เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๑๐ ( ชูชกกล่าวขอโอรสธิดา )

เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๑๐
( ชูชกกล่าวขอโอรสธิดา )
ห้วงน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมตลอดเวลาย่อมไม่เหือดแห้ง ฉันใด
พระองค์ก็เป็นผู้มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ฉันนั้น
ข้าพระองค์มาเพื่อทูลขอพระโอรสพระธิดากับพระองค์
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระโอรส และพระธิดาแก่ข้าพระองค์ผู้ทูลขอเถิด
พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาได้เข้าถึงพระรัตนตรัยและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอร หัตได้ตรัสรู้เป็นพระหันอรตสัมมาสัมพุทธเจ้า หมดสิ้นกิเลสอาสวะ มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ จึงเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ผู้มีจิตเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผลบุญอันเลิศย่อมบังเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น และบุญนั้นยังตามส่งผลข้ามภพข้ามชาติไป จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม การทำสมาธิภาวนาด้วยการเจริญพุทธานุสติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์จึงมีอานิสงส์ใหญ่ สมควรที่พวกเราทั้งหลายจะต้องฝึกให้เป็นอุปนิสัย บุญใหญ่ย่อมจะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน
มีถ้อยคำที่ชูชกได้กล่าวขอพระโอรส และพระธิดากับพระเวสสันดรว่า
"ห้วงน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมตลอดเวลาย่อมไม่เหือดแห้ง ฉันใด พระองค์ก็เป็นผู้มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาฉันนั้น ข้าพระองค์มาเพื่อทูลขอพระโอรสพระธิดากับพระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระโอรส และพระธิดาแก่ข้าพระองค์ผู้ทูลขอเถิด"

เราทุกคนต่างรู้กันดีว่า การมีอุปนิสัยบัณฑิตนักปราชญ์ เป็นการพัฒนาคุณธรรมให้สูงขึ้น เป็นบันไดก้าวสู่สวรรค์ การมีอุปนิสัยเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานอันสูงส่งกว่าสวรรค์นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง บุคคลนั้นต้องเป็นอภิมหาปราชญ์ มีใจสูงส่งกว่าบุคคลธรรมดามากนัก พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา ท่านกล้าที่จะสละได้แม้กระทั่งบุตรธิดา ซึ่งไม่มีใครในโลกทำได้ แม้เพียงแค่ความคิดยังไม่กล้าคิดกันเลย

ท่านเป็นผู้กล้าให้ กล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำความดี โดยไม่กลัวปัญหา และอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ท่านพิชิตความตระหนี่ในตัวได้ แม้ท่านจะไม่ได้เกิดในยุคสมัยที่มนุษย์ยินดีในการบริจาค หรือในยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเหมือนพวกเรา แต่พระองค์กลับทุ่มเทสร้างบารมี เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก นำพามนุษยชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งสังสารวัฏอันยาวไกล ทรงย่นย่อหนทางไปสู่พระนิพพานให้ใกล้เข้ามา

เพราะฉะนั้น เหล่าพุทธบริษัทควรจะหาโอกาสศึกษาปฏิปทาอันสูงส่งของพระองค์ว่า ท่านมีแนวคิดในการสร้างบารมีอย่างไร ทำไมถึงกล้าสละพระโอรสพระธิดา ผู้เป็นที่รักดังแก้วตาดวงใจ ท่านปรารถนาความสุขอะไรที่ยิ่งไปกว่านั้น จึงบริจาคในสิ่งที่มนุษย์ในโลกทำได้ยากยิ่ง ครั้งที่แล้วถึงตอนที่ พราหมณ์ชูชกเดินทางมาถึงสถานที่ที่พระโพธิสัตว์เจ้าของเราประทับอยู่ เพื่อจะขอกัณหาชาลี ผู้เป็นพระโอรส และพระธิดาไปเป็นข้าทาสรับใช้ของนางอมิตตตา เรามาติดตามฟังกันต่อไป
*พราหมณ์ชูชกมีความฉลาดอยู่ไม่น้อย เมื่อเดินทางมา ถึงในตอนเย็น ได้ศึกษาลู่ทางที่จะขอพระโอรสพระธิดาว่า จะขอเวลาไหนถึงจะเหมาะ จะต้องพูดจาอย่างไร พระเวสสันดรจึงจะไม่โกรธ แต่กลับบริจาคบุตรธิดาด้วยความปลื้มปีติโสมนัสไม่รู้สึกเสียดาย
*มก. เวสสันตรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๖๙๔

เมื่อชูชกอำลาอัจจุตฤาษีแล้ว ได้เดินทางไปตามที่ท่านบอกไว้ทุกประการ ไปจนถึงฝั่งโบกขรณี ชูชกคิดว่าวันนี้เย็นมากแล้ว เห็นทีพระนางมัทรีจักเสด็จกลับจากหาผลไม้ในป่า อยู่กับพระโอรสพระธิดา ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงส่วนใหญ่รักลูกมากกว่าชาย แม้ชีวิตก็ยอมแลกได้ นางอาจทำอันตรายแก่ทานที่พระเวสสันดร จะบริจาค จึงหาที่หลับนอนเอาเรี่ยวแรงก่อน เพื่อเตรียมตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น
ในราตรีนั้นเอง เวลาใกล้รุ่ง พระนางมัทรีได้ทรงพระสุบิน ว่า มีชายคนหนึ่งผิวดำนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดสองผืน ทัดดอกไม้สีแดงทั้งสองหู ถืออาวุธตะคอกขู่เข้ามาในบรรณศาลา จับชฎาของพระนางฉุดคร่าออกมา แล้วผลักให้ล้มลงบนพื้น ควักดวงพระเนตรทั้งสอง และตัดพระพาหาทั้งสองของพระนาง ใช้มีดควักเนื้อหัวใจ ซึ่งมีหยาดพระโลหิตไหลออกมาไม่ขาดสาย จากนั้น ก็หลีกไป พระนางมัทรีผวาตื่นจากบรรทมทันที ทั้งสะดุ้ง ทั้งตกพระหทัย ทรงรำพึงว่า "คืนนี้เราฝันร้าย บุคคลผู้จะทำนายฝันเช่นกับพระเวสสันดรคงไม่มี" พระนางรีบเสด็จไปเคาะประตูบรรณศาลาของพระโพธิสัตว์ทันที
ครั้นพระเวสสันดรได้ยินเสียงเคาะประตู พร้อมกับเสียงของพระนางมัทรี พระองค์ตรัสทักท้วงว่า "แน่ะนางผู้เจริญ เธอทำลายกติกาวัตรของเราทั้งสองแล้ว ทำไมเธอจึงมาในเวลาไม่สมควร" พระนางมัทรีกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉัน มิได้มาเฝ้าด้วยอำนาจกิเลส แต่ว่าหม่อมฉันฝันร้าย" จากนั้นได้เล่าเรื่องที่ทรงฝันร้าย พระเวสสันดรทรงดำริว่า ทานบารมี ของเราใกล้จะเต็มรอบเข้ามาทุกขณะ พรุ่งนี้จักมียาจกมาขอบุตรธิดาอย่างแน่นอน จึงทรงสรรหาถ้อยคำที่ทำให้นางเบา พระทัย และให้กลับไปที่อาศรมทำภารกิจตามปกติ
เมื่อถึงยามสว่าง พระนางมัทรีทรงถือกระเช้าไปหา ผลหมากรากไม้ในป่าตามที่เคยปฏิบัติทุกวัน ฝ่ายชูชกคิดว่า บัดนี้พระนางมัทรีคงจะเสด็จเข้าป่าไปแล้ว จึงมุ่งหน้าไปยังอาศรมของพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์เจ้าทอดพระเนตรการมาของยาจกด้วยความมั่นใจว่า วันนี้ต้องมีผู้เดินทางมาขออะไรจากพระองค์อย่างแน่นอน ครั้นเห็นชูชกพราหมณ์กำลังเดิน มุ่งหน้ามา จึงตรัสว่า "เรามีชีวิตที่ลำบากมาตั้ง ๗ เดือน เพราะ ไม่ได้บริจาคทาน ท่านมาก็ดีแล้ว เชิญเข้ามาข้างใน เชิญเลือกบริโภคแต่สิ่งที่ดีเถิด ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาถึงป่าใหญ่แห่งนี้ ด้วยความประสงค์อะไรจากเรา จงบอกไปตามความเป็นจริงเถิด"

จากนั้นได้ตรัสเรียกพระชาลีราชกุมารเข้ามา รับสั่งให้ต้อนรับปฏิสันถารพราหมณ์ชูชกเป็นอย่างดี เมื่อพระชาลีราชกุมารทำปฏิสันถารแล้วก็หลีกไป ทรงคิดว่า ตาพราหมณ์คนนี้ เป็นคนมีลักษณะหยาบเหลือเกิน เนื่องจากเป็นเด็กฉลาดจึงพิจารณาเห็นโทษ ๑๘ ประการของพราหมณ์ แต่ก็ไม่ได้นึกดูหมิ่นพราหมณ์ ตั้งใจดูแลเป็นอย่างดี
ชูชกทูลว่า "ห้วงน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมตลอดเวลาย่อมไม่เหือดแห้ง ฉันใด พระองค์มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาฉันนั้น ข้าพระองค์มาเพื่อทูลขอพระโอรสพระธิดากับพระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระโอรสพระธิดาแก่ข้าพระองค์ผู้ทูลขอเถิด"
พระเวสสันดรได้ทรงสดับคำของชูชกเช่นนั้น ทรงเกิดความปีติโสมนัสตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ เรายกให้ท่านได้ เราไม่ลำบากใจอะไรเลย ท่านจงนำไปเถิด พระนางมัทรีพระเทวี เสด็จไปป่าเพื่อแสวงหาผลไม้แต่เช้า จักกลับมาเวลาเย็น ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเองก็เดินทางมาไกล ท่านจงอยู่ค้างคืนหนึ่งก่อนเถอะ"
ชูชกเป็นคนฉลาดไม่น้อย รู้ว่าถ้าค้างคืนที่นี่อาจไม่ได้กัณหาชาลีไป เพราะต้องถูกพระนางมัทรีขัดขวางอย่างแน่นอน ได้กล่าวถ้อยคำยกใจพระเวสสันดรไว้มากมาย โดยบอกว่า "เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานด้วยพระศรัทธาที่เต็มเปี่ยมเช่นนี้แล้ว พระองค์ก็อย่าให้พระโอรส และธิดาได้ทรงเห็นพระนางมัทรีเลย พระมารดาจะทำอันตรายต่อทานของพระองค์ก็เป็นได้ ข้าพระองค์ต้องรีบไปเสียแต่ตอนนี้แหละ ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสพระธิดาทั้งสองมาเถิด เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานด้วยพระศรัทธา ผลบุญอันไพบูลย์ก็ย่อมเป็นของท่าน สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติย่อมบังเกิดขึ้นแก่ท่าน ด้วยอานิสงส์แห่งการบริจาค
ปุตตทานในครั้งนี้อย่างแน่นอน"

นี่เป็นวิธีการขอที่เอาชนะใจพระโพธิสัตว์ได้ พระองค์ทรงยินดีในการบริจาคปุตตทาน กล้าที่จะสละได้แม้กระทั่ง พระโอรสและพระธิดาผู้เป็นที่รักดังแก้วตาดวงใจ ซึ่งอันที่จริงแล้ว พระโพธิสัตว์รักบุตรธิดา แต่เมื่อปรารถนาโพธิญาณ พระองค์สละได้เพื่อบ่มบารมีให้แก่รอบ และเมื่อให้แล้วก็ไม่คิดเอากลับคืน
เพราะ ฉะนั้นเมื่อเราให้ทานต้องร่าเริงยินดีทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้วต้องไม่นึกเสียดาย อีกทั้งเวลาที่เราจะไปบอกบุญ หรือชักชวนใครทำความดีก็ตาม ต้องรู้จังหวะ กาลที่เหมาะสม และสรรหาถ้อยคำที่พอเหมาะพอดีมายกใจ เพื่อเปิดหนทางสวรรค์ และนิพพานแก่เพื่อนร่วมโลกของเรา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘