มงคลที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ - กรณียกิจ



มงคลที่ ๑๘
ทำงานไม่มีโทษ
กรณียกิจ

ผู้เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
เขามีความดำริผิดเป็นอารมณ์ จึงไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

การทำใจหยุดนิ่ง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของเราทุกคน ชีวิตของผู้ที่มีใจหยุดดีแล้ว เป็นชีวิตที่มีพลัง มีความบริสุทธิ์ มีอานุภาพในการที่จะทำความดี เอาชนะความชั่ว ขจัดความไม่บริสุทธิ์ ทำให้ใจเราได้เข้าถึงความหลุดพ้น มุ่งตรงไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต ใจหยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราเกิดมาชาตินี้ จะต้องฝึกใจหยุดนิ่งให้ได้ บุคคลใดหยุดใจได้สมบูรณ์ บุคคลนั้นจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะโลก เป็นผู้สมปรารถนา ในชีวิตอย่างแท้จริง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

อสาเร สารมติโน สาเร จาสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา

ผู้เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
เขามีความดำริผิดเป็นอารมณ์ จึงไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระŽ

กรณียกิจที่เรากำลังทำอยู่นี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิต เช่นเดียวกับลมหายใจเข้าออก ที่สืบต่อชีวิตให้ยืนยาว กรณียกิจจะเกี่ยวข้องกับตัวของเรา และเกี่ยวโยงกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย การแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากความทุกข์ ไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม เป็นกรณียกิจที่มีผลต่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติและธาตุธรรม เป็นงานที่ไม่มีโทษ มีแต่คุณประโยชน์ล้วนๆ

พื้นฐานของชีวิตมนุษย์ทุกคนในโลก ต่าง มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงบัดนี้ ต้องพบกับความทุกข์เสมอ ส่วนใหญ่ยังไม่เคยพบกับความสุขที่แท้จริง มักเจอแต่สภาพความทุกข์ที่ลดลงบ้างเป็นครั้งคราว อยู่ในสภาพที่พอทนได้ แต่เราหลงเข้าใจว่า นั่นคือความสุข แท้ที่จริง เป็นแค่ความทุกข์ที่ลดลงเท่านั้น หรือมัวหลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร เพื่อให้ลืมความทุกข์กันไปชั่วขณะเท่านั้น

ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม คือ อยู่ภายในตัวของเราทุกๆ คน ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ หรืออยู่ที่บุคคลอื่น เราจะไปแสวงหาความสุขที่แท้จริงจากคน สัตว์ สิ่งของ แก้วแหวนเงินทองทรัพย์สินต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น แต่อยู่ที่ใจของเราเอง ดังนั้น ถ้าอยากพบความสุขที่แท้จริง ต้องแสวงหาที่ใจของเราเอง

เช่นเดียวกับพระภัททิยะ ผู้เสวยราชสมบัติสืบต่อศากยวงศ์ ท่านได้สละราชสมบัติ ออกผนวชในสำนักของพระบรมศาสดา ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านบรรลุอรหัตผลแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะอยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ท่านมักจะเปล่งอุทานอยู่เนืองๆ ว่า สุขจริงหนอ สุขจริงหนอŽ

ภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟัง พากันนำความนั้นไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า พระภัททิยะอุทานเช่นนี้ คงไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ คงนึกถึงความสุขในราชสมบัติเป็นแน่Ž ทั้งๆ ที่พระบรมศาสดาทรงรู้ความจริง แต่ด้วยมีพระประสงค์จะเปลื้องความสงสัยของเหล่าภิกษุ จึงตรัสถามพระภัททิยะว่า ที่อุทานเช่นนั้นเพราะอะไรŽ

พระภัททิยะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีเจ้าพนักงานป้องกันอารักขา ทั้งภายในและภายนอกตลอดจนทั่วอาณาบริเวณ แม้จะได้รับการอารักขามากเพียงใด ข้าพระองค์ยังต้องหวาดสะดุ้งกลัวภัยจากศัตรูที่จะมารุกรานอยู่ร่ำไป แต่บัดนี้ แม้ข้าพระองค์จะอยู่คนเดียวในป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างก็ตาม กลับไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือสะดุ้งเพราะความระแวงภัยใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากคน สัตว์ สิ่งของ หรือภัยจากวัฏสงสารก็ตาม ข้าพระองค์ได้เว้นจากเหตุแห่งภัยเหล่านั้นโดยเด็ดขาดแล้ว ได้เข้าถึงความสุขอันเกิดจากวิเวก และได้รับผลของนิโรธสมาบัติอันยอดเยี่ยม จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น พระเจ้าข้าŽ

เราจะเห็นว่า แม้พระภัททิยะจะเคยเป็นพระราชาปกครองอาณาประเทศ มีราชสมบัติมากมาย แต่พระองค์ยังมีความทุกข์เพราะราชสมบัตินั่นแหละ ต้องคอยดูแลรักษา จะแสวงหาความสุขก็ได้ไม่เต็มที่ มีแต่ความหวาดระแวง สะดุ้งกลัวตลอดเวลา
ดังนั้น ความสุขที่แท้จริง จึงไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อไปแสวงหาความสุขผิดที่ ก็หาไม่พบ คนมีปัญญาต้องหาให้ถูกที่และถูกส่วน จึงจะพบความสุขที่แท้จริง พระภัททิยะแสวงหาได้ถูกที่และถูกส่วน จึงได้ตรัสรู้ธรรมและอุทานอยู่เนืองๆ ว่า สุขจริงหนอ สุขจริงหนอŽ

แสวงหาถูกที่ คือ ต้องนำใจมาตั้งถูกที่ตั้งของใจ ที่เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข ซึ่งอยู่ในกลางกายของเรา ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต้องนำใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ให้ได้ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่า วางใจถูกที่ตั้งแห่งความสุขที่แท้จริง และประคองใจไปเรื่อยๆ หยุดให้นิ่งๆ อย่างสบายๆ เดี๋ยวจะถูกส่วนเอง

คำว่าถูกส่วน คือ ความพอดี ใจจะเปลี่ยนจากภาวะหยาบไปสู่ความละเอียด ความสุขจะพรั่งพรูขึ้นมา เป็นความสุขที่เราเริ่มจะยอมรับว่า อย่างนี้เรียกว่าความสุขŽ เป็นอารมณ์ที่แตกต่างจากที่เราเคยพบมาก่อน เมื่อหยุดได้สนิทถูกส่วนจะเข้าถึงดวงธรรม ที่มาพร้อมกับความสุขที่เพิ่มพูนทับทวีขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางเดินของพระอริยเจ้า และพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสอาสวะ หนทางนี้เรียกว่าอริยมรรค ต้องเริ่มจากดวงธรรมนี้แหละ

เมื่อเข้าถึงดวงธรรมแล้ว ความสุข ความบริสุทธิ์ ความสว่างไสวแห่งดวงจิตและสัมมาทิฏฐิจะเกิดขึ้น เราจะมีความเห็นถูกต้องว่า ต้องไปสู่อายตนนิพพานเท่านั้น จึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ และต้องเดินไปในเส้นทางสายนี้เท่านั้น ถึงจะหลุดพ้นจากสรรพกิเลสทั้งหลาย เข้าถึงบรมสุขอันเป็นอมตะได้

ความเห็นถูกจะเป็นต้นทางของความคิดถูก ความคิดของเราจะเริ่มมีระบบระเบียบแบบแผนที่ดี มีความคิดมุ่งตรงไปสู่อายตนนิพพาน ซึ่งจะแตกต่างจากความคิดเดิมๆ ที่คิดอยากจะเป็นใหญ่ อยากจะครองโลก ครองบ้านครองเมือง ครองทรัพย์สินเงินทอง ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็น และเบียดเบียนกัน แก่งแย่งชิงดีกัน แต่เมื่อเข้าถึงตรงกลางกายฐานที่ ๗ ความคิดเห็นจะถูกต้องสมบูรณ์ คือ คิดที่จะออกจากทุกข์ สิ่งใดที่เป็นเครื่องร้อยรัด เป็นพันธนาการของชีวิต จะปลดปล่อยวาง แล้วมุ่งตรงต่อหนทางแห่งความบริสุทธิ์ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต

ถึงตอนนี้ กำลังใจจะเกิดขึ้นมา อยากจะทำกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ การพูดถูก ทำถูก เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน จะเกิดความเพียร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ดวงปัญญาจะเกิดขึ้นมาว่า การทำความเพียรที่ถูกต้องนั้น ต้องเพื่อที่จะทำกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ เพียรทำใจให้หยุดนิ่ง สิ่งใดที่เป็นบาปอกุศล จะพยายามไม่ให้เกิด ที่เกิดแล้วจะพยายามปรับปรุงแก้ไข สิ่งใดที่เป็นความบริสุทธิ์เพิ่มเติมขึ้นมา จะทำให้เจริญยิ่งขึ้น เมื่อหยุดใจ เข้าไปเรื่อยๆ สติจะตั้งมั่นเป็นมหาสติ สมาธิถูกต้องที่เรียกว่า สัมมาสมาธิจะบังเกิดขึ้น เมื่อหยุดถูกที่และถูกส่วนไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะเข้าถึงธรรมกาย ซึ่งเป็นเป้าหมายชีวิตของทุกคน

ทั้งหมดนี้เป็นกรณียกิจที่สำคัญสำหรับการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นงานที่มีแต่คุณอย่างเดียว ไม่มีโทษแม้แต่น้อย เมื่อเราเข้าถึงแล้ว ชีวิตของเราก็จะสมบูรณ์ แต่หากยังเข้าไม่ถึง ชีวิตก็ไม่ต่างไปจากนกกา ที่ตื่นแต่เช้าออกไปทำมาหากิน กลับมานอนหลับพักผ่อน วนเวียนกันไปเช่นนี้ จนกระทั่งแก่ชรา และตายไปในที่สุด เช่นนี้เรียกว่า เกิดมาตายฟรี ชีวิตไม่มีสาระ ดังนั้น อย่ามัวเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรม ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘