มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ - ละวางเบญจกามคุณ

นรชนผู้กำหนัดในกาม ยินดีในกาม หมกมุ่นอยู่ในกาม กระทำบาปกรรม ย่อมเข้าถึงทุคติ ส่วนนรชนใด ละกามทั้งหลายเสียได้ เป็นผู้ไม่มีภัยจากที่ไหนๆ เข้าถึงความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นรชนเหล่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
สรรพสิ่งในโลกนี้ เป็นเพียงเครื่องอาศัยใช้สร้างบารมี ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้ยึดมั่นถือมั่น สมบัติทั้งหลายเป็นเพียงของกลางในโลก ที่ช่วยสนับสนุนให้เราสร้างบารมีได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อจะได้มุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต และเป็นความจริงของพระอริยเจ้าที่เรียกว่า อริยสัจ หากเรามีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน เราจะต้องเข้าถึงความสุขที่แท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย โสณกชาดก ว่า…
" นรชนผู้กำหนัดในกาม ยินดีในกาม หมกมุ่นอยู่ในกาม กระทำบาปกรรม ย่อมเข้าถึงทุคติ ส่วนนรชนใด ละกามทั้งหลายเสียได้ เป็นผู้ไม่มีภัยจากที่ไหนๆ เข้าถึงความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นรชนเหล่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ"
ขึ้นชื่อว่า ทุคติ ไม่ว่าจะเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน หรือสัตว์นรก...นั้น ย่อมไม่มีผู้ใดปรารถนาจะไป แต่เมื่อชีวิตไม่มีหลักไม่มีเป้าหมาย กลับเห็นประโยชน์สุขเพียงเล็กน้อย คือ กามคุณ ทั้ง หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความสุขจริงๆ แล้วมัวหลงใหลเพลิดเพลินทำให้ประมาทในชีวิต ไม่คิดแสวงหาความสุขที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต บางครั้งยังอาศัยตัณหาความปรารถนาไม่สิ้นสุด ไปทำกรรมที่เป็นบาปอกุศล ทั้งๆผลที่ได้ก็เป็นเพียงความสุขจอมปลอม แล้วยังต้องไปรับทุกข์ในทุคติ เหมือนปลาที่ไปติดเบ็ดของนายพราน ย่อมได้รับทุกขเวทนาสาหัส และต้องตายในที่สุด
*ใน อดีต พระบรมโพธิสัตว์ได้อาศัยพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นยอดกัลยาณมิตร จึงได้สละราชสมบัติอันพรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ และเป็นผู้ทรงอภิญญาสมาบัติในที่สุด
ในพระชาติที่พระบรมโพธิสัตว์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธ มีพระนามว่า อรินทมะ ทรงมีพระสหายซึ่งเป็นบุตรของปุโรหิตชื่อ โสณกะ ทั้งสองได้เดินทางไปศึกษาที่เมืองตักกศิลา ณ สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ขณะเดินทางกลับ พระโพธิสัตว์และพระสหายต่างมีความเห็นตรงกันว่า “เราน่าจะหาประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องลัทธิต่างๆทั้งหมด”
ครั้นเดินทางมาถึงเมืองพาราณสี ทั้งสองเห็นผู้คนกำลังจัดเตรียมสถานที่เพื่อให้พวกพราหมณ์มาสาธยายมนต์ ชาวเมืองเห็นพระโพธิสัตว์และสหาย จึงได้เชื้อเชิญให้ขึ้นไปนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ โดยปูลาดผ้าขาวอย่างดีที่นำมาจากแคว้นกาสีให้พระโพธิสัตว์นั่ง พร้อมได้ปูลาดผ้ากำพลสีแดงเนื้อดีให้พระสหายนั่ง
ท่านโสณกะ บุตรของปุโรหิตผู้เป็นบัณฑิต เห็นเหตุการณ์เช่นนี้ รู้ทัน ทีว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อรินทมกุมารจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองพาราณสี ส่วนตัวท่านเองจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี หลังจากรับประทานอาหารแล้ว ทั้งสองพากันไปพักในพระราชอุทยาน โดยพระโพธิสัตว์บรรทมอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ ส่วนโสณกะนั่งเฝ้าอยู่ใกล้ๆกัน
วันนั้นเป็นวันที่๗ นับจากวันที่พระราชาผู้ครองเมืองพาราณสีได้เสด็จสวรรคต พระองค์ไม่มีพระราชโอรสเพื่อสืบสันตติวงศ์ เหล่าอำมาตย์จึงได้ประชุมตกลงกันเพื่อเสี่ยงทาย โดยปล่อยผุสยรถออกไปหาผู้มีบุญที่จะมาดำรงตำแหน่งพระราชาสืบไป ผุสยรถได้แล่นไปรอบพระนคร แล้วเข้าไปยังพระราชอุทยาน มาหยุดอยู่ที่ปลายเท้าของพระโพธิสัตว์
โสณกะได้ยินเสียงดนตรี ก็รู้เหตุการณ์โดยตลอด จึงรีบหลบเข้าไปในที่กำบัง ปุโรหิตได้ให้เจ้าพนักงานประโคมดนตรี เพื่อเฉลิมฉลองพระราชาองค์ใหม่ และกราบทูลถวายพระราชสมบัติ พร้อมทั้งอภิเษกพระโพธิสัตว์ให้เป็นพระราชา ณ ที่อุทยานนั้นเอง เมื่อเสด็จเข้าสู่พระราชวังพร้อมด้วยอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ ทรงลืมโสณกะผู้เป็นพระสหายอย่างสนิท
ฝ่ายโสณกะ เมื่อเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าเมืองไปแล้ว ก็ออกจากที่หลบซ่อนมานั่งบนแผ่นศิลา ขณะนั้นเองเขาได้เห็นใบไม้เหลืองหล่นลงจากต้นสาละ เกิดความสลดสังเวชใจ คิดว่าชีวิตของเราไม่นานก็จะถึงความชรา แล้วร่วงหล่นไปเหมือนใบไม้นี้ จึงได้เจริญอนิจจสัญญา มองเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเหาะไปอยู่ที่เงื้อมเขานันทมูลกะ
พระโพธิสัตว์เสวยราชสมบัติ จนเวลาล่วงไปถึง ๔๐ปี ทรงระลึกถึงพระสหายโสณกะ และปรารถนาที่จะได้พบ จึงทรงพระนิพนธ์เป็นเพลงขับขึ้นว่า "สหายโสณกะของเราไปไหนหนอ เราจะให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ผู้ที่รู้ข่าวแล้วมาบอกเรา เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ผู้ที่พบเห็นแล้วมาบอกเรา" ชาวเมืองต่างนำเพลงขับนี้ไปร้องกันทั่วเมือง เพราะเข้าใจว่าเป็นเพลงที่พระราชาทรงโปรด
ครั้นเวลาล่วงไปถึง ๕๐ปี ยังไม่มีผู้ใดรู้ข่าวหรือพบเห็นพระโสณกะ วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าปรารถนาจะสงเคราะห์พระโพธิสัตว์ ซึ่งกำลังหลงใหลอยู่ในเบญจกามคุณ จึงเหาะมาจากภูเขานันทมูลกะ พบเด็กคนหนึ่งกำลังหาฟืนอยู่ในป่าใกล้พระราชอุทยาน และได้ยินเด็กน้อยร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ท่านจึงสอนให้เรียนเพลงขับแก้ แล้วให้เด็กไปเข้าเฝ้าพระราชา เพื่อร้องเพลงขับแก้กับพระราชา
เด็กน้อยดีอกดีใจยิ่งนัก รีบจดจำเพลงขับแก้จนคล่องปากขึ้นใจ กราบนมัสการลาพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วรีบเข้าเมืองไปขอเข้าเฝ้าพระราชา เพื่อร้องเพลงขับแก้ในท่ามกลางมหาสมาคมใหญ่ จนเป็นที่พอพระทัยของพระราชา ทั้งได้พาพระราชาไปพบพระปัจเจกพุทธเจ้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงตรัสขึ้นว่า "ภิกษุนี้เป็นคนกำพร้า"
พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า " มหาบพิตร บุคคลผู้ประพฤติธรรมไม่ชื่อว่าเป็นคนกำพร้า ส่วนผู้ใดไม่ประพฤติธรรม ประพฤติแต่อธรรม จึงจะชื่อว่าเป็นคนกำพร้า มีบาปกรรมในเบื้องหน้า อุปมาว่า มีกาตัวหนึ่งเห็นซากศพช้างลอยอยู่ในแม่น้ำใหญ่ ดีอกดีใจรีบเกาะซากนั้นไป ไม่ยอมหนีขึ้นฝั่ง เมื่อหิวก็กินเนื้อช้าง แต่เนื่องจากธรรมดาแม่น้ำทุกสายย่อมไหลลงสู่ทะเล ในที่สุดทั้งซากช้างและกา ต่างถูกพัดลงสู่มหาสมุทร ถึงความหายนะ เป็นอาหารของฝูงปลา ฉันใด การหมกมุ่นอยู่ในเบญจกามคุณ ก็ฉันนั้น ขอถวายพระพร"
พระโพธิสัตว์ทรงสลดพระทัย คลายจากความกำหนัด เห็นโทษเห็นภัยในการครองราชย์ ปรารถนาที่จะพบความสุขอันเป็นอมตะ จึงได้เสด็จออกผนวช ทรงตั้งใจปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความสุขภายใน และได้บรรลุฌานสมาบัติในที่สุด
พวกเราก็เช่นเดียวกัน อย่าประมาทในชีวิต ให้รีบขวนขวายในการประพฤติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เรา เป็นยอดกัลยาณมิตร ผู้เป็นความหวังของชาวโลก จะต้องมีพระธรรมกายเป็นสรณะ เพื่อจะได้ไปแนะนำคนอื่นให้มีที่พึ่งที่แท้จริง และให้เข้าถึงความสุขอันไพบูลย์กันทุกคน แม้เราจะยังคงต้องทำมาหากิน ก็ขออย่าได้ประมาทในการดำเนินชีวิต ให้ปฏิบัติธรรมทำใจให้หยุดนิ่งควบคู่กับการทำงานทางโลกไปด้วย ชีวิตจะได้สมบูรณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม
หรือแม้เราจะอยู่ท่ามกลางกระแสโลกอันร้อนแรง ที่มีสิ่งต่างๆคอยยั่วยุดึงใจของเราให้ออกจากเส้นทางสายกลาง แต่หากเรามีสติไม่ประมาท ไม่ปล่อยใจให้ยินดียินร้ายไปตามกระแสโลก และมุ่งทำความบริสุทธิ์ ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน อีกทั้งไม่เกียจคร้านในการทำความเพียร มีกำลังใจเข้มแข็งในการทำความดี และฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง สักวันหนึ่งเราจะต้องเข้าถึงพระธรรมกายอย่างแน่นอน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. โสณกชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๑๑๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘