มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล - เลิศเฉพาะทาง เลิศทุกทาง

เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา หาบุคคลเปรียบมิได้ ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร และอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ อันให้ถึงความดับทุกข์ แก่สัตวโลกพร้อมทั้งเทวโลก เมื่อนั้น เทวดาทั้งหลาย ผู้มีอายุยืน มีวรรณะงาม มียศ ก็ถึงความกลัวและความสะดุ้งว่า พวกเราไม่เที่ยง ไม่ล่วงพ้นจากกายของตนไปได้
การสร้างบารมีไปสู่อายตนนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ต้องอาศัยพลังบุญพลังบารมีอย่างมาก ต้องอาศัยความเพียรพยายาม มีความอดทน หากไม่อดทนต่อกิเลสที่มาเย้ายวน ก็ไม่อาจทำพระนิพพานให้แจ้งได้ และไม่มีโอกาสประสบชัยชนะในชีวิต
การจะเอาชนะกิเลสในตัว และสิ่งยั่วยุที่อยู่รอบตัวได้นั้น ต้องอาศัยกำลังใจที่เข้มแข็ง อาศัยใจที่หยุดนิ่ง เพราะใจที่หยุดนิ่งเป็นใจที่มีพลังในการกำจัดอาสวกิเลสทั้งหลาย ดังนั้นใจหยุดจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการก้าวไปสู่จุดสุดยอดของชีวิต คือ พระนิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สีหสูตร ว่า…
เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา หาบุคคลเปรียบมิได้ ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร และอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ อันให้ถึงความดับทุกข์ แก่สัตวโลกพร้อมทั้งเทวโลก เมื่อนั้น เทวดาทั้งหลาย ผู้มีอายุยืน มีวรรณะงาม มียศ ก็ถึงความกลัวและความสะดุ้งว่า พวกเราไม่เที่ยง ไม่ล่วงพ้นจากกายของตนไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหาบุคคลเปรียบไม่ได้ ในภาษาบาลีใช้คำว่า อปฺปฏิปุคฺคโล แปลว่า ไม่มีผู้ใดเปรียบกับพระองค์ได้ ตั้งแต่มนุษย์ทุกๆคนในโลก แม้จะมีสติปัญญาล้ำเลิศแค่ไหนก็สู้ไม่ได้ ผู้รู้กล่าวว่า บรรดานรชน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ประเสริฐด้วยคุณ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แม้บุคคลนั้นจะเป็นมนุษย์หรือเทวดา พรหม หรืออรูปพรหม ที่มีฤทธิ์มีอานุภาพมากเพียงไร ก็ไม่สามารถเทียบได้กับพุทธานุภาพ
เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณอันยอดเยี่ยมแล้ว แสงสว่างที่เปล่งออกจากพระวรกายสว่างไสวกลบโลกธาตุ ส่องสว่างไปถึงอกนิฏฐพรหมโลก แม้มหานรกยังหยุดการทัณฑ์ทรมานชั่วคราว โลกันตนรกที่มีแต่ความมืดมิด มองหากันไม่เห็น แต่ด้วยแสงสว่างที่เกิดจากการตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ สามารถส่องสว่างไปถึงได้ นี่เป็นพุทธานุภาพของพระพุทธองค์นั่นเอง
*ถึงกระนั้น พระเจ้ามิลินท์ ยังมีปัญหาที่คั่งค้างในพระทัย ได้นำมาตรัสถาม พระนาคเสนเถระ อีกหลายข้อเกี่ยวกับเรื่องพุทธานุภาพ เช่น ตรัสถามว่า “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ผู้มีมืออันล้างแล้ว ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย เป็นผู้ยอดเยี่ยมที่สุด แต่ในบางครั้ง พระองค์ตรัสสรรเสริญพระอสีติมหาสาวกว่า เป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศทางด้านต่างๆ เช่น พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย…
อาพาธได้เกิดในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าหลายครั้ง ถ้าพระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยมจริง คำว่า พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย ก็ผิดไป ถ้าพระพากุละเป็นผู้มีอาพาธน้อยจริง คำที่ว่า พระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยม ก็ผิดไป ขอพระคุณเจ้าได้โปรดทำปัญหานี้ให้กระจ่างแจ้งแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
พระเถระได้วิสัชนาว่า “ขอถวายพระพร ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ถูกต้องทั้งสองด้าน ความดีของพระสาวกนั้นเป็นความดีเฉพาะทาง พระสาวกที่ไม่นอนเลย ได้แต่ยืนกับเดินตลอดวันก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้ามีทั้งทรงยืน-เดิน-นั่ง-นอน สาวกเหล่านั้นมีการยืนกับการเดินเป็นคุณสมบัติพิเศษ ส่วนสาวกที่นั่งฉันในอาสนะเดียว ถึงจะเสียชีวิตก็ไม่ยอมนั่งฉันในอาสนะที่สองก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสวยในอาสนะที่สองได้ สาวกที่มีการนั่งฉันในอาสนะเดียว ก็ได้คุณข้อนั้นเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน...
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ว่าเป็นผู้เยี่ยมนั้น คือ เยี่ยมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ทศพลญาณ เวสารัชชญาณ พุทธธรรม๑๘ ที่ว่าเป็นผู้เยี่ยม ทรงหมายเอาพุทธวิสัยทั้งสิ้น…
ในหมู่มนุษย์ หากผู้หนึ่งมีชาติตระกูลสูง ผู้หนึ่งมีทรัพย์ ผู้หนึ่งมีวิชา ผู้หนึ่งมีศิลปะ ผู้หนึ่งแกล้วกล้า ผู้หนึ่งเฉียบแหลม มีคุณวิเศษต่างๆกัน แต่พระราชาย่อมสูงสุดกว่าบุคคลเหล่านั้น ฉันใด สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ล้ำเลิศ ประเสริฐสุดกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น…
พระพากุลเถรเจ้า ผู้มีอาพาธน้อย เป็นเลิศกว่าผู้อื่นในทางมีอาพาธน้อยเท่านั้น ไม่ใช่เลิศกว่าผู้อื่นในสิ่งทั้งปวง อีกประการหนึ่ง ธรรมดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีวรรณมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่ในความดีของคนอื่น ใครมีคุณธรรมความดีใดเป็นพิเศษกว่าสาวกรูปอื่น จะทรงยกย่องสรรเสริญ และนำมาเปิดเผยให้มนุษย์และเทวดาได้อนุโมทนา”
พระเจ้ามิลินท์ฟังวิสัชนาจนแจ่มแจ้งแล้ว ได้กล่าวอนุโมทนาและยกย่อง แต่ยังสงสัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของพระสาวก จึงปุจฉาพระเถระว่า “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา มหาโมคคัลลานะเป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ การที่พระมหาโมคคัลลานะถูกพวกโจรทุบตีจนศีรษะแตก กระดูก เส้นเอ็น สมอง แหลกละเอียด เหมือนเมล็ดข้าวสาร แสดงว่าท่านนิพพานเพราะอุปัทวะเป็นเหตุ ถ้าพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า เป็นผู้เลิศในทางมีฤทธิ์มากจริง ข้อที่ว่า ถูกพวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนนิพพาน ก็เห็นจะไม่ถูกต้อง...
ถ้าข้อที่ว่า ถูกพวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนนิพพานนั้น เป็นความจริง การที่พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์นั้น ก็ต้องผิด พระมหาโมคคัลลานะไม่สามารถกำจัดอันตรายที่จะมีแก่ตนด้วยฤทธิ์ได้หรือ ท่านไม่อาจเป็นที่พึ่งของมนุษย์และเทวโลกได้หรือ ปัญหาข้อนี้เข้าใจได้ยาก มีความขัดแย้งกันในตัว ยากที่จะทำความเลื่อมใสให้เกิดได้ ขอท่านผู้มีปรีชาญาณได้โปรดวิสัชนาให้กระจ่างแจ้งด้วยเถิด”
พระเถระได้วิสัชนาว่า “ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า พระมหาโมคคัลลานะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีฤทธิ์นั้นก็ถูก ข้อที่ว่าท่านถูกโจรทุบตีจนต้องนิพพานก็ถูก แต่การถูกทุบตีนั้น เป็นเพราะกรรมเข้ายึดไว้ คือ เป็นวิบากกรรมของท่าน ที่เคยถูกอกุศลเข้าสิงจิตให้กระทำปิตุฆาตและมาตุฆาตุ คือ ฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงกฎแห่งการกระทำได้ สักวันย่อมต้องได้รับผลของกรรมนั้น”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสแย้งว่า “ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งทั้งสอง คือ อิทธิวิสัยของผู้มีฤทธิ์ และกรรมวิบาก...เป็นอจินไตย ใครๆไม่ควรคิดมิใช่หรือ ทำไมพระมหาโมคคัลลานะจึงไม่ใช้ฤทธิ์ซึ่งมีอานุภาพเป็นอจินไตยเล่า”
พระเถระได้วิสัชนาว่า “ขอถวายพระพร สิ่งที่ไม่ควรคิดทั้งสองอย่างนี้ อย่างหนึ่งมีกำลังมากกว่า เปรียบเหมือนพระราชากับประชาชน พระราชาองค์เดียวย่อมมีอำนาจครอบงำประชาชนทั้งหมด เหมือนกรรมวิบากที่มีกำลังยิ่งกว่า ย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวงได้หมด…
สมมติมีบุคคลหนึ่ง ทำผิดพระราชอาชญาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่มีใครช่วยได้ มารดาบิดา พี่น้อง มิตรสหายก็ช่วยไม่ได้ พระราชาต้องลงโทษผู้นั้นตามความผิดของเขา ฉันใด กรรมวิบากก็มีกำลังแรงกว่าฤทธิ์ ย่อมครอบงำฤทธิ์ได้ ฉันนั้น…
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไฟไหม้ป่าลุกลามไปตามป่าใหญ่ ถึงจะมีผู้ตักน้ำไปดับสักพันโอ่ง ย่อมไม่อาจดับได้ เพราะไฟป่ามีกำลังมากกว่า ฉันใด กรรมวิบากก็มีกำลังมากกว่าฤทธิ์ ครอบงำฤทธิ์ได้ ฉันนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระถูกกรรมเข้ายึด จึงถูกพวกโจรทุบตี ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยฤทธิ์”
พระเจ้ามิลินท์สดับแล้ว ทรงยอมรับว่า “พระเถระแก้ได้ถูกต้องแล้ว”
จากการปุจฉาวิสัชนาของยอดนักปราชญ์ทั้งสองนี้ เราจะเห็นว่า คำถามทุกๆคำถาม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เต็มไปด้วยสาระทั้งนั้น ทุกคนจึงควรศึกษาไว้ เมื่อถึงคราวที่มีผู้มาถามธรรมะเรา เราจะได้ตอบปัญหาได้อย่างถูกต้อง และโน้มน้าวจิตใจของเขาให้เข้าสู่กระแสธรรมต่อไป ดังนั้นให้หมั่นฝึกฝนตนให้ดี ให้สมบูรณ์พร้อมทั้งศีล สมาธิ และปัญญา จะได้ช่วยกันเป็นทูตสันติภาพของโลก ทำโลกนี้ให้สว่างไสวด้วยแสงแห่งธรรมกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มิลินทปัญหา (ฉบับปุ้ย แสงฉาย) หน้า ๒๗๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘