มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เศรษฐีผู้มีใจตระหนี่


มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
เศรษฐีผู้มีใจตระหนี่

เพราะความตระหนี่กับความประมาท
คนเราจึงให้ทานใครไม่ได้
ดังนั้น ผู้มีปัญญาเมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานเถิด

เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไปอยู่ ๒ ประการ คือ การศึกษาวิชาความรู้ในทางโลก และการศึกษาวิชชาในทางธรรม การศึกษาความรู้ทางโลก มีเป้าหมาย เพื่อให้เรารู้จักวิธีการแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตน ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการศึกษาความรู้ในทางธรรม มีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้ที่สมบูรณ์ เป็นความรู้เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงและให้เข้าถึงความสุขอันแท้จริง ที่มีอยู่ภายในตน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พิลารโกสิยชาดก ว่า

"มจฺเฉรา จ ปมาทา จ เอวํ ทานํ น ทิยฺยติ
ปุญฺญํ อากงฺขมาเนน เทยฺยํ โหติ วิชานตา

"เพราะความตระหนี่กับความประมาท คนเราจึงให้ทานใครไม่ได้
ดังนั้น ผู้มีปัญญาเมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานเถิด"

คนหวงแหนทรัพย์ ไม่อาจจะให้ทานได้ เพราะมีความตระหนี่อยู่ในใจ คิดว่าทรัพย์นั้นหามาได้โดยยาก จึงอยากจะเก็บเอาไว้และลุ่มหลงมัวเมาประมาทในชีวิต ส่วนผู้รู้ เห็นว่าบุญเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง และก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงสละทรัพย์ออกให้ทาน สละความตระหนี่ ไม่ประมาทในชีวิต เร่งสร้างบุญสร้างบารมีติดตัวไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าชีวิตจะหา ไม่

*ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลเศรษฐีมีโภคทรัพย์สมบัติมาก วันหนึ่งท่านมาพิจารณาว่า แม้ จะมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล แต่เมื่อถึงคราวละโลกก็ไม่อาจนำทรัพย์ติดตัวไปได้ วิธีที่จะนำทรัพย์ติดตัวไปได้นั้นมีอยู่ทางเดียว คือการสละทรัพย์ออกให้ทาน ดังนั้นท่านจึงสร้างโรงทาน บำเพ็ญมหาทานบารมีทุกวันจนตลอดชีวิต ทั้งยังสั่งสอนลูกหลาน ว่า ให้รักษาประเพณีการให้ทานของตระกูลไว้ด้วย หลังจากที่ท่านหมดอายุขัยแล้ว ได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์นั่นเอง

ต่อมา ผู้สืบสกุลในรุ่นหลังๆ เป็นผู้ไม่มีศรัทธามีความเห็นผิด ไม่ยินดีในการให้ทาน เพราะถูกความตระหนี่ครอบงำจิตใจ จึงสั่งให้เผาโรงทาน และให้โบยตีขับไล่พวกยาจกออกไป พระอินทร์ทรงตรวจดูตระกูลของพระองค์ในมนุษยโลก เห็นคนรุ่นหลังคือ พิลารโกสิยเศรษฐีกำลังทำลายการให้ทานของตระกูลจึงปรารถนาจะอนุเคราะห์

ในขณะนั้นท่านเศรษฐีเดินทางกลับจากการไปเข้าเฝ้าพระราชา พระอินทร์จึงรับสั่งให้เทพบุตร ๔ องค์ แปลงเป็นพราหมณ์แม้พระองค์ก็แปลงเป็นพราหมณ์เข้าไปหาเศรษฐีเพื่อขอรับ ภัตตาหาร เศรษฐีบอกว่า ที่นี่ไม่มีภัตตาหารให้ไปหาที่อื่น พระอินทร์จึงตรัสให้ได้คิดว่า
"เมื่อพราหมณ์ขอภัตตาหาร ท่านควรให้ แม้สัตบุรุษทั้งหลายผู้ไม่หุงกินเอง เมื่อได้โภชนะมาแล้วยังแบ่งปันแก่ผู้อื่น ท่านหุงโภชนะเอง ดังนั้น การที่ท่านไม่ให้ย่อมไม่สมควร ธรรมดาบุคคลให้ทานไม่ได้ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ยังมีความตระหนี่อยู่และมีความประมาทในชีวิต บัณฑิตผู้รู้แจ้งเมื่อต้องการบุญจึงให้ทาน"
เศรษฐีได้ฟังถ้อยคำของพราหมณ์เกิดความพอใจ จึงบอกให้พราหมณ์เข้าไปนั่งคอยในบ้านและจะแบ่งข้าวให้หน่อยหนึ่ง ต่อมาเทพบุตรองค์หนึ่งซึ่งแปลงเป็นพราหมณ์ก็เข้าไปหาเศรษฐีและขอภัตตาหารจาก เศรษฐี เศรษฐีปฏิเสธ ท่านจึงกล่าวว่า
"คนตระหนี่กลัวความยากจนย่อมไม่ให้อะไรแก่ผู้ใด ความกลัวจนนั่นแหละ จะเป็นภัยแก่ผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ย่อมกลัวความอยากข้าวอยากน้ำ ความกลัวนั่นแหละจะกลับมาสู่คนพาลทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทินกำจัดความตระหนี่เสียแล้วให้ทานเถิด เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า"

เศรษฐีพอใจจึงให้เข้าไปนั่งรอในบ้าน จากนั้นเทพบุตรอีกองค์ก็มา เมื่อจะขอภัตตาหารจึงกล่าวว่า " การให้ทาน เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะต้องเอาชนะความตระหนี่ก่อนแล้วจึงจะให้ทานได้ อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ให้ทานตามที่สัตบุรุษทำแล้ว เพราะธรรมของสัตบุรุษอันผู้อื่นรู้ได้ยาก เพราะฉะนั้นการไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษ กับอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไป สู่นรก ส่วนสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์"

เศรษฐีจึงให้เข้าไปนั่งรอในบ้าน จากนั้นเทพบุตรอีกองค์ก็เข้าไปขอภัตตาหาร โดยกล่าวว่า
"บัณฑิตย่อมให้ไทยธรรม แม้จะมีเพียงเล็กน้อยก็ให้ได้
แต่บางคนแม้มีไทยธรรมมากก็ให้ไม่ได้
ทักษิณาทานที่บุคคลให้ด้วยใจผ่องใสแม้เพียงเล็กน้อยก็มีผลมาก"
ต่อมาเทพบุตรอีกองค์ก็เข้าไปหาเศรษฐีแล้วกล่าวว่า

"พราหมณ์ผู้แสวงหาอาหารด้วยความบริสุทธิ์ชื่อว่าได้ประพฤติธรรม บุคคลผู้เลี้ยงดูบุตรและภรรยา เมื่อมีไทยธรรมน้อยก็ควรเฉลี่ยแบ่งปันให้แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ผู้ประพฤติธรรม แม้บุคคลจะฆ่าสัตว์จำนวนนับพันเพื่อบูชายัญ แต่การกระทำนั้น ก็ไม่ถึงส่วนเสี้ยวแห่งผลของทาน ที่คนเข็ญใจผู้ยังไทยธรรมให้เกิดโดยชอบธรรมให้อยู่"

เศรษฐีฟังวาจาสุภาษิตของพราหมณ์ จึงให้เข้าไปนั่งรอในบ้าน และเรียกคนรับใช้ให้ไปนำข้าวลีบมาให้พราหมณ์คนละทะนานแต่พราหมณ์ไม่รับ เศรษฐีจึงให้ไปนำข้าวสารมาให้พราหมณ์ พราหมณ์ก็ไม่รับ เศรษฐีจึงให้ข้าวสุกสำหรับโคกินแก่พราหมณ์

พราหมณ์ทั้งห้าจึงปั้นข้าวเป็นคำๆ ใส่ปากแกล้งทำเป็นข้าวติดคอแล้วทำเป็นเหมือนคนชักตาย เศรษฐีเห็นดังนั้นกลัวคนทั้งหลายจะติเตียน จึงให้คนรับใช้ไปเอาข้าวสาลีอย่างดีมีรสเลิศมาใส่แทนข้าวสำหรับโค ตนเองออกไปเรียกชาวบ้านในละแวกนั้นมาดู กล่าวโกหกว่า "พราหมณ์เหล่านี้ไม่พิจารณาในการบริโภคข้าวจึงติดคอตาย"
ทันใดนั้น พราหมณ์ทั้งหมดก็ลุกขึ้น กล่าวกับมหาชนว่า "ท่านทั้งหลาย เศรษฐีนี้พูดโกหก ความจริงเขาได้ให้ข้าวสำหรับโคแก่พวกเรา" พราหมณ์คายข้าวในปากออกมา มหาชนเห็นเช่นนั้น จึงพากันตำหนิติเตียนท่านเศรษฐี

พราหมณ์พระอินทร์จึงถามมหาชนว่า "พวกท่านเคยได้ยินไหมว่า ในอดีตที่เมืองนี้เคยมีมหาเศรษฐีสร้างโรงทานแล้วบำเพ็ญทานบารมีไปจนตลอดชีวิต"
มหาชนต่างให้การรับรองว่าเคยมีจริง จากนั้นพระอินทร์และเหล่าเทพบุตรก็เหาะไปในอากาศเปล่งรัศมีกายงดงามทำให้ ทั่วทั้งเมืองสว่างไสว พลางให้โอวาทแก่เศรษฐีและมหาชนว่า
"คนตระหนี่ไปสู่เทวโลกไม่ได้ เขาย่อมไปสู่นรกอย่างไม่ต้องสงสัย"

เศรษฐีเกิดความละอายใจ สำนึกในสิ่งที่ตนได้กระทำผิดพลาด จึงให้สัญญากับพระอินทร์ว่า "แต่นี้ต่อไปจะตั้งใจบำเพ็ญมหาทานบารมีอย่างสุดกำลังความสามารถ ถ้าหากวันไหนยังไม่ได้ให้ทาน ก็จะไม่บริโภค" ตั้งแต่นั้นท่านเศรษฐีก็รักษามโนปณิธาน อันแน่วแน่นี้ไปจนตลอดชีวิต เมื่อละจากโลก ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก

เพราะฉะนั้น ความตระหนี่จึงเป็นภัยในสังสารวัฏ เป็นอุปสรรคขัดขวางหนทางไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน เมื่อใดที่ความตระหนี่เข้ามาครอบงำจิตใจ จะทำให้ใจมืดบอด ใจเสื่อมคุณภาพ จิตใจจะคับแคบสละไม่ออก ทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวที่น่ากลัว แม้จะเคยเป็นบัณฑิตมาก่อนก็กลายเป็นคนพาลได้ หรือแม้จะเคยเป็นคนฉลาดก็อาจกลายเป็นคนโง่เขลาได้

ถ้าสังคมของเรามีแต่คนตระหนี่ ไม่ ช่วยเหลือแบ่งปันกัน โลกก็จะสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าหากทุกคนรู้จักเสียสละแบ่งปัน ให้อภัยและมีน้ำใจต่อกัน โลกก็จะได้รับความสงบสุข เพราะฉะนั้น อย่าตระหนี่และอย่าประมาทในชีวิต เวลาในโลกมนุษย์นี้ ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ให้รีบสั่งสมบุญบารมี อะไรที่เป็นบุญกุศลก็ให้ทุ่มเททำกันให้เต็มที่ อย่าให้อะไรมาเป็นอุปสรรคในการสร้างบารมีของเรา ให้เข้มแข็งในการสร้างบารมีกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. พิลารโกสิยชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๙๑๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘