มงคลที่ ๓๔ - ทำพระนิพพานให้แจ้ง - คำถามนำไปสู่ความหลุดพ้น

ชีวิต นี้น้อยนัก ทุกชีวิตล้วนบ่ายหน้าไปหามฤตยู เหมือนผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมมีวันต้องร่วงหล่นลงอย่างแน่นอน เหมือนภาชนะดินที่มีการแตกทำลายในที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ไม่รู้ย่อมเศร้าโศกเมื่อพลัดพราก เพราะยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา ย่อมประสบทุกข์สิ้นกาลนาน แต่วิญญูชนทั้งหลาย ละความยินดีในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ละความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่มีความยินดียินร้าย จึงละความโศก ความอาลัย ความร่ำพิไรรำพันได้
เราโชคดีที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ได้มีโอกาสดีที่จะสร้างบารมี พึงเร่งสร้างความดีให้เต็มที่ ตักตวงเอาบุญกุศลกันไปให้มากๆ เพราะบุญเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง เป็นมิตรแท้ที่ซื่อสัตย์ที่จะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติเหมือนเงาตามตัว ความดีหรือบุญที่ได้ทำเอาไว้จะเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ชีวิตที่ยังเป็นปุถุชนอยู่จนกระทั่งได้เป็นพระอริยเจ้า จะสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติทั้งสาม คือ มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ สิ่งที่ทำทั้งทาน ศีล ภาวนา เป็นทางมาแห่งบุญ ตอนนี้เรากำลังเจริญภาวนา ทำกรณียกิจที่สำคัญยิ่งต่อตัวของเราเอง กิจนี้คนอื่นทำแทนให้ไม่ได้ ต้องทำด้วยตนเอง ทำเพื่อช่วยตัวของเราให้พ้นจากทุกข์ ให้พ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร ที่บังคับบัญชาเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทำให้มีอุปสรรคนานาในชีวิต ดังนั้น จึงต้องตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันให้ดี
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องความจริงของชีวิตไว้ว่า...
"ชีวิตนี้น้อยนัก ทุกชีวิตล้วนบ่ายหน้าไปหามฤตยู เหมือนผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมมีวันต้องร่วงหล่นลงอย่างแน่นอน เหมือนภาชนะดินที่มีการแตกทำลายในที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ไม่รู้ย่อมเศร้าโศกเมื่อพลัดพราก เพราะยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา ย่อมประสบทุกข์สิ้นกาลนาน แต่วิญญูชนทั้งหลาย ละความยินดีในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ละความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่มีความยินดียินร้าย จึงละความโศก ความอาลัย ความร่ำพิไรรำพันได้”
เพราะเหตุนั้น ผู้รู้ทั้งหลายผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ย่อมละอารมณ์ที่เคยหวงแหน ไม่ติดในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เหมือนหยาดน้ำที่ไม่ติดบนใบบัว ผู้รู้เหล่านั้นย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในอารมณ์ที่ได้รับรู้ ย่อมบรรลุพระนิพพาน เสวยเอกันตบรมสุขอย่างเดียว
เมื่อทราบความจริงอย่างนี้แล้ว ต้องรู้จักปลดปล่อยวาง ละคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อย่าไปยึดติด ยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ที่หลอกล่อให้เราหลงติด ความอยากในสิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกอึดอัดคับแคบ แต่ถ้าเราปล่อยวางอารมณ์เหล่านี้ได้ ใจจะปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย พอใจสบายก็จะแล่นเข้าไปสู่สภาวธรรมภายใน ให้ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่ต้องยึดไว้เป็นสรณะ มีสิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้นที่ควรยึด ควรเกาะไว้ สิ่งอื่นไม่ใช่ "พระรัตนตรัยนี้เท่านั้นที่เป็นสรณะที่แท้จริง"
เราเกิดมาเพื่อแสวงหาพระรัตนตรัย การทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อแสวงหาพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ดีกว่าเอาชีวิตไปทุ่มเทให้กับสิ่งอื่นที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร บางคนไปเสี่ยงกับสิ่งที่ไม่ควรเสี่ยง เพราะไม่รู้จักคุณค่าของชีวิต คิดว่าเกิดง่าย แต่ว่าความจริงแล้ว ทุกชีวิตล้วนเกิดยากแต่ตายง่าย ที่เราเห็นคนเกิดกันทุกวันนี้ อันที่จริงกว่าจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้นั้น ยากแสนยาก ส่วนที่เกิดในอบาย เป็นสัตว์เดียรัจฉาน มีมากกว่ามนุษย์อย่างเทียบกันไม่ได้เลย
นักปราชญ์บัณฑิตในกาลก่อน รู้คุณค่าของชีวิต รู้ว่าชีวิตนี้เกิดยากและเป็นของน้อย เมื่อเกิดมาแล้วก็บ่ายหน้าไปหามฤตยู คือ ในที่สุดก็ต้องตายหมดทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ จึงตั้งใจออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ มุ่งแสวงหาทางพ้นทุกข์ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ให้มีที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงในชีวิต ให้ได้พบกับสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ "พระรัตนตรัยภายใน"
ถ้าไม่ได้มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพบคำสอนของพระพุทธองค์ ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ หลุดพ้นจากภพทั้งสาม แม้อยากหลุดพ้นแต่ถ้าไม่รู้วิธีการก็ไม่อาจหลุดพ้นไปได้ การที่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์นี้เป็นเรื่องใหญ่ "ไม่รู้วิธีก็ไม่หลุด รู้วิธีแล้วหลุดได้"
เหมือนดังเรื่องของเมตไตยยะ ซึ่งออกบวชเป็นชฎิล คือ นักบวชประเภทหนึ่งที่มีในสมัยนั้น ปรารถนาจะหลุดพ้นจากทุกข์ เมื่ออินทรีย์แก่กล้า บุญบันดาลให้มาพบแสงสว่าง ท่านได้พบกับยอดกัลยาณมิตร คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีโอกาสได้ทูลถามปัญหา และตั้งปัญหาถามได้ลึกซึ้ง เป็นปัญหาที่น่ารู้น่าศึกษาทั้งสิ้น ท่านทูลถามว่า...
*" ใครชื่อว่าเป็นคนสันโดษ มีความประสงค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ในโลกนี้ ใครไม่มีความอยาก ซึ่งเป็นเหตุให้ดิ้นรนทะเยอทะยาน ใครรู้ส่วนข้างปลายทั้งสอง คือ รู้ทั้งอดีตและอนาคตด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง คือ ปัจจุบัน พระพุทธองค์คิดว่าใครเป็นมหาบุรุษในโลก ใครล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายที่ร้อยเย็บผ้าให้ติดกันไว้"
คำถามของบัณฑิตนั้น ท่านไม่เสียเวลามาถามว่า ทำอย่างไรจึงจะสวยจะหล่อ ทำอย่างไรจะหมดหนี้ ทำอย่างไรจะเลิกทะเลาะกับคนที่บ้าน ท่านถามเพื่อความหลุดพ้นจากเรื่องเหล่านี้ แล้วก็ตั้งคำถามเป็นชุดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ค้างคาใจท่านมานาน ตลอดระยะเวลาที่ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ยังหาคำตอบไม่ได้ และก็หาคนที่สามารถตอบปัญหานี้ไม่มีเลย จึงต้องดั้นด้นมาหาพระบรมศาสดา
พระบรมศาสดา ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ทรงให้ความอนุเคราะห์แก่เมตไตยยะ เพราะพระองค์ทรงเห็นประโยชน์ใหญ่ คือ การบรรลุมรรคผลนิพพานที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีบุญท่านนี้ และเห็นประโยชน์ใหญ่ต่อพุทธบริษัททั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงทรงเมตตาพยากรณ์ปัญหาที่ถามมาด้วยพระพักตร์อันแจ่มใส ไม่มีความลำบากพระทัยในการตอบ พระพุทธองค์ตรัสตอบหมดทุกคำถามว่า…
"ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมในกามทั้งหลาย ปราศจากตัณหาความทะยานอยาก มีสติระลึกได้ทุกเมื่อ เห็นธรรมโดยชอบ สามารถดับเครื่องกระวนกระวายทั้งหลายได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ มีความประสงค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ในโลกนี้ ความอยากซึ่งเป็นเหตุให้ดิ้นรนของภิกษุนั้นไม่มี ภิกษุนั้นรู้ส่วนข้างปลายทั้งสอง คือ รู้ทั้งอดีตและอนาคตด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง คือ ปัจจุบัน เราตถาคตกล่าวภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษในโลก ภิกษุนั้นแลล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายที่ร้อยเย็บผ้าให้ติดกันไว้"
ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา เมตไตยยะซึ่งมีใจแน่วแน่ ตั้งใจฟังคำวิสัชนา ได้ปล่อยใจตามกระแสพระดำรัส ใจรวมหยุดนิ่งเข้าสู่กระแสธรรมภายใน มีใจเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตา จึงหยุดนิ่งแทงตลอดเส้นทางสายกลางภายใน ในที่สุดได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล หมดสิ้นกิเลสอาสวะพบพระในตัว และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต
เพราะฉะนั้น พระธรรมกายนี่แหละ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง เราต้องยึดสิ่งนี้ไว้เป็นสรณะ แล้วสิ่งนี้ก็เป็นของจริงที่มีอยู่ภายในตัวของพวกเราทุกๆคนด้วย ไม่ได้อยู่ไกลตัวเลย แต่ว่าอยู่ในตัว เป็นที่พึ่งให้กับเราได้อย่างแท้จริง พึ่งได้ตลอดเวลา พึ่งได้ทันทีที่เราเข้าถึง พึ่งได้ตั้งแต่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันชาตินี้ จนกระทั่งละโลกไปสู่ปรโลกแล้วก็ยังพึ่งได้อีก พระธรรมกายหรือพระรัตนตรัยนี้ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่จะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ถึงที่สุดแห่งธรรม
เวลาของชีวิตในโลกมนุษย์นี้มีอยู่จำกัด เรามีเวลาไม่มากที่จะสร้างบารมีในโลกนี้ ให้ใช้วันเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้สร้างบารมีให้เต็มที่ ให้ชีวิตมีคุณค่าด้วยการประพฤติธรรม ฝึกฝนอบรมจิตใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวให้ได้ โดยการปลดปล่อยวางเรื่องที่ไม่จำเป็นลงเสียบ้าง แล้วหันมาฝึกใจให้หยุดให้นิ่งให้มากๆ ให้ใจใสบริสุทธิ์ แล้วจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงกัน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ติสสเมตไตยมาณพ เล่ม ๖๗ หน้า ๕๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘