มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ - สันโดษให้ถูกหลักวิชา



มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ
สันโดษให้ถูกหลักวิชา

ภิกษุผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุขในทิศทั้ง ๔ และเป็นผู้ไม่หงุดหงิด สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ย่อมครอบงำ อันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปคนเดียว ดังนอแรด

ภารกิจทั้งหลายในโลกนี้ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นภาระที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหาเลี้ยงชีพในแต่ละวัน มวลมนุษย์ทั้งหลาย ต่างวุ่นกันอยู่เช่นนี้มายาวนาน ทำให้ลืมภารกิจหลักที่แท้จริงของชีวิตว่าเกิดมาเพื่อสร้างบารมี มาแสวงหาความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ให้กับตัว ด้วยการกลั่นจิตใจให้ใสบริสุทธิ์ จนกระทั่งเข้าถึงความบริสุทธิ์ภายใน เข้าถึงดวงธรรมภายใน ถึงกายในกาย จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป นี่คือเป้าหมายในการมาเกิดในแต่ละภพแต่ละชาติ เกิดมาเพื่อทำอย่างนี้เท่านั้น เรื่องอื่นเป็นเรื่องปลีกย่อย เมื่อเราตระหนักเช่นนี้แล้ว ควรตั้งใจทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้เกิดขึ้นกับตัวของเราด้วยการประพฤติ ปฏิบัติธรรมกันทุกคน

มีวาระพระบาลี ที่กล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ว่า

จาตุทฺทิโส อปฺปฏิโฆ จ โหติ
สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน
ปริสฺสยานํ สหิตา อจฺฉมฺภี
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

ภิกษุผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุขในทิศทั้งสี่ และเป็นผู้ไม่หงุดหงิด สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ย่อมครอบงำอันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปคนเดียว ดังนอแรดŽ

ความสันโดษเป็นทางมาแห่งความสุข เพราะ ไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าในสิ่งที่เกินความจำเป็น มีเพียงปัจจัยสี่ไว้หล่อเลี้ยงสังขารร่างกายก็พอแล้ว เพราะการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีทรัพย์สมบัติที่สมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตของ ผู้นั้นจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข หากใช้ทรัพย์ไม่เป็นไม่รู้จักหนทาง หรือวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากมีทรัพย์สมบัติแล้ว รู้จักใช้ทรัพย์สมบัตินั้นให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ด้วยการสร้างบารมี เป็นบุญต่อบุญ สมบัติต่อสมบัติ ผู้นั้นก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ผู้ที่รู้จักประมาณ มัธยัสถ์ ประหยัด อดออม ท่านเรียกว่า สันโดษ คือให้เรามีความยินดี พอใจในสมบัติที่หามาได้ ได้น้อย ก็ไม่รุ่มร้อนใจ และรู้จักใช้อย่างประมาณ เราจะห่างไกลจากความกังวลทั้งหลาย ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตที่ไม่พร่อง เพราะมีคุณธรรมภายใน คือความมักน้อยสันโดษนี่เอง

*เหมือนอย่างบรมครูของเราคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้รับนิมนต์จากพราหมณ์เวรัญชา ให้เสด็จจำพรรษาที่เมืองเวรัญชาตลอดพรรษานั้น พระองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ได้รับความลำบากในเรื่องบิณฑบาตมาก เพราะพญามารได้ดลใจพราหมณ์เวรัญชา และคนทั้งเมืองไม่ให้ใส่บาตร ไม่ให้ทำบุญ แม้ข้าวทัพพีเดียวก็ดลใจไม่ให้ถวาย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม พระพุทธองค์อาศัยขันติธรรม มีความสันโดษ ไม่คิดที่จะไปแสวงหาอาหารที่อื่น แม้ว่าจะมีอรหันตสาวกหลายรูปเข้ามากราบทูลว่า จะขออาสาพาหมู่ภิกษุไปบิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีป หรือใช้ฤทธานุภาพพลิกเอาง้วนดินขึ้นมาฉันบ้าง พระองค์ก็ทรงห้ามการแสวงหาเช่นนั้น ทรงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ด้วยข้าวแดงที่พ่อค้าม้าได้ถวาย เนื่องจากพ่อค้าม้าเดินทางมาถึงเมืองเวรัญชาภายหลังจากที่มารได้ดลใจชาว เมืองแล้ว พ่อค้าม้าจึงยังไม่ถูกพญามารดลใจ แม้จะลำบากด้วยเรื่องอาหาร แต่พระสาวกก็ดำรงตนอยู่ในพระบัญชาอย่างเคร่งครัด ไม่เดือดร้อนใจเรื่องอาหาร คิดแต่เพียงเรื่องเดียวว่า จะบำเพ็ญสมณธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระบรมศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จกลับพระนครสาวัตถี ภิกษุสงฆ์ได้สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ เป็นพุทธสุขุมาลชาติประกอบด้วยอิทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ เวรัญชพราหมณ์นิมนต์ไปจำพรรษาอยู่ตลอด ๓ เดือน แม้ไม่ได้ภิกษาจากเวรัญชพราหมณ์สักวันเดียว ทรงละความโลภในอาหารได้ ดำรงพระชนม์ด้วยข้าวสำหรับเลี้ยงม้า ที่พ่อค้าม้าถวายวันละก้อน มิได้เสด็จไปแสวงหาอาหารที่อื่นเลย ความที่พระตถาคตทรงมักน้อยสันโดษนี้ น่าสรรเสริญยิ่งนักŽ

พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไรŽ เมื่อภิกษุสงฆ์กราบทูลเรื่องที่กำลังสนทนา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย การละความโลภในอาหารของตถาคตในบัดนี้ ยังไม่น่าอัศจรรย์ แม้ในกาลก่อน ตถาคตเคยเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน สร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ได้ละความโลภในอาหารมาแล้วเหมือนกันŽ ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตกาล นกแขกเต้าหลายพันตัว อยู่ในป่าไม้มะเดื่อแห่งหนึ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาในป่าหิมพานต์ ในบรรดานกแขกเต้าเหล่านั้น มีพญานกแขกเต้าตัวหนึ่ง เมื่อผลมะเดื่อต้นที่ตนอาศัยอยู่หมดผลแล้ว ก็จิกกินหน่อใบหรือเปลือกซึ่งยังเหลืออยู่ เป็นผู้ที่มีความปรารถนาน้อยอย่างยิ่ง สันโดษในอาหาร ไม่บินไปแสวงหาต้นอื่น เหมือนนกตัวอื่นๆ ครั้นดื่มน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วก็จะบินกลับมาพักอยู่ที่ต้นมะเดื่อเหมือนเดิม พลางรำพึงถึงศีลที่บริสุทธิ์ มีใจมุ่งมั่นที่จะรักษาศีล จะได้หลุดพ้นจากการเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เพื่อกลับไปเกิดเป็นมนุษย์ จะได้สั่งสมบุญอย่างเต็มที่

ด้วยคุณ คือ ความมักน้อยสันโดษของพญานกแขกเต้า มีอานุภาพถึงขนาดทำให้ภพของท้าวสักกะหวั่นไหว ท้าวสักกะทรงเห็นความมักน้อยสันโดษของพญานกแขกเต้า ก็ประสงค์จะทดลองดูว่า จะมีความมักน้อยเพียงไร จึงทรงบันดาลให้ต้นมะเดื่อ เหี่ยวแห้งด้วยเทวานุภาพ ต้นไม้ได้หักโค่นลง เหลือเพียงตอ และเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ปรุไปหมด ขุยปลิวออกจากช่องของต้นไม้ ถึงกระนั้น พญานกแขกเต้าก็ยังจิกกินขุยเหล่านั้น แล้วดื่มน้ำในแม่น้ำคงคาตามปกติ ไม่ยอมไปที่อื่น ไม่พรั่นพรึงแรงลม และแสงแดด จับอยู่ที่ปลายตอมะเดื่อโดยไม่รู้สึกหวั่นไหวต่ออุปสรรคที่บังเกิดขึ้น ทั้งสิ้น

ท้าวสักกะทรงรู้ว่าพญานกแขกเต้าตัวนี้ มีความปรารถนา น้อยอย่างยิ่ง จึงปรารถนาจะให้พร และบันดาลให้ต้นมะเดื่อเจริญงอกงามมีผลดกตามเดิม จึงได้เนรมิตพระองค์แปลงเป็นพญาหงส์ตัวหนึ่ง เสด็จลงจากเทวโลกบินตรงไปป่ามะเดื่อ จับที่กิ่งต้นไม้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกล และตรัสสนทนากับนกแขกเต้าว่า ต้นไม้อื่นที่มีใบเขียว มีผลดก มีอยู่เป็นอันมาก เหตุไรท่านจึง มีใจยินดีในต้นไม้แห้งๆ ผุๆ นี้เล่า ดูก่อนพญานกแขกเต้า ท่านเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ยอมไปหาผลไม้ที่ต้นอื่นŽ

พญานกแขกเต้าตอบว่า เราเคยบริโภคผลของต้นไม้นี้นับได้หลายปีมาแล้ว ถึงเราจะรู้ว่าต้นไม้นี้ไม่มีผลอีกต่อไป ก็ต้องรักษาไมตรีไว้ให้เหมือนดังก่อน นกเหล่าใดคบหากันเพราะต้องการผลไม้ ครั้นรู้ว่าต้นไม้นั้นไม่มีผล ก็ละทิ้งต้นไม้นั้นไปเสีย นกเหล่านั้นไม่รักษาน้ำใจ จึงทำให้มิตรภาพไม่ยั่งยืนŽ
พระอินทร์ ได้ตรัสชมเชยว่า ความเป็นเพื่อน ความมีไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านได้ทำไว้ดีแล้ว ถ้าท่านชอบใจธรรมนั้น ท่านก็ควรเป็นผู้ที่วิญญูชนทั้งหลายจะสรรเสริญ ดูก่อนพญานกแขกเต้า ผู้ชาติวิหค มีปีกเป็นยานพาหนะ มีคอโค้งเป็นสง่า เรานั้นจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงเลือกเอาพรตามที่ใจปรารถนาเถิดŽ

พญานกแขกเต้าได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ ทูลขอว่า อยากให้ตอมะเดื่อนี้ เป็นต้นไม้ที่มีผลดก ให้ร่มเงาแก่สัตว์ทั้งหลายเหมือนเดิมŽ ท้าวสักกเทวราชก็ทรงวักน้ำมาประพรมต้นไม้ กิ่งก้านของต้นมะเดื่อก็งอกงาม ให้ร่มเงาเย็นสบายเป็นที่น่ารื่นรมย์ และก็ทูลว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญสุขพร้อมด้วยพระญาติทั้งปวง เหมือนดังข้าพระบาทมีความสุข เพราะได้เห็นต้นไม้ผลิตผลในวันนี้เถิดŽ

นี่ก็เป็นตัวอย่างของความมักน้อยสันโดษ ผู้รู้ทั้งหลายท่านจะไม่เสียเวลาในการดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสาร ซึ่งเป็นเพียงสุขนอกตัวชั่วครั้งชั่วคราว และก็ไม่ยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเหล่านั้นซึ่งไม่จีรังยั่งยืน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการเพิ่มเติมบุญบารมีให้กับตนเองแล้ว ท่านจะทุ่มเทใช้สติปัญญา และเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จะไม่ทำย่อหย่อน มีเรี่ยวมีแรงมีกำลังความสามารถแค่ไหน ก็จะนำออกมาใช้อย่างเต็มที่
ฉะนั้นต้องนำความสันโดษมาใช้ให้ถูกหลักวิชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้สมกับเป็น พุทธศาสนิกชนผู้ประพฤติธรรมอย่างแท้จริง แล้วก็ให้หมั่นเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเองด้วยการนั่งธรรมะให้ได้ทุก วัน พากเพียรพยายามเรื่อยไป แล้วสักวันหนึ่ง เราจะสมปรารถนา ได้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. จุลลสุวกราชชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๖๓๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘