรภ์ และในเวลาที่นางคลอดบุตรแล้วจงนำบุตรมาคืนบุรุษนี้"
เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้ โจทก์ที่ฟังอยู่ถึงกับตะลึงตาเหลือก และเห็นท่าไม่ดีที่จะเสียภรรยาไป จึงคลานเข้าไปหมอบลงแทบเท้าของนายคามณิจันท์ อ้อนวอนว่าขออย่าให้เขาทำตามที่รับสั่งเลย แถมยังให้ทรัพย์แก่เขาอีกแล้วหลีกหนีไป
ลำดับนั้น คนเลี้ยงม้าซึ่งเป็นโจทก์คนที่สาม ก็เข้ามา กราบทูลว่า "ท่านนี้ได้ขว้างม้าของตนจนขาหัก"
นายคามณิจันท์ ปฏิเสธข้อหาที่ไม่ได้เจตนา เพราะเขาทำตามคำขอร้องของเจ้าของม้า และได้ชี้แจงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกระจ่าง ส่วนโจทก์ก็ยังยืนยันอยู่ว่า ตนไม่ได้บอกให้เอาก้อนหินขว้างม้า

พระโพธิสัตว์ทรงล่วงรู้เหตุผลทั้งหมด จึงดำริว่า เราต้องข่มขู่บุรุษนี้ แล้วก็ทรงตัดสินว่า "บุรุษผู้นี้บอกให้เขาขว้างม้าของตนแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้บอก มีความผิดเกิดขึ้นที่ปาก เพราะฉะนั้นท่านจงตัดลิ้นของบุรุษนี้เสีย แล้วเอาทรัพย์ของเรา พันหนึ่ง ชดใช้ค่าม้าของเขา"
เมื่อโจทก์ฟังคำตัดสินเช่นนั้นก็ตกใจกลัว กลับให้ทรัพย์แก่นายคามณิจันท์เพราะกลัวอาญา และรีบหนีออกจากที่วินิจฉัยไป

ต่อมาบุตรของช่างทำเสื่อลำแพนได้เข้าไปฟ้องร้องว่า "นายคามณิจันท์เจตนาฆ่าบิดาของเขาตาย"
เมื่อทรงซักถามได้ความกระจ่างแจ้งทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว จึงตรัสถามโจทก์ว่า "ท่านจะให้เราลงโทษจำเลยอย่างไรเล่า"
โจทก์กราบทูลว่า "ข้าพระบาท อยากให้บิดากลับคืนมา"
พระราชาจึงตรัสว่า " ถ้าอย่างนั้น ท่านคามณิจันท์ผู้เจริญ ท่านจงนำมารดาของบุรุษนี้ไปเป็นภรรยาของท่าน ท่านจงเป็นบิดาของเขาแทนบิดาที่ตายไปแล้ว เพราะคนที่ตายไปแล้วย่อมหมดวิสัยที่จะเอากลับคืนมาได้"
เมื่อบุรุษนั้นได้ฟังคำวินิจฉัยดังนี้ก็ไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงให้ทรัพย์แก่นายคามณิจันท์แล้วหลีกหนีไปเหมือนกับโจทก์ทั้งสามคน

เมื่อนายคามณิจันท์ชนะความทั้งหมดแล้ว ก็มีความปลาบปลื้มยินดีปรีดาว่า แม้พระเจ้าอาทาสมุขราชยังทรงพระเยาว์ อยู่ ก็เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถ มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีความยุติธรรม สมกับเป็นมหาบุรุษผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรมโดยแท้ เขาจึงก้มลงกราบถวายบังคมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง แล้วก็ขอโอกาสกราบทูลถามตามที่มีผู้ฝากคำถามมา ดังเหตุการณ์ ในระหว่างทางที่มีผู้ฝากคำถามมาถึงพระราชา แต่ครั้นเวลาถาม เขากลับทูลถามจากเรื่องล่าสุดถอยไปหาเรื่องต้น ซึ่งพระโพธิสัตว์ ทรงแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไปอย่างไม่มีข้องขัด
  • เรื่องของพราหมณ์มาณพกลุ่มหนึ่งที่เรียนมนต์ได้ไม่ดพระ โพธิสัตว์ทรงแก้ไขว่า "เหตุที่พวกพราหมณ์มาณพเรียนมนต์ได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อนนั้น เป็นเพราะไก่ขันผิดเวลา เมื่อก่อนมีไก่ขันบอกเวลาได้ถูกต้อง ทำให้พวกมาณพเหล่านั้นตื่นขึ้นมาสาธยายมนต์ได้ตามเวลาในเวลาที่เหมาะสม แต่บัดนี้ไก่ตัวนั้นหายไป ได้มีไก่ที่ขันไม่เป็นเวลามาอยู่แทน ไก่ตัวนั้นบางทีก็ขันตอนกลางดึก บางทีก็ขันตอนค่อนสว่าง ทำให้มาณพเหล่านั้นตื่นไม่ตรงเวลา ถ้าตื่นขึ้นในตอนกลางดึกก็จะง่วงเหงาหาวนอน ถ้าตื่นขึ้นในเวลาจวนสว่างมาก ก็ไม่มีเวลาที่จะสาธยายมนต์ พอเพียง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเล่าเรียนมนต์ได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน"
  • เรื่องที่น้ำในสระของพญานาคขุ่น ทรงวินิจฉัยว่า เพราะเหล่านาคบริวารทะเลาะวิวาทกันทุกราตรี จึงทำให้น้ำในสระนั้นขุ่น ไม่ใสเหมือนแต่ก่อน
  • เรื่องของรุกขเทวดาทรงวินิจฉัยว่า เพราะรุกขเทวดาท่านนั้น ไม่เอาใจใส่รักษาคนที่เดินทางไปมาเหมือนแต่ก่อน จึงไม่มีใครนำลาภสักการะมาบูชาเหมือนแต่ก่อน
  • เรื่องนกกระทาที่ ไม่ยอมไปจากจอมปลวกใหญ่ทรงวินิจฉัยว่า เพราะที่จอมปลวกใหญ่นั้นมีขุมทรัพย์อยู่ภายใต้ นกกระทาตัวนั้นจึงติดใจผูกพันอยู่ที่จอมปลวกนั้น
  • เรื่องของเนื้อที่ ชอบกินหญ้าใต้ต้นไม้นั้นทรงวินิจฉัยว่า เพราะที่ต้นไม้นั้นมีรังผึ้งรวงใหญ่ น้ำผึ้งได้หยดย้อยลงมาถูกใบหญ้า อยู่เสมอ เนื้อตัวนั้นจึงพอใจกินหญ้าอยู่ในบริเวณนั้นแห่งเดียว
  • เรื่องของงูทรง วินิจฉัยว่า เพราะจอมปลวกที่งูอาศัยอยู่นั้น มีขุมทรัพย์ใหญ่อยู่ภายใต้ งูตัวนั้นมีความหวงทรัพย์ เวลาจะออกไปหาอาหาร จึงรู้สึกออกจากจอมปลวกนั้นได้ยาก เหมือนว่าร่างกายคับปล่องที่จะออก แต่ขากลับเพราะคิดถึงทรัพย์ จึงเลื้อยเข้าไปในปล่องอย่างรวดเร็วและง่ายดาย
  • เรื่องของสตรีที่ไม่อยู่บ้านทรง วินิจฉัยว่า เพราะสตรีผู้นั้นมีชู้อยู่ในบ้านระหว่างบ้านของสามีและบ้านของมารดาบิดา เวลาสตรีคนนั้นคิดถึงชายชู้ขึ้นมา ก็ลาสามีว่าจะไปค้างบ้านของมารดา แต่นางได้ไปพักอยู่ที่บ้านชายชู้ก่อน จึงค่อยไปบ้านมารดา ภายหลังเมื่อคิดถึงชู้ขึ้นมาอีก ก็ลากลับจากบ้านมารดาบิดา แต่ก็มาพักอยู่กับชายชู้อีก พอได้ ๒-๓ วัน จึงเลยไปบ้านสามี
  • เรื่องหญิงงามเมืองทรง วินิจฉัยว่า เพราะหญิงนั้นได้รับค่าจ้างของบุรุษคนหนึ่งแล้วไปหลับนอนกับบุรุษที่มา ทีหลัง เมื่อทำอย่างนี้บ่อยๆ จึงไม่มีผู้ไปมาหาสู่เหมือนแต่ก่อน
  • เรื่องของผู้ใหญ่บ้านทรง วินิจฉัยว่า เพราะผู้ใหญ่บ้านตัดสินความไม่ยุติธรรม จึงเสื่อมจากลาภยศสรรเสริญ แล้ว พระโพธิสัตว์ก็ตรัสว่า "ขอท่านจงนำความเหล่านี้ไปบอกแก่ คนเหล่านั้น ตามคำของเราดังที่ได้แก้ไขมานี้เถิด"

จากนั้นพราหมณ์ได้กราบทูลลา และนำความเหล่านั้นไปบอกแก่พราหมณ์มาณพ พญานาค รุกขเทวดา นกกระทา แล้วไปขุดเอาทรัพย์ที่จอมปลวกที่นกกระทาอยู่อาศัยได้ทรัพย์มามากมาย จากนั้นก็ไปที่ต้นไม้ที่เนื้อนั้นหากิน นำรวงผึ้งไปถวายพระราชา และไปสู่ที่อยู่ของงู ได้ขุดเอาทรัพย์ใต้จอมปลวกได้ทรัพย์มากมาย แล้วจึงไปบอกสตรีผู้อยู่ไม่ติดเรือนให้เลิกคบชู้สู่ชาย และบอกถึงพฤติกรรมที่ไม่ควรของหญิงงามเมือง และให้สติแก่ผู้ใหญ่บ้าน ตามพระราชโองการทุกประการ แล้วจึงกลับไปอยู่ในที่พระราชทาน ได้รับความสุขสำราญเหมือนแต่ก่อน และได้ตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศลจนตลอดชีวิต

เราจะเห็นได้ว่า พระบรมโพธิสัตว์ของเราทรงมีพระปัญญา เป็นเลิศ ไม่เฉพาะแต่ในภพชาตินี้ ที่ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเท่านั้น แต่ทรงเป็นผู้รอบรู้ในทุกด้านมาทุกภพทุกชาติ ทรงหยั่งรู้เหตุผลทุกอย่างได้อย่างลึกซึ้ง เพราะพระองค์ทรงสั่งสมปัญญาบารมีมามาก ความเป็นผู้มีปัญญาไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุแต่อยู่ที่บุญ ดังนั้นถ้าเราปรารถนาความเป็นผู้รู้ เราก็ต้องสั่งสมบุญ สั่งสมปัญญาบารมีกันให้มากๆ ให้สั่งสมความรู้ควบคู่กับความบริสุทธิ์ ด้วยการหมั่นประพฤติธรรมเจริญสมาธิภาวนา แล้วเราจะได้เป็นนักปราชญ์บัณฑิตที่แท้จริงกัน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘