มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล - ปุจฉา-วิสัชนา

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย กาล๔ นี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ เปลี่ยนแปลงโดยชอบ ย่อมจะยังบุคคลให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ กาล๔ คือ ฟังธรรมตามกาล๑ สนทนาธรรมตามกาล๑ ทำสมถะตามกาล๑ ทำวิปัสสนาตามกาล๑
การเจริญสมาธิภาวนา เป็นทางมาแห่งมหากุศล และเป็นทางลัดของการสร้างบารมี เพื่อมุ่งตรงสู่ที่สุดแห่งธรรม ทุกครั้งที่เราได้เจริญสมาธิภาวนา นำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ ธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ ในตัวของเรา จะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งความบริสุทธิ์จะเป็นทางมาแห่งความสุข ความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้ เป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติต่างพากันแสวงหา เพราะเป็นสุขที่เสรีกว้างขวางไร้ขอบเขต ไม่มีใครมาพรากเอาความสุขชนิดนี้จากเราไปได้ ทั้งยังเป็นเหตุให้ขจัดกิเลสอาสวะ ชำระมลทินของใจ ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในได้อีกด้วย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยกาลสูตร ว่า...
ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย กาล๔ นี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ เปลี่ยนแปลงโดยชอบ ย่อมจะยังบุคคลให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ กาล๔ คือ ฟังธรรมตามกาล๑ สนทนาธรรมตามกาล๑ ทำสมถะตามกาล๑ ทำวิปัสสนาตามกาล๑
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหนาตกบนภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ยังซอกเขาและลำธารให้เต็ม เมื่อซอกเขาและลำธารน้ำเต็มแล้ว ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้วย่อมยังบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้วย่อมยังคลองให้เต็ม คลองเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำให้เต็ม แม่น้ำเต็มแล้วย่อมยังทะเลให้เต็ม ฉันใด กาล๔ นี้ เมื่อบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ เปลี่ยนแปลงโดยชอบ ย่อมยังบุคคลให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ ฉันนั้น
การฟังธรรม และสนทนาธรรมตามกาล ถือว่าเป็นอุดมมงคล เพราะเป็นทางมาแห่งปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน เพราะทุกชีวิตย่อมต้องพบกับปัญหา ซึ่งปัญหาเหล่านั้นล้วนต้องแก้ด้วยปัญญา ใครมีปัญญามากก็เหมือนมีแก้วสารพัดนึก ย่อมสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆไปได้โดยง่าย ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังธรรมจากผู้รู้ และการพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย
วิธีลัดที่จะทำให้เกิดปัญญาอย่างรวดเร็ว คือ การสนทนาธรรมตามกาล ในการสนทนาเราต้องทั้งฟังทั้งพูด ต้องเป็นนักฟังที่ดี ฟังผู้อื่นพูดด้วยความตั้งใจ ฟังแล้วก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายไปด้วย สงสัยสิ่งใดก็ซักถาม นอกจากนั้น ถ้าตนเองมีความรู้ในธรรมะเรื่องใด ก็ควรนำมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นด้วยก็ยิ่งดี
*ดัง เช่นในสมัยพุทธกาล เหล่าทวยเทพในสวรรค์จะลงจากเทวโลก เพื่อมาฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านถือว่าการมาฟังธรรมเป็นกรณียกิจที่สำคัญ เทวดาแต่ละองค์ที่ลงจากเทวโลกในยามราตรี ต่างไม่มาเปล่า ไม่ใช่เตรียมมาฟังธรรมอย่างเดียว ท่านจะเตรียมคำถามที่ดีๆไว้ อย่างน้อยท่านละ ๑คำถาม เพื่อนำมาทูลถามพระพุทธองค์
ครั้งนี้ หลวงพ่อจะขอนำตัวอย่างปุจฉา-วิสัชนา ระหว่างพระผู้มีพระภาคเจ้ากับเทวดา มาเล่าเพื่อจะได้เรียนรู้กันว่า ท่านได้สนทนาธรรมกันในเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะคำถามแต่ละข้อเป็นคำถามที่น่าสนใจ น่ารู้ ทั้งสิ้น
ตัวอย่างคำถามแรก เทวดาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอ เป็นมิตรในเรือนของตน อะไร เป็นมิตรของคนมีธุระ อะไร เป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า”
พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “พวกเกวียน พวกโค ต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพเบื้องหน้า”
เทวดาองค์ต่อไปทูลถามว่า “อะไรหนอ เพราะไม่ชำรุดจึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอ ดำรงมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอ เป็นรัตนะของชนทั้งหลาย อะไรหนอ บุคคลพึงนำให้พ้นจากพวกโจรได้”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ศีล ที่รักษาไว้ดีแล้ว ไม่ชำรุด ไม่ด่าง ไม่พร้อย จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ ศรัทธา ดำรงมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญา เป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญ อันบุคคลพึงนำไปให้พ้นจากพวกโจรได้”
เมื่อเหล่าเทวดาฟังแล้ว ต่างแซ่ซ้องสาธุการชื่นชมในธรรมภาษิตของพระพุทธองค์ จากนั้น เทวดาองค์อื่นทูลถามว่า “ชนเหล่าใดในโลกนี้ ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบากของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ขอพระองค์ผู้เป็นอัครบุรุษทรงวิสัชนาปัญหานี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ชนเหล่าใดในโลกนี้ ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้เสื้อผ้าอาหาร ความร่าเริง และความสนุกสนาน โดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ เมื่อละจากโลกนี้แล้วย่อมมีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป…
ส่วนคนเหล่าใด เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา กีดขวางคนเหล่าอื่นผู้กำลังให้ทานอยู่ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริง และความสนุกสนาน ได้โดยยาก คนพาลเหล่านั้นมีความมุ่งมาดปรารถนาสิ่งใดจากผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้นสมดังความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าย่อมมีทุคติเป็นที่ไปอีกด้วย”
เทวดาองค์ต่อไปทูลถามว่า “อะไรหนอ ยังคนให้เกิด อะไรหนอ ของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอ เวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอ เป็นภัยใหญ่ของเขา”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา”
เทวดาอีกองค์ทูลถามย้ำอีกว่า “อะไรหนอ ยังคนให้เกิด อะไรหนอ ของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอ เวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอ เป็นที่พำนักของสัตว์นั้น”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น”
เทวดาองค์อื่นผลัดกันทูลถามว่า “อะไรหนอ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นทางผิด อะไรหนอ สิ้นไปตามคืนและวัน อะไรหนอ เป็นมลทินของพรหมจรรย์ อะไรหนอ มิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้างหมู่สัตว์ ยินดีในอะไร จึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งมวล”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “บัณฑิตกล่าวถึงราคะว่าเป็นทางผิด วัยสิ้นไปตามคืนและวัน หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ย่อมติดอยู่ในหญิงนี้ ตบะและพรหมจรรย์แม้มิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้างใจให้ใสบริสุทธิ์ สัตว์ยินดีในพระนิพพานจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
เมื่อเหล่าเทวดา ได้ฟังคำวิสัชนาจากพระพุทธองค์แล้ว ต่างไตร่ตรองตามพุทธดำรัสได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ ในที่สุดก็สามารถทำใจให้หยุดนิ่ง บรรลุธรรมาภิสมัยกันเป็นจำนวนมาก
ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นอกจากพระอัญญาโกณฑัญญะจะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว เทวดารวมไปถึงพรหม ๑๘โกฏิ ก็ได้บรรลุธรรมด้วย ในวันแสดงยมกปาฏิหาริย์ เทวดาและพรหมบรรลุธรรม ๒๐โกฏิ เมื่อพระบรมศาสดาประทับนั่งบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ภพดาวดึงส์ ทรงแสดงพระอภิธรรม ๗คัมภีร์ ส่งผลให้เหล่าทวยเทพ ๘๐โกฏิบรรลุธรรม ในสักกปัญหสูตร เทวดา ๘๐,๐๐๐ได้บรรลุธรรม
นอกจากนี้ ยังมีปรากฏในพระไตรปิฎกอีกมากมาย ที่เหล่าทวยเทพได้บรรลุธรรมหลังจากฟังพระธรรมเทศนา นี่เป็นเพราะอานิสงส์ของการเห็นคุณค่าในการฟังธรรม เพราะ ฉะนั้น พวกเราทุกคนอย่าได้ละเลยในการฟังธรรม สนทนาธรรม และประพฤติธรรม ซึ่งเป็นกรณียกิจสำคัญ เพื่อเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. มิตตสูตร เล่ม ๒๔ หน้า ๒๗๔

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘