มงคลที่ ๙ มีวินัย - ศีล เส้นทางสู่ความเป็นมนุษย์

มงคลที่ ๙

มีวินัย - ศีล เส้นทางสู่ความเป็นมนุษย์

ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเรื่องศีลในศาสนานี้
บุคคลศึกษาดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทุกอย่างมาให้ ในโลกนี้

มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน คือ การกระทำ ซึ่งมีทั้งที่เป็นกุศล และอกุศล ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กรรม คือ การกระทำที่มีวิบากเป็นผล ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิจึงเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย เพราะเมื่อมีความเห็นถูก ก็จะสามารถประคับประคอง ตนเองให้ทำแต่สิ่งที่ดี จึงมีโอกาสรอดพ้นจากภัยในอบายภูมิ คือ ในกำเนิดสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน ดังนั้น เราจึงควรหมั่นสั่งสมความดีอยู่เป็นนิตย์ เพื่อจะได้มีสวรรค์และนิพพานเป็นที่ไป

มีวาระพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"สีลเมวิธ สิกฺเขถ อสฺมึ โลเก สุสิกฺขิตํ
สีลํ หิ สพฺพสมฺปตฺตึ อุปนาเมติ เสวิตํ
ท่านทั้งหลาย พึงศึกษาเรื่องศีลในศาสนานี้ บุคคล ศึกษาดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทุกอย่างมาให้ ในโลกนี้"

การเรียนรู้เรื่องศีล เป็นเสมือนขุมทองของชีวิต ถ้าเราได้ศึกษาและรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นภาวะปกติเหมือนลมหายใจเข้าออก ดวงศีลของเราจะสุกใสสว่าง และมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดเวลา บารมีก็จะเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยๆ และนำความสุขสงบร่มเย็น มาให้แก่ชีวิตของเรา

*คำว่า ศีล มีรากศัพท์มาจากคำว่า สิระ ซึ่งแปลว่า ยอด หมายความ ว่า เป็นสิ่งที่อยู่บนจุดที่สูงที่สุด ผู้ใดก็ตามรักษาศีลเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ผู้นั้นจะเป็นผู้มีใจสูง มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะมนุษย์แปลว่า ผู้มีใจสูง นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นยอดคนทีเดียว มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว จะได้รับความเคารพนับถือจากสัตบุรุษทั้งหลาย

อีกความหมายหนึ่ง ศีลมาจากคำว่า สีล แปลว่า ปกติ โดยธรรมชาติของสัตว์จะรักและหวงแหนชีวิตของตนเอง รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นของตน ดังนั้นเมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้แล้ว จึงเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า หากเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ต้องมีการรักษาศีล เพราะศีลเป็นปกติของมนุษย์ทั้งหลาย หากใครมีศีลครบถ้วนบริบูรณ์ย่อมได้รับความไว้วางใจ ไม่มีความระแวงเกิดขึ้นในหมู่คณะ ศีลในความหมายที่สองนี้จึงแปลว่า เป็นปกติของมนุษย์ที่จะไม่เบียดเบียนใคร หรือลักขโมยของใคร

นอกจากนี้ ศีลมาจากคำว่า สีตละ ซึ่งแปลว่า เย็น เพราะว่าใครก็ตามที่เป็นผู้มีปกติรักษาศีลอยู่ทั้งวันทั้งคืน ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีความเย็นกายเย็นใจ เหมือนผู้ที่มีร่างกายสกปรก เมื่อได้อาบน้ำชำระร่างกาย นั่งพักอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีร่มเงาแผ่ขยาย จะเกิดความรู้สึกเย็นกายเย็นใจ สบายอกสบายใจ พลอยทำให้ผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ใกล้ๆ ก็เกิดความรู้สึกเย็นกายเย็นใจไปด้วย

ศีล ยังมาจากคำว่า สิวะ แปลว่า ปลอดโปร่ง เพราะ ผู้ที่รักษาศีลจะเป็นผู้ที่มีจิตใจปลอดโปร่งเบาสบาย เนื่องจากมีความบริสุทธิ์ภายใน ความบริสุทธิ์นั้นจะกลั่นใจให้เบิกบานผ่องใส นำความปลอดโปร่ง ปลอดกังวลมาให้ตลอดเวลา กระแสแห่งความบริสุทธิ์ที่เกิดจากการรักษาศีล จะเอิบอาบอยู่ในใจไม่ เสื่อมคลาย ทำให้รู้สึกเป็นสุขใจ แม้เวลาตรึกระลึกย้อนหลัง ถึงการกระทำที่สะอาดบริสุทธิ์ของตน ก็จะเกิดความปีติ มีความ เบิกบานใจ ไม่มีเวรมีภัยกับใคร ดังนั้นศีลจึงเป็นคุณธรรมที่นำไปสู่คุณธรรมภายในที่ยิ่งๆ ขึ้นไป และทำให้เราเป็นยอดคน ที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ปลอดโปร่งปลอดกังวล และปลอดจากภัย ทุกชนิด เพราะศีลจะคุ้มครองผู้ที่รักษาไว้เป็นอย่างดี

การรักษาศีลเป็นทางมาแห่งบุญ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ทุกครั้งที่เราตั้งใจงดเว้นจากบาปอกุศล ตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนใคร ย่อมเกิดกระแสแห่งความดีงาม กระแสแห่งความบริสุทธิ์ เกิดสายธารแห่งเมตตาธรรมเอ่อล้นขึ้นมาในใจของเรา กระแสบุญจะบังเกิดขึ้นทันทีที่เราคิดดี พูดดี ทำดี เป็นกระแสที่สุกใสสว่าง หลั่งลงมาจากอายตนนิพพาน จรดในกลางของพวกเราโดยไม่ขาดสาย หากเรามีธรรมจักษุ จะสามารถมองเห็นสิ่งนี้ด้วยตัวของเราเองว่ากระแสบุญมีลักษณะอย่างไร มาจากที่ตรงไหน และไปรวมอยู่ที่ตรงไหนอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาทีเดียว

ศีล เป็นคุณธรรมที่จะคุ้มครองรักษากาย วาจา ใจ ของเราให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่จะส่งให้เราเข้าถึงสมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหนทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน การรักษาศีลมีจุดประสงค์หลายประการด้วยกัน อย่างน้อยก็เป็นเกราะคุ้มกันชีวิตของเราในปัจจุบันชาตินี้ ไม่ให้พบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันสืบเนื่องจากการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อป้องกันชีวิตของเราในภพชาติต่อไป ไม่ให้พบกับความทุกข์ทรมานในสัมปรายภพ เพราะคนเราตายแล้วยังต้องเกิดอีก

ตราบใดที่ยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส เราจำเป็นต้องมีบุญที่เกิดจากการรักษาศีล คอยปกป้องคุ้มกันให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างบารมีต่อไป เกิดแล้วก็ได้รูปสมบัติที่พร้อมต่อการสร้างบารมี ชีวิตมีความสุขความร่มเย็น เพราะฉะนั้น ศีล เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรักษาให้มั่น อย่าให้เสื่อมถอย แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำยังไม่น่ากลัว แต่ถ้าศีลธรรมตกต่ำแล้ว กลับเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า เมื่อใดก็ตามที่ศีลธรรมในใจของผู้คนตกต่ำ ผู้คนขาดหิริโอตตัปปะ เมื่อนั้นความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นในสังคม แม้ได้รับการศึกษาสูง มีความรู้ความสามารถเพียงใดก็ตาม ก็ยากที่จะสร้างประโยชน์สุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้

ประเภทของศีลมีอยู่ ๓ ประเภทใหญ่ๆ

อย่างแรกคือ เบญจศีล หรือศีล ๕ ที่พวกเราทั้งหลายรับรู้รับทราบกันดีอยู่แล้ว เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับชีวิต เพราะการที่เราได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ศีล ๕ ของเราจะต้องบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย ประพฤติกันจนเป็นปกติเป็นความเคยชิน ติดอยู่ในขันธสันดาน

อย่างที่สองคือ อุโบสถศีล หรือศีล ๘ ในวันพระให้ตั้งใจอาราธนาศีล ๘ เป็นการรักษาอุโบสถศีล เช่นเดียวกับบัณฑิตในกาลก่อนทั้งหลาย แม้พระเจ้าจักรพรรดิที่ท่านมีศีล ๕ เป็นปกติ พอถึงวันอุโบสถท่านจะรักษาอุโบสถศีล ถือสมาทานศีล ๘ ชำระกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เราอาจรักษาศีล ๘ ในโอกาสที่พิเศษตามที่ต้องการก็ได้ เพื่อเป็นการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี หรือเป็นการยกระดับจิตใจให้ละเอียดประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป

ศีลประเภทที่ ๓ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล เป็นศีลสำหรับ ผู้ที่มุ่งทำความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากสังสารวัฏ เป็นการเคี่ยวเข็ญฝึกฝนอบรมตนเองอย่างยิ่งยวด เช่นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ศีลชนิดนี้ จะเป็นการเกื้อกูลต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างดีเยี่ยม
ปาริสุทธิศีลนี้ยังแยกออกไปอีก ๔ ประการ คือ
นอกจากศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุแล้ว ก็ยังมีอย่างอื่นอีก ท่านเรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ทั้ง ๒๒๗ ข้อ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าตั้งใจและสมัครใจที่จะรักษาก็สามารถทำได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์
อย่างที่สองของปาริสุทธิศีล คือ อินทรียสังวรศีล หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ซึ่งประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปกับกระแสของกิเลส ประคับประคองใจให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่ให้ยินดียินร้ายกับการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสและการถูกต้องสัมผัส หรือรับรู้อารมณ์ต่างๆ ด้วยใจ หมายความว่า สำรวมระวังไม่ให้บาปอกุศลเข้ามาในใจ ศีลข้อนี้จะรักษาให้สำเร็จบริบูรณ์ได้ด้วยสติ ถ้าไม่เผลอสติ ก็สามารถรักษาอินทรียสังวรศีลได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร

ศีลประการที่สาม คือ อาชีวปาริสุทธิศีล การ เลี้ยงชีพชอบ มีอาชีพบริสุทธิ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็สรรเสริญ และศีลประการสุดท้าย คือ ปัจจัยสันนิสิตศีล ได้แก่การพิจารณาปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ก่อนใช้สอยปัจจัย ๔ ก็ต้องพิจารณาด้วยสติปัญญา พิจารณาให้เห็นประโยชน์และคุณค่าอย่างแท้จริง ศีลทั้ง ๔ ประเภทนี้ เป็นคุณธรรมสำหรับผู้ประพฤติธรรม ที่มุ่งแสวงหาความหลุดพ้น ฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวด เพื่อประคับประคองนาวาชีวิตไปสู่อายตนนิพพาน

ในชีวิตของพวกเราทั้งหลาย จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการดำรงชีวิต เพราะศีลเปรียบเสมือนท่าหยั่งลึกลงสู่อายตนนิพพาน เราต้องสมาทานศีลให้เป็นปกติและรักษายิ่งกว่าชีวิต ให้เหมือนพระบรมโพธิสัตว์ที่ท่านเป็นผู้รักศีลยิ่งชีวิต แม้ต้องเสียชีวิตก็ไม่ยอมเสียศีล เราจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกไม่นานเท่าไรแล้ว สิ่งใดที่เป็นบุญเป็นบารมีของเรา ให้ตั้งใจตักตวงให้เต็มที่ เมื่อโอกาสแห่งการสร้างบารมียังมีอยู่ ให้รีบหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่าให้โอกาสดีอย่างนี้หลุดลอยไป ดวงบุญในตัวของเราจะได้ขยายใหญ่ กลั่นตัวจนกระทั่งกลายเป็นบารมีติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ เพราะฉะนั้นให้ตั้งใจชำระศีลของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. อรรถกถากัลยาณสูตร เล่ม ๔๕ หน้า ๖๐๗ และสมันตปาสาทิกา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘