มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - ควรคุ้มครองอินทรีย์



มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
ควรคุ้มครองอินทรีย์

ในเวลาเกิดความลำบาก บุคคลใดอดทนต่อความลำบากได้
บุคคลนั้นย่อมไม่เป็นไปตามความลำบาก บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์
ย่อมบรรลุสุขปราศจากเครื่องประกอบอันเป็นที่สุดของความลำบาก

มวลมนุษยชาติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ภาษาใดก็ตาม ล้วนปรารถนาสันติภาพที่แท้จริง เพื่อให้การดำรงชีวิตอยู่อย่างปราศจากภัยทั้งหลาย จึงแสวงหาสันติสุขกันมายาวนาน สันติในทางพระพุทธศาสนานั้น คือ พระนิพพาน เป็นจุดหมายปลายทางที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา เป็นความสงบจากกิเลสอาสวะ และอวิชชา มีแต่ความบริสุทธิ์ และความสุขอันเกิดจากธรรมล้วนๆ ที่ไม่มีความทุกข์ใดเจือปนเลย เป็นเอกันตบรมสุข สุขอย่างยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าใครได้เข้าถึงพระธรรมกาย ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็เท่ากับว่า ได้บรรลุถึงสันติสุขอันไพบูลย์

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน อินทริยชาดก ความว่า

กิจฺฉกาเล กิจฺฉสโห โย กิจฺฉํ นาติวตฺตติ
ส กิจฺฉนฺตํ สุขํ ธีโร โยคํ สมธิคจฺฉติ

ในเวลาเกิดความลำบาก บุคคลใดอดทนต่อความลำบากได้บุคคลนั้นย่อมไม่เป็นไปตามความลำบาก บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมบรรลุสุขปราศจากเครื่องประกอบอันเป็นที่สุดของความลำบากŽ

การที่เราจะประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดนั้น เราต้องเหน็ดเหนื่อยกับหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อที่จะแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงชีวิต ความลำบากนี้บางทีก็มีประโยชน์ คือช่วยสร้างคนให้มีความเข้มแข็ง และก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามมากมาย ในประวัติศาสตร์โลก ไม่มีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ตอนใด ที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายโดยไม่มีอุปสรรคมาขัดขวาง มีแต่ต้องผจญกับอุปสรรคความยากลำบาก ในการใช้ชีวิตก็เช่นกัน หากบุคคลใดอดทนต่อความลำบากได้ บุคคลนั้นย่อมจะประสบความสุขในที่สุด

ทุกๆ ชีวิตไม่ว่าจะเป็นสมณะ อุบาสก อุบาสิกาหรือฆราวาส ล้วนต้องมีสิ่งที่ต้องระมัดระวัง สิ่ง นั้น คือ การคุ้มครอง อินทรีย์อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หากเราไม่รู้จักคุ้มครอง ให้ดี ก็จะเป็นช่องทางมาแห่งความทุกข์ ช่องทางของอาสวกิเลส ทั้งหลาย ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวล การคุ้มครองระวังอินทรีย์นี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกๆ คน หากใครได้ระวังอย่างดีแล้ว หนทางที่จะพ้นทุกข์ก็ปลอดโปร่ง แต่ถ้าใครดูเบาตรงนี้ การที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ยืดเวลาออกไป

*ในสมัยพุทธกาล ครั้งที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ได้มีกุลบุตรท่านหนึ่งมาฟังธรรมที่วัดพระเชตวัน และเกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงสละความสะดวกสบายในทางโลก ออกบวชในสำนักของพระพุทธองค์ ครั้นบวชแล้วได้ประพฤติปฏิบัติสมณกิจด้วยดีตลอดมา เนื่องจากท่านเป็นภิกษุนวกะ เพิ่งบวชได้ไม่นาน จึงต้องนั่งท้ายอาสนะเสมอๆ และในสมัยนั้นมีภิกษุบวชเข้ามามากมาย อาหารที่ท่านได้ฉันในแต่ละวันก็ไม่เพียงพอ ทั้งยังเป็นอาหารที่ไม่ประณีต บางวันมีแค่น้ำข้าวต้ม บางวันได้อาหารบูดบ้าง ไม่มีวันใดที่ท่านได้ฉันอย่างอิ่มหนำสำราญ

ภิกษุนั้นถืออาหารของตนกลับไปที่บ้าน ภรรยาเก่าของท่านเห็นอาหารที่บูดบ้าง แข็งบ้างก็เททิ้ง และจัดอาหารที่ละเอียดประณีตถวายท่านเป็นประจำ ทำให้ท่านติดในรส วันหนึ่ง ภรรยาเก่าคิดว่า เราจะทดลองใจภิกษุนี้ดูว่า ติดในรสอาหารหรือไม่ นางจึงเชิญแขกให้มานั่งในเรือน และให้คนรับใช้นำอาหารมาให้เขาเหล่านั้นเคี้ยวกิน จากนั้นนางให้คนรับใช้เทียมเกวียน ทำทีว่าจะเดินทาง ส่วนตนแอบไปนั่งทอดขนมอยู่หลังบ้าน เมื่อถึงเวลาพระภิกษุนั้นก็มายืนหน้าประตู คนรับใช้ก็รีบส่งเสียงบอกว่า มีพระมาบิณฑบาตหน้าบ้าน นางตอบว่า นิมนต์ท่านไปโปรดบ้านข้างหน้าเถิด เราไม่ว่างŽ แม้คนรับใช้จะนิมนต์ให้ท่านไปอย่างไร ท่านก็ไม่ไป คนรับใช้จึงแจ้งแก่นาย ภรรยาเก่า รู้อยู่แก่ใจแล้ว จึงออกจากหลังเรือน และกล่าวกับท่านว่า

พระคุณ เจ้า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ท่านจะได้เห็นดิฉัน ตั้งแต่ท่านออกบวช ดิฉันยังซื่อสัตย์ต่อท่านเสมอ แต่การอยู่ครองเรือนด้วยหญิงตัวคนเดียวนั้นเป็นไปได้ยาก วันนี้ดิฉันจะเดินทางไปแต่งงานใหม่ ถ้าเคยล่วงเกินพระคุณเจ้าก็ขอให้ ยกโทษให้ด้วยเถิดŽ
ภิกษุรูปนั้นถึงกับใจหาย รีบกล่าวว่า ท่านอย่าไปเลยฉันจะสึกในวันนี้แหละŽ ท่านรีบเดินย้อนกลับไป พระเชตวันวิหาร เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ขอลาสิกขา พระอาจารย์ และพระอุปัชฌาย์แต่ละองค์ต่างไม่ปรารถนาจะให้ท่านสึก จึงนำท่านไปยังสำนักของพระบรมศาสดา เพื่อรับฟังพุทธโอวาท เมื่อไปถึงพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุการที่เธอไม่คุ้มครองอินทรีย์แล้วเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ภพชาตินี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เธอก็เสื่อมจากฌานสี่ เพราะเหตุที่ไม่สำรวมอินทรีย์Ž จากนั้นพระพุทธองค์นำเรื่องอดีตมาตรัสเล่าว่า

เมื่อพระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตของ พระเจ้าพรหมทัต ในวันที่พระโพธิสัตว์เกิดนั้น ได้มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น คือ บรรดาสรรพาวุธทั้งหมดในพระนคร สว่างโพลงไปหมด เพราะสาเหตุนั้น หมู่ญาติจึงขนานนามว่า โชติปาละ ครั้นเติบใหญ่ขึ้น หลังจากเรียนจบศิลปวิทยาต่างๆ แล้ว แทนที่ท่านจะรับราชการต่อจากบิดา ท่านกลับละทิ้งความสบายในทางโลก เข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งได้ฌาน และอภิญญา อยู่อาศรมเล็กๆ ที่ป่ามะขวิดที่ท้าวสักกะเนรมิตถวาย และมีพระฤๅษีหลายร้อยตนเป็นบริวาร ท่านมีลูกศิษย์ชั้นหัวหน้าถึง ๗ ตนด้วยกัน บางตนมีลูกศิษย์อีกหลายพันตน และได้แยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ยกเว้นอนุสิสสฤๅษีที่อยู่คอยอุปัฏฐากรับใช้พระโพธิสัตว์เท่านั้น

ฤๅษีตนหนึ่งชื่อว่า นารทฤๅษี ผู้เป็นน้องชายของกาฬเทวิลฤๅษี ได้ไปอยู่ที่ถ้ำภูเขาอัญชนะในป่ามัชฌิมประเทศ ใกล้หมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งเพียงตนเดียว ซึ่งมีแม่น้ำใหญ่คั่นกลางไว้ ที่แม่น้ำใหญ่นี้เป็นที่ประชุมของมหาชนทั้งหลาย จึงทำให้ที่บริเวณนั้นไม่สงบมีเสียงดังอึกทึก แรกๆ นารทฤๅษีก็ไม่คิดอะไร เพราะท่านได้ฌานสมาบัติ และคุ้มครองอินทรีย์ตลอดเวลา

วัน หนึ่งท่านละเลยการคุ้มครองอินทรีย์ ได้ยืนมองดูมหาชน และเหลือบไปเห็นนางวรรณทาสีคนหนึ่งที่มีรูปร่างงดงาม จึงมีจิตปฏิพัทธ์ เมื่อเกิดความกำหนัดยินดี ฌานก็เสื่อม กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทนทุกข์ทรมานอยู่ถึง ๗ วัน

ในวันที่ ๗ นั้นเอง กาฬเทวิลฤๅษีตรวจตราดู รู้ว่าน้องชายตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น จึงเหาะมาเยี่ยมถึงถ้ำ นารทดาบสเห็นพี่ชายมาก็ถามว่า มาทำไมŽ ท่านตอบว่า ก็เธอไม่สบาย เราจะมารักษาเธอŽ นารทดาบสตอบแก้เขินว่า ท่านพูดอะไร กล่าวเหลวไหลŽ กาฬเทวิลรู้ว่าน้องชายไม่ฟังตน จึงไปเชิญฤๅษีมาอีก ๓ ตนคือ สาลิสสระ เมณฑิสสระ และบรรพติสสระ ให้มาช่วยเป็นกัลยาณมิตรให้ แต่ถูกนารทดาบสปฏิเสธ และกล่าวกลบเกลื่อน กาฬเทวิลดาบสจึงคิดว่า เราต้องไปเชิญอาจารย์มาให้โอวาทŽ ท่านรีบเหาะไปอาราธนาพระโพธิสัตว์ทันที

เมื่อพระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ เห็นสภาพของศิษย์รักเช่นนั้น ก็กล่าวว่า ดูก่อนนารทะ เธอไม่คุ้มครองอินทรีย์ถึงตกอยู่ในสภาพอย่างนี้Ž นารทดาบสเห็นอาจารย์มา ก็ลุกขึ้นไหว้และยอมรับผิด
พระโพธิสัตว์ ให้โอวาทต่อไปว่า ดูก่อนนารทะ คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส เพราะไม่ระวังอินทรีย์ในชาตินี้ ก็มีอัตภาพซูบซีด ชาติต่อไปก็มีนรกเป็นที่ไป บุรุษใดตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรีเพราะกาม บุรุษนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเกิดในอบายมีนรก เป็นต้น เธอจงอดทน และไม่ควรที่จะเคลื่อนจากธรรมอันดีที่เคยได้ เพราะปรารถนากามเลย จงตั้งใจบำเพ็ญเพียรด้วยดีเถิด ชีวิตของเธอจะประสบสุขในบั้นปลายŽ

เมื่อนารทดาบสได้ฟังโอวาทของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์เช่นนี้ ท่านกลับได้สติดังเดิม รีบดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ เริ่มตั้งความเพียรอย่างกลั่นกล้า ทำฌาน และอภิญญาให้บังเกิดขึ้นเหมือนเดิม ครั้นพระศาสดาแสดงธรรมจบแล้ว พระภิกษุผู้มีใจอยากสึกก็มีดวงตาเห็นธรรมได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

เราจะเห็นว่า การคุ้มครองอินทรีย์เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง หากเราคุ้มครองอินทรีย์ได้ ก็เท่ากับเราได้ปิดช่องทางของอาสวกิเลสที่จะเข้ามาในจิตใจเรา และได้ให้โอกาสแก่ตนเองที่จะสั่งสมความบริสุทธิ์ สั่งสมความดีเพิ่มยิ่งขึ้น เป็นการปิดโอกาสของบาปอกุศล และเปิดโอกาสให้กุศลธรรมได้เจริญงอกงามขึ้นมาในใจ ได้ชื่อว่าเดินบนหนทางแห่งความบริสุทธิ์ ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ดังนั้น ขอให้รู้จักคุ้มครองอินทรีย์ของเราให้ดี เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของเราตลอดไป
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. อินทริยชาดก เล่ˆม ๕๙ หน้‰า ๕๕๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘