มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - ผู้ข้ามพ้นวัฏฏะ

ตัณหา ความทะยานอยาก เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้บุคคลต้องเร่ร่อนไปในภพน้อยใหญ่ ใครถูกตัณหาครอบงำแล้ว จิตของผู้นั้นย่อมวิ่งพล่านไปในอารมณ์ต่างๆ อันเป็นบ่วงแห่งมารที่หมู่สัตว์ติดข้องอยู่ และย่อมเข้าถึงความโศกสิ้นกาลนาน ส่วนผู้ใดขุดรากเหง้าแห่งตัณหาได้ ได้ชื่อว่าตัดเครื่องผูกแห่งมารได้ ย่อมล่วงพ้นความโศก ความทุกข์ทั้งหลายย่อมตกไป เหมือนหยาดน้ำที่กลิ้งตกไปจากใบบัว
การเจริญสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นความดีอันยิ่งและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ โดยหมั่นฝึกฝนอบรม กาย วาจา ใจ ของเราให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ การที่เราได้ปฏิบัติอย่างนี้ ถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ชื่อว่า "ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท"
ชีวิตมนุษย์นั้น พื้นฐานของชีวิตมีแต่ความทุกข์ทรมาน ทรมานจนกระทั่งเกิดความเคยชิน บางครั้งถือเป็นเรื่องปกติ มีทั้งทุกข์ที่ติดตัวมาและทุกข์ใหม่ที่เข้ามา รวมทั้งหมดทำให้ชีวิตเป็นทุกข์
ดังนั้น เมื่อพื้นฐานชีวิตมีความทุกข์ กิจที่ต้องทำ คือ "กิจที่มุ่งดับทุกข์ เพื่อให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ได้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสาเหตุของความทุกข์ไว้ว่า...
"ตัณหาความทะยานอยาก เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้บุคคลต้องเร่ร่อนไปในภพน้อยใหญ่ ใครถูกตัณหาครอบงำแล้ว จิตของผู้นั้นย่อมวิ่งพล่านไปในอารมณ์ต่างๆ อันเป็นบ่วงแห่งมารที่หมู่สัตว์ติดข้องอยู่ และย่อมเข้าถึงความโศกสิ้นกาลนาน ส่วนผู้ใดขุดรากเหง้าแห่งตัณหาได้ ได้ชื่อว่าตัดเครื่องผูกแห่งมารได้ ย่อมล่วงพ้นความโศก ความทุกข์ทั้งหลายย่อมตกไป เหมือนหยาดน้ำที่กลิ้งตกไปจากใบบัว"
เมื่อสาวไปดูถึงต้นเหตุ ในที่สุดเราก็จะพบว่า ต้นเหตุของความทุกข์ทรมานทั้งหลายนั้น ล้วนมาจากความทะยานอยากทั้งสิ้น พญามารนั่นเองที่เอาความอยากมาบังคับสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปตามอำนาจ ใครตกอยู่ในอำนาจจะต้องประสบกับทุกข์ร่ำไปไม่มีวันจบสิ้น
ผู้รู้ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ได้แสวงหาวิธีการดับทุกข์โดยดับที่ความอยาก แล้วก็พบวิธีการว่า ต้องทำนิโรธ คือ ทำใจให้หยุด จึงจะดับความอยากได้ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)_ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านได้สอนวิธีการหยุดใจไว้ว่า "เบื้องต้นต้องตั้งสติให้ดีก่อน แล้วก็หยุดความอยากทั้งหลาย โดยเอาใจที่ฟุ้งซ่าน คิดไปในเรื่องราวต่างๆ มาหยุดมานิ่งไว้ในที่ตั้งถาวรของใจ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗"
การหยุดใจทำง่ายๆ โดยการวางใจเฉยๆให้นิ่งๆ พอใจกลับเข้าที่ตั้งดั้งเดิมในปริมณฑล ก็จะค่อยๆตกตะกอน ค่อยๆใสขึ้นๆ บริสุทธิ์ขึ้น บริสุทธิ์ในระดับที่สามารถเห็นความบริสุทธิ์ผุดเกิดขึ้นมาเป็นดวงใส ความบริสุทธิ์นี้นำมาซึ่งความสุขกายสุขใจอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อนเลย เกิดขึ้นในยามที่ใจนิ่ง ทิ้งความคิดทั้งมวลมาอยู่ในแหล่งที่ปลอดความคิด ปลอดความกังวล
ยิ่งใจของเราหยุดนิ่ง ยิ่งมีความสุขและเข้าไปสู่ความบริสุทธิ์ที่ยิ่งๆขึ้นไป จนกระทั่งหลุดพ้นจากความไม่บริสุทธิ์ เข้าไปถึงจุดที่มีความบริสุทธิ์อันสูงสุด ที่ความบริสุทธิ์นั้น ประกอบเกิดขึ้นเป็นกายที่สวยงาม ได้พุทธลักษณะสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เพียบพร้อมไปด้วยความสุขอันเป็นนิรันดร์ กายที่ประกอบไปด้วยความบริสุทธิ์นี้ เรียกว่า "ธรรมกาย" ธรรมกายหรือกายธรรมเป็นกายที่จะข้ามพ้นวัฏสงสารได้
ในสมัยพุทธกาล มีนักปราชญ์ผู้รู้ที่ปรารถนาจะข้ามพ้นวัฏฏะ ได้เพียรพยายามประพฤติธรรม บวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเคร่งครัด และก็แสวงหาความรู้มาตลอดชีวิต เพื่อให้พบทางออกจากภพสาม แต่ไม่พบวิธีการที่ถูกต้องสมบูรณ์ ที่จะนำตนให้พ้นไปจากสังสารวัฏได้จริงๆ จวบจนกาลล่วงเลยมาถึงขณะสมัยที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ท่านจึงได้เข้าไปกราบเรียนถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงวิธีการที่จะข้ามพ้นวัฏฏะว่า…
*" ข้าพระพุทธเจ้ามีนามว่า ปุณณกะ มีความประสงค์ใคร่จะถามปัญหาพระองค์ ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้ พระองค์ทรงมีพระพักตร์เบิกบานไม่เคร่งเครียด มีวรรณะผ่องใส มีพระปัญญากว้างขวางลึกซึ้ง ทรงรู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามปัญหาว่า บรรดาหมู่มนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤๅษี กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นจำนวนมาก อาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ขอพระองค์โปรดตรัสบอกความข้อนี้ด้วยเถิด"
พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ปัญหาว่า "หมู่มนุษย์เหล่านั้นอยากได้ของที่พวกตนปรารถนา ซึ่งล้วนแต่ยังเป็นของที่มีความเสื่อมความชรา ทำให้แปรเปลี่ยน เพราะอาศัยความอยาก จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา"
ปุณณกะได้ทูลถามต่อว่า "หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติและชราได้หรือไม่พระพุทธเจ้าข้า"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า "หมู่มนุษย์เหล่านั้นมุ่งลาภที่ตนหวัง จึงพูดสรรเสริญการบูชายัญ รำพันถึงสิ่งที่ตนปรารถนา ก็เพราะอาศัยลาภ เราตถาคตกล่าวว่าผู้บูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่อาจข้ามพ้นชาติชราในวัฏฏะไปได้"
ปุณณกะผู้เป็นปราชญ์ ทูลถามต่ออีกว่า "ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้นข้ามพ้นชาติชราเพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกหรือมนุษยโลก จะข้ามพ้นชาติชราในวัฏฏะได้"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า "ความอยากซึ่งเป็นเหตุให้ดิ้นรนทะเยอทะยานของผู้ใดไม่มี เพราะได้เห็นแจ้งธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก เราตถาคตกล่าวว่าผู้นั้นมีจิตสงบระงับแล้ว ไม่มีทุจริต ความประพฤติชั่วอันจะทำให้จิตมัวหมองดุจควันไฟที่จับเป็นเขม่า ไม่มีกิเลสอะไรมากระทบ เมื่อหมดความทะยานอยาก จักข้ามพ้นชาติชราในวัฏฏะไปได้"
ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแก้ปัญหาอันลุ่มลึกที่ปุณณกะได้ทูลถามแล้ว ปุณณกะเป็นผู้มีดวงปัญญาสว่างโพลง เป็นปัญญาบริสุทธิ์ที่เข้าใจเนื้อความของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่าง แจ่มแจ้ง ท่านมีธรรมจักษุบังเกิดขึ้น ทั้งจักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา อาโลโก แสงสว่างที่ไม่มีประมาณได้ขจัดความมืดในจิตใจของท่านให้หมดสิ้นไป จนสามารถรู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งทั้งหลายไปตามความเป็นจริงได้ และกิเลสอาสวะถูกขจัดไป สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในครั้งนั้น
เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ดำรงอัตภาพจนหมดสิ้นอายุขัย ครั้นดับขันธ์ก็ปรินิพพาน ถอดกายธรรมอรหัตเข้าสู่อายตนนิพพานไป ถ้าใครได้เข้าถึงธรรมกาย ปฏิบัติจนมาถึงกายธรรมอรหัต การไปสู่อายตนนิพพานก็อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ อายตนนิพพานซึ่งเป็นสถานที่มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ ก็จะดึงดูดกายธรรมอรหัตไปสถิตอยู่ ณ ที่นั้น นี่คือวิธีการที่จะข้ามพ้นวัฏฏะ ซึ่งต้องดำเนินจิตเข้าไปในหนทางแห่งความบริสุทธิ์ ที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เป็นกิจที่สำคัญยิ่งต่อชีวิตของมนุษย์ทุกๆคนในโลก เป็นสิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
เกิดมาถ้าได้เข้าถึงธรรมกาย เกิดมาชาตินี้ถือว่าคุ้มค่า เพราะชีวิตมีแก่นสาร พบแก่นของชีวิตที่ประกอบไปด้วยความบริสุทธิ์ล้วนๆ ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ พระธรรมขันธ์ทั้งหมดมารวมกันเป็นธรรมกาย เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย ให้ดีใจเถิดว่า สิ่งที่เรากำลังปฏิบัติและหนทางที่กำลังดำเนินอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐดีงาม ถูกต้องแล้ว ให้มีความปีติ มีความภาคภูมิใจ ตั้งใจปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน จะได้ทำพระนิพพานให้แจ้ง และขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปด้วยกายธรรมอรหัต ทำได้อย่างนี้จึงจะข้ามพ้นจากภพชาติชรามรณะและวัฏสงสารไปได้
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ปุณณกมาณพ เล่ม ๖๗ หน้า ๖๔

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘