มงคลที่ ๓๓ เห็นอริยสัจ - พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ตอนที่ ๒

พระอาทิตย์ย่อมรุ่งเรืองในกลางวัน
พระจันทร์ย่อมส่องสว่างในกลางคืน
พระราชาผู้ประดับประดาแล้ว ย่อมทรงรุ่งเรือง
พราหมณ์ผู้เพ่งเพียรอยู่เป็นนิตย์ ย่อมรุ่งเรือง
ส่วนพระพุทธเจ้า ย่อมทรงรุ่งเรืองด้วยเดช
ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ตาม ล้วนมีเป้าหมายทำพระนิพพานให้แจ้ง เกิดมาแสวงหาความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ เพราะพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอุปสรรคที่สำคัญของชีวิต เมื่อชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือรวมทั้งหมด ก็คือสร้างบารมีทั้ง ๓๐ทัศ สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่จะกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ ครั้นความบริสุทธิ์ถึงที่สุด ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้น เราก็ต้องหมั่นสั่งสมความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ให้มากๆ โดยเฉพาะ การหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อความบริสุทธิ์ของเราเต็มเปี่ยม เราก็จะสามารถเข้าถึงพระธรรมกายภายใน มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
ทิวา ตปติ อาทิจฺโจ รตฺติมาภาติ จนฺทิมา
สนฺนทฺโธ ขตฺติโย ตปติ ฌายี ตปติ พฺราหฺมโณ
อถ สพฺพมโหรตฺตึ พุทฺโธ ตปติ เตชสา

พระอาทิตย์ย่อมรุ่งเรืองในกลางวัน
พระจันทร์ย่อมส่องสว่างในกลางคืน
พระราชาผู้ประดับประดาแล้ว ย่อมทรงรุ่งเรือง
พราหมณ์ผู้เพ่งเพียรอยู่เป็นนิตย์ ย่อมรุ่งเรือง
ส่วนพระพุทธเจ้า ย่อมทรงรุ่งเรืองด้วยเดช
ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

ท้องฟ้าเป็นที่รวมประชุมของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และหมู่ดาว มหาสมุทรเป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสาย ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ทรงรุ่งเรืองด้วยธรรมรังสีตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ก็ทรงเป็นที่รวมลงแห่งคุณธรรม ความดีงามทั้งหลาย เป็นต้นบุญต้นแบบของผู้แสวงหาหนทางไปสวรรค์และนิพพาน ฉันนั้น การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า จึงเป็นการยาก การได้พบพระพุทธเจ้า ก็เป็นการยากเช่นกัน ผู้มีโอกาสได้พบหรือได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา หรือสัตว์เดียรัจฉาน นับว่าเป็นผู้มีโชคอย่างมหาศาล เพราะการได้พบและได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์นั้น หมายถึงได้พบหนทางไปสู่สวรรค์และนิพพาน

*เหมือนดังอดีตชาติของ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ชาติในอดีตเคยเกิดเป็นพญาราชสีห์ ได้พบพระพุทธเจ้าและได้มีโอกาสทำบุญใหญ่ในครั้งนั้น ทำให้ได้อุปนิสัยแห่งการตรัสรู้ธรรม เรื่องของท่านก็มีอยู่ว่า
ในสมัยของ พระปทุมุตรพุทธเจ้า ได้มีพญาราชสีห์ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ในเวลาเช้ามืดวันหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงตรวจดูสัตวโลก ได้ทอดพระเนตรเห็นราชสีห์ตัวนี้เข้ามาในข่ายพระญาณ ก็ทราบว่าราชสีห์ตัวนี้เป็นสัตว์ที่ควรจะได้รับการโปรด

ครั้นพอรุ่งสางแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จออกบิณฑบาตในพระนครหงสวดี หลังจากเสวยแล้ว ได้เสด็จไปยังถ้ำทองซึ่งเป็นที่อยู่ของพญาราชสีห์ ในขณะที่พระพุทธองค์เสด็จไปถึง ราชสีห์นั้นได้ออกไปเที่ยวหากินนอกถํ้ายังไม่ได้กลับมา พระพุทธองค์จึงนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่กลางอากาศภายในถ้ำแห่งนั้น เพื่อรอคอยการกลับมาของพญาราชสีห์
ครั้นพอพญาราชสีห์กลับมาจากหาเหยื่อ หยุดยืนอยู่ที่ประตูถ้ำ ได้เห็นพระปทุมุตรพุทธเจ้าประทับนั่งลอยพระองค์อยู่กลางอากาศ จึงคิดว่า " ไม่มีผู้ใดที่จะกล้าเข้ามานั่งอยู่ในถํ้าของเรา ท่านผู้นี้มีความองอาจมาก เข้ามานั่งอยู่ในถํ้าของเรา สงสัยจะต้องไม่ใช่คนธรรมดา จะต้องเป็นผู้วิเศษอย่างแน่นอน ทั้งรัศมีกายก็ยังแผ่สว่างไสวไปทั่วทั้งถ้ำ เราไม่เคยเห็นคนอัศจรรย์เช่นนี้มาก่อนเลย ท่านผู้นี้จักต้องเป็นผู้ที่เราควรบูชา"
เมื่อ คิดตามกำลังสติปัญญาของตนแล้ว ก็ออกไปหาดอกไม้นานาพรรณ ทั้งที่เกิดในน้ำและบนบก นำมาปูลาดเป็นอาสนะดอกไม้ เริ่มตั้งแต่พื้นดินเรื่อยขึ้นไปจนสูงถึงที่พระองค์ประทับนั่งลอยอยู่ใน อากาศ ได้ประคองกอดอกปทุมเข้าไปบูชา แล้วยืนนอบน้อมตรงพระพักตร์พระบรมศาสดา ตลอดราตรี จนกระทั่งรุ่งเช้า

ครั้นพอรุ่งเช้า ก็เก็บเอาดอกไม้เก่าออก แล้วออกไปหาดอกไม้ใหม่มา ทำเป็นอาสนะถวายอีก พร้อมทั้งเฝ้าคอยระวังรักษาอยู่ที่ปากประตูถ้ำ ด้วยมหาปีติและโสมนัสอันแรงกล้า บันลือสีหนาทในเวลาทั้งสาม เพื่อให้สัตว์ร้ายในละแวกนั้นหนีไป ส่วนตนก็ได้ยืนเฝ้าโดยมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ ทำอยู่อย่างนี้ถึง ๗วัน ไม่ยอมออกไปหากิน เพราะต้องการบูชาพระพุทธเจ้าตลอด ๗ราตรี
ในวันที่๗ พระพุทธองค์เสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วมาประทับยืนอยู่ที่ประตูถ้ำ ราชสีห์ทราบว่าพระพุทธองค์ออกจากสมาธิแล้ว จึงทำประทักษิณ ด้วยการเดินเวียนขวารอบพระพุทธองค์ ๓รอบ เป็นการแสดงการเคารพนอบน้อมและเปล่งสีหนาทขึ้นด้วยเสียงดังกึกก้อง แทนการกล่าวสรรเสริญด้วยความเลื่อมใส
พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นว่า การอนุเคราะห์เท่านี้ ก็เพียงพอแล้ว ที่จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภพเบื้องหน้าของราชสีห์นี้ จึงตรัสพระธรรมเทศนา แก่เหล่าเทวดา คนธรรพ์และพวก วิทยาธร ที่มาประชุมกันในวันนั้น แล้วทรงพยากรณ์ว่า "ในกัปที่๘_แต่กัปนี้ไป ราชสีห์ตัวนี้จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ประการ มีเดชานุภาพแผ่ไพศาลไปในทวีปทั้งสี่ ทรงพระนามว่า ปทุมราช และจะได้ครองราชสมบัติอย่างนี้ไปถึง ๖๔ชาติ
ในอีกหนึ่งแสนกัปนับจากกัปนี้ไป ราชสีห์นี้จะบังเกิดเป็นพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี เมื่อออกบวชแล้ว จะได้เป็นพระอรหันตสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า และเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวงในการเปล่งสีหนาท เพราะบุญที่ได้เปล่งสีหนาทเพื่อบูชาธรรมเราผู้เป็นพระโลกนาถเจ้า"
เมื่อพระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์อนาคตอันสดใสของพญาราชสีห์แล้ว ก็เสด็จเหาะกลับสู่วิหารตามเดิม ฝ่ายราชสีห์รู้ว่าต่อแต่นี้ไป คงไม่ได้พบพระพุทธเจ้าอีกแล้ว ก็บังเกิดความระลึกนึกถึงพระพุทธองค์มาก ไม่อยากให้พระพุทธองค์จากไปเลย ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเหาะจากไปนั้น ราชสีห์ก็มองตามไปด้วยความอาลัยอาวรณ์ ยิ่งเสด็จห่างออกไปไกลเท่าไร ความอาลัยก็ยิ่งเกิดขึ้นเป็นทับทวีคูณ
ในที่สุด เมื่อพระบรมโลกนาถเจ้าเสด็จลับสายตาไป ราชสีห์ไม่อาจอดกลั้นความคิดถึงนั้นได้ เพราะการพลัดพรากจากพระพุทธเจ้า จึงกระทำกาละในป่าหิมพานต์นั่นเอง แต่ด้วยบุญญานุภาพที่ปูลาดพุทธอาสนะดอกไม้ ถวายเป็นพุทธบูชา ทำให้เมื่อละจากอัตภาพนั้นแล้ว บุญได้ส่งให้ไปบังเกิดในตระกูลที่มีโภคะมากในนครหงสวดี ท่านจึงมีโอกาสถวายทานกับพระพุทธเจ้าจนตลอดชีวิต ครั้นละโลกแล้ว ก็ได้ไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ และได้ท่องเที่ยวอยู่ในสองภพภูมิเท่านั้น คือ เทวโลกและมนุษยโลก
ครั้นถึงสมัยพุทธกาล ท่านได้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงราชคฤห์ เมื่อเจริญวัยแล้ว ภารทวาชพราหมณ์ ก็ตั้งใจเล่าเรียนจนเจนจบ ในวิชาไตรเพท จนเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ท่านได้สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐คน และจาริกไปในสถานที่ต่างๆตามที่มีคนเชื้อเชิญ
ภายหลัง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกประกาศพระศาสนา ครั้นเสด็จมาถึงพระนครราชคฤห์ พราหมณ์หนุ่มได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้า ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงตัดสินใจไปเข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรม ครั้นได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวช ครั้นบวชแล้ว ท่านก็ไม่ประมาทในการบำเพ็ญสมณธรรม เจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ใช้เวลาไม่นานนักก็สามารถทำใจหยุดนิ่ง ดิ่งเข้ากลางได้ ในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาญาณ๔ เป็นผู้ทรงอภิญญา ได้บรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิต
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า การ บังเกิดขึ้นของดวงอาทิตย์ ย่อมขจัดความมืดในดวงตาแก่สรรพสัตว์ได้ ฉันใด การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สามารถขจัดธุลีคือกิเลส ซึ่งเป็นความมืดในดวงใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ ฉันนั้น การ ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นยอดแห่งทัสสนานุตตริยะ พวกเราเองแม้จะไม่มีโอกาสได้พบพระพุทธองค์ แต่ก็ยังคงมีคำสอนอันบริสุทธิ์ที่พระบรมศาสดาทรงประทานไว้ เป็นประดุจตัวแทนของพระพุทธองค์
หากเราไม่ประมาท ไม่ดูเบา ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน เราก็จะสามารถเข้าถึงพุทธภาวะภายใน เห็นพระพุทธเจ้าภายในตัว ซึ่งท่านเป็นกายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วอย่างแท้จริง เมื่อเราเข้าถึงแล้ว ก็จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้กับเราได้ ชีวิตเราจะปลอดภัยและมีชัยชนะไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะเข้าถึงนิพพาน
ดังนั้น ให้ทำความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า หมั่นเจริญพุทธานุสติ นึกถึงพุทธคุณอันไม่มีประมาณ และทำใจให้หยุดนิ่งเรื่อยไป จนกว่าจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกัน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. พระปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน เล่ม ๗๐ หน้า ๖๓๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘