เดินตามทางของบัณฑิต ตอนที่ ( ๙ )

เดินตามทางของบัณฑิต ตอนที่ ( ๙ )

โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำไปกลับเป็นที่รัก
สมณะมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ
ความดีหรือบุญกุศลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา เมื่อเราได้ทุ่มเททำลงไปอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ความดีนั้นย่อมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่จะคอยอำนวยผลให้เราประสบแต่ความสุขความสำเร็จ ดังนั้น ทุกคนต้องมีจิตใจเข้มแข็งในการสร้างความดทุกลมหายใจต้องเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมี เมื่อใจเราผูกพันกับการสร้างบุญบารมีเช่นนี้ จิตใจย่อมจะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญ และธรรมะเบื้องสูงยิ่งๆ ขึ้นไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อิสสรสูตรว่า

"โจรํ หรนฺตํ วาเรนฺติ หรนฺโต สมโณ ปิโย
สมณํ ปุนปฺปุนายนฺตํ อภินนฺทนฺติ ปณฺฑิตา

โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำไปกลับเป็นที่รัก สมณะมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ"

พวกโจรขโมยถือว่าเป็นผู้ทำความพินาศในโลก และเป็นผู้ขัดขวางโลก หรือถ่วงความเจริญของโลก ถ้าโลกนี้ไม่มีโจรขโมย มนุษย์ก็ไม่ต้องหวาดกลัวว่า เงินทองของมีค่าที่เก็บไว้จะสูญหาย พวกโจรจึงเป็นประเภทคนที่โลกไม่ปรารถนา เมื่อโจรนำของใครไป เจ้าของมักจะเสียดายทรัพย์ อยากได้กลับคืนมา แต่สำหรับสมณะผู้ฝึกฝนอบรมตนดีแล้ว เป็นผู้ยังโลกให้สว่าง นำความเจริญมาสู่โลก เมื่อสมณะนำวัตถุสิ่งของของทานบดีไป ทานบดี ย่อมปีติดีใจไม่รู้สึกเสียดาย เมื่อให้แล้ว ก็อยากให้อีก และเมื่อสมณะเข้าไปยังเรือนหลังไหน จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะถือว่าท่านกำลังนำสิริมงคลมาสู่บ้าน แต่โจรเข้าบ้านไหนมักนำความวิบัติไปให้ สมณะและโจรมีข้อวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันเช่นนี้

คนส่วนใหญ่ที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างอยากพบเจอแต่สิ่งที่ตนเองพอใจ อยากได้แต่ของที่ดีเลิศ และหากละโลกไปแล้ว ก็อยากไปสู่สุคติสวรรค์ ความใฝ่ฝันเหล่านี้สามารถเป็นความจริงได้ ถ้ารู้จักประกอบเหตุ ตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ ถ้าประกอบเหตุไว้ถูกต้อง ผลที่ปรารถนาย่อมจะเป็นไปตามความคาดหมาย เพราะฉะนั้น หากเราคิดจะสั่งสมบุญอะไร ให้มุ่งมั่นตั้งใจทำให้ดีที่สุด ทุ่มเทชีวิตจิตใจอย่างเต็มกำลังความสามารถ ผังสำเร็จของชีวิตที่ดีงามย่อมจะเกิดขึ้นติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ เราปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น ทุกสิ่ง ทุกอย่างในโลกล้วนมีที่มาที่ไปทั้งนั้น เราต้องรู้จักประกอบเหตุ ที่ดีไว้บ่อยๆ ทำให้เป็นอาจิณกรรม กรรมดีที่เราทำบ่อยๆ สมํ่าเสมอนั้น จะส่งผลให้เราสมปรารถนาในสิ่งที่ต้องการ

*เทพนารีชื่อสิริและอาสาได้ลงจากเทวโลก เพื่อมาขอสุธาโภชน์จากท่านดาบส แต่ได้รับการปฏิเสธ แม้จะเป็นเทวดาแต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับสุธาโภชน์ไปบริโภค เพราะนอกจากสุธาโภชน์จะเป็นอาหารทิพย์ที่มีความพิเศษกว่าอาหารทั่วๆไป ยังมีโอชารสที่สามารถดับความหิว ความกระหาย ความกระสัน ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย ความโกรธ ความเข้าไปผูกโกรธ ความวิวาท ความส่อเสียด ความหนาว ความร้อน และความเกียจคร้าน เพราะฉะนั้น ที่ท่านไม่ให้เทพนารีทั้งสอง ไม่ใช่เพราะความตระหนี่ แต่ต้องพิจารณาดูว่า บุคคลใดสมควรแก่อาหารที่วิเศษนี้มากที่สุด เมื่อได้ไปแล้ว จะได้มีกำลังกายกำลังใจไปใช้ในการสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ต่อมาเทพนารีคนที่ ๓ ชื่อศรัทธา ได้เข้าไปขอสุธาโภชน์จากท่านดาบสบ้าง เธอได้แนะนำตัวเองว่า "ดิฉันชื่อว่าศรัทธาเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ เป็นผู้ไม่คบคนพาล ที่ต้องมาสำนักของพระคุณเจ้า เพราะวิวาทกันด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้า ผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอพระคุณเจ้า โปรดแบ่งสุธาโภชน์นั้น ให้ดิฉันบ้างเถิด"
ท่านดาบสรู้ว่า เทพนารีท่านนี้ยังมีคุณสมบัติไม่พอที่จะรองรับสุธาโภชน์ จึงได้ตอบไปว่า "บางคราวพวกมนุษย์ยินดีในการให้บ้าง การฝึกฝนบ้าง การบริจาคบ้าง ย่อมทำด้วยความเชื่อ แต่มนุษย์พวกหนึ่งทำโจรกรรมบ้าง พูดเท็จบ้าง ล่อลวงบ้าง บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งในภรรยาของคนอื่น ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้มีวัตรในการปฏิบัติสามีดีแล้ว ไม่พอใจในภรรยาของตัวเอง เพราะเชื่อคำของหญิงอื่น ดูก่อนนางศรัทธา ตัวท่านนั่นแหละเป็นต้นเหตุที่ให้บุรุษคบหาภรรยาของผู้อื่น เพราะเหตุที่ชน ทั้งหลายเชื่อฟังคำของท่าน จึงประพฤติผิดในภรรยาของคนอื่น กระทำกรรมอันเป็นบาปอกุศลเพราะอำนาจของท่าน เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีธรรมอันลามก ผู้ทำโลกให้วุ่นวายเหมือนกับท่านจงไปเสียเถิด ท่านไม่เป็นที่ชอบใจแก่เรา"
นางศรัทธารู้ว่าตัวเองหมดหวังที่จะได้ จึงอันตรธานหายไป ท่านโกสิยดาบสจึงเจรจากับเทพนารีชื่อหิริเป็นคนสุดท้ายว่า "ดูก่อนเทพธิดา ท่านมีรัศมีกายสว่างไสวประดุจจันทราในยามราตรี ท่านเป็นนางอัปสรชื่ออะไร" หิริเทพธิดาตอบว่า "ข้าพเจ้ามีชื่อว่า หิริเทวี มาสำนักของท่านเพราะวิวาทกันด้วยเรื่องสุธาโภชน์ ข้าพเจ้ามิอาจที่จะขอสุธาโภชน์กับท่านได้ เพราะการขอของหญิง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่าละอาย"
โกสิยดาบสได้ฟังเช่นนั้น จึงตอบนางไปว่า "ดูก่อนนาง ผู้มีกายงดงาม ท่านเป็นผู้มีคุณธรรมพอที่จะรับสุธาโภชน์นี้ ก็สุธาโภชน์นั้น ท่านจะได้เพราะการขอก็หาไม่ เพราะฉะนั้น เราพึงเชื้อเชิญท่านผู้มิได้ขอสุธาโภชน์ ท่านต้องการสุธาโภชน์ใดๆ เราจะให้สุธาโภชน์นั้นๆ แก่ท่าน ดูก่อนนางผู้มีสรีระคล้ายทองคำ วันนี้เราขอเชิญท่านไปยังอาศรม เราจักบูชาท่านด้วยสุธาโภชน์อันมีรสวิเศษ"

หิริเทพนารีได้รับคำเชื้อเชิญแล้ว ก็เข้าไปในอาศรมอันน่ารื่นรมย์ โกสิยดาบสได้นำสุธาโภชน์พร้อมกับน้ำดื่มมามอบให้ เทพธิดาได้รับอาหารแล้วก็มีใจปีติเบิกบาน รับสุธาโภชน์ด้วยมือทั้งสองและกล่าวลาท่านดาบส เมื่อได้บริโภคสุธาโภชน์ที่ท่านดาบสมอบให้แล้วก็อันตรธานจากไป เพื่อกลับไปเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช และได้ทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมา

ท้าวสักกะทรงอนุโมทนา และบูชาคุณธรรมของนางทรงดำริว่า ทำไมหนอ โกสิยดาบสจึงไม่ให้สุธาโภชน์แก่นางเทพธิดาที่เหลือ ให้เฉพาะหิริเทพนารีเพียงผู้เดียว จึงส่งมาตลีเทพสารถีไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้องการจะรู้เหตุผล

มาตลีเทพสารถีรับเทวบัญชาแล้ว ได้ขึ้นเวชยันตรถขับลงจากเทวโลกทันที เวชยันตรถนี้มีความสวยงามมาก เป็นราชรถ ที่อลังการ มีงอนรถสำเร็จด้วยทองชมพูนุท มีสีแดงคล้ายทองวิเศษ มีเครื่องลาดวิจิตรไปด้วยทองคำ ที่ประดับตกแต่งเป็นอย่างดี มีรูปและลวดลายต่างๆ ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของราชรถ เช่น รูปพระจันทร์ ช้าง โค ม้า กินนร เสือโคร่ง เสือเหลือง เนื้อทราย เป็นต้น

ทุกภาพที่ติดอยู่ที่ราชรถนั้น ล้วนทำด้วยทองคำ ฝูงนกในรถทำด้วยรัตนะต่างๆ มองดูราวกับกระโดดโลดเต้นไปมามีชีวิตชีวา หมู่มฤคก็จัดไว้ตามฝูง ต่างสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ พวกเทพบุตรได้เทียมม้าอัศวราช ซึ่งมีสีเหมือนทองคำ คล้ายช้างหนุ่มมีกำลังประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว ที่ประดับไว้เป็นอย่างดี มีเครื่องประดับทับทรวงทำด้วยข่ายทองคำ ทั้งห้อยเครื่องประดับหู เวลาราชรถลอยเคลื่อนออกไป จะส่งเสียงไพเราะเพราะพริ้งมาก

เมื่อมาตลีเทพสารถีขึ้นนั่งบนยานพาหนะแก้วชั้นเลิศนี้แล้ว ก็บันลือสีหนาท ดังไปตลอดทิศทั้งสิบ ทำให้ท้องฟ้า ภูเขา และต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าแห่งพงไพร พร้อมทั้งสาครตลอดจนแผ่นดิน สนั่นหวั่นไหวไปทั่ว ราชรถค่อยๆ เคลื่อนลงจากสวรรค์มาสู่มนุษยโลก ส่วนเมื่อลงมาแล้ว จะได้คำตอบจากท่านโกสิยดาบส อย่างไรบ้างนั้น ติดตามในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายแล้ว ขอให้ตั้งใจสั่งสมคุณงามความดี และทำให้เต็มที่สมํ่าเสมอกัน ทุกคน
*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘