มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - อรกศาสดา



มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
อรกศาสดา

คนแจวเรือรับคนไปส่งฝั่งโน้น และนำเรือกลับมาฝั่งนี้ ฉันใด ความเจ็บไข้และความแก่ ย่อมนำชีวิตสัตวโลก ส่งไปสู่อำนาจของพญามัจจุราชเรื่อยไป ฉันนั้น

ธรรมชาติของใจนั้น สุดแสนจะว่องไว พร้อมจะท่องเที่ยวไปได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ช่วงเวลาเพียงเล็กน้อย ใจยังล่องลอยไปได้จนเราตามไม่ทัน ผู้ที่ไม่คอยระวังรักษาใจ มัวปล่อยให้ใจฟุ้งซ่าน ย่อมมีชีวิตที่สับสนวุ่นวาย เป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แม้ใจคนเราจะเป็นสิ่งที่อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงได้ง่าย แต่เป็นสิ่งที่ฝึกหัดให้หยุดนิ่งได้ด้วยการปฏิบัติธรรม การวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาสบายให้ต่อเนื่อง ถือเป็นศิลปะที่จะต้องอาศัยการฝึกฝน วางหนักไปก็ไม่ได้ เบาไปก็ไม่พอดี ต้องวางพอดีๆ เหมือนคนเอามีดกรีดลงบนใบบัวให้เป็นรอย หนักไปใบก็ขาด เบาไปใบก็ไม่เป็นรอย ต้องวางมีดพอดีๆ อย่างมีศิลปะ การวางใจก็เช่นกัน ต้องวางอย่างมีศิลปะ วางเบาๆ สบายๆ ไม่ช้าใจเราย่อมจะหยุดนิ่งได้อย่างง่ายดาย และเข้าถึงพระธรรมกายภายในได้ในที่สุด

หัตถิปาลกุมารได้กล่าวอมตวาจาไว้ใน หัตถิปาลชาดก ว่า

ยถาปิ นาวํ ปุริโสทกมฺห เอเรติ เจนํ อุปเนติ ตีรํ
เอวํ พฺยาธิ สตตํ ชรา จ อุปเนติ มจฺจุวสมนฺตกสฺส

คนแจวเรือรับคนไปส่งฝั่งโน้น และนำเรือกลับมาฝั่งนี้ ฉันใด ความเจ็บไข้และความแก่ ย่อมนำชีวิตสัตวโลก ส่งไปสู่อำนาจของพญามัจจุราชเรื่อยไป ฉันนั้นŽ

การดำเนินชีวิตของทุกคนล้วนต้องผจญภัยต่างๆ มากมาย ทั้งภัยที่เกิดจากตัวของเราเอง และภัยที่เกิดจากคน สัตว์ สิ่งของ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา หรือภัยที่เกิดจากน้ำท่วม ไฟไหม้ ถูกโจรปล้น เหล่านี้เป็นต้น บางครั้งเราสามารถหลบหลีก หรือแก้ไขและป้องกันได้ แต่ภัยที่เกิดจากชราภัย พยาธิภัย และมรณภัย ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดนั้น เป็นสิ่งที่เราหนีไม่ได้ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เหมือนดวงอาทิตย์ที่โผล่พ้นขอบฟ้า ย่อมเคลื่อนคล้อยอัสดง ลับขอบฟ้าไป มิได้หมุนย้อนกลับไปทางทิศตะวันออกฉะนั้น

อย่างไรก็ตาม ภัยที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังไม่อันตรายเท่ากับภัยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นภัยที่อันตรายที่สุดกว่าภัยทั้งปวง เพราะภัยชนิดนี้เรามองไม่เห็นด้วยจักษุของมนุษย์ ของเทวดา พรหม หรืออรูปพรหม ภัยชนิดนี้คือ กิเลสที่หมักดองอยู่ภายในใจของเรา จะเห็นได้ด้วยจักษุของพระธรรมกายอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตของเราย่อมต้องผจญกับภยันตรายต่างๆ มากมาย ทั้งภัยในปัจจุบันชาติและภัยในสังสารวัฏ คือ กิเลส อาสวะที่หมักดองอยู่ภายในใจของเรานั้นเอง

เมื่อชีวิตเต็มไปด้วยภัยรอบด้านเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษา และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ที่สำคัญคือเวลาในชีวิตของเรานั้นมีอยู่อย่างจำกัด แต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว เดี๋ยววันเดี๋ยวคืน เดี๋ยวก็หมดเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น เราอย่าได้ประมาท อย่าคิดว่ายังหนุ่มยังสาว ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ยังมีชีวิตอีกยาวนาน เพราะมรณภัยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงความตายไว้ ๒ อย่าง ได้แก่ กาลมรณะ คือ ความตายที่เกิดขึ้นเพราะหมดบุญบ้าง เพราะหมดอายุขัยบ้าง หรือเพราะหมดทั้งสองอย่าง และ อกาลมรณะ คือ ความตายที่เกิดขึ้นเพราะอำนาจกรรมเข้ามาตัดรอน ทำให้มีอายุสั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นกาลมรณะหรืออกาลมรณะ สุดท้ายต่างต้องตายเช่นกัน ชีวิตของมนุษย์นั้นเกิดยากแต่ตายง่าย เป็นชีวิตที่เปราะบาง ไม่แข็งแรงทนทาน เสื่อมสลายเร็ว ฉะนั้น ดีที่สุดคือต้องไม่ประมาท และใช้ชีวิตที่มีอยู่น้อยนิดนี้ให้คุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวเราและชาวโลก


*ในยุคสมัยที่มนุษย์มีอายุเฉลี่ย ๖๐,๐๐๐ ปี มีเจ้าลัทธิ ผู้เรืองปัญญาท่านหนึ่ง ชื่อ อรกะ เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจากความกำหนัดยินดีในกาม อรก ศาสดามีสาวกหลายร้อยคน ท่านสอนสาวกเสมอว่า ดูก่อนพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ควรรีบทำบุญกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายนั้นย่อมไม่มี ดูก่อนพราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยทอแสงขึ้นมา ย่อมแห้งหายไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นานแม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเสมือนหยาดน้ำค้างฉันนั้น คือ ชีวิตเป็นของน้อยและแสนสั้น มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรรีบทำบุญกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายนั้น ย่อมไม่มีเลยŽ

ท่านยกอุปมาอย่างอื่นมาสอนสาวกให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของอายุมนุษย์ว่า ชีวิตมนุษย์เปรียบเหมือนเมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ดขึ้น ฟองน้ำย่อมแตกเร็ว ตั้งอยู่ไม่นาน เหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาเอาสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่ได้หยุดพักตรงไหน สายน้ำไหลเรื่อยไปตามหน้าที่ของมัน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกชีวิตย่อมบ่ายหน้าไปสู่ความตายเพียงอย่างเดียว

ชีวิตเปรียบเหมือนคนแข็งแรงที่ถ่มน้ำลายทิ้งไปอย่างง่ายดาย ชีวิตตั้งอยู่ได้ไม่นาน ถูกไฟ คือ ความแก่ ความเจ็บและความตาย เผาผลาญอยู่ทุกอนุวินาที กาลเวลาที่ผ่านไปพร้อมกับความตายที่มาเยือน เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกระทะเหล็ก ถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ความร้อนยิ่งเพิ่มมากขึ้น ชิ้นเนื้อก็ถูกเผาต้มให้แตกทำลายไปอย่างรวดเร็ว

แม่โคที่จะถูกเชือด ถูกนำไปสู่ที่ฆ่า ทุกย่างก้าวที่เดินไป คือความตายที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ ไม่อาจหลุดพ้นจากการถูกฆ่าฉันใด ชีวิตของมนุษย์ก็เปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกเชือดฉันนั้น เพราะมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะหลีกหนีจากความตายอย่างไร ย่อมหนีไม่พ้น ควรรีบกระทำบุญกุศล ประพฤติพรหม-จรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ต้องตายหมดทุกคนŽ

ในยุคที่มนุษย์มีอายุเฉลี่ยประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี เด็กผู้หญิง มีอายุประมาณ ๕๐๐ ปีจึงมีสามี ส่วนโรคภัยไข้เจ็บก็มีไม่มากเหมือนในยุคของเรา ยุคนั้นมีอาพาธน้อย โรคภัยไข้เจ็บมีอยู่ ๖ ประการเท่านั้น คือ ความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ และปวดปัสสาวะ แต่ในปัจจุบันเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บมากมาย โรคบางชนิดยังไม่มียารักษา อายุขัยของมนุษย์ก็สั้นมาก เวลาในการสร้างความดีจึงมีน้อย คนที่มีอายุยืนยาว อย่างมากก็เพียงร้อยปี หรือเกินกว่านั้นก็มีไม่มาก

การระลึกนึกถึงความตายบ่อยๆ จะทำให้เราไม่ประมาทในการสั่งสมบุญกุศล และเร่งประกอบความเพียร เพราะก่อนที่เราจะตายจากโลกนี้ไป เราจะต้องเตรียมตัวของเราให้พร้อม เพื่อไม่ต้องเสียดายภายหลังว่า รู้อย่างนี้ตอนยังมีลมหายใจอยู่ น่าจะเร่งรีบทำความเพียร หรือทุ่มเททำบุญให้มากกว่านี้

ฉะนั้น ตอนนี้เรายังแข็งแรง ความทรงจำยังดีอยู่ สังขารร่างกายยังเหมาะสมกับการสร้างบารมี เหมาะสมกับการประกอบความเพียร เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ต้องรีบฉวยโอกาส และเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิด สร้างบารมีและทำความเพียรให้เต็มที่ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ส่วนบาปอกุศลที่เคยทำให้ลด ละ เลิก และอย่าไปนึกถึงบาปอกุศลที่ยังไม่ได้ทำ อย่าไปทำเพิ่มอีก มิฉะนั้น ดวงบาปจะโตขึ้น ส่วนบุญกุศลที่ยังไม่ได้ทำขอให้รีบทำ บุญกุศลที่ทำแล้วก็ให้ทำยิ่งขึ้นไปอีก ให้บุญบารมีของเราเพิ่มพูนขึ้นทุกๆ วัน ทั้งทาน ศีล ภาวนา อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะต้องทำใจหยุดใจนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกาย ภายในให้ได้ ถึงตอนนั้นเราจะเป็นผู้ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย และได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. อรกานุสาสนีสูตร เลˆ่ม ๓๗ หน้‰า ๒๗๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘