มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน - ชนะโทสะ ด้วยอโทสะ



มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน
ชนะโทสะ ด้วยอโทสะ

บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงคราม ที่ชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้น ชื่อว่าได้ประพฤติประโยชน์ ให้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย

วันคืนล่วงไปๆ สรรพสิ่ง และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ รถยนต์ รถรา บ้านช่อง คน สัตว์ สิ่งของทั้งหมด ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เหมือนต้นไม้ที่แต่เดิมเราเคยเห็นมันเป็นต้นเล็กๆ จากนั้นก็เจริญเติบโตขึ้น แผ่กิ่งก้านสาขา แตกใบผลิดอกออกผล ให้ความสดชื่นแก่ทุกชีวิต แต่ไม่นานดอกไม้ที่ดูสวยสดงดงามนั้น ก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามกาลเวลา

ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลาย เราจึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต แต่ควร รีบเร่งแสวงหาสิ่งที่เป็นแก่นสาร เป็นสาระที่แท้จริงของชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เวปจิตติสูตร ว่า

บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงคราม ที่ชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้น ชื่อว่าได้ประพฤติประโยชน์ ให้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่ายŽ

โทสะ คือ ความโกรธมีโทษร้ายแรงยิ่งกว่ากองไฟที่ลุกไหม้เผาผลาญทรัพย์สิน เพราะไฟแห่งโทสะ ย่อมเผาลนจิตใจให้ไหม้เกรียม แล้วยังแผ่เปลวแห่งความร้อนแผดเผาบุคคลรอบข้าง ให้ได้รับความรุ่มร้อนทุกข์ทรมานอีกด้วย

บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่ผูกโกรธ แต่เป็นผู้มากด้วยความเมตตากรุณา เมื่อใครทำให้โกรธก็ไม่โกรธตอบ มีสติสอนตนเองได้ คนที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญว่า ผู้ไม่โต้ตอบเป็นผู้แพ้ แต่ผู้มีปัญญากลับมองเห็นว่า การนิ่งเฉยเป็นการรักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ไม่ทำให้มิตรภาพแตกร้าว

ผู้ที่สามารถอดทนต่อถ้อยคำของผู้ที่เหนือกว่าได้ เนื่องจากความเกรงกลัวในอำนาจ ส่วนผู้ที่อดทนต่อถ้อยคำของผู้ที่เสมอกัน ก็เพราะเห็นประโยชน์ที่พึงมีร่วมกัน แต่บุคคลใด สามารถอดทนต่อถ้อยคำของผู้ที่ต่ำกว่าตนได้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญว่า ความอดทนของผู้นั้นประเสริฐสุด

ดังเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อครั้งพระบรมศาสดายังทรงพระชนมชีพอยู่ พระเทวทัตได้ทำสังฆเภท คือ ทำสงฆ์ให้แตกแยกออกเป็นสองฝ่าย เนื่องจากเป็นผู้มีจิตริษยาในพระบรมศาสดา ถึงกับลอบปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยวิธีการต่างๆ หลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่สำเร็จ

พระเทวทัตได้ประทุษร้ายพระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก จึงเป็นกรรมหนักที่เรียกว่าอนันตริยกรรม เมื่อผลของบาปสุกงอมเต็มที่ กระแสบาปได้ช่อง แผ่นดินที่เคยสงบนิ่งมาช้านาน ก็เกิดอาการไหวแล้วแยกออกเป็นสองส่วน สูบเอาร่างของพระเทวทัตลงสู่อเวจีมหานรกทันที

ข่าวที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบ ได้แพร่สะพัดไปทั่วนครสาวัตถี ภิกษุในวัดพระเชตวันได้สนทนากันถึงเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ จึงตรัสว่า มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตได้ถูกประหารในบริเวณของเราตถาคต แม้ในกาลก่อนเทวทัตก็เคยถูกประหารในธรรมจักรของเรา แล้วถูกแผ่นดินสูบบ่ายหน้าไปยังอเวจีมหานรกเหมือนกันŽ จากนั้นพระพุทธองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง

*ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระบรมโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นเทพบุตรใน โลกสวรรค์ มีชื่อว่า ธรรมเทพบุตรŽ ทรงประดับด้วยเครื่องอลังการที่เป็นทิพย์ มีราชรถงามวิจิตร แวดล้อมไปด้วยบริวาร ผู้มีรัศมีรุ่งเรือง

ในวันเพ็ญซึ่งเป็นวันอุโบสถ ธรรมเทพบุตรทรงราชรถพร้อมเหล่าบริวาร โคจรไปในอากาศทั่วคามนิคม ในชนบท และราชธานี ได้แสดงธรรมชักชวนให้มหาชน ประกอบคุณงามความดี ยึดมั่นอยู่ในกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ คือ ให้เว้นจากการฆ่า การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การกล่าวเท็จ การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และให้มีความเห็นถูกทำนองคลองธรรม

เมื่อมหาชนทั้งหลายพากันปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ ยศ และอธิปไตย ความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์ หลังจากกล่าวแสดงธรรมเสร็จแล้ว ธรรมเทพบุตรพร้อมบริวารก็กลับไปยังวิมานของตน

ในครั้งนั้น พระเทวทัตบังเกิดเป็น อธรรมเทพบุตรŽ ได้กล่าวชักชวนให้มหาชน ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธรรมเทพบุตร โดยชี้นำให้มหาชนมีความเห็นผิด และกระทำในสิ่งที่ผิดๆ ซึ่งก็คือ อกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ อันสัตบุรุษไม่สรรเสริญ

ครั้งนั้น ขบวนราชรถของเทพบุตรทั้งสอง โคจรมาพบกันกลางอากาศ ธรรมเทพบุตรได้กล่าวด้วยถ้อยคำอันไพเราะอ่อนโยน โดยขอร้องให้ฝ่ายอธรรมเทพบุตร และบริวารช่วยหลีกทางให้

อธรรมเทพบุตรกลับตอบว่า ท่านธรรมเทพบุตร เราเป็นผู้ไม่เคยเกรงกลัวใคร เรามีพละกำลังมหาศาล ด้วยเหตุใดเราจะต้องยินยอมให้หนทางที่ไม่เคยให้แก่ท่าน ในวันนี้เราจะไม่ให้หนทางแก่ท่าน เพราะการขอร้องหรือเพราะความเป็นผู้ สมควรหรือไม่ ท่านนั่นแหละควรหลีกทางไป ไม่เช่นนั้นวันนี้ เราต้องมารบกัน แล้วหนทางจะเป็นของผู้ชนะŽ

ธรรมเทพบุตรจึงกล่าวว่า เราเป็นฝ่ายธรรมะ เป็นผู้ลือชาปรากฏไปทั่วสารทิศ มียศยิ่งใหญ่ประมาณมิได้ ประกอบไปด้วยคุณธรรมความดี เราเป็นผู้สร้างสันติสุขให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างพากันสรรเสริญ ขอท่านจงให้หนทางแก่เราเถิด อย่าพอใจในการรบเลยŽ

ธรรมเทพบุตรได้กล่าวกับอธรรมเทพบุตร ด้วยถ้อยคำอันไพเราะนุ่มนวล ดุจท้าวมหาพรหม เป็นภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์เกื้อกูล แต่ถ้อยคำอันประเสริฐนั้น หาได้ซึมซาบเข้าไปในใจของอธรรมเทพบุตรไม่ เสมือนราดน้ำลงไปบนแผ่นหิน ที่มิอาจจะซึมเข้าไปได้ เพราะวาจาสุภาษิตย่อมไม่เป็นมงคลแก่คนพาลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
เมื่อธรรมเทพบุตร เห็นอธรรมเทพบุตรไม่ให้หนทางแน่แล้ว จึงกล่าวว่า ถ้า หากท่านเป็นผู้กระหายในสงคราม ชอบใจในการล้างผลาญ แม้ผู้หลักผู้ใหญ่และครูของท่านที่จะคอย ตักเตือนท่านก็ไม่มี เราธรรมเทพบุตรก็จะขอยอมเป็นผู้ให้หนทางแก่ท่านเอง เราจะไม่ขุ่นมัว แต่จะทำใจให้เปี่ยมไปด้วยความรักและปรารถนาดี ต่ออาการอันไม่เป็นที่รักของท่าน และจะขออดทนต่อถ้อยคำที่หยาบคายของท่าน ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น มีจิตประกอบด้วยเมตตาŽ

เมื่อธรรมเทพบุตรได้กล่าวถ้อยคำนี้จบลง ความเร่าร้อนได้เกิดขึ้นในสรีระของอธรรมเทพบุตร ประหนึ่งถูกไฟบรรลัย-กัลป์แผดเผา เขามิอาจที่จะดำรงอยู่บนราชรถได้ จึงตกร่วงหล่นลงมากลางอากาศ โดยที่ศีรษะดิ่งลงสู่เบื้องล่าง เท้าชี้ฟ้า มหาปฐพีได้เปิดช่องแยกออกเป็นสองฝั่ง ไฟอันร้อนแรงจากอเวจี ได้หอบเอาร่างของอธรรมเทพบุตรดิ่งลงสู่อเวจีมหานรก เป็นเทวดาตกสวรรค์ในทันทีทันใด

เพราะฉะนั้น ธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ พระพุทธองค์ จึงทรงสอนว่า ให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความตระหนี่ด้วยการให้ ชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำจริง และชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ถ้า เราอดทนได้เราจะเป็นฝ่ายชนะ ขันติบารมีของเราจะเพิ่มขึ้น เราทุกคนเกิดมาก็เพื่อสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม แม้หนทางในการสร้างบารมี อาจจะต้องพบกับอุปสรรคขวากหนามบ้างในบางครั้ง ก็ให้เราคิดเสียว่า อุปสรรคเป็นบันไดให้เราก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น

ถ้าเราสามารถอดทน จนผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ในภายภาคหน้า หากเรานึกย้อนภาพในอดีต เราจะเกิดความปีติเบิกบานท่วมท้น และภาคภูมิใจอย่างที่สุด ที่เราเอาชนะใจตนเองได้ โดยไม่มีความโกรธเคืองแต่อย่างใด นี่คือรางวัลของผู้มีขันติธรรม เราจะมีกำลังใจอย่างไม่สิ้นสุด ในการสร้างบารมีต่อไปในภายภาคหน้า กระแสบุญก็จะหล่อเลี้ยงใจของเรา ให้มีแต่ความสุขความบริสุทธิ์ ใจจะผ่องใส ไม่มีความขุ่นมัวเลย

เพราะฉะนั้น ขันติคือความอดทน เป็นคุณธรรมของนักสร้างบารมีที่จะนำเราไปสู่พระนิพพาน พึงรักษาความสงบของใจไว้ ให้อดทนต่อทุกสิ่งด้วยใจที่ผ่องใส ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม อย่าให้เกิดความขัดเคืองใจ และต้องหมั่นทำใจหยุดนิ่งกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ธรรมเทวปุตตชาดก เล่ม ๖๐ หน้า ๒๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘