มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - ก่อเวรเพราะวาทกรรม


มงคลที่ ๑๖

ประพฤติธรรม
ก่อเวรเพราะวาทกรรม

ในโลกนี้ สิ่งที่จะบั่นทอนกำลังใจของคนเราได้มากคือคำพูด คำพูดที่ตัดกำลังใจหรือกดใจผู้ฟังให้ต่ำลง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกระคายหู ก่อให้เกิดความไม่พอใจความขุ่นมัวโกรธเคือง และยังเป็นวาทกรรมที่ก่อเวร ทำให้ผูกพยาบาทจองเวรกันอีกด้วย ซึ่งการผูกโกรธผูกพยาบาท จะทำให้ใจกระสับกระส่ายไม่เป็นสมาธิ นอกจากนี้หน้าตาก็ยังเศร้าหมองไม่ผ่องใส ไม่น่าเข้าใกล้ ใครๆ ต่างถอยห่างไม่อยากจะคบหาสมาคมด้วย ธาตุสี่ในร่างกายก็เกิดวิปริตเสียสมดุล ลมหายใจก็จะหยาบ คนที่เก็บความโกรธไว้ ต้องทุกข์ร้อนใจทุรนทุรายหาความสุขไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าปรารถนาจะดับทุกข์ต้องดับความโกรธ โดยหันมาเจริญสมาธิภาวนา หากทำเช่นนี้ เราจะได้รับความสุขอันเกิดจากสมาธิอย่างแน่นอน

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“เย เวรํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ
เย เวรํ นูปนยฺหนฺต เวรํ เตสูปสมฺมติ

เวรของผู้จองเวร ย่อมไม่ระงับ
เวรของผู้ไม่จองเวร ย่อมระงับได้”


การผูกโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรกันนั้น ไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ และยังก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์อีกด้วยทั้งในภพนี้และภพหน้า ตลอดจนชีวิตอันแสนทุกข์ทรมานยาวนานในสังสารวัฏ ดังนั้น บัณฑิตผู้ได้ศึกษาความจริงของชีวิต จึงไม่ผูกโกรธจองเวรกัน แต่จะให้อภัยและมีเมตตาจิตต่อกัน

การให้อภัยซึ่งกันและกันทำให้ไม่ต้องก่อเวร เพราะคนเราต้องเข้าใจความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม เมื่อไม่สมบูรณ์ บางครั้งคนอื่นอาจทำผิดพลาดล่วงเกินเรา หรือเราอาจไปทำผิดพลาดล่วงเกินคนอื่น ทั้งที่มีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม แต่ถ้าเราต่างให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว เวรนั้นย่อมจะระงับไป เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร แต่เวรจะไม่ระงับเมื่อต่างผูกเวรกัน

เรื่องการผูกเวรกันนี้ เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเหตุที่มาของการผูกเวรระหว่างกากับนกเค้า เราคงเคยได้ยินถ้อยคำที่ว่า คนที่ไม่ถูกกันแล้ว ต่างหาทางประทุษร้ายต่อกัน อุปมาเหมือนพังพอนกับงู หมีกับไม้ตะคร้อ และกากับนกเค้า เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่คำอุปมา แต่มีเหตุที่มา ซึ่งในวันนี้เราจะมาศึกษาถึงต้นเหตุที่มาของกากับนกเค้าที่จองเวรกันมายาว นาน นานแค่ไหนเราต้องมาติดตามกันต่อไป

*เรื่องมีอยู่ว่า ที่ท้ายมหาวิหารวัดพระเชตวัน พวกกามักร้องส่งเสียงดังในเวลากลางวัน เพราะฝูงกาต่างพากันรุมจิกตีนกเค้าที่เกาะบนคาคบตั้งแต่กลางวันจนกระทั่งถึง ยามอาทิตย์ตกดิน นกเค้าบางตัวถูกจิกตีจนถึงแก่ความตาย บางตัวก็บินหนีไปได้ ส่วนตัวที่บินไปแล้ว แต่ยังไม่รอดสายตาของกา ก็จะถูกตามราวีไม่มีหยุดหย่อน ครั้นตกกลางคืน นกเค้ามีความได้เปรียบในเรื่องทัศนะวิสัยในการมองในที่มืดได้ดีกว่า ก็ข่มเหงรังแกจิกตีกา ทำให้ฝูงกามากมายถึงแก่ความตาย

พระภิกษุที่ทำความสะอาดด้านท้ายมหาวิหารพระเชตวัน ท่านต้องคอยกวาดชิ้นส่วนร่างกายของกาที่ตกเกลื่อนกราดทุกวัน ท่านได้นำเรื่องนี้แจ้งให้กับภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย พระภิกษุจึงประชุมกันในโรงธรรมสภาถึงเรื่องฝูงกากับนกเค้าที่ทะเลาะจิกตีกัน ทุกวัน

ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงที่โรงธรรมสภา จึงตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอสนทนากันถึงเรื่องอะไรอยู่หรือ”
พระภิกษุกราบทูลถึงเรื่องกากับนกเค้าที่จิกตีกันที่ท้ายมหาวิหาร พระพุทธองค์สดับแล้ว ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กากับนกเค้านี้ใช่ว่าจะผูกเวรกันเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แต่ได้เริ่มผูกเวรกันมาตั้งแต่ต้นปฐมกัปแล้ว” พระภิกษุพากันกราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงเล่าถึงความเป็นมา
พระองค์ตรัสเล่าว่า ในครั้งปฐมกัป เมื่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่สมบูรณ์ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเพราะอำนาจกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่คอยบีบบังคับให้มนุษย์สร้างกรรม และทำให้มีวิบากที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของสรรพชีวิต ทำให้มีชีวิตใหม่ๆ หลากหลายเผ่าพันธุ์บังเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจแห่งแรงกรรม แรงบุญแรงบาปที่ตนได้เคยกระทำไว้ในครั้งที่เป็นมนุษย์ บ้างกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก บ้างได้กายอื่นที่เสื่อมลงกลับมาเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานและอาศัยอยู่บนโลกใบ เดียวกันนี้ จึงทำให้มีสังคมของสรรพสัตว์ปะปนคละเคล้ากันไปในวังวนแห่งวัฏฏะ
ในครั้งนั้นมนุษย์ทั้งหลายได้ประชุมกันว่า “พวก เรามีกันอยู่มากมาย การที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จะต้องมีผู้นำที่ชาญฉลาดในการจัดสรรปันส่วน และมีวิจารณญาณในการตัดสินคดีด้วยความยุติธรรม” ดังนั้นในหมู่มนุษย์จึงมีการแต่งตั้งบุรุษผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ให้เป็นผู้ปกครอง โดยเรียกว่ามหากษัตริย์

ในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่า ต่อมาประชุมกันเพื่อแต่งตั้งจ้าวป่า และมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ให้พญาราชสีห์เป็นพญาแห่งสัตว์จตุบาทคือเป็นใหญ่กว่าสัตว์สี่เท้าที่มีอยู่ ในป่าทั้งหมด ส่วนหมู่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีมัจฉาหลากชนิดมาประชุมกันแล้วได้แต่งตั้งปลาอานนท์ ให้เป็นพญาแห่งสัตว์ในน้ำ

สำหรับสัตว์บรรดาสกุณาชาติได้มาประชุมกันบนแผ่นศิลาใหญ่ในป่าหิมพานต์ และปราศรัยกันว่า “ในหมู่มนุษย์ก็มีการแต่งตั้งผู้ปกครองเป็นมหากษัตริย์แล้ว ในบรรดาสัตว์สี่เท้าก็มีราชสีห์เป็นพญา ในหมู่ปลาก็มีปลาอานนท์เป็นพญา แล้วในหมู่พวกเราใครจะเป็นพญาเล่า”

จากนั้นนกนานาชนิด ต่างเสนอและเฟ้นหาตัวผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นพญา ซึ่งส่วนใหญ่พากันลงความเห็นว่า ควรจะแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นพญาแห่งสกุณา ตัวแทนของนกตัวหนึ่งได้กล่าวขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมว่า “เราจะประกาศ ๓ ครั้งเพื่อให้นกเค้าเป็นใหญ่ในหมู่พวกเรา เพื่อจะได้สรุปเป็นมติที่ประชุมว่าให้นกเค้าเป็นพญา”
เมื่อได้ประกาศ ๓ ครั้งแล้ว กาตัวหนึ่งคัดค้านขึ้นมาว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ยังสรุปเป็นมติที่ประชุมไม่ได้ เพราะว่านกเค้านั้นมีรูปสมบัติไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ปกครอง เนื่องจากมีหน้าตาดุ น่ากลัว ถึงไม่โกรธก็เหมือนกับทำหน้าโกรธอยู่เสมอ ถ้าพวกเราได้ผู้ที่หน้าตาอย่างนี้มาเป็นนายของเราแล้ว เวลาโกรธขึ้นมาจะน่ากลัวขนาดไหน เราควรจะตั้งกาผู้มีปัญญาเป็นพญาจะดีกว่า”

นกเค้ารีบพูดขึ้นท่ามกลางที่ประชุมว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่จะให้กาเป็นผู้นำ เพราะพฤติกรรมของกาไม่น่าไว้วางใจ ธรรมดาวิสัยของกามีปกติเที่ยวขโมยกินไข่นก และกินแม้กระทั่งลูกน้อยของแม่นกทั้งหลาย หากกาได้เป็นพญาแล้ว พวกเราคงมิต้องส่งไข่นกไปบำเรอให้กาหรือ ท่านทั้งหลายจงตรองดูให้ดี เราไม่พอใจที่จะตั้งกาให้เป็นพญาของพวกนก”
ส่วนกาก็พูดสวนขึ้นมาทันทีว่า “เราก็ไม่พอใจที่จะตั้งเจ้าให้เป็นพญาเช่นกัน”

จากนั้นกาได้บินขึ้นไปในอากาศ ส่วนนกเค้ามีความโกรธจัดเป็นกำลัง เพราะถูกคัดค้านทำให้เสียหน้า จึงบินไล่ล่าตามจิกตีกา และตั้งแต่นั้นมา ในหมู่กาและนกเค้าจึงเริ่มจองเวรกันเรื่อยมา แม้ในปัจจุบันถ้าเจอกันก็เป็นอันต้องจิกตีกันให้ตายไปข้างหนึ่ง และในระหว่างที่กากับนกเค้ากำลังวิวาทกัน หมู่นกทั้งหลายจึงได้แต่งตั้งหงส์ทองให้เป็นพญา เพราะธรรมดาหงส์ย่อมไม่เบียดเบียนเหล่าสกุณา ทั้งรูปร่างก็งดงามน่าทัศนา ฉะนั้น หงส์จึงได้เป็นพญาหงส์

จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า การสร้างวาทกรรมต่อกันมีผลทำให้ผูกเวรกันไปยาวนาน และต้องมาเบียดเบียนทำร้ายกัน ชนิดที่ว่าเอาตายกันไปข้างหนึ่งทีเดียว และยากที่จะหาวันยุติซึ่งทำให้เสียเวลาในการสร้างบารมี และทำให้ต้องไปสู่อบายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฉะนั้น ทางที่ดีควรจะให้อภัยกัน และหันมาประพฤติธรรม เพราะอันที่จริงเราทุกๆ คน ล้วนเคยเป็นญาติกันมาแล้วทั้งนั้น เราต่างเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ให้รักกันไว้ดีกว่าไปโกรธกัน ถ้าเรามีความรักและปรารถนาดีต่อกันใจจะสบาย ปฏิบัติธรรมย่อมจะได้เห็นธรรมะโดยเร็วไวกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*(มก.อุลูกชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๑๕๖)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘