มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน - พระทัพพมัลลบุตร (๑)



มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน
พระทัพพมัลลบุตร (๑)

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีการสดับมาก มีความเพียร มีสติ มีปัญญา ยังชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย นี้เรียกว่า สัตบุรุษ ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

การที่เราได้กายมนุษย์นี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างบารมี ยิ่งเราเป็นสัมมาทิฏฐิเข้าใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ ยิ่งสร้างบุญบารมีได้เต็มที่ เพราะรู้ถึงอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น เราควรที่จะทุ่มเทสร้างความดีอย่างไม่หยุดยั้ง การเกิดมาทำอย่างนี้ ได้ชื่อว่า เกิดมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ได้สร้างบารมีซึ่งเป็นงานที่แท้จริง สิ่งที่เราควรทำควบคู่ไปกับภารกิจประจำวัน คือหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งไปพร้อมๆ กัน เพื่อเราจะได้เข้าถึงที่พึ่ง ที่ระลึกที่แท้จริง คือ พระรัตนตรัยภายในตัว

มีวาระแห่งพระบาลีที่ปรากฏใน อัสสัทธสูตร ความว่า

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีการสดับมาก มีความเพียร มีสติ มีปัญญา ยังชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย นี้เรียกว่า สัตบุรุษ ยิ่งกว่าสัตบุรุษŽ

การจะดำรงตนให้อยู่อย่างมีความสุขในเพศสมณะ ต้อง มีธรรมะสำหรับสอนตนเอง คือ ต้องเริ่มจากมีศรัทธาก่อน ความศรัทธานำไปสู่ความสบายใจในการประพฤติธรรม ครั้นบวชแล้วต้องมีหิริโอตตัปปะคอยกำกับด้วย จะได้ไม่ทำผิดพลาด เป็นการควบคุมสีลสิกขาของท่านเองให้บริสุทธิ์ จากนั้นต้องหมั่นทำความเพียร ชำระกาย วาจา ใจให้ใสบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นตัวจิตตสิกขา ควบคู่กับการศึกษาธรรมวินัยให้แตกฉาน ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เป็นการเพิ่มพูนปัญญาสิกขาของตัวท่านเอง เมื่อเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเหล่านี้แล้ว ยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม และการศึกษาธรรมวินัยมาสู่พวกเรา และชาวโลก ให้ได้รับรสพระธรรมตามไปด้วย เช่นนี้แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นยิ่งกว่าสัตบุรุษ คือ พระแท้ในอุดมคติของ ชาวโลก

ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุที่ประพฤติเป็นต้นแบบอย่างนี้เป็นจำนวนมาก โดยขอนำประวัติของพระอริยสาวกรูปหนึ่ง นามว่า พระทัพพมัลลบุตรเถระ ซึ่งเป็นพระเถระที่ทรงคุณธรรม และรับผิดชอบต่อหน้าที่ จนได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา ให้เป็นเอตทัคคะในด้าน การจัดแจงเสนาสนะŽ การบรรลุธรรมของท่าน ค่อนข้างจะพิเศษสุดและรวดเร็ว ได้เป็นหนึ่งในจำนวนพระอสีติมหาสาวก

*พระทัพพมัลลบุตรเถระ ท่านถือกำเนิดในวรรณกษัตริย์ ในตระกูลมัลลราช ในอนุปิยนิคม แว่นแคว้นมัลละ เมืองกุสินารา เมื่อใกล้จะประสูติ พระมารดาของท่านได้ทิวงคตเสียก่อน พระประยูรญาติทั้งหลายจึงช่วยกันยกสรีระของพระนางไปวางบนจิตกาธานที่สุสาน เพื่อถวายพระเพลิง

เมื่อพระครรภ์ของพระเทวีถูกไฟเผาเช่นนั้น ไม่อาจทนต่อความร้อน จึงแตกออก ส่งผลให้ทารกที่อยู่ในครรภ์กระเด็นตกลงบนกองหญ้า ด้วยอำนาจบุญกุศลที่ท่านได้สั่งสมบ่มบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน มีบารมีเต็มเปี่ยมพอที่จะบรรลุธรรม บุญนั้นก็ช่วยปกป้องคุ้มครองให้พระกุมารพ้นภยันตรายได้อย่างน่าอัศจรรย์ เหล่าทหารจึงได้นำพระกุมารไปถวายแก่พระอัยยิกา ผู้เป็นยาย และทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมด พระอัยยิกาทรงถือเอาเหตุการณ์ที่กองหญ้าแฝกรองรับพระกุมารไว้ และตั้งชื่อให้ว่า ทัพพะ

เมื่อพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ได้เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของท่าน แม้ท่านจะเป็นเด็กอายุเพียง ๗ ขวบ แต่ด้วยบุญที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทำให้บังเกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ทันทีที่เห็น ก็ปรารถนาที่จะออกบวช จึงเข้าไปหาท่านยาย และบอกถึงความต้องการที่จะบรรพชา

พระอัยยิกาเป็นผู้มีศรัทธา และเข้าใจเรื่องราวในสังสารวัฏอย่างดี จึงสนับสนุนทันทีว่า ดีแล้วหลานเอ๋ย การบรรพชาเป็นการนำชีวิตไปสู่ทางประเสริฐ ชีวิตสมณะเป็นชีวิตที่แสวงหาความบริสุทธิ์ เพื่อให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้เต็มที่กว่าชีวิตฆราวาส และได้พาทัพพมัลลบุตรกุมารไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาให้กุมารนี้บรรพชาในสำนักของพระองค์เถิด พระเจ้าข้าŽ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะทรงอนุญาตการบรรพชาให้แก่กุมารนี้ จึงตรัสสั่งพระภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงให้กุมารนี้บรรพชาเถิดŽ ภิกษุนั้นรับฟังพระพุทธบัญชาแล้ว จึงพาทัพพมัลลบุตรกุมารไป ได้สอน ตจปัญจกกรรมฐาน คือ กรรมฐานมีหนังเป็นที่ ๕ อันหมายถึงเกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตโจคือหนัง ให้มัลลบุตรกุมารยึดสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของกรรมฐานว่าเป็นสิ่งไม่งาม ไม่เที่ยง พิจารณาทั้งโดยอนุโลม คือ เรียงไปตามลำดับ เริ่มจากเกสา เป็นต้น ไปจนถึงตโจ และว่าโดยปฏิโลม คือ จากตโจ ย้อนกลับขึ้นไปจนถึงเกสา

การสอนให้ว่าโดยอนุโลม และปฏิโลมนี้มีผลดี คือ ทำให้เกิดสมาธิขึ้น ผู้ที่กล่าวนี้ต้องคอยกำหนดใจให้สงบนิ่ง มีสติกำกับ ถ้าเผลอไป ใจไม่จดจ่อ ก็จะไม่เรียงไปตามลำดับ และก็ไม่รู้ว่า เรากำลังพิจารณาอยู่ในช่วงของอนุโลมหรือปฏิโลม การสอนให้ภาวนากลับไปกลับมาทั้งสองอย่างควบคู่กันไป โดยไม่ให้ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เป็นการป้องกันการกล่าวแบบเรื่อยเปื่อย แต่ใจกลับล่องลอยฟุ้งซ่านคิดไปต่างๆ นานา การภาวนากรรมฐานนั้นก็ไม่ได้ผล เป็นเหมือนนกแก้ว นกขุนทอง เพราะกรรมฐานทั้งห้านี้ ท่านสอนไว้เพื่อใช้พิจารณาตนเอง ให้เห็นว่าไม่สวยไม่งาม เป็นสิ่งปฏิกูล จะได้เบื่อหน่าย คลายกำหนัด และจะได้มุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง

ทัพพมัลลบุตรกุมารนั้น มีบารมีเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว เมื่อได้เรียนตจปัญจกกรรมฐาน ท่านก็กำหนดกรรมฐานนั้นไว้ในใจ ทันทีที่พระอาจารย์เริ่มปลงผม ท่านได้สำเร็จโสดาปัตติผล ขณะกำลังปลงผมอยู่ ได้สำเร็จสกิทาคามิผล และเมื่อปลงผมไปได้ค่อนศีรษะ ก็สำเร็จอนาคามิผล และหลังจากปลงผม ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล การสำเร็จพระอรหัตผลกับการปลงผมเสร็จ ไม่ก่อนไม่หลังกันเลย คือ สำเร็จกิจพร้อมกันพอดี นี้เป็นการบรรลุธรรมที่พิเศษของท่าน เป็นแบบปฏิบัติได้สะดวก รู้ได้รวดเร็ว

พระทัพพมัลลบุตรเถระสำเร็จอริยมรรคขั้นสูงสุด เป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปกรุงราชคฤห์ด้วย หลังจากทรงประทับอยู่ในแว่นแคว้นมัลละตามพระพุทธประสงค์แล้ว ขณะที่กำลังพักอยู่ในสถานที่อันเงียบสงัด ก็คิดถึงกิจของพรหมจรรย์ว่า เราได้สำเร็จกิจที่จะต้องประพฤติปฏิบัติแล้ว เราควรจะเป็นผู้รับใช้พระสงฆ์ โดยรับหน้าที่จัดแจงแต่งตั้งเสนาสนะ ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก

ครั้นคิดแล้ว ก็ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลพระพุทธองค์ถึงเรื่องที่ท่านตั้งใจจะกระทำหน้าที่เพื่อหมู่คณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญ และทรงมอบหน้าที่ให้ ๒ ประการ คือ
๑. ให้เป็นผู้จัดแจงเสนาสนะของสงฆ์ คือ การจัดแจงปูลาดเสนาสนะเพื่อพระภิกษุทั้งหลาย
๒. เป็นผู้ทำหน้าที่แจกภัตร คือ ทำหน้าที่นิมนต์พระภิกษุ ให้ไปสู่สถานที่ที่ญาติโยม ได้อาราธนาไว้

ภาระหน้าที่ทั้ง ๒ ประการนี้ จะต้องได้รับการยอมรับจากหมู่สงฆ์ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในขณะที่พระทัพพมัลลบุตรเถระเข้ารับหน้าที่สองอย่างนั้น ท่านยังถือว่าเป็นผู้มีพรรษากาลอ่อนมาก หากจะกล่าวตรงๆ คือ ตำแหน่งที่ได้รับเป็นภาระเกินกว่าเด็กจะรับผิดชอบได้ แต่ท่านได้ทำหน้าที่อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไข

เราจะเห็นได้ว่า เรื่องราวชีวิตในสังสารวัฏนั้น มีเรื่องแปลกๆ มากมาย ที่เป็นคำถามให้สงสัย รอคอยผู้มีบุญมาเฉลยคำตอบ ชีวิตของบุคคลที่เกิดมา ล้วนมีฉากหลังกำกับ นั่นคือบุญและบาป ขึ้นอยู่กับสิ่งใดจะมีกำลังส่งผลมากกว่ากัน คนที่ได้รับผลบุญพิเศษนั้น จะต้องสร้างบุญไว้มากๆ ไม่ใช่ว่าจะได้มาอย่างง่ายๆ ถ้าอยากกำหนดชีวิตของเราให้เป็นไปในทิศทางใด เราต้องสร้างบุญให้มากๆ และอธิษฐานจิตตามที่เราต้องการ สักวันหนึ่งเราจะประสบผลแห่งบุญนั้นอย่างแน่นอน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ประวัติพระทัพพมัลลบุตร เลˆ่ม ๓๒ หน้‰า ๔๒๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘