มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต - มีไมตรีจิตต่อกัน

มงคลที่ ๒

คบบัณฑิต - มีไมตรีจิตต่อกัน
ชนเหล่าใดเป็นมิตรของพวกเพื่อน ในคราวร่วมสุขร่วมทุกข์จนตลอดชีวิต ชนเหล่านั้นเป็นสัตบุรุษ เมื่อระลึกถึงธรรม ของสัตบุรุษอยู่ ย่อมไม่ละทิ้งเพื่อนผู้สิ้นทรัพย์หรือยังไม่สิ้นทรัพย์ไปได้

การเกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติของมนุษย์ทุกๆ คนมีจุดประสงค์อันสูงสุด คือแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง ที่พึ่งที่แท้จริงนั้นต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสุขได้ด้วยตัวเองและเป็นตัวตนที่แท้จริง ซึ่งสิ่งที่เราปรารถนานี้ ประชุมรวมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด

ธรรมกาย คือ แก่นแท้ของชีวิต ที่มีอยู่ในตัวของทุกๆ คน ท่านสิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นชีวิตในระดับลึกที่ทุกคนมีสิทธิ์จะเข้าถึงได้ หากเราหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย หยุดได้เมื่อไรก็เข้าถึงได้เมื่อนั้น เป็นอกาลิโก ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

มีวาระพระบาลีใน มหาสุวราชชาดก ความว่า

"เย เว สขีนํ สขาโร ภวนฺติ ปาณาจฺจเย สุขทุกฺเขสุ หํส
ขีณํ อขีณนฺติ น ตํ ชหนฺติ สนฺโต สตํ ธมฺมมนุสฺสรนฺตา

ชนเหล่าใดเป็นมิตรของพวกเพื่อน ในคราวร่วมสุขร่วมทุกข์จนตลอดชีวิต ชนเหล่านั้นเป็นสัตบุรุษ เมื่อระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษอยู่ ย่อมไม่ละทิ้งเพื่อนผู้สิ้นทรัพย์หรือยังไม่สิ้นทรัพย์ไปได้"
ในโลกยุคปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะได้พบกับบัณฑิตที่แท้จริง หรือกัลยาณมิตรผู้ที่เป็นเพื่อนแท้ ลักษณะของมิตรแท้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้มี ๔ ประการ คือ เป็นมิตรมีอุปการะซึ่งกันและกัน คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดเวลา มิตรแนะนำประโยชน์ ที่คอยแนะประโยชน์ให้ดำรงอยู่ในหนทางสวรรค์และนิพพาน มิตรมีน้ำใจ มีความรักใคร่อันเกิดจากน้ำใสใจจริง ไม่มีความคิดอิจฉาริษยายามเพื่อนได้ดี และมิตรที่จะกล่าวถึงนี้ คือ มิตรที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ ยามเพื่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติในชีวิตก็ไม่ยอมละทิ้ง แม้ชีวิตของตนก็สละแทนเพื่อนได้ เพื่อนที่กล่าวถึงนี้เป็นเพื่อนแท้ และมีคุณธรรมของสัตบุรุษอย่างแท้จริง

*เหมือนครั้งหนึ่งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ทรงปรารภถึงพระภิกษุรูปหนึ่ง ก่อนบวชท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา และเกิดเห็นภัยในวัฏสงสารว่า ชีวิตในสังสารวัฏนั้นมีแต่ความทุกข์ ควรที่จะออกบำเพ็ญเพียร แสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย ท่านจึงตั้งใจออกบวชในบวรพระพุทธศาสนา หลังจากที่ได้เรียนวิธีการปฏิบัติธรรมและรับโอวาทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว ท่านก็ได้ไปจำพรรษาในป่าใกล้ๆ หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล

เมื่อชาวบ้านเห็นภิกษุนั้นมา ต่างดีอกดีใจที่มีเนื้อนาบุญมาโปรดถึงที่ ต่างพากันสร้างกุฏิที่พัก ทั้งกลางวันและกลางคืนถวายท่าน และได้อุปัฏฐากบำรุงด้วยความเคารพ เมื่อจำพรรษาได้ประมาณเดือนหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดคิด คือ เพลิงได้ไหม้หมู่บ้านนั้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เพลิงได้ลุกลามไหม้ไปทั่วอาณาบริเวณ แม้กระทั่งพืชพันธุ์ธัญญาหารก็ถูกไหม้ไม่มีเหลือเลย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ชาวบ้านจึงไม่สามารถที่จะถวายอาหารที่ประณีตแด่พระคุณเจ้า ได้แต่ถวายตามมีตามเกิด แม้พระภิกษุรูปนั้นจะมีที่หลับที่นอน และที่ปฏิบัติธรรมอันสะดวกสบาย แต่ก็ลำบากในเรื่องการขบฉัน

เมื่ออาหารไม่สมบูรณ์ ทำให้ภายในใจของท่านเกิดความกระวนกระวาย ปรารถนาให้เวลาผ่านไปโดยเร็ว เพื่อที่ออกพรรษาแล้ว จะได้กลับไปอยู่ที่วัดพระเชตวัน จิตใจที่เคยมุ่งจะปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจึงย่อหย่อนไป ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ จนเวลา ๓ เดือนผ่านไป หลังออกพรรษา ท่านได้ร่ำลาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เดินทางมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่วัดพระเชตวัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอพอทนได้ไหม ทั้งในเรื่องที่พักและอาหารการขบฉัน"

พระภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสนาสนะที่ข้าพระองค์อยู่พักอาศัยนั้น เป็นสัปปายะเหลือเกิน เพียงแต่ว่า เรื่องอาหารเท่านั้นที่ไม่สัปปายะ เพราะหลังจากที่ ข้าพระองค์จำพรรษาได้ประมาณเดือนเศษ เกิดอัคคีภัยครั้ง ใหญ่ ขึ้น ทำให้ลำบากเรื่องอาหารการกิน ข้าพระองค์กังวลเรื่องอาหาร ปรารถนาจะออกจากหมู่บ้านนั้น ทำให้ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้ดีดังเดิม"
พระบรมศาสดาสดับดังนั้นจึงตรัสว่า " ดูก่อนภิกษุ การที่เธอเจอความลำบากเรื่องอาหาร แล้วปรารถนาที่จะละทิ้งชาวบ้านผู้บำรุงอยู่นั้น และยังไม่ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกับเธอเลย"

ทรงตรัสสอนต่อไปว่า "ธรรมดาสมณะ เมื่อมีเสนาสนะที่สบายแล้ว ก็ควรที่จะละความโลภเรื่องอาหาร ยินดีตามที่ได้ มุ่งบำเพ็ญสมณธรรม แม้บัณฑิตในกาลก่อนเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เคี้ยวผงแห้งในต้นไม้ที่ตนอาศัย มีความสันโดษ ไม่ยอมที่จะทำลายมิตตธรรมไปในที่อื่น เหตุไรเธอจึงมาคิดว่า บิณฑบาตได้อาหารไม่ประณีต แล้วละทิ้งมิตรแท้เสียเล่า" จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็น พญานกแขกเต้า ในป่าหิมพานต์ ได้อาศัยอยู่ที่ต้นมะเดื่อต้นหนึ่งที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมื่อผลของต้นไม้ที่ตนอาศัยอยู่หมดลง ด้วยความที่เป็นนกที่มักน้อยสันโดษ และด้วยสำนึกในบุญคุณของต้นไม้นั้นว่า ยามสุข เราก็มีสุขเพราะต้นไม้นี้ เมื่อเห็นต้นมะเดื่อนั้นผลหมดลง ด้วยความผูกพันจึงไม่ยอมไปอยู่ที่อื่น สิ่งใดที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็นหน่อ ใบ เปลือก หรือสะเก็ดก็กินสิ่งนั้น และดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา ไม่ยอมไปที่อื่น ด้วยคุณธรรมแห่งมิตรแท้ของพญานกแขกเต้า จึงบันดาลให้ภพของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน พระองค์พิจารณาดูก็รู้สาเหตุทั้งหมด และปรารถนาจะทดลองใจของพระโพธิสัตว์ จึงบันดาลให้ต้นไม้นั้นแห้งไป

ด้วยอานุภาพของเทวฤทธิ์ต้นไม้นั้นเหลืออยู่แต่ตอ แตกเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ เวลาถูกลมพัดก็เหมือนมีใครเอาไม้มาเคาะเสียงดัง ถึงกระนั้นพญานกแขกเต้าก็ยังไม่ยอมจากไป ยังคงจับอยู่ที่ยอดตอไม้มะเดื่อโดยไม่ย่อท้อต่อลมและแดด

ท้าวสักกะคิดว่า เราจะให้พญานกแสดงมิตตธรรมแล้วจะให้พรแก่เธอ ทำต้นมะเดื่อให้มีผลอยู่เรื่อยไป ดังนั้นจึงแปลงเป็นพญาหงส์ทองบินมาพร้อมกับนางสุชาดามาจับอยู่ใกล้ๆ พลางถามว่า "พ่อนกแขกเต้า ต้นไม้อื่นมีผลตั้งมากมาย ทำไมท่านถึงไม่ไป มายอมลำบากอยู่อย่างนี้ มีเหตุผลอะไรหรือ"

พระโพธิสัตว์ตอบว่า " ข้าแต่พญาหงส์ ในยามผลดกนกทั้งหลายก็ชุม แต่พอผลวายนกทั้งหลายก็ไปไม่เหลียวแล ตอนมีผลประโยชน์ใครๆ ก็เห็นคุณค่า แต่ตอนที่หมดประโยชน์ ใครบ้างเล่าจะนึกถึงผู้มีอุปการคุณ เราจะไม่ไปไหนทั้งนั้น ต้นไม้นี้เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งญาติของเรา เราต้องการเป็นอยู่เพียงเท่านี้ ขอเพียงได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับต้นไม้ที่มีพระคุณกับเราเท่านั้น"
ท้าวสักกะฟังดังนี้แล้วเกิดมหาปีติในคุณธรรมของ พระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า "ความเป็นมิตรแท้ มีไมตรีตอบ ท่านทำได้ดียิ่ง ท่านเป็นบัณฑิต เราขอสรรเสริญท่าน เราจะให้พรตามที่ท่านปรารถนา ท่านจงเลือกพรเถิด"

พระโพธิสัตว์ปีติเช่นกัน จึงกล่าวว่า "หากท่านจะให้พรแก่ข้าพเจ้าจริงๆ ละก็ ข้าพเจ้าขอให้ต้นไม้นี้มีอายุยาวนาน มีผลมีรสหวานและตั้งอยู่อย่างสง่างามเถิด"
ท้าวสักกะเนรมิตให้สำเร็จดังที่พระโพธิสัตว์ปรารถนาแล้ว ก็กลายเพศจากหงส์ กลับเป็นท้าวสักกะตามเดิม ตั้งแต่นั้นมา ต้นมะเดื่อได้งอกงาม ตั้งอยู่มั่นคงเหมือนพญาบรรพต และพระโพธิสัตว์ก็ได้อาศัยอยู่ที่ต้นไม้นั้นจนตลอดอายุขัย

พระบรมศาสดาทรงนำเรื่องนี้มาตรัสให้ข้อคิดกับภิกษุ พลางรับสั่งว่า "ภิกษุ เธอจงตั้งอยู่ในคุณธรรมเหมือนบัณฑิตในกาลก่อน ตั้งใจปฏิบัติธรรมในที่นั้นเถิด" ภิกษุรูปนั้นกลับไปที่หมู่บ้านเดิม ได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียร จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

เราได้เห็นคุณธรรมของพระโพธิสัตว์แล้วว่า ท่านไม่ยอมละทิ้งคุณธรรม คือ มิตตธรรม ไม่เคยคิดถึงความลำบากของตน กลับเป็นห่วงสิ่งที่มีพระคุณ แม้แต่ต้นไม้ที่ตนเคยอาศัยร่มเงา เราทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อเราได้มิตรที่ดีงาม ให้คงความเป็นเพื่อน แท้ของเราไว้ ยามเมื่อเพื่อนมีทุกข์ก็ทำให้เพื่อนมีสุขชี้หนทางสวรรค์และนิพพานให้เพื่อน อย่าให้เพื่อนตั้งอยู่ในความประมาท เพื่อจะได้เข้าถึงบรมสุขที่เที่ยงแท้ถาวร และ ประคับประคองกันไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรมด้วยกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. มหาสุวราชชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๖๒๗

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘