มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต - รักจริงไม่ยอมทิ้งกัน

มงคลที่ ๒

คบบัณฑิต - รักจริงไม่ยอมทิ้งกัน

ท่านจงปูใบไม้ลง จงชักดาบออก
จงฆ่าข้าพเจ้าก่อน แล้วจึงฆ่าพญาเนื้อในภายหลัง

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ต่างแสวงหาหนทางหลุดพ้น ที่เป็นมนุษย์ก็ต้องแสวงหาปัจจัย ๔ ซึ่งหากได้มาตามต้องการ ก็จะบรรเทาความทุกข์ยากลำบากไปได้ชั่วคราว แต่ถ้าไม่ได้มาก็จะเป็นทุกข์กังวลใจ หลับก็ไม่เป็นสุข ตื่นก็ไม่เป็นสุข บางครั้งเมื่อได้มาแล้ว กลับมีความกังวล เพราะจะต้องตามดูแลรักษาให้สิ่งนั้นอยู่กับตัวนานๆ จึงเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอีก ยิ่งรักมากก็เป็นทุกข์มาก หากสูญเสียไปก็ยิ่งเป็นทุกข์หนักกว่าเดิมอีก เวียนวนอยู่อย่างนี้หาที่สุดไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัณหาความทะยานอยากพาไป ชีวิตไม่มีที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง จึงต้องแสวงหากันอยู่ร่ำไป

ถ้าใครได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง คือเข้าถึงพระธรรมกาย อันเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงแล้ว การแสวงหาสิ่งอื่นที่ไม่เป็นสาระก็สิ้นสุดลง

มีวาระพระบาลีใน สุวรรณมิคชาดก ความว่า

"อตฺถรสฺสุ ปลาสานิ อสึ นิพฺพาห ลุทฺทก
ปฐมํ มํ วธิตฺวาน หน ปจฺฉา มหามิคํ

ข้าแต่นายพราน ท่านจงปูใบไม้ลง จงชักดาบออก จงฆ่าข้าพเจ้าก่อน แล้วจึงฆ่าพญาเนื้อในภายหลัง"
การเสียสละใดๆ ไม่ยิ่งใหญ่เท่าเสียสละชีวิตของตนเพื่อผู้ที่ประเสริฐกว่า เพราะชีวิตเป็นสิ่งมีค่าที่สุด ไม่ว่าคนหรือสัตว์ทั้งหลายต่างรักชีวิตของตนด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีคำกล่าวว่า รักใดเสมอด้วยรักตนไม่มี ดังนั้น การที่ใครจะสละชีวิตให้คนอื่นได้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา แสดงว่าผู้ที่กล้าสละชีวิตของตัวเอง ต้องมีใจที่เด็ดเดี่ยวจริงๆ หรือผู้ที่จะได้รับการสละชีวิตนั้น ต้องมีคุณธรรมมากมายมหาศาล อย่างเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ พระอานนท์จึงกล้าที่จะสละชีวิตแทน เฉกเช่นในครั้งที่พระเทวทัตสั่งให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี เพื่อมุ่งปลงพระชนม์พระพุทธองค์ หรือเรื่องการสละชีวิตของนางเนื้อที่ทำให้นายพรานเห็นใจ แล้วเกิดความรักความเอ็นดู และยังช่วยให้นายพรานกลับใจได้ ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดมาแล้วในอดีตกาลดังนี้

*ในกรุงสาวัตถี มีธิดาของสกุลอุปัฏฐากของพระอัครสาวกทั้งสอง นางเป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีความเคารพในพระรัตนตรัย สมบูรณ์ด้วยมารยาท ยินดียิ่งในบุญในกุศล มีการให้ทาน เป็นต้น เมื่อตระกูลมิจฉาทิฏฐิที่มีชาติเสมอกันมาสู่ขอ บิดามารดาของนางไม่ยอมยกให้ เพราะกลัวว่าเมื่อยกให้ไปแล้ว ธิดาของตนจะไม่ได้ทำทาน รักษาศีล ฟังธรรม หรือทำอุโบสถกรรมตามความพอใจของตน จึงได้ปฏิเสธไปว่า
"เราไม่ให้ธิดาแก่ท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปสู่ขอนางกุมาริกาจากตระกูลอื่นเถิด"
ด้วยความที่ต้องการนางมาเป็นสะใภ้ให้ได้ จึงพูดว่า "เมื่อธิดาของท่านไปเรือนของพวกเราแล้ว จงทำบุญทำทานตามความประสงค์เถิด พวกเราจะไม่ห้าม"

ครั้นตกลงกันได้แล้ว บิดามารดาของนางจึงยอมยกให้ เนื่องจากนางเป็นกุลธิดาเพียบพร้อมด้วยความประพฤติและมารยาท จึงบำรุงสามีประดุจเทวดาและรับใช้พ่อแม่สามีเป็น อย่างดี

วันหนึ่ง นางได้พูดกับสามีว่า "ดิฉันปรารถนาจะให้ทานแก่พระเถระประจำสกุลของดิฉัน"

สามีกล่าวว่า "นางผู้เจริญ เธอจงให้ทานตามอัธยาศัยเถิด"

นางจึงนิมนต์พระอัครสาวกทั้งสองมา ได้กระทำสักการะใหญ่ ให้ฉันโภชนะอันประณีต เมื่อพระเถระทั้งสองฉันเสร็จแล้ว นางจึงกล่าวว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ ตระกูลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธา ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัย ขอพระคุณเจ้าได้โปรดสงเคราะห์ด้วยเถิด และขออาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายจงรับภิกษาหารในนี้ จนกว่าตระกูลนี้จะรู้คุณของพระรัตนตรัย" พระเถระเมตตารับนิมนต์โดยมาฉันที่บ้านนี้เป็นประจำ

ต่อมานางพูดกับสามีอีกว่า "พระเถระทั้งสองมาเป็นประจำ ทำไมท่านจึงไม่ไปดูพระเถระบ้าง เพราะการเห็นสมณะเป็นมงคล"

วันรุ่งขึ้น สามีของนางจึงเข้าไปหาพระเถระ ได้ทำปฏิสันถารกับพระเถระ ในที่สุดพระธรรมเสนาบดีจึงกล่าวธรรมิกถาแก่สามีของนาง ทำให้เขาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

ตั้งแต่นั้นมา ผู้เป็นสามีจึงให้ปูอาสนะแด่พระเถระทั้งสอง ได้ให้กรองน้ำดื่ม ฟังธรรมิกถาในระหว่างภัต ต่อมา ความเป็นมิจฉาทิฏฐิของเขาถูกทำลาย วันหนึ่ง เมื่อพระเถระกล่าวธรรมิกถาแก่สามีภรรยาแล้วประกาศอริยสัจสี่ ในเวลาจบพระธรรมเทศนา สามีภรรยาทั้งคู่ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ตั้งแต่นั้นมา ตระกูลนี้ทั้งหมดรวมทั้งบิดามารดาของสามี ตลอดจนคนรับใช้ทั้งหลายได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งกันทุกคน

วันหนึ่ง นางทาริกาได้พูดกับสามีว่า "ข้าแต่นาย จะมีประโยชน์อะไรสำหรับดิฉันในการอยู่ครองเรือน ดิฉันปรารถนาจะบวช"

สามีกล่าวว่า "ดีละ นางผู้เจริญ แม้ฉันก็จักบวช"
จากนั้น เขาได้พาภรรยาไปยังสำนักภิกษุณีพร้อมด้วยบริวารมากมาย ให้บวชเป็นภิกษุณี ส่วนตนเองได้ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อทูลขอบรรพชา ต่อมาท่านทั้งสองได้เจริญวิปัสสนาและได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

เรื่องนี้จึงเป็นหัวข้อสนทนาธรรมของภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จผ่านมาตรัสถามทราบความแล้วจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีนี้ได้ปลดเปลื้องสามี จากบ่วง คือ กิเลสทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน นางภิกษุณีนี้ได้ปลดเปลื้องโบราณกบัณฑิตจากบ่วง คือ ความตายมาแล้ว" จากนั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าดังนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็น พญาเนื้อ ที่มีรูปงาม น่ารักใคร่ น่าดูชม มีผิวพรรณเหมือนดั่งทอง ประกอบด้วยเท้าหน้าและเท้าหลังที่แข็งแรง มีสีประดุจย้อมด้วยน้ำครั่ง เขาเป็นเช่นกับพวงเงิน นัยน์ตาทั้งสองเปรียบประดุจดวงแก้วมณี และมีหางประดุจกลุ่มผ้ากัมพล ฝ่ายภรรยาของพญาเนื้อ ก็เป็นนางเนื้อสาวมีรูปงามน่ารัก ทั้งสองอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขพร้อมกับเนื้อบริวารอีก ๘๐,๐๐๐ ตัว

ต่อมาพรานเนื้อได้มาทำบ่วงดักไว้ ขณะพระโพธิสัตว์เดินนำฝูงเนื้อทั้งหลายหากินอยู่ เท้าก็ไปติดกับบ่วงของนายพราน พญาเนื้อพยายามดึงเท้ากลับด้วยความคิดที่จะทำบ่วงให้ขาด แต่บ่วงนั้นกลับบาดหนังจนขาด เมื่อดึงเท้ามาอีก เนื้อก็ขาด ครั้นกระชากขึ้นอีก บ่วงก็บาดเอ็นจนขาด และได้รัดแน่นไปจนถึงกระดูก เมื่อพระโพธิสัตว์ไม่อาจทำบ่วงให้ขาดได้ จึงร้องขึ้นว่า ที่ตรงนี้มีภัย ให้บริวารทั้งหลายรีบหนีไป หมู่เนื้อตกใจกลัวพากันหลบหนีไปทันที ส่วนภรรยาของพระโพธิสัตว์ไม่ยอมหนี รีบเข้าไปหาพระโพธิสัตว์และให้กำลังใจเพื่อให้เกิดอุตสาหะว่า " ข้าแต่นาย ท่านเป็นผู้มีกำลังมาก ท่านจงพยายามดึงบ่วงออก จงพยายามดึงบ่วงที่ติดแน่นให้ขาดเถิด ฉันผู้เดียวเว้นท่านเสียแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร"

พญาเนื้อตอบว่า "ฉันพยายามแล้ว แต่ไม่อาจทำบ่วงให้ขาดได้ ฉันเอาเท้าตะกุยแผ่นดินด้วยกำลังแรง บ่วงกลับยิ่งติด แน่นแล้วบาดเท้าฉันเข้าไปอีก"

ภรรยาพระโพธิสัตว์กล่าวปลอบโยนว่า " ข้าแต่นายผู้เจริญ ท่านอย่ากลัวเลย ดิฉันจะอ้อนวอนนายพรานให้ชีวิตแก่ท่าน ถ้าดิฉันอ้อนวอนไม่ได้ ก็จักให้ชีวิตของดิฉันแทน แล้วให้ปล่อยท่านไป" พลางยืนชิดกับพระโพธิสัตว์ผู้มีข้อเท้าที่บาดเจ็บสาหัสอาบไปด้วยโลหิต

ฝ่ายนายพรานได้ถือดาบและหอกเดินมา เมื่อนางเนื้อเห็นนายพรานแล้ว จึงเดินเข้าไปหาด้วยความองอาจ พลางขอชีวิตให้พญาเนื้อโดยกล่าวว่า "ข้าแต่นายพราน ท่านจงปูใบไม้ลง จงชักดาบ จงฆ่าข้าพเจ้าก่อน แล้วจึงฆ่าพญาเนื้อในภายหลังเถิด"
นายพรานได้ฟังดังนั้น คิดว่า คนที่เป็นมนุษย์ยังไม่ให้ชีวิตตนเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นเลย ไฉนเนื้อนี้เป็นสัตว์เดียรัจฉานยังสละชีวิตของตนได้ทั้งยังกล่าวเป็นภาษา มนุษย์ด้วยเสียงอันไพเราะอีกด้วย ชะรอยสัตว์นี้จะเป็นสัตว์มีบุญ ถ้าเราทำลายชีวิตของสัตว์ทั้งสอง บาปกรรมอันสาหัสก็จะตกอยู่กับเรา วันนี้เราจะให้ชีวิตแก่สัตว์ทั้งสองตัวนี้

คิดดังนี้แล้ว นายพรานจึงเดินไปหาพระโพธิสัตว์ เอามีดตัดบ่วงที่ข้อเท้า ค่อยๆ นำบ่วงออกจากเท้า แล้วเอาเอ็นต่อกับเอ็น เอาเนื้อปิดเนื้อ เอาหนังปิดหุ้มแล้วเอามือบีบนวดเท้า ด้วยอานุภาพ บารมีที่พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมาและเมตตาบารมีของนายพราน และด้วยอานุภาพแห่งมหาทานบารมีที่นางเนื้อยอมสละชีวิต ทำให้บุญบันดาลให้เอ็น เนื้อ และหนังที่ขาดกลับเป็นปกติดังเดิมในทันที

พระโพธิสัตว์คิดว่า นายพรานนี้เป็นที่พึ่งของเรา แม้เราก็ควรเป็นที่พึ่งแก่นายพรานด้วย จึงมอบดวงแก้วมณีที่มีอานุภาพดวงหนึ่งให้แก่นายพราน พลางให้โอวาทแก่นายพรานว่า " สหาย ตั้งแต่นี้ไปท่านอย่าได้ทำบาปมีปาณาติบาตอีกเลย จงรวบรวมทรัพย์สมบัติเลี้ยงดูครอบครัว แล้วทำบุญมีทานและศีล เป็นต้น ด้วยอานุภาพแห่งดวงแก้วมณีนี้เถิด"
จากนั้นทั้งสองได้เที่ยวไปในป่าด้วยความสวัสดี ท่านรอดพ้นจากมรณภัยเพราะการเสียสละของภรรยา หลังจบพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "นางเนื้อได้มาเป็นภิกษุณีสาวในชาตินี้ ส่วนพญาเนื้อ ได้มาเป็นเราตถาคต"
เราจะเห็นว่า อานุภาพของการเสียสละอันยิ่งใหญ่นั้น สามารถทำให้ดวงใจของนายพรานผู้แข็งกระด้างกลับอ่อนโยนลงทันที และด้วยการช่วยเหลือสงเคราะห์ซึ่งกันและกันทำให้ทุกชีวิตอยู่ได้อย่างมีความ สุข การเสียสละนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ให้หลักพวกเราไว้แล้วว่า ถ้าจะต้องเสียสละ ก็ให้เสียสละไปตามลำดับ เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และจงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะไว้

ดังนั้น ให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อรักษาธรรมะของเราให้มั่นคง ให้สละอารมณ์ สละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อการเข้าถึงพระรัตนตรัยให้ได้กันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. สุวรรณมิคชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๗๗๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘