มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต - ปัญญาพิชิตปัญหา

มงคลที่ ๗

เป็นพหูสูต - ปัญญาพิชิตปัญหา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แสง ๔ นี้ คือ
แสงดวงจันทร์ แสงดวงอาทิตย์ แสงไฟ แสงปัญญา
แสง ๔ ประการนี้แล ภิกษุทั้งหลาย
บรรดาแสง ๔ นี้ แสงปัญญาเป็นเลิศ

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการสร้างบารมี เป็นเครื่องวัดกำลังใจและความสามารถของเรา บางปัญหาเราสามารถแก้ไขได้ บางปัญหาต้องอาศัยเวลา ปัญหาทุกๆ ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ถ้าใช้ปัญญาปัญหาก็หมดไป ถ้าใจสงบก็จะพบทางออก ใจที่สงบย่อมเกิดปัญญารู้แจ้ง เป็นปัญญาความรอบรู้อันบริสุทธิ์ ที่จะทำให้ตัวเราและชาวโลก หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน การหมั่นฝึกฝนใจให้สงบหยุดนิ่งอยู่ภายใน ทำให้เราเกิดปัญญาที่จะพิชิตปัญหา และยังแตกฉานในศาสตร์ทั้งปวง เราจะเข้าใจทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น และรู้ไปถึงต้นแหล่งที่มาของมัน พร้อมกับรู้วิธีการแก้ไขปัญหานั้น ดังนั้นการเจริญภาวนาจึงเป็นกรณียกิจสำคัญของการสร้างบารมี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อาภาสูตร ว่า

"จตสฺโส อิมา ภิกฺขเว อาภา กตมา จตสฺโส จนฺทาภา สุริยาภา อคฺคาภา ปญฺญาภา อิมา โข ภิกฺขเว จตสฺโส อาภา เอตทคฺคํ ภิกฺขเว อิมาสํ จตสฺสนฺนํ อาภานํ ยทิทํ ปญฺญาภา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แสง ๔ นี้ คือ แสงดวงจันทร์ แสงดวงอาทิตย์ แสงไฟ แสงปัญญา แสง ๔ ประการนี้แล ภิกษุทั้งหลาย บรรดาแสง ๔ นี้ แสงปัญญาเป็นเลิศ"

ตั้งแต่เช้า เราตื่นขึ้นมาดูโลก ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้เราสามารถประกอบกิจการงานต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย กลางคืนเราได้รับแสงสว่างจากดวงจันทร์ หรือดวงไฟ มาขจัดความมืดมิดในยามราตรี ทำให้ท้องฟ้างดงาม พราวพร่างไปด้วยหมู่ดาวเปล่งแสงระยิบระยับ แสงสว่างเหล่านี้ ให้ประโยชน์มากมายต่อตัวเราและสรรพสัตว์ ในเรื่องของการดำรงชีวิตอยู่ในโลก หากปราศจากแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หรือดวงไฟแล้ว โลกนี้ก็จะมืดมนอนธการ

ส่วนแสงสว่างแห่งปัญญานั้น เป็นความสว่างของใจ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ผิดเพี้ยน เหมือนที่เราเห็นสิ่งของที่ตั้งอยู่ต่อหน้าเรา ก็รู้ว่าเป็นสิ่งนั้นๆ ปัญญา คือ แสงสว่างที่ช่วยขจัดความมืดมิด คือ อวิชชา ที่ครอบงำจิตใจของเราให้หมดสิ้นไป แสงสว่างแห่งปัญญานี้ จะบังเกิดขึ้นในใจได้ ต้องอาศัยใจที่หยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ จนเป็นใจที่ได้รับการฝึกฝนมาดีแล้ว จึงจะช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ให้พ้นจากความหลงผิด กลายเป็นผู้เข้าใจโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง เหมือนอย่างโพธิกุมาร ผู้อาศัยมหาปัญญาช่วยเหลือพระราชา ให้ปกครองประเทศชาติได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข

ในสมัยหนึ่ง พระ บรมโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกของพราหมณ์มหาศาล ชื่อโพธิกุมาร มีทรัพย์สมบัติมากถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อเติบโต ขึ้น ได้พิจารณาเห็นว่า ชีวิตครองเรือนคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี ยากจะสลัดออกจากทุกข์ได้ จึงออกบวชเป็นปริพาชกอยู่ในป่าหิมพานต์ บำเพ็ญตบะอยู่ที่นั่น จนเป็นผู้มีฤทธิ์มีเดช และมีปัญญามาก

ครั้นถึงฤดูฝน ท่านออกจากป่า เที่ยวภิกขาจารไปจนถึงเมืองพาราณสี พระราชาทอดพระเนตรเห็น บังเกิดความเลื่อมใส จึงถวายโภชนะเลิศรส และอาราธนาให้ท่านมารับภัตตาหารเป็นประจำ สมัยนั้นในราชสำนักมีอำมาตย์ ๕ คน เป็นมิจฉาทิฏฐิ
  • คนแรกเป็นอเหตุกวาที มีวาทะว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้หมดจดในสงสาร
  • คนที่ ๒ เป็นอิสรกรณวาที มีความเห็นว่า พระเจ้าเป็น ผู้สร้างโลก
  • คนที่ ๓ เป็นปุพเพกตวาที ผู้มีวาทะว่า ความสุขหรือความทุกข์ของหมู่สัตว์ เกิดขึ้นมาเพราะเหตุในอดีตเท่านั้น
  • คนที่ ๔ เป็นอุจเฉทวาทีสั่งสอนมหาชนว่า ผู้จากโลกนี้ไปโลกหน้าไม่มี โลกนี้ขาดสูญ
  • ส่วนคนสุดท้ายเป็นขัตตวิชชวาที มีวาทะว่า เมื่อปรารถนาประโยชน์เพื่อตนเอง ควรฆ่ามารดาบิดา

พระโพธิสัตว์เห็นว่า ถ้าปล่อยให้อำมาตย์ทั้ง ๕ คนนี้ รับราชการต่อไป บ้านเมืองคงต้องลุกเป็นไฟ พระราชาก็จะทรงอยู่ในอันตราย เพราะหลงเชื่อคำพูดของคนพาล จึงหาทางที่จะ ทำลายวาทะของเจ้าลัทธิเหล่านี้ แล้วให้ขับไล่ออกนอกเมือง ครั้งนั้นพระราชากับพระราชโอรสเกิดพิพาทกัน เนื่องจากอำมาตย์ทั้ง ๕ คน ยัดเยียดข้อหาหนักให้พระมเหสีว่า แอบไปมีชู้กับคนอื่น พระราชายังไม่ได้สอบสวนก็รับสั่งให้นำไปประหาร ทำให้พระโอรสทั้ง ๔ พระองค์ โกรธเคืองมาก จึงได้พร้อมใจกันเตรียมทำสงครามกับพระราชบิดา

เมื่อพระโพธิสัตวŒนึกถึงพระคุณของพระราชา จึงคิดจะใช้สติปัญญาช่วยเหลือบ้านเมือง ให้รอดพ้นจากวิกฤติ วันรุ่งขึ้น ท่านได้ฉันเนื้อวานรที่คนนำมาถวาย หลังจากฉันแล้ว ได้ออกปากขอหนังวานร ท่านได้เอาหนังมาตากแห้งไว้ที่อาศรม ใช้นุ่งห่มบ้าง พาดบ่าบ้าง ท่านได้ห่มหนังวานรเข้าไปหาพระโอรส และทูลตักเตือนว่า การทำปิตุฆาตเป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนัก ธรรมดาว่า สัตว์ที่ไม่แก่ ไม่ตายเป็นไม่มี ขอพระโอรสอย่าได้ถือโทษในพระบิดาเลย

หลังจากสอนพระกุมารแล้ว ท่านได้เข้าไปในพระราชอุทยาน นั่งบนแผ่นศิลา พระราชาทรงทราบข่าว จึงพาอำมาตย์ ทั้ง ๕ คน ไปนมัสการ พระโพธิสัตว์ไม่ได้กล่าวอะไร ได้แต่ลูบคลำหนังวานรเฉยๆ พระราชาจึงตรัสถามว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ยอมพูดจากับข้าพเจ้า มัวแต่ลูบคลำหนังวานร หนังวานรนี้มีอุปการะมากกว่าข้าพเจ้าใช่ไหม"
พระโพธิสัตว์ทูลว่า "เป็นเช่นนั้นมหาบพิตร วานรนี้ มีอุปการะต่อเรามาก เรานั่งบนหลังของมันเที่ยวไป วานรนี้นำหม้อน้ำมาให้แก่เรา กวาดที่อยู่ให้เรา ได้ทำอภิสมาจาริกวัตรปฏิบัติแก่เราอยู่เสมอ แต่เราได้กินเนื้อของมันเสียแล้ว เอาหนังตากให้แห้งไว้ปูนั่งบ้าง ปูนอนบ้าง"

การที่พระโพธิสัตว์นั้นกล่าวว่า ได้นั่งบนหลังของวานร เพราะท่านเคยนุ่งห่มหนังของมัน ที่กล่าวว่า วานรนำหม้อน้ำมาให้ เพราะท่านเอาหนังของมันพาดบนบ่าแล้วแบกหม้อน้ำ ที่กล่าวว่า มันกวาดที่อยู่ให้ เพราะท่านเคยเอาหนังนั้นปัดพื้นให้สะอาด ที่ท่านกล่าวว่า เราได้กินเนื้อของมันเสียแล้ว เพราะมีคนฆ่าเอาเนื้อของมันมาให้ท่านฉัน นี่เป็นคำพูดที่มีความหมายแฝงนัยไว้ ซึ่งความจริงแล้ว ท่านไม่ได้กล่าวโกหก หรือเป็นคนอกตัญญูเลย

แต่พวกอำมาตย์ได้ฟังแล้ว มีปัญญาไตร่ตรองตามไม่ทัน ก็เข้าใจกันว่า ท่านทำปาณาติบาตแล้ว พากันหัวเราะเยาะว่า "ท่านทั้งหลาย จงดูการกระทำของบรรพชิตรูปนี้เถิด บรรพชิตนี้ฆ่าลิงกินเสียแล้ว แล้วยังถือเอาหนังเที่ยวไปอีก"

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้โอกาส จึงกล่าวกับอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าอิสรกรณวาทีว่า " ท่านหัวเราะเยาะเราทำไม ท่านบอกชาวโลก เองไม่ใช่หรือว่า สิ่งทั้งปวงพระเป็นเจ้าได้สร้างไว้ให้ ถ้าว่า พระเป็นเจ้าสร้างชีวิต สร้างฤทธิ์ สร้างความพินาศ สร้างกรรมดี และกรรมชั่วให้แก่ชาวโลกทั้งหมด ผู้ทำตามคำสั่งของพระเป็นเจ้าย่อมทำบาปได้ พระเป็นเจ้าต้องเปื้อนบาปนั้นเพียงผู้เดียว ถ้าคำสอนของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าหากรู้ว่าตนเองสอนผิด ก็ไม่พึงหัวเราะเยาะเรา"
เมื่อเจ้าลัทธิอิสรกรณวาทีได้รับฟังเช่นนั้น ก็หมดปัญญาที่จะโต้วาทะกับพระโพธิสัตว์ จึงนั่งนิ่งคอตก ไม่พูดจาอะไร
พระโพธิสัตว์จึงเรียกให้อุจเฉทวาทีอำมาตย์เข้ามา พลางกล่าวว่า " ท่านกล่าวว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล และยังสำคัญว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมขาดสูญในโลกนี้เท่านั้น สัตว์ผู้ไปสู่ปรโลกไม่มีเลย แล้วมาหัวเราะเยาะเราทำไม"
จากนั้นได้กล่าวสำทับว่า " รูปของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นอยู่ได้เพราะอาศัยธาตุ ๔ เท่านั้น รูปเกิดจากสิ่งใด ย่อมเข้าถึงในสิ่งนั้นอย่างเดิม ชีพย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ละไปแล้ว ย่อมพินาศในโลกหน้า โลกนี้ขาดสูญ เมื่อโลกขาดสูญอยู่อย่างนี้ หมู่สัตว์ย่อมขาดสูญไปหมด ใครเล่าในโลกนี้เปื้อนด้วยบาป ถ้าคำสอนของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ตัวว่า ได้สอนคนอื่น ให้มีความเห็นผิด ก็ไม่ควรติเตียนเราเลย เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น"

พระโพธิสัตว์ได้ใช้สติปัญญา แก้ข้อครหาของอำมาตย์ทั้ง ๕ คน จนไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ จึงทูลพระราชาว่า
"ดูก่อนมหาบพิตร อำมาตย์ทั้ง ๕ คนนี้ เป็นประดุจมหาโจรผู้ปล้นแว่นแคว้น ขออย่าได้นำอำมาตย์เหล่านี้มารับราชการเลย เพราะบุคคลต้องถึงความทุกข์ใหญ่หลวง ทั้งในภพนี้และภพหน้า ด้วยการคลุกคลีกับพวกคนพาล อำมาตย์ทั้ง ๕ คนนี้ ถือเป็นอสัตบุรุษ แต่สำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต บุคคลเช่นนี้สามารถกระทำบาปเองได้ และยังจะชักชวนผู้อื่นให้กระทำบาปด้วย ความคลุกคลีกับ อสัตบุรุษเป็นความชั่วร้าย มีผลอันเผ็ดร้อน"
พระราชาได้ฟังคำแนะนำแล้ว จึงรับสั่งให้ขับไล่อำมาตย์ ทั้ง ๕ คน ออกจากเมือง แล้วดำรงอยู่ในโอวาทของท่านดาบสโพธิสัตว์ ทำให้ไม่เกิดการเข่นฆ่ากันในราชวงศ์ อีกทั้งประเทศชาติบ้านเมืองในสมัยนั้นก็เจริญรุ่งเรือง มหาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะอาศัยปัญญาของพระโพธิสัตว์ ที่คอยแนะนำให้ทุกคนประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้มีปัญญาย่อมสามารถแนะนำคนอื่น ให้ดำรงตนอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องได้ มีผู้คนเป็นอันมาก ทำบาปอกุศลไว้ ทำให้ต้องตกไปในอบายภูมิ เพราะขาดปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ปัญญาจึงเป็นรัตนะอันประเสริฐของนรชนในโลกนี้และโลกหน้า พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการ ได้แก่ กำลังคือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา บรรดากำลัง ๕ ประการนี้ กำลังปัญญาเป็นเลิศ"

เพราะฉะนั้น แต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมาเพื่อสร้างบารมี ให้นึกถึงปัญญาบารมีว่า ทำอย่างไรเราจะได้แสงสว่างแห่งปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการอ่านหนังสือ หรือสอบถามจากผู้รู้แล้ว ปัญญาบริสุทธิ์ที่เกิดจากใจหยุดนิ่งใสบริสุทธิ์ภายใน ทำให้เราสามารถเอาชนะความมืด คือ อวิชชาที่มาบดบังดวงปัญญาได้ และทำให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต ดังนั้น ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำทุกวัน จนกว่าจะเข้าถึงแสงสว่างแห่งปัญญา เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘