มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู - คุณสมบัติของคนดี



มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู
คุณสมบัติของคนดี

เพราะเหตุดังนี้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้กตัญญู เราจักเป็นผู้กตเวที อุปการะแม้น้อยที่บุคคลกระทำแล้วในพวกเรา จักไม่เสื่อมหายไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ เป็นชีวิตที่เสี่ยงต่อภัยรอบด้าน หากผู้ใดรู้จักใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นสร้างบุญบารมี ก็จะมีบุญหนุนนำชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง บุญเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าอัญมณีใดๆ ในโลก บุญจะติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง และทุกภพทุกชาติ จะคอยส่งผลดีให้กับชีวิตของเราตลอดเวลา และกีดกันบาปอกุศลสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้ห่างไกลตัวเรา ยิ่งเรามีความบริสุทธิ์มาก บุญก็จะยิ่งมาก และให้ผลได้เต็มที่ โดยไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรคขวางกั้น ดังนั้นเราควร ใช้วันเวลาที่ผ่านไป ด้วยการสั่งสมบุญ ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ได้ตลอดทั้งวัน บุญจะได้ตามหล่อเลี้ยงให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตยิ่งๆขึ้นไป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยสิคาลกสูตร ว่า

ตสฺมาติห ภิกฺขเว เอวํ สิกฺขิตพฺพํ กตญฺญุโน ภวิสฺสาม กตเวทิโน น จ โน อมฺเหสุ อปฺปกมฺปิ กตํ วินสฺสิสฺสติ เอวํ หิ โว ภิกฺขเว สิกฺขิตพฺพํ

เพราะเหตุดังนี้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้กตัญญู เราจักเป็นผู้กตเวที อุปการะแม้น้อยที่บุคคลกระทำแล้วในพวกเรา จักไม่เสื่อมหายไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แลŽ

ความกตัญญู คือความรู้จักอุปการคุณที่คนอื่นทำไว้กับตน แล้วก็ตามระลึกถึงไม่เคยลืมเลือน ผู้ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนที่สูงกว่าเรา เสมอเรา หรือต่ำกว่าเรา ที่ทำคุณแก่เราแล้ว จะมากหรือน้อยก็ตาม เราต้องตามระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งใจอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณท่านเหล่านั้น เช่น ท่านผู้ที่เลี้ยงดูสั่งสอนเรามา ให้ที่พัก ให้ที่ทำงาน ช่วยเหลือเมื่อยามขัดสนในชีวิตยามมีภัย เราต้องตามระลึกถึงพระคุณท่านอยู่เสมอ
กตเวที คือ นอกจากจะระลึกนึกถึงคุณท่านแล้ว ต้องตอบแทนคุณของท่านเหล่านั้นด้วย ตอบแทนให้ยิ่งกว่าที่ท่านมีอุปการคุณต่อเรา แล้วประกาศคุณความดีของท่านให้ยิ่งใหญ่ สมกับที่ท่านได้ทำประโยชน์ให้กับเรา โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา คุณครู อุปัชฌาย์อาจารย์ของเรา จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านอยู่เสมอ แล้วต้องตอบแทนพระคุณของท่านให้ได้ในทุกโอกาส และประกาศคุณความดีของท่านให้เต็มที่ การกระทำเช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีอย่างแท้จริง

*เหมือนอย่างพระสารีบุตรเถระผู้เป็นยอดของภิกษุในด้านความกตัญญู ที่ ได้ชื่อว่าเป็นยอดกตัญญูนั้น ก็เพราะว่าแม้ราธพราหมณ์จะเคยถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวเท่านั้น ท่านยังอุตส่าห์จดจำบุญคุณของพราหมณ์ได้ แล้วตอบแทนคุณโดยบวช ให้ราธพราหมณ์ รับไว้เป็นสัทธิวิหาริก คอยแนะนำพร่ำสอน อบรมธรรมะให้โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะตามปกติ พระที่บวชในวัยชราย่อมลำบาก และเนื่องจากผ่านโลกมามากทิฏฐิมานะก็มาก จะว่ากล่าวตักเตือนยาก จึงไม่มีพระรูปไหนอนุญาตให้ท่านบวช แต่พระราธะอาศัยว่าได้ครูดี ก็น้อมรับคำสอน ของครูบาอาจารย์ ในที่สุดท่านสามารถฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ จนได้เป็นพระแท้ที่สมบูรณ์ คือเข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ ผู้ถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต นั่นเป็นเพราะอาศัยความกตัญญูกตเวทีของพระเถระนั่นเอง

นอกจากนี้ พระสารีบุตรท่านยังมีความเคารพในพระอาจารย์องค์แรก ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของท่าน ในสมัย ที่เป็นอุปติสสปริพาชกให้เข้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ พระอาจารย์รูปนี้ก็คือ พระอัสสชิเถระ ในสมัยแรกๆ ที่ท่านออกแสวงหาโมกขธรรมพร้อมกับเพื่อนรัก คือโกลิตมาณพ ได้ออกบวชเป็นปริพาชก เดินทางทั่วชมพูทวีป ก็ยังหาครูที่จะมาชี้เส้นทางที่จะทำให้ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไม่ได้ แม้ท่านสามารถตอบปัญหาของเจ้าลัทธิทั้งหลายได้หมดเพราะมีปัญญามาก แต่ยังไม่พบหนทางสว่างของชีวิต เมื่อมาพบพระอัสสชิเถระซึ่งท่านกำลังบิณฑบาต อุปติสสปริพาชกได้สังเกตเห็นกิริยาอาการที่สงบเสงี่ยม สง่างาม น่าเลื่อมใสของพระเถระ จึงคิดว่า พระรูปนี้จะต้องมีคุณธรรมภายในที่ลึกซึ้งอย่างแน่นอน จึงเฝ้าติดตาม เพื่อรอคอยจังหวะที่จะเข้าไปสอบถามธรรมะกับท่าน

เมื่อพระอัสสชิเริ่มจะฉันภัตตาหารที่ใต้ร่มไม้ อุปติสสะก็ปูลาดอาสนะถวาย แล้วยังถวายน้ำดื่มให้ด้วย มิได้มีความหยิ่งทะนงในความเป็นผู้ฉลาดทรงภูมิปัญญาของตนเลย เพราะท่านอยากได้ความรู้ และรู้ว่าตนเองยังไม่หมดกิเลส จึงยอมนอบน้อม ต่อผู้ที่ตนคิดว่าเป็นบุคคลผู้มีธรรมะสูงส่ง เมื่อพระเถระฉันเสร็จ จึงเริ่มถามพระเถระว่า อินทรีย์ของพระคุณเจ้าผ่องใสยิ่งนัก ท่านชอบใจธรรมของใคร ใครเป็นครูของท่าน
Ž
พระอัสสชิเถระเห็นว่า ปริพาชกส่วนใหญ่จะเป็นปฏิปักษ์กับพระพุทธศาสนา แต่ปริพาชกผู้นี้ไม่ธรรมดา ต้องเป็นผู้มีบุญถึงมีความเลื่อมใส แล้วพระอัสสชิก็บอกว่า ท่านเป็นผู้บวชใหม่ เพิ่งเข้ามาในธรรมะวินัยนี้ไม่นานŽ จึงกล่าวธรรมะโดยความถ่อมตน เพียงย่อๆ ว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้Ž

เพียงคำพูดไม่กี่ประโยค อุปติสสมาณพก็สามารถแทงตลอดในธรรมได้ทันที เพราะท่านเป็นผู้มีปัญญามาก อริยสัจสี่จึงกระจ่างแจ้งขึ้นมาในดวงจิต พิจารณาเห็นว่า สรรพสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนมีความทุกข์เป็นพื้นฐาน ที่มีทุกข์ก็เพราะตัณหา คือความทะยานอยาก ทั้งกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จะหมดทุกข์ได้ต้องทำนิโรธ คือทำใจให้หยุดนิ่ง พอหยุดใจได้จึงจะดับทุกข์ได้ และหนทางสู่ความดับทุกข์ก็ต้องดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปด ท่านแทงตลอดในธรรมเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข‰าถึงพระธรรมกาย

ในที่สุด ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วได้นำถ้อยคำ อันเป็นสิริมงคลนี้ ไปบอกให้โกลิตะผู้สหายได้ฟัง พอทˆานกล่าวประโยคเดียวกับที่พระอัสสชิกล่าวจบ โกลิตะมีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันตามไปด้วย จึงชักชวนกันไปบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ชื่อใหม่ว่า พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ท่านทั้งสองได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แม้จะได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติเชˆนนั้น พระสารีบุตร ก็ไม่เคยลืมบุญคุณของพระอัสสชิซึ่งเป็นครูบาอาจารย์องค์แรก เวลาก่อนจำวัด ไม่ว่าจะเดินทางไปพักอยู่ที่ใดก็ตาม ท่านจะตามระลึกถึงพระอัสสชิเถระผู้เป็นอาจารย์เสียก่อน เมื่อทราบว่าพระอาจารย์พำนักอยู่ทางทิศใด จะจำวัดหันศีรษะไปทางทิศนั้น เป็นการแสดงความเคารพต่ออาจารย์ การกระทำของท่านจึงเป็นที่เลื่องลือของบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ว่ามีความกตัญญูเป็นเลิศ นับเป็นพระเถระผู้เป็นต้นบุญต้นแบบ สมกับเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่เป็นตัวอย่างของความกตัญญูต่อบุคคลผู้มีพระคุณ ใครก็ตามที่เคยทำอุปการคุณต่อเรา ต้องหาโอกาสตอบแทน และมีความเคารพเลื่อมใสด้วยความจริงใจต่อบุคคลนั้น โดยเฉพาะผู้ที่แนะนำหนทางสว่างให้กับเรา ให้เราได้รู้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนได้ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง เราต้องบูชานอบน้อมบุคคลนั้นด้วยความเคารพ พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า บุคคลรู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วจากบุคคลใด พึงนอบน้อมบุคคลนั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นอบน้อมบูชาไฟŽ คือท่านให้มีความเคารพในบุคคลนั้น บูชาสรรเสริญเทิดทูนตลอดเวลา ชีวิตเราจะได้เจริญก้าวหน้า

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักถนอมน้ำใจผู้มีพระคุณ ตอบแทนช่วยเหลือการงานของท่าน ให้ท่านได้เบาใจ อย่าเอาเรื่องร้อนใจมาให้ท่าน จะเป็นการรบกวนท่าน ความกตัญญู เป็นคุณเครื่องนำความเจริญ เป็นธรรมของสัตบุรุษ ผู้รู้ทั้งหลาย สรรเสริญผู้มีความกตัญญูกตเวที

ดังนั้น เราทุกคนต้องตระหนักถึงความกตัญญูกตเวทีไว้ให้มาก อย่าดูเบาอย่ามองข้าม แต่ให้มีคุณธรรมข้อนี้เต็มเปี่ยมอยู่ในใจ แล้วเราจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ชีวิตจะไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ แล้วอย่าลืมปฏิบัติธรรมน‰อมบูชาผู้มีพระคุณ ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนา เอาบุญที่เกิดจากการทำภาวนาบูชาธรรมท่าน เพราะการปฏิบัติบูชา เป็นภูมิธรรมอันยิ่งของนักปฏิบัติธรรมผู้มีธรรมะสวˆางไสวอยู่ภายในใจ
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ขุททกนิกาย ธรรมบท เล่ม ๔๐ หน้า ๑๒๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘