มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต - พูดดีเป็นศรีแต่ตัว


มงคลที่ ๑๐

มีวาจาสุภาษิต - พูดดีเป็นศรีแต่ตัว

ผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ย่อมไม่พูดเหลวไหล
เพราะเหตุแห่งคนอื่นหรือแม้แห่งตนเอง
ผู้นั้นย่อมเป็นผู้อันมหาชนบูชาแล้วในท่ามกลางชุมชน
แม้ภายหลังเขาย่อมไปสู่สุคติ


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้ว จากกิเลสอาสวะ กิจที่จะทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พวกเราควรดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระพุทธองค์ โดยมุ่งทำความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ เป็นอันดับแรก เรื่องอื่นนั้นให้เป็นเรื่องรองลงมา เพราะเรายังมีกิจที่ต้องทำให้รู้แจ้งให้ได้ว่าเราเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต เพราะฉะนั้นเราจึงควรหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงผู้รู้แจ้งภายใน คือ พระธรรมกาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เอกนิบาต ชาดกว่า

"ปรสฺส วา อตฺตโน วาปิ เหต ภาสติ อลิกํ ภูริปญฺโญ
โส ปูชิโต โหติ สภาย มชฺเฌ ปจฺฉาปิ โส สุคฺคติคามิ โหติ

ผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ย่อมไม่พูดเหลวไหล เพราะเหตุแห่งคนอื่นหรือแม้แห่งตนเอง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้อันมหาชนบูชาแล้วในท่ามกลางชุมชน แม้ภายหลังเขาย่อมไปสู่สุคติ"

วาจาที่เป็นคำจริงประกอบด้วยประโยชน์ แม้เปล่งด้วยสำเนียงภาษาใด ก็นับว่าเป็นวาจาสุภาษิตที่น่าฟัง น่าประพฤติปฏิบัติตาม เป็นถ้อยคำของคนชั้นสูงของนักปราชญ์บัณฑิต ที่เมื่อพูดจาปราศรัยเรื่องใด ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญาให้รอบคอบ พูดในสิ่งที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม เหมือนพระบรมศาสดาของเรา ทรงเปล่งวาจาที่เป็นไป เพื่อสันติสุขของชาวโลกอย่างแท้จริง

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "วาจาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์แม้ตั้งพัน ยังไม่ประเสริฐเท่าวาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์ เพียงบทเดียว" แล้วทรงสอนอีกว่า วาจาใดไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ไม่ประกอบด้วยจิตเมตตา ไม่ไพเราะ ไม่ถูกกาล วาจานั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น ไม่ใช่วาจาสุภาษิต เราไม่ควรกล่าววาจานั้น

*ในสมัยก่อน มีลูกชายเศรษฐี ๔ คน อาศัยอยู่ด้วยกันในเมืองพาราณสี วันหนึ่งลูกชายท่านเศรษฐี ได้ชวนกันไปเที่ยวเล่นนอกเมือง ขณะที่กำลังนั่งพักเหนื่อย พวกเขาเห็นนายพรานคนหนึ่ง ซึ่งกลับมาจากการไปล่าเนื้อในป่า นายพรานได้เนื้อมาเป็นจำนวนมาก ตั้งใจว่าจะบรรทุกเนื้อทั้งหมด ไปขายในเมืองเพื่อเลี้ยงชีพ

ลูกชายเศรษฐีทั้ง ๔ คน เห็นนายพรานขับเกวียนบรรทุกเนื้อมามากมาย จึงปรึกษากันว่า จะขอเนื้อกับนายพราน โดยให้ไปขอทีละคน ดูซิว่าใครจะขอได้อะไร เมื่อนายพรานขับเกวียนมาถึง ลูกชายเศรษฐีคนแรกสำคัญตนว่า เป็นลูกเศรษฐี นึกดูถูกนายพรานว่าเป็นผู้มีชาติตระกูลต่ำกว่าตน จึงเอ่ยปากพูดขึ้นด้วยวาจาที่ไม่สุภาพว่า "เจ้าพรานป่า เจ้าจงให้ชิ้นเนื้อแก่ข้าบ้างสิ"

แม้นายพรานจะเป็นนักล่าเนื้อ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่เป็นประจำ เมื่อได้ยินถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ทั้งยังเป็นคำพูดที่ดูถูกดูแคลน เมื่อจะขอเนื้อ ยังใช้คำพูดห้วนๆ ไม่มีสัมมาคารวะเช่นนี้ จึงตอบกลับไปว่า
"ธรรมดาบุคคล เมื่อจะเอ่ยปากขออะไรๆ กับคนอื่น ควรพูดด้วยถ้อยคำที่เป็นที่รัก กล่าวด้วยความนอบน้อม มีความเกรงอกเกรงใจผู้อื่น แต่วาจาของท่าน หาความไพเราะเสนาะโสตไม่ได้เลย ถ้าจะเปรียบกับส่วนหนึ่งส่วนใดของชิ้นเนื้อแล้ว ก็เป็นเช่นกับพังผืด เพราะเป็นวาจาหยาบคาย ไม่เป็นที่ชอบใจสำหรับเรา ดังนั้นเราจะให้พังผืดแก่ท่าน"
เมื่อสอนลูกชายเศรษฐีคนแรกแล้ว ก็ตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เป็นพังผืดให้ ซึ่งทั้งเหนียวและไม่มีรสชาติเลย

สักครู่ ลูกชายเศรษฐีคนที่สอง ก็เข้าไปขอเนื้อกับนายพราน โดยพูดขึ้นว่า "พี่ชาย ขอท่านได้โปรดให้เนื้อแก่ฉันบ้างเถอะ" นายพรานได้ฟังคำพูดของลูกเศรษฐีคนที่สอง ซึ่งเต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียกตนเองว่า พี่ชาย จึงตอบไปว่า " คำพูดที่ว่า พี่ชายหรือพี่สาว เปรียบเหมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะคำพูดของท่านเป็นเช่นกับอวัยวะ ฉะนั้นเราจะให้ชิ้นเนื้อที่สมควรกับวาจาของท่าน" แล้วก็ตัดเอาอวัยวะภายในของเนื้อที่อร่อยให้

ต่อมา ลูกชายเศรษฐีคนที่สาม ได้ขอเนื้อกับนายพรานว่า "พ่อ ขอท่านได้โปรดให้ชิ้นเนื้อแก่ฉันบ้าง" นายพรานได้ยินลูกเศรษฐีคนที่สาม เรียกตนเองว่า พ่อ ก็ทำให้มีจิตอ่อนโยน จึงได้ตอบไปว่า " ลูกเมื่อเรียกหาพ่อ ย่อมทำให้หัวใจของผู้เป็นพ่อหวั่นไหว วาจาของท่านนั้นเป็นเช่นกับหัวใจ เพราะฉะนั้น เราจะให้เนื้อส่วนหัวใจแก่ท่าน" แล้วจึงตัดเอาเนื้ออันอร่อยพร้อมกับเนื้อ ส่วนหัวใจมอบให้ลูกเศรษฐีคนที่สาม

ลูกเศรษฐีคนที่สี่ ได้เข้าไปขอเนื้อบ้าง โดยพูดขึ้นว่า "สหายเอ๋ย ขอท่านจงให้ชิ้นเนื้อแก่ข้าพเจ้าบ้างเถิด" นายพรานได้ยินลูกเศรษฐีเรียกตนเองว่า สหาย ก็รู้สึกถูกใจว่า วันนี้เราจะได้เพื่อนแท้ จึงตอบด้วยน้ำเสียงแห่งมิตรภาพ ที่แสดงถึงความจริงใจต่อกันว่า

"ชนผู้ไม่ มีมิตรสหายอาศัยอยู่ในบ้านหลังใด บ้านหลังนั้น ก็เปรียบเสมือนป่าที่ไม่มีมนุษย์อาศัย วาจาของท่านเป็นเช่นกับสมบัติทั้งหมดที่เรามีอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านเรียกเราว่าสหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมด พร้อมกับยานพาหนะนี้แก่ท่าน" แล้วนายพรานก็ได้ขับเกวียนบรรทุกเนื้อทั้งหมด ไปยังคฤหาสน์ของลูกเศรษฐีคนที่สี่ เมื่อไปถึง ก็มอบเนื้อทั้งหมดให้ลูกเศรษฐี

ลูกชายเศรษฐีรู้สึกซึ้งในน้ำใจของนายพราน เห็นว่า นายพรานคนนี้เป็นบัณฑิต มีความจริงใจ มิใช่เป็นเพียงพรานป่า ที่ไม่ได้รับการศึกษาเหมือนคนทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีปัญญาและคุณธรรม สมควรคบหาสมาคมไว้เป็นเพื่อนแท้ จึงเชิญ นายพรานพร้อมทั้งบุตรและภรรยา ให้มาอยู่ที่คฤหาสน์ด้วยกัน แล้วบอกให้นายพรานเลิกอาชีพเดิม และให้มาใช้สมบัติร่วมกัน ตั้งแต่นั้นมา นายพรานกับลูกชายเศรษฐี ก็เป็นมิตรสหายที่ดี ต่อกันจนตลอดชีวิต

ดังนั้น ก่อนจะพูดจาเรื่องอะไร ให้พินิจพิจารณาให้รอบคอบ พูดแต่วาจาเป็นที่รัก อย่าให้คำพูดของเราไปกระทบกระเทือนจิตใจของผู้อื่นให้เกิดความขุ่นมัว แต่ให้ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้น เหมือนดอกบัวที่ชูช่อขึ้นเหนือน้ำ ยังจิตของผู้พบเห็นให้เบิกบานตามไปด้วย

การพูดเรื่องสร้างสรรค์ ให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการสร้างบารมี จะทำให้เรามีกำลังใจในการสร้างบารมียิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าพูดแต่เรื่องบุญ เรื่องที่ละเอียด ใจของเราก็ละเอียดตามไปด้วย จะส่งผลดีต่อการปฏิบัติธรรม ทำให้ใจของเราละเอียดอ่อน หยุดนิ่งได้อย่างรวดเร็วและได้เข้าถึงธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งโดยง่ายดาย

วาจาที่พูดออกไปแล้วนั้น เปรียบเสมือนลูกศรที่ออกจากแล่ง ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ เราจึงต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนพูด นักพูดในโลกนี้มีมากมาย แต่น้อยคนนักที่จะพูดเป็นอรรถเป็นธรรม พูดชวนให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ พูดชวนให้ไปสู่ที่สุดแห่งธรรม ตลอดพระชนมชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จะทรงเทศน์โปรดสัตวโลกให้หลุดพ้นจากทุกข์ ไปถึงพระนิพพาน คำสอนของพระพุทธองค์ทรงกลั่นออกมาจากกลางพระธรรมกาย มาจากต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ ทำให้ ผู้ที่ฟังแล้วปฏิบัติตาม มีใจหยุดนิ่ง บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ตามไปด้วย พระดำรัสของพระพุทธองค์จึงเป็นวาจาสูงสุด

ดังนั้น ถ้าอยากให้วาจาบริสุทธิ์ วาจาศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ เป็นที่เคารพยำเกรง น่าเชื่อถือ ต้องทำใจ ให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ แล้วพูดออกมาจากศูนย์กลางกาย พิจารณาถ้อยคำให้ดีก่อนจะพูดจา แล้วให้ขยันปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะมีภารกิจการงานมากมายเพียงใดก็ตาม ให้จัดสรรบริหารเวลาให้ดี เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญของนักสร้างบารมี เป็นทั้งหมดของชีวิต เราจะต้องเอาใจใส่ ไม่ทอดธุระ ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกันตลอดเวลา
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. มังสชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๔๗๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘