มงคลที่ ๓๓ เห็นอริยสัจ - พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ตอนที่ ๔

การบวชก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
การยินดีในเพศสมณะก็เป็นการยาก

การดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดในภพชาตินี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้พลัดตกไปสู่อบายภูมิ คือ ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เป็นเวลายาวนาน การมีชีวิตอยู่ในอบายภูมินั้นเป็นความทุกข์ เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่อย่างลำบาก กว่าจะมีโอกาสมาพบผู้รู้แจ้งเห็นจริงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยากมาก เพราะเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นการยาก และการที่จะได้มาพบพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังธรรม ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม และได้เข้าถึงธรรมก็เป็นการยาก
เพราะฉะนั้น ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับพวกเราที่จะได้มาประพฤติธรรม กลั่นกาย วาจา ใจ ให้ใสบริสุทธิ์ เพื่อเป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัยภายใน ชีวิตจะได้ปลอดภัยและมีชัยชนะกันทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

ทุปฺปพฺพชฺชํ ทุรภิรมํ
การบวชก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
การยินดีในเพศสมณะก็เป็นการยาก

วิถีชีวิตของสมณะ มี ความแตกต่างจากฆราวาสมาก เป็นการปฏิวัติชีวิตของตนเอง เพื่อยกจิตใจให้สูงขึ้น สูงด้วยศีล สมาธิและปัญญา ท่านต้องสละความสุขสบายส่วนตัว ไม่เห็นแก่ปากท้อง ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด อีกทั้งกฎหมายบ้านเมืองก็ต้องไม่ไปล่วงละเมิดด้วย ทำให้ต้องสำรวม กาย วาจา ใจ มีอินทรียสังวร ใช้สติคอยกำกับเตือนตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะต้องอดทนต่อความกำหนัดยินดีในกาม
เพราะชีวิตพระเป็นชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ประพฤติเหมือนกับพรหมในพรหมโลก ที่เสวยสุขอยู่ด้วยฌานสมาบัติ เมื่อสมณะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกามคุณ ท่านก็จะต้องอาศัยความอดทน และหมั่นเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ อยู่เป็นสุขด้วยธรรมปฏิบัติ จึงจะสามารถเอาชนะทั้งกิเลสกามและวัตถุกามได้ เรา มาศึกษาชีวิตสมณะว่ามีวิธีการฝึกตัวอย่างไร ที่ทำให้ท่านสามารถประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในเพศบรรพชิตจนตลอดชีวิต ได้เป็นเนื้อนาบุญให้กับพวกเรา เรื่องมีอยู่ว่า...
*วันหนึ่ง ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ กลับจากบิณฑบาตแล้ว หลังฉันเสร็จ ท่านได้เหาะไปนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ในราชอุทยานเมืองโกสัมพี ฝ่าย พระเจ้าอุเทน เสวยน้ำจัณฑ์อยู่ถึง ๗วัน แล้วทรงเสด็จประพาสราชอุทยาน พร้อมเหล่าสนมกำนัลเป็นจำนวนมาก ทรงนั่งพักผ่อนอยู่ภายใต้ต้นพฤกษาใหญ่ร่มรื่นต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากพระเถระ มีนางสนมนางหนึ่งคอยนวดเฟ้นพระบาทอยู่
พวกนางสนมที่เหลือเห็นพระราชาบรรทมหลับแล้ว ก็พากันไปเที่ยวเล่นในราชอุทยาน จนกระทั่งได้ไปพบพระเถระ จึงเข้าไปนั่งฟังธรรมะจากท่าน ฝ่ายพระราชาเมื่อทรงตื่นขึ้น ไม่เห็นพวกนางสนมทั้งหลาย ก็ทรงพิโรธ ได้เที่ยวตามหา ครั้นเห็นว่าพวกนางกำลังให้ความสำคัญกับพระเถระมากกว่าตนเอง จึงคิดที่จะเอามดแดงไปปล่อยให้กัดพระเถระ ครั้นพอเสด็จไปถึงต้นอโศก ทอดพระเนตรเห็นรังมดแดงเข้าพอดี แต่เอื้อมไม่ถึง จึงค่อยๆจับกิ่งอโศกเหนี่ยวลงมา ปรากฏว่าพระองค์เหนี่ยวรังแรงเกินไป รังมดแดงก็เลยหล่นลงมาบนพระเศียรของพระองค์ มดแดงรุมกัดพระองค์เต็มตัวไปหมด
ส่วนพระปิณโฑลภารทวาชะรู้ว่า พระเจ้าอุเทนพิโรธหนัก ก็เลยเหาะจากไป ฝ่ายพวกนางสนมได้ทูลให้สติว่า พระ ราชาพระองค์อื่น พอเห็นบรรพชิตแล้วทรงกราบไหว้ แต่พระองค์กลับทรงประสงค์จะเคาะรังมดแดงลงบนศีรษะของบรรพชิต จึงต้องได้รับผลของอกุศลกรรมเช่นนี้แหละ พระเจ้า อุเทนเมื่อถูกเตือนสติก็เลยได้คิด ทรงโปรดให้นายอุทยานมาเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งว่า "ถ้าวันไหนบรรพชิตรูปนี้มาที่นี่อีก เธอจงมาบอกเรา เราจะได้มาสนทนาธรรมและขอขมาท่านด้วย"
ต่อมา ๒-๓วัน พระเถระได้มานั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้ต้นนั้นอีก นายอุทยานเห็นพระเถระมา จึงรีบไปกราบบังคมทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระเจ้าอุเทนจึงเสด็จไปพร้อมด้วยมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ เมื่อเสด็จถึงจึงประทับนั่งแสดงอาการขอขมาโทษที่ล่วงเกิน และตรัสสนทนาธรรมกับพระเถระว่า "ท่านภารทวาชะ เหตุไรพวกพระภิกษุหนุ่มๆที่กำลังคึกคะนอง จึงประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้จนตลอดชีวิต ไม่ฝักใฝ่ในเบญจกามคุณเหมือนชาวโลกทั่วไป"
พระเถระอธิบายให้ฟังว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ว่า...มา เถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่า ผู้นี้เป็นมารดา ในหญิงผู้ที่พอเป็นมารดาได้ ส่วนหญิงผู้ที่พอเป็นพี่สาว น้องสาวและลูกสาว พวกเธอจงคิดว่าเป็นพี่สาว เป็นน้องสาวและเป็นลูกสาว...ด้วยวิธีการอย่างนี้แหละ จึงเป็นเหตุให้พระภิกษุหนุ่มทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้จนตลอดชีวิต"
พระเจ้าอุเทนยังไม่ทรงปักใจเชื่อเสียเลย ตรัสถามต่อว่า "ท่านภารทวาชะ ธรรมดาจิตนี้ย่อมมีสภาพโลเล บางคราวหญิงมีอายุปูนมารดา เราก็รัก บางคราวหญิงรุ่นราวคราวพี่สาว น้องสาว หรือลูกสาว เราก็รัก เหตุไรพระภิกษุหนุ่มๆจึงยังประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้จนตลอดชีวิต"
พระเถระก็มีเถรวาทีว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ว่า...ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาดูกายนี้ ตั้งแต่เบื้องบนลงมาจนถึงพื้นเท้า และตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปจนถึงเส้นผม อันมีหนังหุ้มห่อไว้ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด สิ่งที่มีในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร...มหาบพิตร วิธีการพิจารณาเช่นนี้แหละ เป็นเหตุให้พระภิกษุหนุ่ม ประพฤติพรหมจรรย์อยู่จนตลอดชีวิต ได้รักษาพระธรรมวินัยไว้ได้นาน"
พระเจ้าอุเทนยังไม่คลายความสงสัย อยากรู้อีกว่ามีวิธีการอื่นอีกไหม ที่ทำให้พระหนุ่มๆบวชได้นานจนตลอดชีวิต จึงตรัสถามต่อไปว่า "ท่านภารทวาชะ ภิกษุผู้ได้อบรมกาย อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว ย่อมไม่ยากที่จะนึกตามอย่างนี้ ส่วนภิกษุผู้ที่ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมจิต และไม่ได้อบรมปัญญา ก็ยากที่จะนึกตามอย่างนี้ได้ บางคราวเราคิดว่าไม่สวย แต่ก็กลับนึกว่าสวย ก็มี"
พระเถระได้ทูลชี้แจงว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ว่า...มา เถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงรักษาประตูในอินทรีย์ทั้งหลาย เวลาที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้รับสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ อย่าถือนิมิตไว้ อย่าถืออนุพยัญชนะไว้ อย่าให้ความยินดียินร้ายเข้าครอบงำได้...ข้อปฏิบัตินี้แหละมหาบพิตร ช่วยให้ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์อยู่ตลอดชีวิตได้ รักษาพระธรรมวินัยไว้ได้นาน ขอถวายพระพร"
พระเจ้าอุเทนทรงสดับคำอธิบายของพระเถระแล้ว ก็ตรัสชื่นชมว่า "น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะ พุทธวจนะเป็นพระวาจาที่ถูกต้องดีแท้ เพราะ ในคราวใด ข้าพเจ้าไม่ได้ระวังกาย วาจา ใจ ไม่มีสติ เข้าไปภายในเมือง ในคราวนั้นความโลภก็ครอบงำใจข้าพเจ้ายิ่งขึ้น แต่เมื่อข้าพเจ้าระวังกาย วาจา ใจ มีสติคอยกำกับ ความโลภก็ครอบงำใจข้าพเจ้าไม่ได้ ท่านแสดงเหตุผลได้ยอดเยี่ยม ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเข้าใจได้ดี ข้าพเจ้าขอยึดเอาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการที่พระภิกษุจะดำรงตนอยู่ในเพศสมณะจนตลอดชีวิต ประกอบกับการที่จะเป็นพระแท้ ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาควบคู่ไปด้วยนั้น ท่านจะต้องฝึกหัดขัดเกลาตนเองอย่างยิ่งยวด อดทนต่อกิเลสกามและวัตถุกาม ซึ่งมาทำให้ใจเหินห่างจากศูนย์กลางกาย เป็นศัตรูที่สำคัญที่จะต้องเอาชนะให้ได้ ท่านต้องรู้จักจับแง่คิดและสำรวมอินทรีย์มากกว่าสามัญชนทั่วไป ดังที่ได้นำมาแสดงข้างต้น
การดำรงชีวิตในเพศสมณะ จึงไม่ง่ายอย่างที่พวกเราคิดกัน เพราะ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามธรรมวินัยข้อปลีกย่อยอีกมากมาย เมื่อพวกเรารับรู้รับทราบถึงความยากลำบากของการดำรงชีวิตในเพศนักบวชแล้ว แม้เราจะไม่ได้บวช แต่ก็ให้ช่วยกันคอยเป็นกำลังใจ ให้การสนับสนุนท่าน เกื้อกูลท่านในเรื่องปัจจัยสี่อันควรแก่สมณบริโภค ท่านจะได้เอาเวลาไปประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ จะได้เป็นแสงสว่างและเนื้อนาบุญอันเลิศให้กับพวกเราทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. คุหัฏฐกสูตร เล่ม ๔๗ หน้า ๖๙๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘