มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู - ผู้คู่ควรแก่ความกตัญญู



มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู
ผู้คู่ควรแก่ความกตัญญู

บุคคลรู้แจ้งธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว จากผู้ใด พึงนอบน้อมผู้นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นับถือการบูชาไฟฉะนั้น

บุคคลผู้ควรได้รับความกตัญญูนั้นมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากเราได้รับรู้ประวัติของพระพุทธองค์อย่างแจ่มแจ้ง เราจะเกิดความซาบซึ้ง เกิดความปีติใจ และภาคภูมิใจว่า เราได้มาอยู่ใต้ร่มเงาบารมีธรรมของพระองค์ ได้อาศัยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การเห็นความทุกข์ของชีวิต ต้นเหตุของความทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์ ด้วยการหยุดใจจนกระทั่งเข้าถึงความสุขที่แท้จริง อันจะทำให้ความสมหวัง และความสมปรารถนาบังเกิดในชีวิต

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

ยมฺหา ธมฺมํ วิชาเนยฺย สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ
สกฺกจฺจํ นํ นมสฺเสยฺย อคฺคิหุตฺตํว พฺราหฺมโณ

บุคคลรู้แจ้งธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว จากผู้ใด พึงนอบน้อมผู้นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นับถือการบูชาไฟฉะนั้นŽ

*การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก และเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือความนึกคิดของปุถุชน พระองค์ทรงบังเกิดขึ้นมาเพื่อทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่มวลมนุษยชาติอย่าง แท้จริง กว่าจะมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น พระองค์ทรงสร้างบารมีสร้างความดีมายาวนาน นับภพนับชาติไม่ถ้วน ตั้งแต่ชาติที่เป็นหนุ่มน้อยคนหนึ่งผู้ซึ่งแบกมารดาไว้บนบ่า ในขณะที่ว่ายน้ำอยู่กลางทะเล เพราะพายุโหมกระหน่ำจนเรือสินค้าอัปปาง

ในขณะที่ว่ายน้ำอยู่กลางทะเลนั้น ใจของท่านเกิดมหากรุณา เกิดความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ คือปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาที่จะสร้างความดีให้บรรลุธรรม สามารถค้นพบวิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ด้วย ตัวท่านเอง เมื่อพบแล้ว ก็ตั้งความปรารถนาที่จะเผยแผ่วิถีทางดำเนินชีวิตอันบริสุทธิ์นั้น แก่ชาวโลก ให้ได้เข้าถึงหนทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้นเช่นเดียวกับท่าน โดยไม่มีความรู้สึกหวงวิชชาเลยแม้แต่น้อย

นี่คือมโนปณิธานอันสูงส่งของท่าน ซึ่งแตกต่างจากความตั้งใจของมนุษย์ธรรมดาทั้งหลายในโลก เพราะในขณะที่อยู่กลางทะเล จะมีสักกี่คนในโลกที่มีความคิดเช่นนี้ ในขณะที่ตนเองกำลังประสบภัยอยู่กลางทะเล แล้วไม่ใช่ว่ายน้ำอยู่คนเดียว ยังแบกมารดาไว้บนบ่าอีกด้วย และท่านทราบดีว่า ความปรารถนาของท่านนั้น มันไม่ใช่ได้มาโดยง่าย กว่าจะได้มา จะต้องสละทั้งทรัพย์ สละทั้งอวัยวะ สละทั้งชีวิต ต้องลำบากไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน

แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงย่อท้อ แม้เส้นทางการสร้างบารมีจะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด ก็ไม่เคยนึกถึง คิดแต่ว่า เป้าหมายหรือความปรารถนานั้นต้องสมหวัง ทรงสร้างความดี เช่นนั้นสืบเนื่องมายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน พระองค์ทรงสละเลือดมากกว่าน้ำในมหาสมุทร สละเนื้อมากกว่าแผ่นดิน ควักลูกตาออกทำทานก็มากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้า ตัดหัวบูชาธรรมมากกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป ทรงทำอย่างนั้นมา ตลอดทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งถึงวาระที่บารมีเต็มเปี่ยมแล้ว จึงคอยโอกาสแห่งการตรัสรู้ธรรม

ในภพชาติสุดท้าย การ ประสูติของพระพุทธองค์ก็แตกต่างจากการเกิดของชาวโลก ทันทีที่พระองค์ประสูติทรงดำเนินไป ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ นี่เป็นความอัศจรรย์ของการมาบังเกิดขึ้นของผู้มีบุญ รวมทั้งเกิดมาก็พูดได้ คำที่พูดนั้นก็ไม่เหมือนกับคำพูดของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป เป็น อาสภิวาจา คือ วาจาเปล่งออกมาด้วยความองอาจ ทรงเปล่งวาจาว่า ในโลกนี้เราเป็นหนึ่ง เราเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด การเกิดครั้งนี้ของเราเป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปอีกไม่มีสำหรับเราŽ นี่เป็นวาจาที่ยิ่งใหญ่ เป็นนิมิตหมายแห่งการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสันติสุขอันแท้จริงของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

ความนึกคิดในใจของพระองค์แตกต่างจากความนึกคิดของมวลมนุษย์ทั้งหลาย คือเมื่อชาวโลกเมื่อประสบความทุกข์ ก็ไม่คิดหาหนทางที่จะออกจากความทุกข์นั้น อยู่ไปวันหนึ่งๆ ด้วยความเคยชินกับความทุกข์ จึงต้องทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งทุกข์ประจำ และทุกข์จร ครั้นพระองค์ท่านมองเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวชแล้ว เห็นแล้วก็ได้ข้อคิด อยากแสวงหาหนทางให้หลุดพ้นจากทุกข์ อยากเข้าถึงความสุขที่แท้จริง

ภาพคนแก่ คนเจ็บ คนตายเหล่านี้ เป็นภาพที่มนุษย์ทั้งหลายเห็นกันอยู่เป็นปกติ เห็นแล้วรู้สึกเฉยๆ เห็นแล้วไม่คิดต่อ แต่พระองค์คิดหาหนทางที่จะออกจากความทุกข์ อีกทั้งมีความเชื่อมั่นอยู่ในใจลึกๆ ว่า หนทางที่จะพ้นจากความทุกข์นั้นต้องมี ท่านคิดอย่างนั้นแล้วจึงแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์เรื่อยมา

จนกระทั่งบารมีที่ท่านสั่งสมมาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ท่านจึงออกจากวัง เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ชันษา ก็ออกมาครองเพศของนักบวช แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ตลอดระยะเวลา ๖ ปีเต็ม ไปศึกษากับครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น เริ่มศึกษาเรื่องฌานสมาบัติ หรือแม้กระทั่งการทรมานตนเองก็ทรงทดลองมาแล้ว แต่ยังไม่พบหนทางที่จะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง จึงปลีกวิเวกออกมาแสวงหาที่สงบเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม

ในที่สุดพระองค์ก็ทรงพบหนทางไปสู่อายตนนิพพาน ทางที่ทรงพบนั้นอยู่ภายในตัวของพระองค์เอง ด้วยการหยุดกับนิ่งอย่างเดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุกายธรรมพระอรหัตที่ใสบริสุทธิ์ สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน กิเลสอาสวะต่างๆ หลุดร่อนหมด มีความสุขอยู่ในธรรมตลอดเวลา

จากนั้นพระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนมาตลอด ๔๕ พรรษา โดยไม่กังวลกับความทุกข์ยากลำบากเลยทุกคน มีความปรารถนาอย่างเดียว คืออยากให้ทุกคนได้พบความสุขที่แท้จริง มนุษย์ล้วนประสบปัญหาชีวิตกันทั้งนั้น แต่กลับแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เพราะว่าความรู้ไม่สมบูรณ์ คิดอะไรขึ้นมาได้ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่พระองค์ท่านทรงชี้แนะวิธีที่แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด แก้ถึงรากเหง้าของปัญหา

คำสอนของพระองค์สรุปโดยย่อ คือให้ทุกคนกล้าหาญพอที่จะมองชีวิตของตัวเราว่า พื้นฐานของชีวิตนั้นเป็นทุกข์ และทรงสอนต่อไปอีกว่า เหตุแห่งความทุกข์ทั้งหมดมาจากความทะยานอยาก ตั้งแต่อยากได้เล็กน้อย อยากปานกลาง จนกระทั่งอยากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากที่ระคนไปด้วยความเพลินอยู่ในโลก และสิ่งที่ตนอยากนั้นก็มีปัญหาอยู่ในตัว เมื่อได้สิ่งนั้นมาก็ต้องตามแก้ปัญหาไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น วิธีที่จะพ้นทุกข์ได้ จะต้องหยุดใจติดสนิทอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอหยุดถูกส่วนถึงมรรค เห็นหนทางของพระอริยเจ้าบังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย และหยุดเรื่อยไปจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ นี่คือวิธีที่ทรงสอนตลอด ๔๕ พรรษา โดยทรงย่อส่วนและทรงดัดแปลงให้ถูกจริตอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป แต่โดยสรุปแล้วทรงสอนเช่นนี้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

จะเห็นได้ว่า พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้น ยังประโยชน์เกื้อกูลแก่มนุษย์ และเทวดาทั้งหลายอย่างจะนับจะประมาณมิได้ จึงควรอย่างยิ่งที่จะระลึกนึกถึงพระองค์ท่าน แล้วตอบแทนพระคุณด้วยการทำในสิ่งที่พระองค์อยากจะให้ทำ นั่นคือการปฏิบัติบูชา พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น พระองค์ทรงแนะนำอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น ท่านเข้าถึงอย่างไร เราก็จะเข้าถึงอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างไรเราก็เป็นอย่างนั้น อย่างนี้จึงจะเรียกว่า กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์อย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*พุทธประวัติ นักธรรมตรี

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘