ทศพิธราชธรรม

ธรรมของนักปกครองหรือผู้นำในทุก ยุคทุกสมัย เหมาะสำหรับการปกครองทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งพระบรมศาสดาทรงประทานไว้เป็นแนวทางในการปกครองหมู่คณะ ให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกทั้งผู้นำและผู้ตาม
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
แบ่งปันปวงประชา รักษาศีลสุจริต
มีจิตเสียสละ ปฏิบัติภาระซื่อตรง
ทรงความอ่อนโยนต่อคน พ้นมัวเมาเผากิเลส
ถือเหตุไม่โกรธา อวิหิงสาพาร่มเย็น
ชนะยากเข็ญด้วยขันติ มิผิดพลาดคลาดจากคลองธรรม
๑. ทานัง (ทาน)
คือ การให้ บำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ให้ทรัพย์หรือวัตถุสิ่งของเพื่อสร้างสรรค์ความสงบสุข ทำให้มีผลผูกพันกับผู้รับ
๒. สีลัง (ศีล)
คือ การสำรวมในศีล การรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย เว้นจากความชั่วและการประพฤติทุจริต
๓. ปะริจจาคัง (ปริจจาคะ)
คือ การสละอารมณ์ เป็นการให้ทางด้านจิตใจ สละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก
๔. อาชชะวัง (อาชชวะ)
คือ ความเป็นผู้ซื่อตรง เปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน ได้แก่ การประพฤติต่อตนเองและผู้อื่นด้วยความจริงใจ
๕. มัททะวัง (มัททวะ)
คือ เป็นผู้นุ่มนวลอ่อนโยน ไม่ถือตัวมีทิฏฐิมานะ ได้แก่ อ่อนโยนต่อบุคคลเพื่อสร้างความรักสามัคคี มีสัมมาคารวะเคารพอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ยอมรับความเห็นของผู้อื่น
๖. ตะปัง (ตบะ)
คือ ความเพียร มีความมานะบากบั่น ไม่ย่อท้อ ก้าวหน้าไม่ถอยหลัง ไม่เกียจคร้านในกิจการงานต่างๆ ทุ่มเททำอย่างสุดความสามารถ ไม่เสร็จเป็นไม่ยอมเลิกรา
๗. อักโกธัง (อักโกธะ)
คือ ความไม่โกรธ ได้แก่ การไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดจนไม่พยาบาทมุ่งร้ายต่อผู้อื่น รู้จักรักษาใจให้ผ่องใสเป็นปกติ เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ใจเย็นตัดสินปัญหาอย่างสุขุมรอบคอบ
๘. อะวิหิงสา (อวิหิงสา)
คือ ความไม่เบียดเบียน หรือกดขี่ข่มเหงก่อความทุกข์ยากให้แก่ผู้อื่น ตลอดถึงสัตว์ชนิดต่างๆ อีกทั้งไม่เบียดเบียนตนเองให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ เช่น ดื่มเหล้า เล่นการพนัน หรือหลงใหลในอบายมุข
๙. ขันติ (ขันติ)
คือ ความอดทน ได้แก่ ความอดทนต่อโทสะ รอได้ คอยได้ ยิ่งเป็นผู้ใหญ่เท่าไร ยิ่งต้องอดทนต่อผู้น้อยเท่านั้น รวมไปถึงอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์หรือการนินทาต่างๆ
๑๐. อะวิโรธะนัง (อวิโรธนะ)
คือ การประพฤติตนมิให้ผิดจากทำนองคลองธรรม วางตนเป็นหลัก หนักแน่นในธรรม คงที่ยุติธรรมดุจตราชั่งไม่เอนเอียง ทำหน้าที่ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ความเที่ยงธรรม และความถูกต้อง ดีงาม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘