มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - ความโลภทำให้คนมืดบอด



มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
ความโลภทำให้คนมืดบอด


คนโลภไม่รับรู้ถึงเหตุ คนโลภไม่มองถึงผล
ความโลภเข้าครอบงำนรชนเมื่อใด เมื่อนั้น ก็จะมีแต่ความมืดบอด


ช่วงเวลาที่ทรงคุณค่าที่สุดของชีวิต คือ เวลาแห่งใจหยุดนิ่ง กำลังกายยังต้องเคลื่อนไหว แต่กำลังใจต้องหยุดนิ่ง สุขภาพร่างกายของเราจะแข็งแรง ย่อมต้องอาศัยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นการรักษาสุขภาพอนามัยที่ดี แต่ใจของเราต้องอาศัยการหยุดนิ่ง ถึงจะมีพลัง และทรงอานุภาพ ถ้าใจซัดส่ายไปมาคิดไปในเรื่องราวต่างๆ ปล่อยให้เป็นไปตามกระแสกิเลส โดยไม่รู้จักประคับประคองให้หยุดนิ่ง ใจจะหย่อนประสิทธิภาพ แต่ถ้าจะให้ใจมีคุณภาพ จะต้องฝึกใจให้หยุดให้นิ่งเป็นประจำทุกๆ วัน ใจจะหยุดนิ่งได้ ต้องลงมือปฏิบัติธรรมอย่างเดียวเท่านั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ว่า

ลุทฺโธ อตฺถํ น ชานาติ ลุทฺโธ ธมฺมํ น ปสฺสต
อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โลโภ สหเต นรํ

คนโลภไม่รับรู้ถึงเหตุ คนโลภไม่มองถึงผล
ความโลภเข้าครอบงำนรชนเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะมีแต่ความมืดบอดŽ

ในโลกแห่งความเป็นจริง มนุษย์ต่างแสวงหาความพอดี แต่เนื่องจากอวิชชามาบดบังดวงปัญญาไว้ จึงทำให้แสวงหาสิ่งต่างๆ มากเกินพอดี กลายเป็นความโลภ เป็นผลให้กิเลสพอกพูน ขึ้น เพราะไม่อาศัยหลักธรรมมาคอยกำกับ ทำให้มีความอยากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนการเป็นการแสวงหาแก่นสารของชีวิต แสวงหาเพื่อมุ่งไปสู่การไม่ต้องแสวงหา คือ การแสวงหาทางพ้นทุกข์นั้น ยิ่งแสวงหา ความอยากก็ยิ่งลดน้อยลง แต่ความบริสุทธิ์จะเพิ่มขึ้น

ความโลภเป็นอกุศลมูล คือ รากเหง้าหรือต้นเหตุที่ทำให้คนทำบาปอกุศล จนมีจิตใจมืดบอด มองไม่เห็นความดีของใคร ทำให้กลายเป็นคนไม่มีเหตุผล มองไม่เห็นประโยชน์ของการทำความดี คิดแต่จะเป็นผู้รับอย่างเดียว หากไม่ฝึกเป็นผู้ให้ ที่ให้ด้วยใจบริสุทธิ์ ให้เพราะเห็นคุณค่าของบุญ ความโลภก็จะเข้ามาแทนที่ ทำให้มีความทะยานอยากอยู่ร่ำไป และพลาดพลั้งไปทำสิ่งที่ไม่ดี กระทั่งต่อผู้มีพระคุณ

เหมือนดังเรื่องของมาณพคนหนึ่ง ผู้ไม่รู้จักพอในสิ่งที่ได้มา จึงทำร้ายมารดาเพราะเห็นแก่ความโลภ ทำให้ต้องได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส เรื่องมีอยู่ว่า
*มีเศรษฐีนีผู้เป็นพระโสดาบันท่านหนึ่ง มีลูกชายชื่อมิตตวินทุกะ เป็นคนไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย มารดาจึงสั่งสอนลูกชายเสมอๆ ว่า ลูกรัก การเกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่ของง่าย ลูกควรให้ทาน รักษาศีล และฟังธรรมบ้างŽ แต่ลูกชายไม่เคยทำตามที่มารดาสั่งสอน อย่างไรก็ตามมารดาก็ยังคงทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้ลูก คอยแนะนำพร่ำสอนด้วยความเอื้ออาทรตลอดมา

วันหนึ่ง เป็นวันพระ มารดาได้บอกลูกให้ไปวัดโดยกล่าวว่า ลูกรัก วันนี้เป็นวันอุโบสถ เจ้าควรสมาทานอุโบสถศีล และฟังธรรมให้ได้ตลอดทั้งคืน แล้วแม่จะให้เงินเป็นรางวัลŽ ลูกชาย เห็นแก่รางวัลที่มารดาจะให้ จึงไปอยู่ที่วัดตลอดทั้งวัน เอาแต่นอนหลับตลอดคืน ไม่ได้ฟังธรรมอะไรเลย ครั้นรุ่งเช้าก็รีบกลับบ้านทันที

เมื่อกลับถึงบ้าน แม่รู้สึกดีใจที่ชักชวนลูกไปทำความดีได้ จึงนำอาหารหวานคาวอย่างดีมาให้ลูกกิน แต่ลูกชายไม่ยอม ได้แต่รบเร้าแม่ว่า ที่แม่สัญญาว่าจะให้เงินผม ๑,๐๐๐ กหาปณะ แม่ต้องให้เงินผมก่อน ผมจึงจะกินข้าวŽ แม่ทนคำรบเร้าไม่ไหวจึงนำเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะมาให้ด้วยความรักเหมือนเดิม

ครั้นได้เงินมาแล้ว เขาคิดจะทำธุรกิจการค้า จึงไปร่วมกับเพื่อนๆ ต่อเรือเพื่อจะไปค้าขายในต่างแดน ด้วยความรักลูก แม่จึงห้ามลูกไป และอ้อนวอนด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า ลูกรัก เจ้าเป็นลูกคนเดียวของแม่ ในบ้านของเราก็มีเงินทองมากมาย แม่จะยกให้ลูกทั้งหมด ลูกอย่าไปเลยนะลูกŽ

ลูกชายไม่ยอมเชื่อ และด้วยความโมโหจึงผลักแม่จนล้มลง แล้วรีบลงเรือไปกับเพื่อน เมื่อเรือแล่นไปได้ ๗ วัน ก็หยุดแล่นอยู่กลางทะเลโดยไม่มีสาเหตุ คนในเรือจึงได้ทำสลากเพื่อหาตัวคนกาลกิณี มิตตวินทุกะจับได้คนเดียวถึง ๓ ครั้ง พวกที่ไปด้วยกันพากันลงความเห็นว่า ให้จับเขาลอยแพทิ้งไป ทุกคนจึงช่วยกันจับเขาโยนลอยแพไป

หลังจากเขาถูกลอยแพ เรือก็แล่นต่อไปได้ตามปกติ ส่วนแพได้ลอยไปถึงเกาะน้อยแห่งหนึ่ง บนเกาะนั้นเขาได้พบนางเวมานิกเปรต ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเสวยสุขอยู่ในวิมานแก้วผลึก ๗ วัน เขาได้ร่วมเสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้น ครั้นถึงวาระที่นางเปรตต้องไปรับกรรม จึงได้สั่งลาว่า พวกฉันจะกลับมาอีกในวันที่ ๗ ขอให้ท่านรออยู่ที่นี่ก่อน จนกว่าพวกฉันจะกลับมาŽ

มิตตวินทุกะถูกอำนาจตัณหาครอบงำ มีความกระวน กระวายรอไม่ไหว จึงลอยแพต่อไปในมหาสมุทร โดยหวังว่าจะได้พบหญิงที่งามกว่า แพได้ลอยไปถึงอีกเกาะหนึ่งที่มีนางเปรต ๘ ตน ในวิมานเงิน จากนั้นก็ไปเกาะที่มีนางเปรต ๑๖ ตน ในวิมานแก้วมณี และเกาะที่มีนางเปรต ๓๒ ตน ในวิมานทอง เขาได้เสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้น เพราะอานิสงส์ที่เกิดจากการรักษาอุโบสถศีลเพียงคืนเดียว

เมื่อถึงเวลาที่นางเปรตเหล่านั้นต้องไปรับทุกข์ทรมาน เขาก็ล่องแพต่อไปอีก แพได้ลอยไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงเป็นอุสสทนรก เป็นที่เสวยผลกรรมของเหล่าสัตว์นรก แต่กรรมบันดาลให้เขามองเห็นเป็นเมืองที่วิจิตรตระการตาสวยงามมาก ทำให้เขาคิดจะเป็นพระราชาของเมืองนี้

ทันทีที่เข้าไปในเมืองนั้น เขาเห็นนายประตูทูนจักรกรด หมุนบดขยี้อยู่บนศีรษะ แต่เขากลับมองเห็นเหมือนมงกุฎดอกบัว และมองเห็นเครื่องจองจำ ๕ ชิ้นที่หน้าอก เหมือนเป็นสังวาลย์เครื่องประดับของเทวดา ส่วนโลหิตที่ไหลจากศีรษะ ก็มองเห็นเป็นจันทน์แดงที่ชะโลมทา และเสียงครวญครางของสัตว์นรก ก็ฟังเป็นเสียงเพลงขับที่ไพเราะ

เขาจึงขอนายประตูว่า ท่านได้ทัดทรงมงกุฎดอกบัวมานานแล้ว ขอท่านให้ข้าพเจ้าลองใส่บ้างเถิดŽ สัตว์นรกคิดว่า บาปกรรมของเราคงจะสิ้นสุดแล้ว บุรุษผู้นี้คงจะมารับกรรมแทนเราŽ จึงขว้างจักรกรดไป จักรกรดได้หมุนบดขยี้บนศีรษะของเขา ทำให้เลือดไหลอาบแก้ม ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส เขาต้องกลายเป็นสัตว์นรกเสวยวิบากกรรมเพราะทำกรรมหนักต่อผู้มีพระคุณ ได้ทำร้ายมารดาผู้เป็นพระโสดาบัน


เพราะฉะนั้น การประทุษร้ายผู้มีพระคุณ จึงเป็นสิ่งที่บัณฑิตนักปราชญ์ไม่ทำกัน เพราะเป็นกรรมหนัก ตรงกันข้าม บัณฑิตจะคอยหาโอกาสตอบแทนผู้มีอุปการคุณเสมอ และจะประกาศคุณความดีของผู้มีพระคุณนั้น ขณะเดียวกันก็จะเร่งฝึกฝนอบรมตนให้หลุดพ้นจากกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายอยู่ในห้วงทะเลทุกข์ เพราะการทำความดีประพฤติดีปฏิบัติชอบนั้น ถือเป็นการประกาศคุณของผู้มีพระคุณอีกทางหนึ่งเหมือนกัน

การดำเนินชีวิตตามพุทธวิธี ด้วยการหมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาเป็นประจำ จะทำให้เราเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้เข้าใกล้แหล่งแห่งความดี และรู้จักแสวงหาความพอดีที่แท้จริงด้วยตนเอง จนสามารถนำใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้อย่างพอเหมาะพอดี ใจจะกลับมาสู่แหล่งแห่งความดีที่สมบูรณ์ เราจะรู้จักความพอดีที่นำไปสู่ความพอใจ จนไม่อยากแสวงหาอะไรอีกแล้ว นอกจากจะทำใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในเท่านั้น

ถ้าหากชาวโลกพร้อมใจกัน นำใจกลับเข้ามาสู่แหล่งแห่งความพอดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องนี้ได้ สังคมโลกจะเปลี่ยนจากการแสวงหาผลประโยชน์ มาเป็นการให้คุณประโยชน์ต่อกัน โลกนี้จะเกิดสันติภาพที่แท้จริง สันติสุขจะเบ่งบานไปทั่วทั้งโลก เป็นโลกแก้วที่บริสุทธิ์ และครอบครัวธรรมกาย จะเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ให้ทุกๆ ท่านตั้งใจทำใจหยุดนิ่งให้สม่ำเสมอ เราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นสรณะที่แท้จริง ทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. มิตตวินทุกะ เล่ˆม ๑๖ หน้‰า ๓๐๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘