มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - การตั้งตนไว้ชอบ

มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - การตั้งตนไว้ชอบ
มารดาบิดา ก็หรือญาติเหล่าอื่น พึงทำเหตุนั้นให้ไม่ได้
จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ พึงทำผู้นั้นให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้นได้

ทุกคนในโลกต่างมีเวลาเท่าเทียมกัน คือ วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน ต่างกันที่ว่าใครจะใช้เวลานั้น ให้มีคุณค่ามากน้อยกว่ากันเท่านั้น ทุกชีวิตที่เกิดมานี้ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะใช้เวลานั้นทำอะไรก็ได้ แต่เราไม่สามารถที่จะทวงคืนกลับมาได้ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผ่านแล้วผ่านเลย เหมือนคำกล่าวที่ว่า "เวลาและวารี ไม่เคยคอยใคร" จะผ่านไปตามกาลเวลาอย่างสม่ำเสมอ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปเร่ง เวลานั้นไม่ได้ผ่านไปเปล่า ยังนำความเสื่อมความชรามาให้กับเรา ในที่สุดก็มีความตายรออยู่เบื้องหน้า
การที่บุคคลใดรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจที่จะใช้เวลาให้มีคุณค่าต่างกันมากน้อยเพียงไร
ถ้าตั้งใจมากและรู้คุณค่าของเวลา จะรู้สึกว่า เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ไม่ทันไรก็หมดไปวันหนึ่งแล้ว

แต่ถ้าไม่คิดที่จะทำอะไร ก็จะรู้สึกว่าวันเวลานั้นช่างยาวนาน นี่เป็นความคิดของคนพาลผู้เป็นโมฆบุรุษ
เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราต้องดำเนินตามปฏิปทาของบัณฑิตในกาลก่อน ที่ได้ทำเป็นแบบอย่างที่ดีไว้แล้ว ด้วยการขวนขวายในการสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา

มีวาระพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นพระคาถาไว้ในธรรมบทว่า

"น ตํ มาตา ปิตา กยิรา อญฺเญ วา ปน ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺต เสยฺยโส นํ ตโต กเร

มารดาบิดา ก็หรือญาติเหล่าอื่น พึงทำเหตุนั้นให้ไม่ได้ จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ พึงทำผู้นั้นให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้นได้"

แม้บางคนเกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีศีลมีธรรม ถึงพร้อมด้วยศรัทธา รักในการทำทาน แต่เขากลับมีความคิดตระหนี่เสียดายทรัพย์ นอกจากไม่ให้ใครแล้ว ยังคิดอยากได้ของผู้อื่นอีก มีความเห็นผิดคิดว่าบุญบาปไม่มีจริง โลกนี้โลกหน้าไม่มี ตายแล้วสูญ พ่อแม่ไม่มีคุณ ดังนี้เป็นต้น
จิตของบุคคลที่ตั้งไว้ผิดเช่นนี้ ย่อมนำความทุกข์มาให้โดยส่วนเดียว ยิ่งกว่าความทุกข์ที่พวกโจรมาปล้นทรัพย์ หรือถูกเขาทำร้ายจนเสียชีวิต เพราะการถูกเบียดเบียนจากบุคคลเหล่านั้นเป็นทุกข์แต่ในภพชาตินี้เท่านั้น ซึ่งความทุกข์ทรมานนั้น เทียบไม่ได้กับความทุกข์ที่เกิดจากจิตที่ตั้งไว้ผิด เพราะจิตที่ตั้งไว้ผิดย่อมทำให้คำพูด และการกระทำผิดไปด้วย ทำให้ได้รับผลจากการที่ตั้งจิตไว้ผิดในภพชาตินี้ทันที ในที่สุดต้องไปทุกข์ทรมานในอบายภูมิ ทนทุกข์ทรมานอยู่ในนรกนานแสนนาน และยังไม่รู้ว่าจะหลุดพ้นจากผลกรรมนั้นเมื่อใด

ส่วนจิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ มีแต่จะอำนวยประโยชน์สุขมาให้ เขาย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองสถานเดียว ไม่มีตกต่ำ จะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ตลอดจนมรรคผลนิพพาน ฉะนั้นให้พวกเราทุกคนตั้งจิตของตนไว้ให้ถูกต้อง ดั่งพราหมณ์ผู้ไม่มีศรัทธา แต่ภายหลังกลับมีศรัทธา ได้ตั้งจิตไว้ถูกที่ดี จนสามารถกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น เป็นพระอรหันต์ในที่สุด ไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานในสังสารวัฏอีกต่อไป เรื่องมีอยู่ว่า

พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ภารทวาชะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ เขาไม่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย หากใครกล่าวเพียงแค่ว่า "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" เขาจะรีบปิดหู จิตใจของเขานั้นแข็งกระด้างเช่นกับตอตะเคียน แต่พราหมณีผู้เป็นภริยาชื่อ ธนัญชานี ได้บรรลุเป็นโสดาบัน มีศรัทธาเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่ว่านางจะยืน นั่ง ไอ หรือจามก็ตาม นางจะเปล่งวาจานอบน้อมถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า "นโม ตสฺส ภควโต" เสมอ

*วันหนึ่ง พราหมณ์ประสงค์จะเชิญพราหมณ์ ๕๐๐ คน ให้มาปริโภคข้าวมธุปายาสที่มีน้ำน้อย เมื่อคิดดังนั้นจึงกำชับพราหมณีว่า "นางผู้เจริญ วันพรุ่งนี้ พราหมณ์ประมาณ ๕๐๐ คน จะมาบริโภคอาหารในเรือนของเรา เธออย่าได้กล่าวคำนอบน้อม ถึงสมณะโล้นนั้นสักวันหนึ่งเถอะนะ ถ้าพวกพราหมณ์ได้ยินคำนอบน้อมนั้นแล้วจะไม่พอใจ เธออย่าได้ทำลายมิตรภาพของฉันกับพราหมณ์นั้นเลย"
พราหมณีตอบว่า " แม้ว่ามิตรภาพของท่านจะถูกตัดขาดจากพราหมณ์เหล่านั้น หรือจะถูกตัดขาดจากเทวดาของท่านก็ตาม ฉันจะระลึกนึกถึงพระบรมศาสดาของฉันเท่านั้น หากฉันไม่กล่าวนอบน้อมถึง จะอยู่ไม่ได้"

พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็เงื้อดาบพร้อมกับขู่ว่า "ถ้าหากพรุ่งนี้เธอกล่าวนอบน้อมสมณะโล้นนั้น ในขณะที่พวกพราหมณ์นั่งอยู่ ฉันจะฟันเธอให้ขาดเป็นสองท่อนด้วยดาบเล่มนี้"
ปกติธรรมดาอริยสาวิกา ยากที่ใครๆ จะทำให้หวั่นไหวได้ นางจึงกล่าวว่า "พราหมณ์ แม้ท่านจะฟันฉันให้เป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ฉันก็จะไม่ตัดขาดจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดเลย" เมื่อพราหมณ์นั้นไม่อาจห้ามนางได้ จึงทิ้งดาบแล้วเดินจากไป

วันรุ่งขึ้น ขณะพราหมณ์ทั้งหลายกำลังนั่งบริโภคข้าวมธุปายาส ซึ่งพราหมณ์ภารทวาชะเองก็ได้นั่งบริโภคอยู่ด้วยนั้น นางพราหมณีได้ถือทัพพีทอง เดินไปหาพราหมณ์ผู้เป็นสามีเพื่อนำข้าวมธุปายาสไปให้ ขณะนั้นเองนางลื่นล้มลงที่กองไม้ที่เขาเก็บไว้ไม่เรียบร้อย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแก่นาง ทันใดนั้นนางได้ระลึกถึงพระบรมศาสดาด้วยการทำอัญชลีไว้เหนือเศียรน้อมไปทาง พระเวฬุวัน พลางเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า "นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส"
ในขณะที่พราหมณ์บางพวกกำลังบริโภค บางพวกกำลังเริ่มลงมือ บางพวกกำลังวางภัตไว้ต่อหน้า เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นได้ยินเสียงอุทานของนาง ประดุจถูกค้อนขนาดเท่าภูเขาสิเนรุกระหนํ่าลงบนศีรษะ ประดุจถูกหลาวเจาะ รูหูทั้งสองข้าง ต่างพากันโกรธ และต่อว่าพราหมณ์นั้นว่า "พวกเราถูกผู้ที่นับถือสมณะโล้นเชิญให้เข้ามาในเรือนแล้ว" ต่างทิ้งก้อนข้าวในมือ คายก้อนข้าวที่อยู่ในปากทิ้ง และด่าพราหมณ์ต่างๆ นานา แล้วลุกจากไปทันที

แม้พราหมณ์เองก็ด่าพราหมณีต่างๆ นานา แต่เพราะความรักในภรรยา ตนจึงไม่อาจทำอะไรได้ ได้แต่กล่าวว่า "เธอเอาแต่สรรเสริญคุณของสมณะโล้นนั้นไปทุกที่ ฉันจักข่มพระศาสดาของเธอด้วยวาทะของฉันเดี๋ยวนี้แหละ"
พราหมณ์ได้ออกจากบ้านไปวัดพระเวฬุวันด้วยใจที่เดือดดาลงุ่นง่าน เมื่อไปถึงก็ไม่ถวายบังคมพระบรมศาสดา ได้ไปนั่งในที่แห่งหนึ่งแล้วทูลถามปัญหาว่า "บุคคลฆ่าอะไรได้จึงจะนอนเป็นสุข บุคคลฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก สมณโคดม ท่านชอบใจการฆ่าธรรมอะไรว่าเป็นธรรมอันเอก"

เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงพยากรณ์ปัญหาแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า "บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนเป็นสุข เมื่อฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก พราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญการฆ่าความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก"
พราหมณ์ฟังเทศนาของพระบรมศาสดาจบลง มีศรัทธาทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระบรมศาสดาในวันนั้น เมื่อท่านบวชได้ไม่นาน ก็สามารถขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ได้เป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งในบวรพระพุทธศาสนา

หลังจากนั้นไม่นานนัก อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ผู้เป็นน้องชาย รู้ข่าวว่าพี่ชายของตนได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วออกบวช จึงโกรธพระพุทธองค์มากได้ตามมาบริภาษ พระบรมศาสดาด้วยวาจาที่หยาบคาย จนพอใจแล้ว พระพุทธองค์ ก็ทรงแสดงธรรมให้เขาสำนึกจนรู้สิ่งที่ถูกสิ่งที่ผิด ด้วยการยกอุปมาเรื่องการให้ของเคี้ยวของดื่มเป็นต้นแก่แขก ทรงสอนว่า "ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตน มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ ย่อมหลุดพ้น เพราะเมื่อมีความรู้ชอบ เป็นผู้สงบคงที่อยู่แล้ว ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบต่อบุคคลที่โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามก กว่าบุคคลนั้น เพราะบุคคลไม่ควรโกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธแล้ว เมื่อทำเช่นนี้แล้วย่อมได้ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก ผู้ใด รู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้วเป็นผู้มีสติสงบ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่บุคคลอื่น"
หลังจากจบพระธรรมเทศนา เขารู้สึกเลื่อมใสในพระบรมศาสดา จึงขอบวชและในที่สุดได้บรรลุพระอรหัต นอกจากอักโกสกภารทวาชพราหมณ์แล้ว ยังมีน้องชายของท่านอีกสองคน เมื่อเขาทั้งสองรู้ว่าพี่ชายทั้งสองออกบวชในสำนักของพระบรมศาสดา จึงพากันมาบริภาษพระพุทธองค์ แต่ครั้นพระพุทธองค์ทรงพระกรุณาแนะนำ เขาทั้งสองจึงเกิดศรัทธาออกบวชได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เช่นกัน

ดังนั้น การระงับอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ มีความโกรธเป็นต้น ตั้งจิตของเราไว้โดยชอบ ในสิ่งที่ถูกที่ควร คือ พระรัตนตรัยภายใน เราก็จะมีความสุขที่ไม่มีประมาณ เพราะพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่งให้แก่เราได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในยามใด จะตกทุกข์ได้ยากอย่างไร เราก็สามารถพึ่งท่านได้ เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งจิตของเราไว้ให้ถูกที่ ด้วยการหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ธนัญชานีสูตร เล่ม ๒๕ หน้า ๑๙๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘