มงคลที่ ๑๙ งดเ้ว้นจากบาป - งดเว้นจากอกุศลกรรม



มงคลที่ ๑๙
งดเ้ว้นจากบาป
งดเว้นจากอกุศลกรรม

ใครทำบาป คนนั้นก็เศร้าหมองเอง
ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์
ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตน
คนอื่นไม่สามารถไถ่บาป ชำระให้ตนเองบริสุทธิ์ได้


ในสังสารวัฏอันหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายไม่ได้นี้ ยังมีเรื่องราวมากมายที่ลึกลับซับซ้อน มีฉากหลังที่คอยบังคับบัญชาให้มวลมนุษยชาติทั้งหลายตกอยู่ในความประมาท ให้มัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันเป็นเหยื่อล่อของ พญามาร ที่ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายไว้ ทำให้เขาเหล่านั้น ต่างลืมเลือนเป้าหมายดั้งเดิม ที่เกิดมาเพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน เมื่อถูกความไม่รู้คืออวิชชาเข้าครอบงำ จึงไม่ได้คิดถึงความเป็นจริงของชีวิตที่ว่า เราทุกๆ คนเกิดมาแล้วต้องตาย สังขารร่างกายนี้ มีไว้เพื่อใช้สร้างบารมี เมื่อเวลาในโลกมนุษย์หมดลง ต้องเคลื่อนย้ายไปสู่ภพใหม่ ยิ่งหากใครได้ตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติธรรม กลั่นกาย วาจา ใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของผู้นั้นจะปลอดภัย เพราะดำเนินอยู่บนเส้นทางของผู้มีชีวิตอันประเสริฐ เป็นชีวิตที่มีคุณค่า และน่ายกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

อตฺตนาว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสต
อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนาว วิสุชฺฌต
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโ อญฺํ วิโสธเย

ใครทำบาป คนนั้นก็เศร้าหมองเอง ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตน คนอื่นไม่สามารถไถ่บาป ชำระให้ตนเองบริสุทธิ์ได้Ž

บาปอกุศล คือ สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ขุ่นมัว ทำให้ใจเสื่อมคุณภาพลง เป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อทำลงไปแล้วก็มีทุกข์เป็นวิบาก ใครไปทำชั่ว บาปก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพ เศร้าหมองขุ่นมัวเป็นปกติ ถ้าทำบาปมากก็ประสบความทุกข์มาก ทำบาปน้อยความทุกข์ก็ลดน้อยลงตามลำดับ ในภพชาติอดีตที่ผ่านมานั้น เราไม่อาจรู้ว่าได้สั่งสมบาปอกุศลอะไรไว้บ้าง หรือภพชาตินี้เราอาจเคยประมาทพลาดพลั้งไปทำบาปอกุศล เกรงว่าผลของบาปนั้นจะติดตามมาทัน มาเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตของเรา ท่านผู้รู้จึงสอนให้หมั่นสั่งสมบุญกุศลให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลมาเจือจางบาปลงไป และก็ตั้งใจมั่นว่า จะงดเว้นจากบาปอกุศลทุกอย่าง

งดเว้นจากบาป หมายความ ว่า การกระทำใดก็ตามทั้งกาย วาจา ใจ ที่เป็นความชั่ว ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าเราเคยทำอยู่ก็งดเสีย ที่ไม่เคยทำก็เว้นไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด สิ่งที่ทำไปแล้วมีทุกข์เป็นวิบากมีอยู่ด้วยกันมากมาย หลวงพ่อขอสรุปลงเหลือเพียง ๑๐ อย่าง ที่ท่านเรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฆ่าคน ยิงนกตกปลา รวมถึงการทรมานเบียดเบียนสัตว์ อทินนาทาน การลักทรัพย์ ฉ้อโกง จี้ ปล้น หรือฉ้อราษฎร์บังหลวง กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม มุสาวาท พูดเท็จ หรือ พูดโกหก ทำหลักฐานเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อ ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด คือยุยงให้เขาแตกสามัคคีกัน ใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีความผิดอะไร

ผรุสวาจา พูดคำหยาบคาย สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล พูดโอ้อวด พูดเกินความเป็นจริง อภิชฌา คิดโลภมาก อยากได้ของคนอื่นในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์คนอื่นหวังเอามาเป็นของตัว พยาบาท คิดแก้แค้น คิดปองร้ายผู้อื่น และประการสุดท้ายคือ มิจฉาทิฏฐิ คิดเห็นผิด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ ตายแล้วสูญ ไม่เชื่อกฎแห่งกรรม เป็นต้น

บาปอกุศลทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เป็น สิ่งที่เราต้องงดเว้น อย่าได้หลงไปทำกัน พระบรมศาสดาได้สอนไว้ว่า บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่ามีประมาณเล็กน้อย จักไม่มาถึง หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงทีละหยาดได้ ฉันใด คนพาลเมื่อสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ย่อมเต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น หรือแม้เมื่อเคยทำบาปอกุศลใดไว้ พระพุทธองค์ทรงสอนว่า อย่าไปยินดีหรือทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้อย่างเดียว

นักปราชญ์บัณฑิตในกาลก่อน นอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว ท่านยังรังเกียจบาปอกุศลอีกด้วย พยายามที่จะทำตนเองให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจอยู่เสมอ มีเรื่องเล่าว่า
*มีนายพรานนกคนหนึ่ง จับนกกระทามาเป็นนกต่อ โดยนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน เมื่อถึงเวลา นายพรานนกจะนำนกกระทาตัวนี้ไปปล่อยไว้ในป่า ให้ส่งเสียงร้องเรียกหาเพื่อนนกด้วยกัน นกกระทาตัวอื่นได้ยินเสียงร้องของเพื่อน ก็พากันมาติดกับดักที่นายพรานดักไว้

นกกระทาคิดว่า หมู่ญาติของเรามากมายพากันฉิบหายเพราะอาศัยเราผู้เดียว บาปคงจะติดตามเราไปข้ามภพข้ามชาติเป็นแน่Ž วัน ต่อมา เมื่อนายพรานนำนกไปปล่อยไว้ในป่า เพื่อเป็นนกต่อตามปกติ นกกระทาก็ไม่ยอมร้อง แต่ถ้าไม่ร้อง นายพรานก็จะเอาแขนงไม้ไผ่ตีศีรษะ นกกระทาได้รับความเจ็บปวด จึงจำเป็นต้องส่งเสียงร้อง ทำให้มีนกกระทาอีกมากมายต้องมาตายด้วยน้ำมือของนายพราน เพราะอาศัยเสียงของนกกระทาตัวนั้น

นกกระทาคิด ว่า แม้เราไม่มีเจตนาให้นกเหล่านี้ตาย แต่กรรมนี้อาจจะตกถึงตัวเราสักวันหนึ่ง เพราะถ้าเราไม่ร้อง นกเหล่านี้ก็ไม่มา ต่อเมื่อเราร้องจึงมา บาปจะมีแก่เราหรือไม่หนอŽ ตั้งแต่นั้นมา นกกระทาคิดหาวิธีเพื่อถามนักปราชญ์ผู้จะมาแก้ข้อข้องใจของตัว

มีอยู่วันหนึ่ง พรานนกถือกรงนกกระทาไปวางไว้ใกล้อาศรมของท่านฤๅษี นกกระทาเห็นเป็นโอกาสดี จึงเปล่งเสียงเป็นภาษามนุษย์ เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้พระฤๅษีฟัง และถามถึงผลแห่งบาปที่จะบังเกิดขึ้นกับตนว่า จะเป็นเช่นไร พระฤๅษีผู้มีตบะกล้าได้ตอบนกกระทาว่า ดูก่อนปักษี ถ้าใจของท่านไม่น้อมไปเพื่อกรรมอันเป็นบาป บาปย่อมไม่แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ ผู้ไม่ขวนขวายกระทำบาปกรรมŽ

นกกระทาได้ฟังดังนั้น ก็ยังไม่มั่นใจ ได้กล่าวต่อไปว่า นกกระทาหลายตัวพากันมาด้วยคิดว่าญาติของเขาถูกจับ นายพรานนกกระทำกรรม คือ ปาณาติบาต เพราะอาศัยข้าพเจ้า ใจของข้าพเจ้ารังเกียจในบาปกรรม ไม่เคยยินดีในบาปนั้นเลยŽ
พระฤๅษี ให้กำลังใจว่า ถ้าใจของท่านไม่ได้คิดประทุษร้าย ไม่น้อมไปในบาป กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำแล้ว ย่อมไม่สามารถมาถูกต้องท่านได้ บาปกรรมย่อมไม่แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์อย่างแน่นอน ขอให้ท่านสบายใจเถิดŽ นกกระทาฟังคำตอบเป็นที่น่าพอใจเช่นนั้น ก็หมดความสงสัย แต่เพราะไม่อยากให้สัตว์อื่นต้องมาตายเพราะตน จึงไม่ยอมร้องอีกต่อไป ทำให้นายพรานฆ่าเป็นอาหาร เมื่อนกนั้นตายไปแล้ว ได้ไปบังเกิดในสวรรค์

เราจะเห็นว่า นักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อน รังเกียจบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย ท่านไม่ดูเบา เพราะไม่ปรารถนาให้เกิดเป็นวิบากกรรมติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ พวกเราทุกคน อย่าได้ดูเบากัน ต้องงดเว้นจากบาปทุกอย่างให้ได้ งด คือ บาปอกุศลใดที่เคยทำก็หยุดเสีย เว้น คือ บาปอกุศลอันใดที่ยังไม่เคยทำ เราก็อย่าไปทำมัน

การทำชั่วเหมือนการเดินตามกระแสน้ำพัดไป เดินไปได้ง่าย ทุกคนพร้อมที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ไปตามกระแสกิเลสอยู่แล้ว ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ยอมตกเป็นทาสของกิเลส กระทำสิ่งต่างๆ ตามอำนาจของตัณหา คือ ความทะยานอยาก เช่นนั้นแล้ว ย่อมจะประสบทุกข์ในบั้นปลายอย่างแน่นอน

ส่วนการทำดีเหมือนการเดินทวนกระแสน้ำ เดินลำบาก ต้องใช้ความอดทน ใช้ความมุมานะพยายาม ต้องระมัดระวังไม่ให้ลื่นล้ม การทำความดีเปรียบเหมือนการทวนกระแสน้ำ ทวนกระแสกิเลสในตัว ไม่ไปทำสิ่งต่างๆ ตามอำเภอใจ คำนึงถึงความถูกต้องดีงามเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมเป็นทาสของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบ ใช้ความอดทนความพยายามสูง แต่เราจะประสบสุขในบั้นปลาย มีสุขเป็นกำไร
ดังนั้นพวกเราทุกคนนอกจากจะต้องพยายามงดเว้นบาป เพื่อป้องกันใจของเราไม่ให้ไหลเลื่อนไปในทางต่ำแล้ว จะต้องหมั่นยกใจของเราให้สูงขึ้น ด้วยการขวนขวายสร้างบุญกุศลอยู่เป็นประจำอย่าได้ขาด และหมั่นนั่งธรรมะ เพื่อเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้กับใจทุกวัน เราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ติตติรชาดก เล่ˆม ๕๘ หน้‰า ๕๐๖

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘