มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - กาลเวลากับการเปลี่ยนแแปลง



มงคลที่ ๒๑
ไม่ประมาทในธรรม
กาลเวลากับการเปลี่ยนแแปลง

กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป
ชั้นแห่งวัยย่อมละไปตามลำดับ
บุคคลเมื่อเห็นมรณภัยแล้ว
พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสู่สันติเถิด


วันคืนล่วงไปๆ สรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า รถราบ้านช่อง คน สัตว์ สิ่งของ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เหมือนต้นไม้ซึ่งแต่เดิมเราเคยเห็นมันเป็นต้นเล็กๆ ไม่นานก็เจริญเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขา แตกใบ ผลิดอก ออกผล ให้ความสดชื่นแก่ทุกชีวิต ครั้นไม่นานดอกไม้ที่ดูสวยสดงดงามนั้น ก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามกาลเวลา

ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม แล้วนำไปสู่ความตาย เราจึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ควรมองให้เห็นโทษของความเสื่อม จะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในโลกทั้งปวง เราเกิดมาในโลกนี้ เพียงแค่อาศัยสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกไว้ใช้สร้างบารมี อย่าไปคิดเป็นจริงเป็นจังอะไร เมื่อปล่อยวางจากสิ่งที่ไม่เป็นจริงแล้ว ใจจะได้มุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นจริงของชีวิต ที่เรียกว่า อริยสัจ มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ชีวิตจะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน อัจเจนติสูตร ว่า

อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข

กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละไปตามลำดับ บุคคลเมื่อเห็นมรณภัยแล้ว พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสู่สันติเถิด
Ž
ท่านตรัสไว้ชัดเจนอย่างนี้ เพราะว่าวันคืนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตของเราร่วงโรยไปทุกขณะ ความแข็งแรงก็เสื่อมถอยไปตามลำดับ เริ่มแรกจากวัยทารกที่ไร้เดียงสา ก็มาสู่วัยเด็ก ที่มีแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แล้วย่างเข้าสู่วัยรุ่น วัยแห่งความเป็นหนุ่มเป็นสาว มีร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นวัยที่สนุกสนานร่าเริง จากนั้นชีวิตเข้าสู่วัยกลางคน เป็นวัยของการทำงาน ทุกคนต่างต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากมาย ต้องดูแลทั้งครอบครัว ธุรกิจการงาน ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างฐานะความมั่นคงในชีวิต

เมื่อผ่านชีวิตช่วงนี้มาแล้ว ก็ก้าวเข้าสู่วัยที่มากด้วยประสบการณ์ ร่างกายเริ่มแก่ชรา เรี่ยวแรงค่อยๆ ถดถอยลงไป สังขารมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม ในที่สุดก็เสื่อมสลายนำไปสู่ความตาย ชั้นแห่งวัยของมนุษย์ได้ละลำดับไปอย่างนี้ ท่านทรงสอนต่อไปอีกว่า ผู้ไม่ประมาทในชีวิตควรมองให้เห็น มรณภัยŽ คือ ความตายที่เข้ามาเยือนอยู่ทุกวินาทีว่า เป็นภัยใหญ่หลวงจะหลีกหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีบารมีเต็มเปี่ยมยังต้องดับขันธปรินิพพาน ฉะนั้น พวกเราคนธรรมดาก็ต้องพบกับสัจธรรมนี้เช่นกัน จึงควรละอามิส คือ เหยื่อล่อที่ทำให้ติดอยู่ในโลก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ทำให้เราเพลินอยู่ในโลก หาทางรอดพ้นจากมรณภัยไม่ได้ ทำให้เราประมาทหลงทางพระนิพพาน ดังนั้น ท่านจึงสอนให้ละอามิสในโลก และมุ่งสู่สันติ คือ ทำใจให้หยุดนิ่ง มุ่งเข้าไปสู่สันติสุขภายใน จนกระทั่งเข้าถึงบรมสุข ความสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน ที่มีแต่สุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน ไม่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นชีวิตอันอมตะ

เวลาในโลกมนุษย์นี้มีจำกัด เราควรจะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเราเอง และแก่เพื่อนร่วมโลกให้มากที่สุด เพื่อยังสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ เราจะต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่าต่อกาลเวลาที่สูญเสียไป จะต้องใช้เวลาทุกอนุวินาทีสร้างบารมีให้เต็มที่ ให้วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไปพร้อมบุญกุศลที่เพิ่มขึ้น เวลาในโลกมนุษย์สั้นนิดเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาในสัมปรายภพแล้ว ต่างกันมาก เพราะชีวิตหลังความตายนั้นยาวนานจริงๆ เป็นแสนเป็นล้าน เป็นหลายๆ ล้านปี มีเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลว่า

*มีเทพธิดาท่านหนึ่ง อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กับเหล่าเทพธิดาอีก ๕๐๐ นางกำลังเก็บดอกไม้ เพื่อจะนำมาประดับให้มาลาภารีเทพบุตร ในสวนนันทวัน ซึ่งเป็นทิพยอุทยานที่สวยงามมากของชาวสวรรค์ ในขณะที่นางกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการเที่ยวเด็ดดอกไม้ทิพย์ ทันใดนั้นเองก็ได้จุติจากสรวงสวรรค์ ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ครั้นเกิดมาอายุได้ไม่กี่ขวบ นางก็สามารถระลึกชาติได้ เพราะสั่งสมบุญเก่ามาดี เห็นว่าชาติก่อนตนเองเคยเป็นเทพธิดาอยู่บนสวรรค์ เป็นบริวารของมาลาภารีเทพบุตร จึงอยากจะกลับไปเกิดบนสวรรค์อีก เพราะรู้ว่า บนสวรรค์มีความสุขที่ประณีตกว่าโลกมนุษย์มากมายนัก

เมื่อเติบโตขึ้นนางหมั่นทำบุญกุศลไม่ได้ขาด ได้ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นประจำ เมื่อถึงวันพระ ก็รักษาอุโบสถศีล เข้าวัดฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ขาด ครั้นอายุได้ ๑๖ ปีก็แต่งงาน มีครอบครัวตามประสาชาวโลกทั่วไป แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่านางจะทำบุญอะไรก็ตาม จะอธิษฐานจิตขอให้ได้ไปเกิดอยู่ร่วมกับสามีเทพบุตรที่อยู่บนสวรรค์

บางคนได้ยินนางอธิษฐานเช่นนั้น ก็ไม่เข้าใจ หาว่านางเสียสติเพ้อเจ้อบ้าง เพราะไม่รู้ว่าจะอธิษฐานอย่างนั้นไปทำไม ในเมื่อสามีคนปัจจุบันก็ยังมีชีวิตอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกนางว่า ปติปูชิกาŽ หมายถึง หญิงผู้บูชาสามี นางก็ไม่ได้ใส่ใจแต่อย่างใด ตั้งใจทำความดีเรื่อยไป ด้วยหวังว่า สักวันหนึ่งจะได้ไปเกิดอยู่ร่วมกับสามีเดิมบนสวรรค์ ก็นางใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุขตามประสาชาวโลกเรื่อยมา จนกระทั่งมีบุตรถึง ๔ คนด้วยกัน และได้แนะนำเส้นทางไปสู่สวรรค์ให้ลูกๆ ด้วยการสอนให้หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา

วันหนึ่ง นางล้มป่วยกะทันหัน ถึงแก่ความตาย และก็ได้กลับไปบังเกิดเป็นเทพธิดาอยู่กับมาลาภารีเทพบุตรเหมือนเดิม ซึ่งขณะนั้นเทพธิดาทั้งหลายกำลังประดับประดาดอกไม้ให้เทพบุตรอยู่ในสวน นันทวัน ทันทีที่เทพบุตรเห็นนาง ถามว่า เธอหายหน้าไปไหนมาŽ เทพธิดาตอบว่าหม่อมฉันได้จุติจากสวรรค์ไปบังเกิดบนมนุษยโลกŽ เทพบุตรไต่ถามต่อไปว่า เธอลงไปเกิดในโลกมนุษย์แล้ว ไปทำอะไรมาบ้าง มนุษย์ในโลกเขาทำอะไรกันŽ

นางได้เล่าเรื่องทั้งหมดที่ไปประสบมา และบอกว่า มนุษย์ส่วนใหญ่มีความประมาทกันมาก คิดว่าอายุ ๑๐๐ ปีนั้น ยาวนานเป็นอสงไขย เหมือนกับว่าจะไม่แก่ไม่ตายกัน แต่ หม่อมฉันไม่ประมาท จึงตั้งใจทำความดีอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้กลับมาอยู่บนสวรรค์ร่วมกับท่านอีกŽ

จะเห็นว่า เวลา ๑๐๐ ปีในโลกมนุษย์ เท่ากับชั่วครู่เดียวในสวรรค์เท่านั้นเอง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำความดี ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทในวัยและชีวิต จำเป็นที่จะต้องหมั่นประกอบความดี สร้างบารมีโดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง และเงื่อนไข เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด รีบสั่งสมบุญติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เพราะบุญเป็นเพื่อนแท้ในการเดินทางไกลในสัมปรายภพ และเป็นที่พึ่งในระหว่างที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า บุญเป็นสิ่งเดียวที่เราจะนำเอาติดตัวไปได้ เหมือนเงาที่จะคอยติดตามเจ้าของไปทุกหนทุกแห่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า ผู้ประมาทก็เหมือนคนตายแล้ว เพราะความประมาทเป็นภัยในวัฏสงสาร ที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลงวนอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์ หาทางหลุดพ้นไม่ได้ เมื่อละความประมาทได้ ก็จะหลุดพ้นจากห้วงทะเลแห่งความทุกข์ มีปัญญาขึ้นสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน เสวยบรมสุขอันแท้จริง

เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นยอดของความดี ถ้าจะให้ไม่ประมาท จะต้องนำใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ให้พลั้งเผลอ มีสติตลอดเวลา ไม่ให้ใจเคลื่อนจากศูนย์กลางกาย ทำอย่างนี้ได้ชื่อว่า ไม่ประมาท เพราะใจหยุด คือ สุดยอดของความไม่ประมาท ต้องหยุดให้ได้ตลอดเวลา หยุดนิ่งอย่างสบายๆ อย่าให้เผลอ เมื่อหยุดถูกส่วนเข้า เดี๋ยวเราจะเข้าถึงปฐมมรรคอย่างง่ายๆ จะเห็นดวงใสกลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ใสบริสุทธิ์อยู่ภายใน

เมื่อเข้าถึงปฐมมรรคแล้ว ให้นำใจหยุดนิ่งไปในกลางดวงนั้น จะเข้าถึงกายที่ละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ละเอียดหนักขึ้นไปอีก ใจบริสุทธิ์มากขึ้น ก็จะเข้าถึงกายธรรมที่เรียกว่า ธรรมกาย ธรรมกายมีลักษณะ สวยงามมาก ใสบริสุทธิ์ เป็นแก้ว ใสยิ่งกว่าเพชร ใสเกินใส หยุดใจได้สนิทมาก องค์พระก็ใหญ่โตขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่เล็กกว่าตัวเรา โตเท่ากับตัวเรา กระทั่งใหญ่กว่าตัวเรา องค์พระจะผุดขึ้นมาเรื่อยๆ นี่คือ พุทธรัตนะ

รัตนะ แปลว่า แก้ว พุทธรัตนะ คือ พระแก้ว เกิดขึ้นในกลางกาย ใสบริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูม งามไม่มีที่ติ ในกลางองค์พระ เราจะเห็นดวงกลมๆ ใสๆ อยู่ในกลางกายท่าน ดวงใสนี่เรียกว่า ดวงธรรมรัตนะ ใสสว่างอยู่ในกลางกายท่าน ดวงธรรมรัตนะ คือ ที่รวมของความรู้แจ้งทั้งหลาย เมื่อเรานำใจหยุดในกลางดวงนี้ ก็จะมีพระธรรมกายละเอียดผุดเกิดขึ้นมาอีก เรียกว่า สังฆรัตนะ อยู่ตรงกลางของดวงธรรมรัตนะ ทำหน้าที่รักษาธรรมรัตนะไว้ ธรรมรัตนะก็รักษาพุทธรัตนะไว้ รักษาซึ่งกันและกันไว้ หากเข้าถึงได้อย่างนี้ ชีวิตของเราจึงนับว่า เป็นชีวิตที่ไม่ประมาท มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ท่านทั้งหลายถือว่าเป็นผู้มีบุญมาก ที่ได้มาพบหนทางอันประเสริฐ จะได้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยการฝึกฝนใจของเราให้หยุดนิ่ง เพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งภายใน ใครทำใจหยุดนิ่งได้ ถือว่าเป็นผู้มีบุญมากจริงๆ เหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ เราจะต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ ศึกษา ฝึกฝนอบรมใจของเรา ให้ใจหยุด ให้ใจนิ่งให้ได้นานๆ ฝึกกัน ทั้งวัน ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่งนอนยืนเดิน หมั่นทำใจหยุดนิ่งตลอดเวลา เพื่อให้เข้าถึงกายธรรมให้ได้ นี่เป็นหน้าที่ของพวกเรา ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ให้ขยันนั่งธรรมะกันทุกคน สักวันหนึ่งเราจะสมปรารถนา มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่งอย่างแน่นอน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. นางปติปูชิกา เล่ˆม ๔๑ หน้‰า ๔๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘