มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ - ถึงเวลาแล้ว

ถ้าว่านักปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ได้
เพราะยอมสละสุขพอประมาณ
เมื่อผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูลย์
ก็พึงสละความสุขส่วนน้อยเสีย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ กิจที่จะทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว เราจึงควรดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระพุทธองค์ โดยมุ่งทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องอื่นนั้นให้เป็นเรื่องรองลงมา เพราะเรายังมีกิจที่จะต้องทำให้รู้แจ้งให้ได้ว่า เราเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต เพราะฉะนั้น เราจึงควรหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงผู้รู้แจ้งภายใน คือ พระธรรมกาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ

ถ้าว่านักปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ได้
เพราะยอมสละสุขพอประมาณ
เมื่อผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูลย์
ก็พึงสละความสุขส่วนน้อยเสีย

มนุษย์ทุกคนต่างมุ่งแสวงหาความสุข บ้างก็แสวงหาจากการดื่ม การกิน การเที่ยว หรือจากการได้รับของที่ถูกใจ แต่ความสุขเหล่านั้นล้วนเป็นความสุขชั่วคราว ไม่ยั่งยืน เมื่อได้รับแล้วก็ยังคงแสวงหาต่อไปอีก ถ้าจะเรียกให้ถูก ต้องเรียกว่า เป็นความเพลินมากกว่า ถ้าเช่นนั้นอะไร คือ ความสุขที่แท้จริง อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร

ความสุขที่แท้จริง ต้องเป็นความสุขที่เป็นอมตะ เป็นความสุขที่เข้าถึงได้ สัมผัสได้ นั่นคือ ความสุขที่เกิดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน เป็นความสุขล้วนๆ ที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นความสุขที่มาควบคู่กับความบริสุทธิ์ จะเข้าถึงได้ ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเท่านั้น

ความสุขของมนุษย์มีหลายระดับ ตั้งแต่ความสุขจากการมีทรัพย์ ได้ใช้จ่ายทรัพย์ การไม่มีหนี้ หรือจากการประกอบการงานที่ไม่มีโทษ ก็ถือว่าเป็นความสุข แต่นั่นเป็นเพียงสุขเล็กน้อย เพราะยังมีความทุกข์เจือปนอยู่ ส่วนความสุขที่แท้จริง ต้องเกิดจากการทำใจให้หยุดนิ่ง เป็นความสุขที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่า ปราศจากเครื่องกังวลใจ ไม่ติดข้องอยู่กับสิ่งภายนอก มีความปลอดโปร่ง เป็นตัวของตัวเอง เป็นใหญ่ในตัวและเป็นอิสระ สุขยิ่งกว่าการเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มากมายหลายเท่านัก

นักปราชญ์บัณฑิตในกาลก่อน แม้ท่านจะสมบูรณ์ไปด้วยลาภ-ยศ-สรรเสริญ หรือสุขในกามคุณ มากมายปานใด ท่านยอมสละความสุขภายนอกเหล่านั้น เพราะมองเห็นว่า ทรัพย์ภายนอกไม่จีรังยั่งยืน ยังเป็นเครื่องร้อยรัดให้เป็นห่วงเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา ขาดความเป็นอิสระในตัว ท่านจึงมุ่งแสวงหาความสุขภายใน ที่ประเสริฐกว่าการครอบครองมหาสมบัติ

ดังเช่นในสมัยก่อน *มีพระราชาพระนามว่า มฆเทวะ ทรงครองราชย์ในเมืองมิถิลา ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงอุปัฏฐากบำรุงสมณพราหมณ์ ขจัดทุกข์บำรุงสุขให้กับทุกคนที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ในแว่นแคว้นของพระองค์ไม่มีโจรผู้ร้าย ทุกคนมองกันเหมือนญาติมิตร มีเมตตาธรรมต่อกัน สมัยนั้นจึงไม่ต้องมีตำรวจทหารไว้ปราบโจรหรือข้าศึกศัตรู

พระเจ้ามฆเทวะทรงครองราชย์นานเป็นหมื่นๆปี ก็ยังไม่แก่ พระวรกายสมบูรณ์แข็งแรงมาก แต่พระองค์ไม่ได้ประมาทในชีวิต ทรงรับสั่งกับช่างกัลบก คือ ช่างตัดผมประจำพระองค์ว่า ถ้าเห็นผมหงอกเกิดขึ้นบนพระเศียร ให้รีบบอกพระองค์ด้วย จนกระทั่งผ่านไปหลายหมื่นปี ผมหงอกเส้นแรกของพระราชาก็ปรากฏขึ้น ช่างกัลบกรีบกราบทูลพระราชา พลางใช้แหนบค่อยๆถอนพระเกศาเส้นนั้นอย่างระมัดระวัง วางลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์

พระราชาทอดพระเนตรผมหงอกของตน ทรงสลดพระทัยในความเสื่อมของสังขารร่างกาย จึงตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม ทรงพระราชทานรางวัลให้ช่างกัลบก และประทานโอวาทแก่พระโอรสว่า "ลูกรัก ผมหงอกเส้นนี้ เสมือนเทวทูตมายืนอยู่ตรงหน้าของพ่อ พ่อได้รับความสุข จากสิริราชสมบัติมามากพอแล้ว ถึงเวลาที่ต้องออกแสวงหาความสุขภายในอันเป็นอมตะ ลูกจงปกครองแผ่นดินโดยธรรมแทนพ่อเถิด และถ้าเมื่อใด ลูกเห็นผมหงอกเส้นแรกบนศีรษะ จงสละราชสมบัติออกบวชเป็นบรรพชิต แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเถิด"

จากนั้น พระองค์ทรงสละราชสมบัติ ออกผนวชเป็นฤๅษี ประทับอยู่ในป่าหิมพานต์ ท่านได้ใช้วันเวลาให้ผ่านไป ด้วยการหมั่นเจริญสมาธิภาวนา มีผักผลไม้เป็นอาหาร มีผ้าเพียงไม่กี่ชิ้นครองกาย มีความเป็นอิสระเสรี ปราศจากเครื่องกังวลใจ จนมีใจหยุดนิ่ง แล้วได้แผ่ขยายใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความบริสุทธิ์ แผ่ความเมตตาปรารถนาดีออกไปทุกทิศทุกทาง เจริญเมตตาพรหมวิหารธรรม ขยายออกไปเป็นอัปปมัญญา จนกระทั่งสิ้นอายุขัย ท่านได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

พระเจ้ามฆเทวะทรงมีพระชนมายุยืนยาวมาก ช่วงเวลาที่เป็นพระกุมารยาวนานถึง ๘๔,๐๐๐ปี ดำรงอยู่ในตำแหน่งอุปราช ๘๔,๐๐๐ปี ครองราชย์อีก ๘๔,๐๐๐ปี จนสุดท้ายทรงผนวชเป็นพระฤๅษีนานถึง ๘๔,๐๐๐ปี พระราชาองค์ต่อๆมาก็เช่นเดียวกัน ต่างทรงออกผนวชเป็นพระฤๅษี ดำเนินรอยตามพระจริยาวัตรของพระเจ้ามฆเทวะ อีกหลายหมื่นองค์

ก่อนที่พระราชาแต่ละองค์จะออกผนวช ต่างก็ประทานโอวาทสำคัญอย่างหนึ่งไว้ว่า "ให้ลูกตั้งใจครองราชย์โดยธรรม เมื่อลูกเห็นผมหงอกบนศีรษะแล้ว ให้สละราชสมบัติออกบวชเป็นบรรพชิตตามอย่างพ่อ อย่าให้วัตรอันประเสริฐนี้ขาดสูญ จนได้ชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายในราชตระกูลของพ่อ"

ข้อวัตรปฏิบัตินั้น ได้มีการสืบทอดกันมายาวนานถึง ๘๔,๐๐๐พระองค์ ยุคสมัยนั้นนรกประหนึ่งว่าจะร้าง เพราะมนุษย์ไปบังเกิดในพรหมโลกกันหมด หรืออย่างน้อยก็เกิดในสุคติสวรรค์กันมากมายนับไม่ถ้วน

นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่า คนในสมัยก่อนจะพากันทำความดีทั้งประเทศ มีผู้นำที่ทรงคุณธรรม ทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ตาม เป็นการประกาศให้มหาชนรู้ว่า ที่สุดของการแสวงหา คือ การไม่ต้องมีเครื่องผูกพันใจ นั่นคือ หาโอกาสนั่งสมาธิเจริญภาวนา ทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะที่สุดของความสุข คือ การนำใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกาย นำใจกลับมาไว้ที่ต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ ตรงจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงความสุขที่แท้จริงภายใน

เมื่อชาวโลกทั้งหลาย ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่รู้ว่า มีวิธีใดที่จะทำให้ได้พบความสุข มักไปยึดติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นำใจไปติดอยู่กับสิ่งภายนอก วนเวียนกันอยู่เช่นนั้น จึงไม่พบความสุขที่แท้จริง มนุษย์จึงดำเนินชีวิตด้วยความไม่รู้มาโดยตลอด วันหนึ่งๆ จึงเสียเวลาไปกับการทำมาหากิน มัวแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินไปวันๆ

ผู้มีปัญญารู้ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความสุขชั่วคราว มิได้ยั่งยืน ท่านจึงมุ่งทำทานเพื่อขจัดความโลภ และความตระหนี่ออกจากใจ หันมารักษาศีล และเจริญภาวนาเพื่อกลั่นใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุนำไปสู่ความสุขอันเป็นอมตะ คือ พระนิพพาน

หยุดนี่สำคัญ ให้จำคำว่าหยุดกับนิ่งไว้ให้ดี เวลาที่ใจของเราหยุดนิ่ง แล้วเข้าไปสัมผัสกับกระแสแห่งความสุขภายใน เราจะซาบซึ้งกับพุทธพจน์ที่ว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" สุขอื่นนอกจากใจหยุดใจนิ่งไม่มี ซึ่งถ้าหากเทียบกับความสุขภายในที่ใจหยุดแล้ว ความสุขภายนอกจะเอามาเปรียบเทียบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จงให้โอกาสกับตนเอง ในการแสวงหาหนทางอันประเสริฐของชีวิต ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งควบคู่กับภารกิจการงาน ฝึกฝนใจกันไปจนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้ทุกคน

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. มฆเทวสูตร เล่ม ๒๑ หน้า ๖๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘