มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๙ ( ประลองปัญญา )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๙
( ประลองปัญญา )

สัตบุรุษทั้งหลาย สรรเสริญปัญญาเท่านั้น สิริสมบัติเป็นที่ใคร่ของคนไม่ฉลาด เพราะมนุษย์ทั้งหลายยินดีในโภคสมบัติ ก็ความรู้ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ใครๆ ก็ชั่งไม่ได้ในกาลไหนๆ คนมีสิริสมบัติย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาไปได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ

วันเวลาที่ผ่านไป ได้นำความชรามาสู่ตัวเรา ชีวิตมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไป สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุตรธิดา ทรัพย์สินเงินทอง ญาติพี่น้อง ล้วนไม่อาจติดตามเราไปสู่ปรโลกได้ มีแต่กุศลผลบุญที่สั่งสมไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นดังเงาติดตามตัวไป ดังนั้น เราต้องตระหนัก และแสวงหาหลัก ของชีวิต ด้วยการสั่งสมบุญบารมี รีบประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือ พระรัตนตรัยให้ได้ ชีวิตเราจะได้ปลอดภัย และมีความสุขไปทุกภพทุกชาติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดกว่า
"สัตบุรุษทั้งหลาย สรรเสริญปัญญาเท่านั้น สิริสมบัติเป็นที่ใคร่ของคนไม่ฉลาด เพราะมนุษย์ทั้งหลายยินดีในโภคสมบัติ ก็ความรู้ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ใครๆ ก็ชั่งไม่ได้ในกาลไหนๆ คนมีสิริสมบัติย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาไปได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ"

ผู้คนส่วนใหญ่ที่เกิดมา มักปรารถนาทรัพย์สมบัติมากกว่าการแสวงหาวิชาความรู้ เพราะมองกันสั้นๆ ว่า สมบัตินอกตัวเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่จะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในภพชาตินี้ แต่วิสัยของนักปราชญ์บัณฑิต ท่านมองการณ์ไกล มองข้ามไปในภพเบื้องหน้า ท่านจึงมีข้อวัตรปฏิบัติที่ตรงกันข้าม ท่านจะขวนขวายแสวงหาปัญญาใส่ตัวให้มากที่สุด สั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่ ฝึกฝนอบรมตนเองตลอดเวลา และหมั่นพิจารณาคุณธรรมในตัวเองว่า คุณธรรมข้อใดที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดขึ้นมา ส่วนคุณธรรมข้อใดที่มีอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วนทรัพย์สินเงินทองนั้น ท่านมีไว้พอเป็นอุปกรณ์ในการดำรงชีพ และเพื่อสั่งสมบุญบารมีให้แก่รอบยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ขอเพียงให้มีบุญ มีปัญญามากๆ ทรัพย์สมบัติภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดา แก้วแหวนเงินทอง หรือของมีค่าทั้งหลาย ล้วนอยู่ในความสามารถที่จะหามาได้ทั้งนั้น เหมือนเรื่องของมโหสถบัณฑิตที่ท่านสั่งสมบุญบารมี สั่งสมปัญญาบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้อายุยังน้อยแต่ดวงปัญญาของท่านสว่างไสวกว่าคนธรรมดา จนกระทั่งพระราชาต้องการพบตัว และอยากได้มาเป็นบัณฑิตคู่ใจ

*สำหรับเรื่องของมโหสถบัณฑิตนี้ ต่อจากตอนที่แล้วที่พระราชาได้ทดลองปัญญาของมโหสถหลายครั้งจนเป็นที่พอ พระทัย แต่เนื่องจากอาจารย์เสนกะได้ทูลทัดทานไว้ ทำให้มโหสถยังไม่มีโอกาสได้เข้ามาเป็นมหาบัณฑิตในราชสำนัก

พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า จักทดลองปัญญาของมโหสถอีกสักสองครั้ง หากมโหสถสามารถแก้ปัญหา และ ปมปริศนาของพระองค์ได้ ก็จะนำมโหสถเข้ามาในราชสำนัก วันต่อมาพระองค์จึงได้ส่งข่าวไปว่า ชาวบ้านยวมัชฌคาม จงหุงข้าวที่ประกอบด้วยองค์แปด และให้นำมาถวายในราชสำนัก องค์แปดนั้น คือ ไม่ให้หุงด้วยข้าวสาร ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าว ไม่ให้หุงด้วยเตา ไม่ให้หุงด้วยไฟ ไม่ให้หุงด้วยฟืน ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา ไม่ให้นำมาส่งตามหนทาง หากชาวบ้านส่งมาไม่ได้ จะปรับสินไหม ๑,๐๐๐ กหาปณะ

ชาวบ้านได้รับราชโองการเช่นนี้ ไม่สามารถแก้ปมปริศนาของพระราชาได้ คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก มองไม่เห็นว่าจะหุงข้าวได้อย่างไร เรื่องก็ไปถึงมโหสถเช่นเคย มโหสถบัณฑิตจึงปลอบใจชาวบ้านว่า อย่ากลัวไปเลย วิธีแก้ปัญหาของพระราชามีอยู่ว่า ให้ท่านทั้งหลายหุงด้วยข้าวแหลก เพราะปลายข้าวไม่ชื่อว่าข้าวสาร แม้พระราชาจะไม่ให้หุงด้วยน้ำตามปกติ ก็ให้เอาน้ำค้างยามเช้ามาหุงแทน เมื่อไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าว ก็จงใช้ภาชนะดินใหม่มาหุงแทน ให้ใช้ตอไม้ตั้งภาชนะแทนเตาหุง พระราชาไม่ให้ใช้ไฟตามปกติ ก็ให้ใช้ไฟที่เกิดจากไม้สีกันมา หุงแทน จากนั้นให้หุงด้วยใบไม้แทนการให้ฟืน เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่า หุงข้าวตามที่ทรงรับสั่งนั่นเอง

เมื่อหุงเสร็จแล้ว ให้ท่านทั้งหลายบรรจุในภาชนะใหม่ ผูกด้วยด้ายประทับตรา อย่าให้หญิงหรือชายยกไป ให้กะเทยยกไปแทน ให้เดินถือไปนอกเส้นทาง เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่าละหนทางใหญ่ การหุงข้าวด้วยองค์ประกอบ ๘ อย่าง จึงเป็นอันสำเร็จ เมื่อชาวบ้านได้รับคําแนะนำ ต่างปีติเบิกบานใจ รีบจัดแจง ตามที่มโหสถแนะนำทุกอย่าง พระราชาทอดพระเนตรเห็นสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาแสดง จึงตรัสถามว่า ปัญหานี้ใครเป็นคนแก้ ครั้นรู้ว่าเป็นมโหสถ ก็ทรงโปรดปรานมากยิ่งขึ้น

วันต่อมา พระราชาโปรดให้ส่งข่าวไปยังชาวบ้านอีก เพื่อทดลองมโหสถบัณฑิตว่า พระราชาใคร่จะทรงเล่นชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย เนื่องจากเชือกทรายเก่าในราชสกุลขาดเสียแล้ว จึงให้ชาวบ้านช่วยกันฟั่นเชือกทรายเส้นหนึ่งมาถวาย ถ้าส่งมาไม่ได้ จะปรับสินไหม ๑,๐๐๐ กหาปณะ
ชาวบ้านรับพระบัญชาจากพระราชา ก็รีบแจ้งมโหสถ บัณฑิต มโหสถบัณฑิตคิดว่า "เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีชิงช้าที่ทำด้วยเชือกทราย" ได้ปรึกษาชาวบ้านว่า ให้ตัวแทนชาวบ้านสองสามคน เดินเข้าไปในพระ-ราชนิเวศน์ และกราบทูลพระราชาว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ชาวบ้านไม่รู้ว่า ต้องการขนาดของเชือกทรายเล็กหรือใหญ่เท่าไร ขอสมมติเทพโปรดให้ส่งท่อนเชือกทรายเส้นเก่าสักคืบหนึ่งหรือสี่นิ้วมาให้ดูพอ เป็นตัวอย่าง พวกชาวบ้านเห็นขนาดของเชือกทรายนั้นแล้ว จึงจะฟั่นมาถวายได้"
พวกชาวบ้านรู้วิธีแก้ปัญหาแล้ว ต่างดีใจ และรีบส่งตัวแทนผู้มีวาทศิลป์ เดินทางเข้าไปกราบทูลขอดูเชือกทรายเก่า พระราชาได้ฟังคำกราบบังคมทูลเช่นนั้น ทรงรับสั่งว่า "เชือกทราย ในพระราชฐานของเราไม่เคยมีแต่ไหนแต่ไรมา เราไม่มีแบบให้พวกท่านดูหรอก" เมื่อได้โอกาส ตัวแทนชาวบ้านจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช เมื่อเชือกทรายตัวอย่างยังไม่มี ไฉนชาวบ้าน ยวมัชฌคามจะทำได้พระเจ้าข้า"
ครั้นพระราชาทรงทราบว่า มโหสถบัณฑิตเป็นผู้แนะวิธีการแก้ปัญหา ทรงปีติโสมนัสมาก ตรัสถามเสนกะอาจารย์ว่า "เราควรนำมโหสถบัณฑิต มายังราชสำนักได้หรือยัง" อาจารย์เสนกะกราบทูลด้วยความตระหนี่ในลาภสักการะว่า "บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอได้ทรงรอไปก่อนพระเจ้าข้า" พระเจ้าวิเทหราชทรงมีพระดำริว่า "มโหสถบัณฑิตแก้ปัญหาถูกใจเรายิ่งนัก สามารถแก้ปัญหาที่ลึกลับ และยังย้อนปัญหาได้ถึงปานนี้ ดุจการพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าทีเดียว"
เมื่อทรงดำริถึงปัญญาอันเฉียบแหลมของมโหสถเช่นนี้ จึงมีพระราชประสงค์ให้นำมโหสถเข้ามาสู่ราชสำนัก ถึงขนาดทรงตัดสินพระทัยจะเสด็จไปทรงรับด้วยพระองค์เอง อาจารย์เสนกะเห็นว่า ไม่อาจทูลทัดทานได้อีกต่อไป จึงแสร้งทำเป็นเห็นดีด้วย แต่ก็มีวิธีการที่จะไม่ยอมให้มโหสถเข้ามาเป็นบัณฑิตจนได้ ซึ่งถือว่าเป็นไม้ตาย เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบมโหสถ อาจารย์เสนกะแนะนำว่า "ขอพระองค์อย่าเสด็จไปเองเลย พระเจ้าข้า เพียงแต่ให้ส่งทูตไปหามโหสถ และให้มีราชโองการไปว่า เธอจงส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมา ถ้าเธอจักส่งม้าอัสดรมา เธอจงมาเอง แต่เมื่อจะส่งแต่ม้าประเสริฐมา จงส่งบิดาของเธอมาด้วย"
พระราชาทรงสดับแล้ว ก็เห็นชอบด้วย จึงส่งราชทูตไปเชิญมโหสถเข้าวัง มโหสถบัณฑิตได้ปรึกษากับบิดาว่า "เมื่อไปอย่าไปมือเปล่า โบราณว่า ไปเฝ้าพระราชา ไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์ หรือไปหาหนุ่มสาวที่ตนมั่นหมาย อย่าได้ไปมือเปล่า ขอคุณพ่อจงเอาผอบไม้จันทน์บรรจุเนยใสใส่ไปด้วย" จากนั้นได้ปรึกษาหารือวิธีแก้ปัญหาอันจะเกิดขึ้นในราชสำนัก เพื่อจะได้เป็นที่ถูกพระทัยของพระราชา เพราะการเข้าวังครั้งนี้ เกี่ยวเนื่องกับความเป็นความตาย และชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูลทีเดียว

ส่วนมโหสถบัณฑิตจะผ่านการทดลองขั้นสุดท้ายหรือไม่อย่างไร ไว้ตอนต่อไปเรามาติดตามกันต่อ อย่าลืมหมั่นแสวงหาปัญญา หาโอกาสศึกษาธรรมะ ทั้งภาคปริยัติ และปฏิบัติให้มากๆ จะได้มีดวงปัญญาสว่างไสวกันทุกคน
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๔๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘