มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - โทษที่ไม่มีโทษ

มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - โทษที่ไม่มีโทษ

เมื่ออนารยชนทำชั่ว
อารยชนย่อมห้ามกันด้วยการลงโทษ
การลงโทษนั้นถือว่าเป็นการสั่งสอน
ทั้งไม่เป็นเวร ข้อนี้เหล่าบัณฑิตรู้กันดี

ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ล้วนประสบกับเหตุการณ์ ต่างๆ มากมาย ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งเราจำเป็นต้องมีเครื่องป้องกันกายและใจของเรา ไม่ให้ลื่นไหลไปตามกระแสกิเลสที่เชี่ยวกรากในปัจจุบัน คือ มีคุณธรรมภายในสำหรับต้านทานกิเลส ครูบาอาจารย์เป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการปลูกฝังให้เรามีความรู้คู่กับความดี แม้ว่าวิธีการในการสั่งสอนของอาจารย์แต่ละท่านจะแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ เพื่อให้เราเป็นคนดี เป็นคนมีความรู้คู่คุณธรรม และวิธีการที่ดีที่สุด ในการฝึกฝนอบรมคุณธรรมให้แก่ตัวของเราเอง คือ การหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่งทุกๆ วัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ติลมุฏฐิชาดก ว่า

"อริโย อนริยํ กุพฺพํ โย ทณฺเฑน นิเสธติ
สาสนํ ตํ น ตํ เวร อิติ นํ ปณฺฑิตา วิทู

เมื่ออนารยชนทำชั่ว อารยชนย่อมห้ามกันด้วยการลงโทษ การลงโทษนั้นถือว่าเป็นการสั่งสอน ทั้งไม่เป็นเวร ข้อนี้เหล่าบัณฑิตรู้กันดี"

บัณฑิตในกาลก่อน ท่านจะทำทุกวิถีทาง ที่จะตักเตือน สั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดี ไม่ให้พลั้งพลาดไปทำความชั่ว ถึงแม้บางครั้งศิษย์ยังคิดตรองตามไม่ทัน ไม่เข้าใจเจตนาอันบริสุทธิ์ของอาจารย์ แต่เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่ศิษย์ในภายภาคหน้า ท่านจึงได้ตักเตือนสั่งสอน หรือบางครั้งก็ลงโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามเหตุอันสมควร เพื่อให้ศิษย์ได้สำนึก เมื่อรู้ตัวแล้วจะได้ปรับปรุงแก้ไขตนเอง

ดังนั้น ศิษย์ที่ดีจะต้องเข้าใจถึงเจตนารมณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปรารถนาดี ของอาจารย์ ไม่ผูกโกรธผูกใจเจ็บแค้นเคือง เมื่ออาจารย์สั่งสอนก็ให้อดทนน้อมรับโอวาทด้วยความเคารพ จะได้ดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด

*ดังเช่นในสมัยหนึ่ง มีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต ครองเมืองพาราณสี ทรงมีพระโอรสองค์หนึ่งชื่อ "พรหมทัตกุมาร" พระราชาได้ตั้งความหวังไว้กับพระโอรสว่า ในอนาคตจะให้ครองราชสมบัติสืบต่อราชวงศ์ ดังนั้นเมื่อพระโอรสอายุได้ ๑๖ ชันษา พระบิดาก็ส่งไปเรียนศิลปศาสตร์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักสิลา เพื่อจะให้ฝึกคุณธรรมในด้านต่างๆ เช่น ให้รู้จักศิลปะในการปกครองคน การอ่อนน้อมถ่อมตน มีความอดทนในทุกรูปแบบ และให้ศึกษาขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ของบ้านเมือง ตลอดจนศึกษายุทธศาสตร์ เมื่ออาจารย์ได้ถามถึงประวัติความเป็นมาและความตั้งใจจริงในการศึกษา จึงรับไว้เป็นศิษย์

วันหนึ่งพรหมทัตกุมารไปสรงน้ำกับอาจารย์ที่ท่าน้ำ ซึ่งใกล้ๆ บริเวณนั้น มีหญิงชรากำลังขัดสีเมล็ดงาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อคนทั้งสองไปถึง ลูกศิษย์เห็นเมล็ดงาแล้วเกิดอยากกิน จึงหยิบเมล็ดงามากิน ๑ กำมือ หญิงชราเห็นแล้วคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้คงอยากกินงา จึงปล่อยให้ทำตามใจชอบ แล้วดูเฉยๆ ไม่ว่าอะไร

วันรุ่งขึ้น พรหมทัตกุมารก็ทำเช่นนั้นอีก จนถึงวันที่สามเมื่อขโมยเมล็ดงามากินอีก หญิงชราได้ทำเป็นร้องไห้คร่ำครวญพร้อมกับพูดว่า "ลูกศิษย์ของท่านขโมยเมล็ดงาของเราไปกิน ทำไมท่านไม่รู้จักสั่งสอน" เมื่ออาจารย์ได้ยินจึงบอกกับหญิงชรานั้นว่า ไม่ต้องเสียใจ เดี๋ยวจะจ่ายเงินค่าเมล็ดงานี้ให้ แต่หญิงชรา บอกว่าไม่ต้องการเงิน แต่อยากให้ท่านตักเตือนศิษย์ของท่าน ไม่ให้มาขโมยของผู้อื่นอีก

อาจารย์จึงสั่งให้ลูกศิษย์อีก ๒ คน จับพรหมทัตกุมารที่แขนทั้ง ๒ ข้างไว้ แล้วใช้ซีกไม้ไผ่เฆี่ยนตีที่กลางหลัง ๓ ครั้ง พรหมทัตกุมารโกรธมาก นัยน์ตาแดงก่ำ มองดูอาจารย์ตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผมด้วยความอาฆาตแค้น พร้อมกับคิดในใจว่า ถ้าตนได้เป็นพระราชาเมื่อไร จะเชิญอาจารย์ไปรับกรรมที่อาจารย์ ได้ทำกับตนในครั้งนี้ อาจารย์เห็นกิริยาของลูกศิษย์ก็รู้ว่าโกรธเคือง และคิดผูกพยาบาทอาฆาตตน

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พรหมทัตกุมารได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา จึงลาอาจารย์กลับไปบ้านเมืองของตน โดยทำทีว่าเคารพนอบน้อม ซาบซึ้งในพระคุณ ของอาจารย์ แต่ในใจยังนึกจองเวรอยู่ จึงกล่าวกับอาจารย์ว่า "เมื่อกระผมได้เป็นพระราชา ขอเชิญอาจารย์ไปที่เมืองกระผมด้วยนะครับ" อาจารย์ก็รับปาก

เมื่อกลับถึงบ้านเมืองของตน พรหมทัตกุมารได้แสดงศิลปะต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาให้พระชนกชนนีทอดพระเนตร ทั้งสองพระองค์ทรงโสมนัสเป็นอย่างมาก จึงทรงแต่งตั้งให้พรหมทัตกุมารเป็นพระราชาครองราชสมบัติ เมื่อพรหมทัตกุมาร ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ส่งพระราชสาสน์ไปถึงอาจารย์ เพื่อเชิญมาเยี่ยมที่เมืองพาราณสี อาจารย์ได้รับสาสน์แล้วคิดว่า ในตอนนี้ลูกศิษย์ของเรายังหนุ่มอยู่ ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราได้ลงโทษไปในครั้งนั้น เราไม่ควรไปในตอนนี้ รอให้เขามีประสบการณ์มากกว่านี้ เมื่อถึงตอนนั้น ถ้าเราได้ชี้แจงอธิบายเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เขาจึงจะเข้าใจได้ดีกว่าตอนนี้ คิดดังนี้แล้วจึงบอกปฏิเสธไป

จวบจนพระเจ้าพรหมทัตพระชนมายุล่วงเข้าวัยกลางคน อาจารย์จึงเดินทางไปเยี่ยม เมื่อไปถึง พระราชาแสดงอาการเกรี้ยวกราด ด่าว่าอาจารย์ต่อหน้าข้าราชบริพารทั้งหลายว่า "อาจารย์ท่านนี้ได้เฆี่ยนตีเราถึง ๓ ที เพียงเพราะเมล็ดงา ๑ กำมือ วันนี้ท่านจะได้รับโทษที่ท่านได้ทำกับเราในครั้งนั้น"

อาจารย์จึงกล่าวว่า " เมื่อทำความชั่วแล้ว บัณฑิตทั้งหลาย ต้องห้ามปรามตักเตือนด้วยการลงโทษ การลงโทษนั้น คือ การสั่งสอนให้รู้สำนึก ไม่ให้กลับไปทำผิดอย่างนั้นอีก ถ้าข้าพระองค์ไม่ลงโทษพระองค์ในครั้งนั้น ในอนาคต พระองค์อาจจะไปลักขโมย ที่ยิ่งกว่านี้ ไปทำโจรกรรม ฉกชิงวิ่งราว หรืออาจฆ่าคนตาย ถ้าถูกจับได้ โดนลงโทษตามกฎหมายของบ้านเมือง แล้วพระองค์จะมีโอกาสได้มาครองราชสมบัติอยู่ในขณะนี้หรือ ที่พระองค์ได้มาเป็นพระราชาอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะข้าพระองค์ได้อบรมสั่งสอนในครั้งนั้น มิใช่หรือ"

พระราชาฟังคำของอาจารย์ก็ได้สติ ทบทวนเหตุการณ์ ที่ผ่านมา เห็นว่าเป็นไปตามที่อาจารย์ได้บอกไว้ เมื่อระลึกถึงพระคุณของอาจารย์ได้ จึงตรัสยกราชสมบัติให้แก่อาจารย์ แต่อาจารย์ไม่รับ พระราชาจึงแต่งตั้งให้อาจารย์เป็นปุโรหิต และให้ความเคารพเหมือนเป็นพระบิดา ตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็อยู่ในโอวาทของอาจารย์ จนตลอดพระชนมายุของพระองค์ ทำให้ปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็นตลอดมา

จากเรื่องนี้จะเห็นว่า การ ที่เราจะเป็นผู้ปกครองที่ดี จะต้องรู้จักสอนคนในปกครองให้เป็นคนดี ให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ที่มีคุณภาพ คือให้มีความรู้คู่คุณธรรม ครูบาอาจารย์ที่ดีก็เช่นกัน ต้องหมั่นตักเตือนสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดี คอยประคับประคองให้ลูกศิษย์ดำเนินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรม โดยไม่กลัวภัยที่จะเกิดขึ้นกับตน

พรหมทัตกุมารเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมไว้ดี แม้ในตอนแรกจะยังรู้ไม่เท่าทันกิเลส หลงผูกโกรธอาจารย์ แต่เพราะมีอาจารย์ดี คอยแนะนำสั่งสอนให้ดำเนินชีวิตไปในเส้นทางที่ถูกต้องปลอดภัย จึงสามารถป้องกันแก้ไขข้อผิดพลาดของตนได้ ทำให้ชีวิตไม่พลั้งพลาดไปทำบาปกรรม ดังนั้นการสั่งสอนโดยการลงโทษแบบบัณฑิต จึงเป็นการชี้ขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ที่มีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ ไม่มีเวรไม่มีภัย
เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาจึงมองเห็นว่า การ ชี้โทษคือการชี้ขุมทรัพย์ ยิ่งผู้ที่มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร ยิ่งต้องอดทนต่อการชี้โทษแล้วชี้โทษอีกของครูบาอาจารย์ เพราะท่านจะขนาบเราเพื่อให้เราได้ดี ให้เข้าถึงพระธรรมกาย ชีวิตเราจะได้ปลอดภัย มีธรรมกายเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ดังนั้น อย่าขี้เกียจนั่งธรรมะ ให้ขยันปฏิบัติธรรมทุกวัน ฝึกทำใจให้หยุดนิ่งให้ได้ตลอดเวลา
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ติลมุฏฐิชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๑๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘