มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน - มองโลกในแง่ดี



มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน
มองโลกในแง่ดี

ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา
และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

ชีวิตในวันหนึ่งๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า เมื่อต้องแสงพระอาทิตย์ในยามเช้า ย่อมเหือดแห้งไปในพริบตา ชีวิตของเราคนเราก็เช่นกันมีการไปสู่ความเสื่อมสลายคล้ายกับฟองน้ำ เมื่อเวลาฝนตกหนักเม็ดฝนตกกระทบผิวน้ำ แล้วเกิดเป็นฟองน้ำขึ้น ไม่นานฟองน้ำเหล่านั้นก็พลันแตกสลายไป

ช่วงเวลาของชีวิตเรานั้นสั้นนัก เราไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียร เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในบทสวดมนต์ฉบับหลวงว่า

สตฺถุโน วจโนวาทํ กโรติเยว ขนฺติโก
ปรมาย จ ปูชาย ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก

ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่งŽ

พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงคุณธรรม คือ ขันติว่าเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง คุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความอดทน การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัย เพื่อมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ต้องมีความอดทนหลายประการ เช่น อดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย อดทนต่อกิเลสเย้ายวน ตลอดจนอดทนในการฝึกฝนเพื่อพัฒนาจิตใจให้หยุดนิ่ง

เพราะขันติเป็นตบะเครื่องแผดเผากิเลสให้เร่าร้อน เมื่อกิเลสเร่าร้อนก็หลุดร่อนออกจากใจ กุศลธรรมทั้งมวลเจริญขึ้นมาก็เพราะความอดทน ผู้มีความอดทนจึงได้ชื่อว่า ทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา เป็นการปฏิบัติบูชาที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

*ในสมัยพุทธกาล ก่อนเข้าพรรษา มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า พระปุณณะŽ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม ท่านตั้งใจจะกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อทำความเพียร และตั้งใจจะไปเผยแผ่พระพระพุทธศาสนาที่นั่น จึงได้ทูลขอโอวาทจากพระบรมศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์จะไม่ประมาท แม้จะอยู่เพียงลำพัง ก็เป็นผู้มีความเพียรด้วยเถิด พระเจ้าข้าŽ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเมตตาประทานโอวาทแก่ท่านว่า ดูก่อนปุณณะ รูปที่น่ารื่นรมย์ น่ารักใคร่ น่าพอใจ อันประกอบด้วยกาม แฝงด้วยความกำหนัดยินดี ที่เห็นด้วยตา ถ้าเธอมัวลุ่มหลงเพลิดเพลินบ่นเพ้อถึง และติดใจในรูปนั้น ราคะย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เมื่อราคะเกิดขึ้นความทุกข์ก็จะตามมา แต่ถ้าเธอไม่หลงใหลเพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ติดใจในรูปที่น่ารื่นรมย์ น่ารักใคร่ น่าพอใจ อันประกอบด้วยกาม แฝงด้วยความกำหนัดยินดี ราคะของเธอย่อมดับไป เมื่อราคะดับความทุกข์ก็ดับ แล้วเธอจะได้รับความสุขจากการประพฤติพรหมจรรย์Ž

หลังจากนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสถามถึงสถานที่ ที่พระปุณณะจะไปจำพรรษา เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม พระปุณณะได้กราบทูลให้ทรงทราบว่า ตนเองประสงค์ที่จะไปจำพรรษาอยู่ที่สุนาปรันตชนบท เพราะเป็นบ้านเกิด เป็นสถานที่ที่คุ้นเคย สภาพแวดล้อมเหมาะสมกับตน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนปุณณะ ชาวสุนาปรันตชนบททั้งดุร้าย และหยาบคาย ถ้าหากเขาด่าบริภาษเธอ เธอจะคิดอย่างไรŽ

ด้วยปัญญาบารมี และขันติบารมีที่ได้สั่งสมมามาก พระปุณณะจึงตอบด้วยความมั่นใจว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าชาวสุนาปรันตชนบทด่าบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะคิดว่า ก็ยังดีกว่าที่จะถูกตบตี พระเจ้าข้าŽ
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามต่อไปว่า ดูก่อนปุณณะ ถ้าชาวสุนาปรันตชนบทตบตีเธอ เธอจะคิดอย่างไรŽ
พระปุณณะทูลตอบว่า ถ้าข้าพระองค์ถูกตบตี ก็ยังดีกว่าการถูกขว้างก้อนหินใส่ พระเจ้าข้าŽ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ถ้าชาวสุนาปรันตชนบทขว้างก้อนหินใส่เธอ เธอจะมีความคิดอย่างไรŽ
พระปุณณะทูลตอบว่า ถ้าเขาขว้างก้อนหินใส่ข้าพระองค์ ก็ยังดีกว่าที่จะเอาไม้ทุบตีพระเจ้าข้าŽ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณะ ถ้าชาวสุนาปรันตชนบทเอาไม้มาทุบตีเธอ เธอจะมีความคิดอย่างไรŽ
พระปุณณะทูลตอบว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ถ้าเขาเอาไม้มาทุบตีข้าพระองค์ ก็ยังดีกว่าการถูกทำร้าย ด้วยศัตราวุธ พระเจ้าข้าŽ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณะ ถ้าชาวสุนาปรันตชนบททำร้ายเธอด้วยศัตราวุธ เธอจักมีความคิดอย่างไรต่อพวกเขาŽ
พระปุณณะทูลตอบว่า ถ้าเขาทำร้ายข้าพระองค์ด้วยศัตราวุธ ก็ยังดีนักหนาที่ไม่ถูกประหารด้วยศัตราอันแหลมคม พระเจ้าข้าŽ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอีกว่า ถ้าชาวสุนาปรันตชนบทประหารเธอ ด้วยศัตราอันแหลมคม เธอจะมีความคิดอย่างไรŽ

พระปุณณะทูลตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท ประหารข้าพระองค์ด้วยศัตราอันแหลมคม ข้าพระองค์จะคิดว่า ยังมีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อึดอัดเกลียดชังรˆางกายและชีวิตของตน พากันแสวงหาศัตราสังหารตนเองอยู่ แต่ข้าพระองค์ไม่ต้องแสวงหาสิ่งนั้นเลย กลับมีคนปลิดชีพให้ พระเจ้าข้าŽ

พระพุทธองค์จึงตรัสชมพระปุณณะว่า เป็นผู้รู้จักฝึกฝนตนเอง และมีจิตใจสงบ จะสามารถอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้อย่างมีความสุข ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐาน และทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์
พระปุณณะเกิดความปีติยินดี และอนุโมทนาในพุทธภาษิตของพระพุทธองค์ แล้วท่านก็เก็บเสนาสนะ ถือบาตร และจีวรเดินทางจาริกไปยังสุนาปรันตชนบท

ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา คิดแต่ในทางสร้างสรรค์ สร้าง บุญบารมีตลอดเวลาอีกทั้งยังมีขันติอดทนต่อทุกสถานการณ์ ท่านได้อาศัยอยู่ในสุนาปรันตชนบท ปรารภความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในพรรษานั้น และเป็นที่เคารพนับถือของชาวสุนาปรันตชนบท ทำให้คนที่นั่นเปลี่ยนจากลัทธิเดิมที่เคยนับถือ หันมานับถือพระพุทธศาสนาแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ทั้งชาย และหญิงอย่างละ ๕๐๐ คน

เราจะเห็นได้ว่า ธรรมดาวิสัยของบัณฑิต ย่อมเข้าหาครูบาอาจารย์ เพื่อรับการถ่ายทอดคุณธรรม แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ หากสงสัยหรือติดขัดประการใด ก็ไม่เก็บความสงสัยนั้นไว้ รีบสอบถามครูบาอาจารย์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วก็มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยไม่หวั่นไหวหรือย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ เหมือนอย่างเช่นพระปุณณะ เราควรจะยึดท่านเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีที่ไม่เคยกลัวต่ออุปสรรค และความยากลำบาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างบารมีในสภาวะปัจจุบันนี้ เราต้องคบค้าสมาคมกับบุคคลต่างๆ มากมาย ซึ่งต่างจิตต่างใจ ต่างอัธยาศัยกัน มีทั้งคนพาลและบัณฑิตปะปนกันอยู่ บางครั้งอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ก็อย่ายอมแพ้ ให้สู้ต่อไป สู้ด้วยธรรมสู้ด้วยความถูกต้องดีงาม เพราะเราปรารถนาจะช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นจากความทุกข์ และพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปให้ถึง ที่สุดแห่งธรรม

ดังนั้น ทุกๆ คนจะต้องใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา ให้มีใจหนักแน่น ตั้งมั่นอยู่ในบุญ ตั้งมั่นอยู่ในธรรม แล้วปฏิบัติธรรมให้ได้ทุกวัน เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้จิตใจของเราเข้มแข็ง พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่าง เราจะมีกำลังใจ ไม่สิ้นสุดในการสร้างบุญสร้างบารมี

เพราะฉะนั้น ให้หมั่นปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งตลอดเวลา หยุดนิ่งในทุกอิริยาบถ ควบคู่ไปกับภารกิจในชีวิตประจำวัน ฝึกทำอย่างนี้ให้เป็นปกตินิสัย แล้วเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ปุณโณวาทสูตร เล่ม ๒๓ หน้า ๔๓๖

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘