มงคลที่ ๑๙ งดเ้ว้นจากบาป - อย่าล่วงละเมิดเกินขอบเขต



มงคลที่ ๑๙
งดเ้ว้นจากบาป
อย่าล่วงละเมิดเกินขอบเขต

สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้กำหนัดกล้า ในโภคทรัพย์น่าใคร่ มักมากหลงใหลในกามคุณ ย่อมไม่รู้สึกการล่วงเกิน เหมือนพวกปลา กำลังเข้าไปสู่เครื่องดัก ซึ่งเปิดอ้าดักรออยู่ ผลอันเผ็ดร้อน ย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรม เช่นนั้น มีวิบากที่ทุกข์ทรมาน

ในท่ามกลางกระแสโลกที่สับสนวุ่นวาย เราต่างมีภารกิจ หน้าที่มากมาย ต้องประกอบสัมมาอาชีวะ เพื่อยังชีพให้เป็นอยู่ได้ และต้องอยู่ท่ามกลางผู้ไม่รู้เรื่องกฎแห่งกรรม เมื่อเขาไม่รู้ จึงอาจทำผิดพลาดได้ อาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ การที่จะประคองตัว ประคองใจ ให้รอดพ้นจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ใช่ง่ายเลย แต่ถ้าเรามีสติ ควบคุมอารมณ์ให้ดี ให้ใจอยู่ในบุญ อยู่กับธรรมะภายใน เราจะสามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายได้ ยิ่งถ้าเราได้เข้าถึงพระธรรมกาย เราจะยิ่งรู้สึกสงสารเพื่อนมนุษย์ มีความรัก และความปรารถนาดีอย่างแท้จริง และพร้อมที่จะให้อภัยกับทุกๆ สิ่งได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อรรถกรณสูตร ว่า

สัตว์ ทั้งหลาย เป็นผู้กำหนัดกล้า ในโภคทรัพย์น่าใคร่ มักมากหลงใหลในกามคุณ ย่อมไม่รู้สึกการล่วงเกิน เหมือนพวกปลา กำลังเข้าไปสู่เครื่องดัก ซึ่งเปิดอ้าดักรออยู่ ผลอันเผ็ดร้อน ย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรมเช่นนั้น มีวิบากที่ทุกข์ทรมานŽ

การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม เป็นทางมาแห่งบาปอกุศล และเป็นความหมองใจ ที่ชักนำไปสู่อบายได้ การผิดศีลข้อที่ ๓ ในสังคมปัจจุบันนี้ ก็มีกันอยู่เนืองๆ เมื่อผิดพลาดล่วงเกินกันแล้ว ส่วนใหญ่มักไม่รู้ถึงโทษของการล่วงเกิน เหมือนดังพุทธพจน์ที่อุปมาไว้ว่า เหมือนปลาที่กำลังว่ายเข้าไปสู่เครื่องดัก ผลก็คือความตาย กรรมที่มนุษย์ได้ประพฤติผิดพลาดก็เช่นเดียวกัน ผลคือความทุกข์ทรมานในอบาย

นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้กัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความผิดพลาด ในยุคนั้นๆ เมื่อมนุษย์ตกลงเป็นสามีภรรยากัน จะอยู่ร่วมกันตามหน้าที่ ครั้นภรรยาตั้งครรภ์ ทั้งสามีภรรยาก็หมดความกำหนัดในกาม จากนั้นต่างก็อยู่กันเหมือนเพื่อน เหมือนญาติพี่น้อง ช่วยกันเลี้ยงดูลูก ให้อยู่ในศีลในธรรม ความสัมพันธ์อันเกิดจากความรัก จึงเป็นทางผ่านให้มนุษย์ได้มาเกิดเพื่อสร้างบารมี เพราะกายมนุษย์เป็นกายที่สำคัญที่สุดในการสร้างบารมี และเมื่อมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้ว ความยินดีในกามของพ่อแม่ก็หมดไป ไม่มีการล่วงละเมิดประเวณี ดูแล้วน่าชื่นชม น่าเอาเป็นแบบอย่าง แต่ต่อมาภายหลัง กิเลสราคะกล้าขึ้น เข้าไปสิงอยู่ในใจมนุษย์ ความมักมากในกามเกิดขึ้น มนุษย์จึงยินดีแม้กับผู้ที่ไม่ใช่คู่ครองของตน และทำผิดศีลข้อที่ ๓

กิเลสบังคับให้สร้างกรรม เมื่อสร้างกรรมก็มีวิบาก เพราะฉะนั้น มหานรกขุมต่างๆ จึงเกิดขึ้น เป็นคุกขนาดใหญ่ มีนายนิรยบาลเป็นผู้ลงโทษ ครั้นหมดกรรมจากขุมใหญ่ ก็มา อุสสทนรก ซึ่งเป็นขุมบริวาร และมายมโลก มาเป็นอสุรกาย เปรต สัตว์เดียรัจฉาน แล้วก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าทำไม่ดีอีก ก็มีสิทธิ์วนกลับลงไปใหม่ เรื่องความผิดพลาดในศีลข้อนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องที่ไม่ควรในทำนองนี้ ให้พระภิกษุฟังว่า

*ในอดีตกาล ราชาแห่งกรุงพาราณสี ชื่อ ตัมพราช ทรงมีอัครมเหสีผู้เลอโฉมนามว่า สุสันธี พระนางประพฤติผิดศีลข้อ ๓ เป็นประจำ พระ ราชาก็ยังไม่ล่วงรู้ความประพฤติอนาจารของนาง ต่อมาพระนางพบกับสุบรรณมาณพ ผู้เป็นนาคแปลงมาเล่นสกากับพระราชาเป็นประจำ ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ ภายหลังสุบรรณมาณพได้ลักพานางไปร่วมอภิรมย์ในนาคพิภพ นางก็ไปด้วยความเต็มใจ

เมื่อพระราชาไม่เห็นมเหสี จึงรับสั่งให้คนธรรพ์ชื่ออัคคะ ผู้มีฝีมือในการบรรเลงดนตรี ให้ช่วยออกตามหาทั้งทางบก และทางน้ำ คนธรรพ์รับราชโองการแล้ว ก็ออกเดินทางไปพร้อมกับพ่อค้า โดยรับปากว่า เมื่อไปถึงฝั่ง จะบรรเลงดนตรีเป็นค่าตอบแทน แต่ในระหว่างทาง พวกพ่อค้ารบเร้าให้คนธรรพ์เล่นดนตรีให้ฟัง คนธรรพ์ตอบว่า ถ้าเล่นดนตรี ปลาอาจจะแห่กันมาทำให้เรือแตกได้ แต่พ่อค้าก็ยังรบเร้าจนคนธรรพ์ต้องจำยอม และก็นำพิณออกมาบรรเลงเพลงที่ไพเราะมาก

ครั้นฝูงปลาได้ยินเสียงเพลง ต่างแห่กันมามากมาย ทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ โดยเฉพาะมีปลามังกรตัวหนึ่งซึ่งตัวโตมาก กระโจนขึ้นไปบนเรือ จนทำให้เรือแตก ทุกคนต่างดิ้นรนจนสุดชีวิตเพื่อเอาตัวรอด ส่วนคนธรรพ์อาศัยไม้กระดานแผ่นหนึ่ง ลอยไปตามกระแสน้ำ ล่วงเข้าไปยังเขตนาคพิภพ ซึ่งเป็นเกาะกลางน้ำพอดี

เผอิญวันนั้น พระนางสุสันธีออกมาจากวิมาน ไปเดินเที่ยวเล่นตามริมฝั่งมหาสมุทร ทอดพระเนตรเห็นคนธรรพ์ ที่ถูกคลื่นพัดเข้ามาหาฝั่ง จึงให้ความช่วยเหลือ ด้วยการพาเข้าไปในวิมานของพญานาค และเกิดมีจิตปฏิพัทธ์ต่อคนธรรพ์ จึงแอบมีสัมพันธ์รัก โดยไม่ให้สุบรรณมาณพรู้ ทั้งสองได้ล่วงละเมิดเช่นนี้ จนเวลาล่วงไปได้หนึ่งเดือน คนธรรพ์รู้สึกละอายใจตนเอง พยายามหาทางหลบหนีออกมาจากวิมานของพญานาค เมื่อกลับไปถึงพระนครแล้ว ก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดถวายพระราชา

เมื่อความจริงถูกเปิดเผย สุบรรณมาณพรู้สึกละอาย จึงนำมเหสีมาคืนพระราชา และรู้สึกสลดใจมากในพฤติกรรมอันไม่สมควรทั้งของตนและมเหสี ตั้งแต่นั้นมา สุบรรณมาณพก็ไม่กลับมาเล่นสกากับพระราชาอีก ส่วนพระราชาทรงสลดพระทัย ในพฤติกรรมไม่ดีของมเหสี ทรงเบื่อหน่ายในกาม ได้สำรวมพระองค์ และประพฤติธรรมจนตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนมเหสี ผู้ประพฤติผิดศีลข้อ ๓ เป็นประจำ ครั้นละโลกแล้ว ก็มีทุคติเป็นที่ไป ตกลงไปในมหานรกทันที

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องราวของการตกไปในอบายภูมิไว้ว่า สัตว์โลกผู้ไปอบาย มีมากเท่ากับฝุ่นในผืนปฐพี ส่วนผู้ที่ไปสุคติ มีปริมาณเท่ากับธุลีในเล็บŽ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ผิดพลาดแล้วไปอบายมีมาก เราดูพฤติกรรมของชาวโลกในปัจจุบันนี้ ก็พอจะเข้าใจได้อย่างดีว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เราไม่ควรที่จะเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ควรศึกษาความเป็นจริงของชีวิต และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เราจะต้องเจออย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ เช่น กฎแห่งกรรม และนอกจากกฎแห่งกรรมแล้ว ยังมีกฎแห่งไตรลักษณ์ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน คือ ลักษณะ ๓ อย่างที่เราจะต้องพบ ได้แก่ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นกฎสามัญที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกฎแห่งกรรมซึ่งต้องค่อยๆ ศึกษากันไป

สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงที่กำลังรอคอยการพิสูจน์จากพวกเรา ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา โดยทำดวงตาให้เกิดขึ้น คือ ดวงตาเห็นธรรม แล้วเรื่องกฎแห่งกรรม กฎแห่งไตรลักษณ์ ก็จะแจ่มแจ้งแก่เรา แต่เมื่อเรายังไม่มีธรรมจักษุ และญาณทัสสนะ เราก็ต้องสำรวมระวังไว้ ให้ละเลิกสิ่งที่ไม่ดี และอย่าไปทำอีก ใครที่เคยทำกรรมอะไรที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะทางความคิด คำพูด หรือการกระทำ ให้ลืมมันไป อย่าไปทบทวน และไม่ต้องรื้อฟื้นมาเล่าให้ใครฟัง อย่าไปตอกย้ำซ้ำเดิม จะเป็นการเปิดช่องให้บาปทำงาน ดวงบาปจะค่อยๆ โตขึ้น แล้วจะไปดึงดูดบาปเก่าๆ มาอีก ทำให้ใจเราหมอง หากเราละโลกไปตอนนั้น จิตเศร้าหมอง มีสิทธิ์วูบลงไปอบายภูมิอย่างง่ายๆ

เพราะฉะนั้น อย่าไปย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ อย่าไปทำบาปกรรมนั้นอีก ให้จำกันง่ายๆ คือ ศีล ๕ รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อย่าให้ด่างพร้อย ทะลุ หรือขาดไป ยิ่งเรารักษาได้ดีเพียงไร ก็เหมือนกับเราได้เกราะแก้วคุ้มกันภัยให้กับตนเอง ในการเดินทางไกลในสังสารวัฏที่เต็มไปด้วยภยันตรายนานาชนิด อีกทั้งหมั่นให้ทาน เจริญภาวนาให้มากๆ ทำแล้วก็ให้นึกถึงบุญไว้บ่อยๆ ทบทวนบ่อยๆ ยิ่งนึกถึงบุญที่เคยทำไว้ ดวงบุญก็โตขึ้น เมื่อดวงบุญโตก็จะไปดึงดูดบุญเล็กบุญน้อย บุญใหญ่ บุญปานกลาง บุญที่เราทำมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ใจจะได้ผ่องใส และที่สำคัญที่สุด คือ ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวให้ได้ นั่นแหละจึงจะปลอดภัยอย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. สุสันธีชาดก เลˆ่ม ๕๘ หน้‰า ๗๘๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘