มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล - อานุภาพพระปริตร

ไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นอยู่กันเถิด ถ้าพวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลาย ก็จงพากันเรียนพระปริตรนี้ ด้วยว่าพระปริตรนี้ จักเป็นเครื่องป้องกัน และจักเป็นกัมมัฏฐานสำหรับพวกเธอ
ชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ใจเป็นแกนกลางในการรักษาสมดุลของชีวิต ถ้าใจหลุดจากกลาง ความคิด คำพูด และการกระทำ จะพลอยเสียสมดุลตามไปด้วย ทำให้การทำงานต่างๆผิดพลาด คือ อาจเผลอไปทำบาปอกุศล ประพฤติผิดศีลธรรม หลงติดในอบายมุข ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างความดี สุดท้ายจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้ชีวิตต้องพลัดตกไปในอบายภูมิ กว่าจะกลับมาได้อัตภาพของความเป็นมนุษย์อีกครั้ง ต้องใช้เวลายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน
หากเราไม่รู้จักปรับใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย รักษาสมดุลชีวิตไว้ ชีวิตย่อมพลาดพลั้งไปทำบาปอกุศล ซึ่งเป็นเหตุให้นำทุกข์มาง่ายๆ ฉะนั้นเราจะต้องหมั่นนำใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเป็นประจำสม่ำเสมอ กันทุกคน
ในอรรถกถา เมตตสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า…
“ไป เถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นอยู่กันเถิด ถ้าพวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลาย ก็จงพากันเรียนพระปริตรนี้ ด้วยว่าพระปริตรนี้ จักเป็นเครื่องป้องกัน และจักเป็นกัมมัฏฐานสำหรับพวกเธอ”
คำว่า ปริตตะ หรือ พระปริตร แปลว่า ต้านทาน หรือ ป้องกันรักษาตัวเองให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย พระ ปริตรนี้เป็นชื่อของพุทธมนต์หรือพุทธวจนะ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ได้ตรัสไว้ และทรงจำสืบๆกันมา ถ้าใครสวดพุทธมนต์ คือ พระปริตรจนคล่องปากขึ้นใจ เช่น รัตนปริตร เมตตาปริตร ขันธปริตร พร้อมทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ย่อมจะเป็นทางมาแห่งบุญ ยิ่งหากท่านใดสามารถเข้าใจเนื้อความของพระปริตร และนำคำสอนนั้นไปประพฤติปฏิบัติตาม ที่เรียกว่านำไปใช้ในการทำกัมมัฏฐาน ย่อมจะแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวงได้ และยังเป็นเหตุให้ได้บรรลุธรรมาภิสมัย
*สำหรับ ปุจฉาวิสัชนา ที่เป็นความสงสัยเกี่ยวกับอานุภาพของพระปริตรนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามว่า “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ผู้ที่อยู่ในอากาศ ในท่ามกลางมหาสมุทร ในกลางภูเขา หรือไปอยู่ในที่ใดๆก็ตาม ที่จะพ้นจากความตาย ไม่มี สถานที่ที่ความตายจะครอบงำไม่ได้ ก็ไม่มี...
แต่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระปริตร คือ พระพุทธมนต์ อันเป็นเครื่องป้องกันความตายไว้ คือ รัตนปริตร เมตตาปริตร ขันธปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร ถ้าผู้ที่อยู่ในอากาศ ในท่ามกลางมหาสมุทร หรือกลางภูเขา ไม่พ้นจากอำนาจความตายแล้ว พระปริตรนั้นก็ผิดไป ถ้าพ้นจากความตายด้วยพระปริตร คำว่า สถานที่ที่ความตายไม่ครอบงำไม่มีนั้น ก็ผิดไป ปัญหานี้เป็นความซับซ้อนลึกซึ้ง ขอพระคุณเจ้าช่วยแก้ไขให้เห็นได้ง่ายด้วยเถิด”
พระเถระได้มีเถรวาทีวิสัชนาว่า “ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้อย่างนั้นจริง และพระองค์ได้ทรงแสดงพระปริตรไว้เป็นอันมาก พระพุทธวจนะไม่ได้ขัดแย้งกันเลย เพียงแต่มหาบพิตรทรงสับสนไปเองต่างหาก พระปริตรนั้น ย่อมป้องกันได้เฉพาะผู้มีอายุยังเหลืออยู่ ทั้งไม่มีบุพกรรมมาตัดรอนเท่านั้น ส่วนผู้ที่สิ้นอายุแล้ว ไม่มีความพยายาม หรือการกระทำอย่างใดที่จะให้มีอายุสืบต่อไปได้ เหมือนดังต้นไม้ที่ตายแล้ว แห้งผุแล้ว ไม่มียาง มีเปลือกกระพี้ร่วงไปหมดแล้ว ถึงจะตักน้ำมารดวันละพันโอ่ง ต้นไม้แห้งนั้นไม่อาจกลับสด เขียวขึ้นได้อีก ผู้ที่หมดอายุ คือ มีอายุสิ้นแล้ว จะทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยยาหรือด้วยพระปริตรก็ไม่ได้ จะขนเทวดามาหมดภพเพื่อช่วยต่ออายุให้ยืนยาวก็ไม่ได้…
ยาทั้งสิ้นในแผ่นดิน ไม่มีประโยชน์แก่ผู้มีอายุสิ้นแล้ว มีประโยชน์แก่ผู้มีอายุยังเหลืออยู่เท่านั้น พระปริตรทั้งหลายย่อมรักษาคุ้มครองเฉพาะผู้ยังไม่ถึงที่ตาย ผู้ไม่มีบุพกรรมตามมาทันเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระปริตรไว้ เพื่อผู้มีอายุยังเหลืออยู่ ทั้งไม่มีบุพกรรมเท่านั้น ชาวนาเมื่อข้าวกล้าแก่แล้ว ย่อมกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปในนา ส่วนข้าวกล้าที่ยังไม่แก่ ย่อมงอกงามด้วยน้ำที่มีอยู่ ฉันใด ยากับพระปริตร ย่อมมีไว้สำหรับผู้ที่ยังมีอายุเหลืออยู่ ฉันนั้น”
พระเจ้ามิลินท์ยังไม่คลายความสงสัย จึงตรัสถามต่อว่า “ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าผู้มีอายุสิ้นแล้ว ย่อมตายไป ผู้ที่อายุยังเหลืออยู่ ก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นธรรมดา แสดงว่าพระปริตรกับยา ก็ไม่มีประโยชน์อันใดน่ะสิ”
“ขอถวายพระพร ผู้ที่หายจากโรคด้วยยา มหาบพิตรเคยเห็นหรือไม่”
“เคยเห็นหลายราย พระคุณเจ้า”
พระเถระจึงมีเถรวาทีต่อไปว่า “ถ้าอย่างนั้น คำที่มหาบพิตรว่า ยากับพระปริตร ไม่มีประโยชน์ก็ผิดไป โรคจะหายเพราะการเยียวยาของหมอ ฉันใด คนไข้บางคนย่อมหาย เพราะสวดพุทธมนต์ ฉันนั้น...
บางคนถูกงูกัดปางตาย แต่หายเพราะอำนาจมนต์ งูที่จะฉกกัดผู้มีพระปริตรแต่อ้าปากไม่ขึ้น พวกโจรที่คิดร้ายต่างมีอาวุธหลุดมือ ช้างที่ดุร้ายครั้นเข้าใกล้ก็หยุด ไฟที่กำลังลุกโหมก็ดับลง ผู้คิดจะฆ่ากลับยอมตัวเป็นทาส บ่วงหรือแร้วที่เขาดักไว้ก็ไม่ลั่น...
เหมือนพญานกยูงได้เจริญพระปริตรทุกวัน นายพรานไม่อาจจับได้ตลอดถึง ๗ปี แต่เนื่องจากวันหนึ่ง พญานกยูงได้ยินเสียงนกยูงตัวเมีย ทำให้เช้าวันนั้นลืมเจริญพระปริตร จึงต้องไปติดบ่วงของนายพรานอย่างง่ายดาย หรือวิทยาธรตนหนึ่งลอบเป็นชู้กับพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ขณะกำลังจะถูกจับก็ทำตัวหายวับไปด้วยกำลังมนต์ วิทยาธรสามารถพ้นจากการถูกจับ ด้วยกำลังพระปริตรที่ตนท่องไว้จนขึ้นใจ”
พระเจ้ามิลินท์ถามต่อว่า “พระคุณเจ้า พระปริตรรักษาได้ทุกคนหรือ” พระเถระตอบทันทีว่า “ไม่ทุกคน บางพวกก็รักษาได้ บางพวกก็รักษาไม่ได้ เหมือนอาหารรักษาชีวิตไว้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะพวกที่กินมากไปแน่นท้องตายไปก็มี บางคนธาตุไฟสำหรับย่อยอาหารอ่อนเกินไปก็ตายได้ อาหารแม้สามารถทรงอายุไว้ได้ แต่ก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน…
พระปริตรมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ พระปริตรรักษาบุคคลได้เป็นบางจำพวก ไม่ได้รักษาทุกคน พระปริตรรักษาไม่ได้ ด้วยเหตุ ๓ประการ คือ ผู้มีบุพกรรมกางกั้น มีกิเลสกางกั้น และบุคคลนั้นไม่เชื่อถือในพระปริตร ผู้ที่มีเหตุประการใดประการหนึ่งใน ๓ประการนี้ พระปริตรก็รักษาไม่ได้ อุปมาเหมือนมารดาที่คอยเลี้ยงดูบุตรธิดาผู้อยู่ในครรภ์ของตน เมื่อลูกเกิดมาแล้ว เจ็บไข้ไม่สบาย มารดาก็เอาใจใส่รักษา ล้างเช็ดมูตรคูถ น้ำลาย น้ำมูก โดยไม่รู้สึกเกลียดชัง แล้วหาของหอมมาลูบไล้ให้...
ต่อมาภายหลัง เมื่อลูกไปด่าว่าฆ่าตีลูกของคนอื่น และถูกเจ้าหน้าที่จับได้ ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ผู้เป็นมารดาจะมารับแทน ด้วยการถูกจองจำหรือถูกประหารแทนลูกก็ไม่ได้ ลูกต้องรับกรรมตามที่ตนทำ ฉันใด พระปริตรย่อมไม่รักษาผู้ได้ทำความผิด ฉันนั้น เพราะในเนื้อพุทธมนต์ได้สอนให้ผู้สวดพระปริตรเป็นคนดี มีเมตตาจิต ไม่ให้คิดประทุษร้ายผู้อื่น และพระปริตรก็ป้องกันผู้มีบุพกรรมไม่ได้”
พระเจ้ามิลินท์ได้ฟังวิสัชนาเช่นนี้ ทรงให้สาธุการ ๓ครั้ง พร้อมยอมรับว่า “พระเถระ แก้ได้ถูกต้องดีแล้ว”
เห็นไหมว่า พุทธวจนะไม่ได้มีความขัดแย้งกัน เพียงแต่เราสามารถทำความเข้าใจได้มากน้อยเพียงไร ปัจจุบันมีผู้เริ่มสนใจศึกษาหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามากขึ้น แต่เนื่องจากไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เป็นเพียงนักปริยัติ หรือปัจจุบันเรียกว่า นักวิชาการทางศาสนา ยิ่งเรียนก็ยิ่งสงสัย ยิ่งศึกษาก็ยิ่งมีปัญหา เพราะลำพังการใช้ สุตมยปัญญา หรือ จินตามยปัญญา...นั้น ยังไม่สามารถทำความกระจ่างแจ้ง และยืนยันการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ถ้า จะให้ความรู้ถูกต้องสมบูรณ์ ต้องปฏิบัติควบคู่ไปด้วย จะได้เกิดผลเป็นปฏิเวธ ที่สามารถสอนตนเองและผู้อื่น ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นสวดมนต์ หรือเจริญพระปริตรเป็นประจำ ด้วยจิตที่เลื่อมใส อานิสงส์ในการสวดพระปริตรบ่อยๆ นอกจากอำนาจพระปริตรจะช่วยปกป้องผองภัยให้กับตัวเราแล้ว ยังทำให้เป็นผู้มีจิตแจ่มใส มีดวงปัญญาสว่างไสว ทรงจำคำสอนของครูอาจารย์ได้ง่าย ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น ต้องหมั่นทำใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นแก่นแท้แห่งพุทธมนต์ และพระปริตรอย่างแท้จริง กันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มิลินทปัญหา (ฉบับปุ้ย แสงฉาย) หน้า ๒๑๔

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘