มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - แม้เป็นคนดี ก็ไม่ควรประมาท



มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
แม้เป็นคนดี ก็ไม่ควรประมาท

บุคคลในโลกนี้ ตั้งใจไว้ผิด กล่าววาจาผิด ทำผิดทางกาย เป็นผู้มีการสดับน้อย ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิต อันมีประมาณน้อยในมนุษยโลกนี้ เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก เสวยทุกข์เป็นเวลายาวนาน

เราเกิดมาในโลกนี้ ไม่อาจหนีโลกธรรม คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีทั้งสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไป ไม่มีใครที่เจอแต่โลกธรรมฝ่ายร้าย และไม่มีใครเจอแต่เรื่องดีตลอดชีวิต บุคคลใดรู้จักมองโลกธรรมเหล่านี้ไปตามความเป็นจริง ย่อมดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข พร้อมที่จะอดทนต่อโลกธรรมฝ่ายร้ายที่เกิดขึ้นได้ ไม่ทุกข์จนขาดสติ มีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แม้ประสบโลกธรรมฝ่ายร้าย ก็แปรเปลี่ยนให้กลับกลายเป็นโลกธรรมฝ่ายดีได้ การรักษาใจให้แช่มชื่น เบิกบานผ่องใสเสมอ ด้วยการทำสมาธิเจริญภาวนาทุกวัน จะทำให้เราชนะปัญหาและอุปสรรคทั้งหลายได้อย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มิจฉาทิฏฐิสูตร ว่า

มิจฺฉามนํ ปณิธาย มิจฺฉาวาจํ อภาสิย
มิจฺฉากมฺมานิ กตฺวาน กาเยน อิธ ปุคฺคโล
อปฺปสฺสุโต อปุญฺกโร อปฺปสฺมึ อิธ ชีวิเต
กายสฺส เภทา ทุปฺปญฺโญ นิรยํ โส อุปปชฺชติ

บุคคลในโลกนี้ ตั้งใจไว้ผิด กล่าววาจาผิด ทำผิดทางกาย เป็นผู้มีการสดับน้อย ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิต อันมีประมาณน้อยในมนุษยโลกนี้ เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก
Ž
การตั้งใจไว้ไม่ชอบเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิต *ในสมัย ก่อนพุทธกาล มีฤๅษี ๕๐๐ ตน อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีรากไม้ผลไม้ป่าเป็นอาหาร ต่อมา พวกฤๅษีประสงค์จะเสพรสเค็มรสเปรี้ยว จึงพากันเข้ามายังถิ่นมนุษย์ ถึงเมืองของพระเจ้านาฬิกีระ แคว้นกาลิงคะ ชาวเมืองเห็นฤๅษีทั้งหลาย ต่างเกิดศรัทธาเลื่อมใส พากันถวายข้าวปลาอาหารเครื่องบริโภคใช้สอยมากมาย เหล่าฤๅษีบริโภคอาหารแล้ว ได้อนุโมทนาต่อทานกุศลที่มหาชนได้ทำไว้ดีแล้ว มหาชนเกิดจิตเลื่อมใสยิ่งขึ้น จึงได้นิมนต์ให้พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน เพื่อพวกตนจะได้มีโอกาสไปฟังธรรม และถวายทานได้อย่างสะดวก เหล่าฤๅษีทั้ง ๕๐๐ เห็นว่า ชาวเมืองมีความศรัทธาไม่คลอนแคลน จึงรับคำเชื้อเชิญที่จะอยู่ต่ออีก ๒-๓ คืน

ชาวเมืองดีใจมากที่จะได้ทำบุญกับเหล่าฤๅษี ตกเย็นต่างพากันนุ่งขาวห่มขาว ชักชวนกันเป็นกลุ่มๆ มุ่งหน้าไปยังพระราชอุทยาน เพื่อไปฟังธรรมกถา พระราชาประทับยืนบนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นมหาชนกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน จึงตรัสถามเจ้าพนักงานผู้รับใช้ใกล้ชิด ก็รู้ว่า ชาวเมืองกำลังจะไปฟังธรรมกถาจากฤๅษีที่เดินทางมาจากป่า

ตามปกติ พระราชาไม่ได้ศรัทธาเลื่อมใสในฤๅษี หรือนักบวชทุกประเภท เพราะตนเป็นผู้ทุศีล ไม่ได้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม แต่เพื่อเป็นการเอาใจชาวเมือง จึงมีรับสั่งให้ประกาศว่า พระราชามีพระราชศรัทธาอยากฟังธรรมพร้อมชาวเมือง ข่าวนั้นแพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว ชาวเมืองดีใจว่า หากพระราชาได้สดับธรรมะจากมหาฤๅษี จะได้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม ชาวเมืองจึงพากันมารอรับเสด็จ และไปฟังธรรมในพระราชอุทยานพร้อมพระราชาด้วยความปลื้มปีติใจยิ่งนัก

หัวหน้าฤๅษีได้มอบหมายให้ฤๅษีตนหนึ่ง ซึ่งฉลาดในการกล่าวธรรมกถา แสดงธรรมถวายพระราชา ท่านฤๅษีผู้เป็นธรรมกถึกได้แสดงเรื่องศีล ๕ คือ ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ และไม่ควรดื่มน้ำเมา ศีล ๕ เป็นธรรมะที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ต้องระแวงภัยต่อกัน ท่านได้แสดงอานิสงส์ในการรักษาศีลว่า เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์ได้อย่างไรบ้าง

จากนั้นได้กล่าวโทษในการผิดศีล ๕ ว่า ปาณาติบาตทุกชนิดย่อมส่งผลให้เกิดในนรก ในเปตวิสัย ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ จะเป็นผู้มีอายุสั้น ต้องตายก่อนกำหนดอายุขัยของมนุษย์ในยุคนั้นๆ โทษของอทินนาทานก็เช่นเดียวกัน เมื่อหมกไหม้ในนรกเป็นเวลายาวนานแล้ว ทันทีที่พ้นจากอบายภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ วิบากกรรมนั้นจะส่งผลให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์น้อย แม้มีทรัพย์ก็จะไม่มีโอกาสได้ใช้ ต้องสูญหายเพราะถูกขโมยบ้าง เพราะน้ำท่วม ไฟไหม้บ้าง

กาเมสุมิจฉาจาร ย่อมส่งผลให้เป็นผู้มีศัตรูมาก ไม่เป็นที่รักของคนรอบข้าง เป็นผู้มีปกติสะดุ้งหวาดระแวงเป็นนิตย์ โทษของมุสาวาทส่งผลให้เป็นผู้ถูกกล่าวตู่ มักถูกใส่ความด้วยเรื่องไม่เป็นจริงเสมอ ทำให้บุคคลนั้นต้องเดือดร้อนทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิด กรรมของผู้ดื่มน้ำเมา ย่อมส่งผลให้เป็นคนบ้า สติสัมปชัญญะไม่สมประกอบ เป็นคนไม่มีปัญญา ดังนั้น เมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ควรล่วงละเมิดศีล ๕

มหาชนได้ฟังธรรมะแล้ว ต่างบันเทิงในธรรม ตั้งใจนำคำสอนไปปฏิบัติ แต่พระราชากลับรู้สึกว่า ธรรมะของท่านฤๅษีเปรียบเหมือนหอกที่ทิ่มแทงพระกรรณ จึงดำริว่า เราเดินทางมาฟังธรรมเพื่อเป็นการให้เกียรติต่อหมู่ฤๅษี แต่ฤๅษีเหล่านี้กลับพูดทิ่มแทงเราผู้เดียวŽ เมื่อความแค้นสุมอยู่ในพระทัย จึงคิด กลอุบายที่จะแก้แค้นให้ได้ ก่อนจะเสด็จกลับ ได้ทรงนิมนต์ฤๅษี ทั้ง ๕๐๐ ตน เข้าไปฉันภัตตาหารในพระราชมณเฑียร

รุ่งขึ้น พระราชาให้นำไหขนาดใหญ่บรรจุคูถจนเต็ม เอาใบตองมาผูกปากไหไว้ ให้ไปตั้งเรียงกัน ใส่น้ำมันยาง ต้นกากะทิง และหนามงิ้วหนาๆ จนเต็มหม้อ วางไว้หัวบันได ทรงให้พวกนักมวยร่างใหญ่ ถือค้อนยืนอยู่ใกล้ๆ หัวบันได จากนั้นพระองค์ทรงรอคอยด้วยความอาฆาตแค้นที่สุมแน่นอยู่ในอก

หัวหน้าฤๅษีได้สอนหมู่ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ตนว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนหลวง เป็นสถานที่มีภัย ธรรมดาบรรพชิตพึงสำรวมในทวารทั้งหก ขอให้พวกเราสำรวมระวังตัวเป็นพิเศษ แม้มีภัยเกิดขึ้นก็ให้รักษาใจ อย่าได้โกรธแค้นพระราชาŽ รุ่งขึ้น เหล่าฤๅษีได้นุ่งผ้าเปลือกไม้ ห่มหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่า มุ่นชฎา ถือภาชนะใส่อาหาร ขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ตามลำดับ

พระราชาทรงรู้ว่า ดาบสขึ้นมาแล้ว ทรงสั่งให้เปิดปากไห ทันทีที่เปิดปากไห คูถก็ส่งกลิ่นเหม็นกระทบโพรงจมูกของดาบสแทบจะอาเจียน แต่ต่างพยายามสำรวมอินทรีย์ ทุกท่านรู้ตัวว่า กำลังถูกพระราชาลวงมาเพื่อประทุษร้าย พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ คูถเหล่านี้แหละ คือ อาหารของพวกท่าน เมื่อวาน เราตั้งใจจะยกย่องพวกท่าน แต่พวกท่านกลับพูดเสียดแทงเรา วันนี้ท่านจะต้องรับกรรมที่ท่านได้ตำหนิเราŽ จากนั้นทรงสั่งให้นำกระบวยตักคูถไปถวายฤๅษี

พวกฤๅษีเห็นท่าไม่ดี จึงหันหลังเพื่อเดินทางกลับ พระราชารับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหม้อสาดหนามงิ้วราดลงที่บันได สั่งพวกนักมวยให้เอาค้อนตีที่ศีรษะฤาษี นักมวยบางคนก็จับคอฤๅษีเหวี่ยงลงไปที่บันได ฤๅษีทั้งหมดกลิ้งลงมาที่เชิงบันได ถูกฝูงสุนัขดุจำนวนมากรุมกัดอีก บางตนพยายามจะหลบหนี แต่ต้องพลัดตกลงไปในหลุมคูถขนาดใหญ่ ฝูงสุนัขก็ตามไปในหลุมคูถและกัดฤๅษีรูปนั้นจนตายอย่างน่าเวทนา

พวกเทวดาเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต่างไม่พอใจในกิริยาที่โหดเหี้ยมของพระราชา จึงบันดาลฝนอาวุธต่างๆ ให้ตกลงมา ต่อจากนั้น ก็บันดาลฝนถ่านเพลิงที่ปราศจากเถ้าและควัน บันดาลก้อนหินขนาดเท่าเรือนยอด บันดาลทรายละเอียดให้ตกลงมา ถมเมืองทั้งเมืองให้จมลงในธรณีภายในวันเดียว ส่วนพระเจ้านาฬิกีระได้ตกสู่อเวจีมหานรก เสวยทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนาน

เห็นไหมว่า กรรมของผู้ประทุษร้ายผู้ทรงศีลนั้น เป็นความวิบัติของชีวิตที่ยากต่อการแก้ไข มีโทษถึงขั้นเทวดาพิโรธ เมืองทั้งเมืองหายสาบสูญไปในพริบตา สังสารวัฏนี้ยังไม่ปลอดภัยสำหรับเรา แม้เราจะเป็นคนดี แต่อาจถูกคนไม่ดีกลั่นแกล้งถึงกับชีวิตได้ เราจึงไม่ควรประมาท ชีวิตนี้ยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า เราจะสร้างบารมีได้อย่างปลอดภัย ต้องใช้สติปัญญาในการสร้างบารมี มุ่งหน้าสร้างบารมีต่อไป อย่าได้หวั่นไหว และหมั่นประพฤติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่ง ให้ละเอียดไว้เรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกาย เมื่อใจมีที่พึ่ง มีที่ยึดที่เกาะแล้ว เราจะจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะ ประดุจพระราชาที่รบชนะศึกในสงครามฉะนั้น

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. อุปาลิวาทสูตร เลˆ่ม ๒๐ หน้‰า ๑๑๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘