มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - สารธรรมของชีวิต

มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - สารธรรมของชีวิต
ชนเหล่าใด รู้สิ่งที่เป็นสาระ โดยความเป็นสาระ
และรู้จักสิ่งที่ไม่เป็นสาระ โดยความไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมประสบสิ่งเป็นสาระ


เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง เพื่อแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง แสวงหาสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสุขได้ด้วยตัวเองและเป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งที่เราต้องการนี้ รวมประชุมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด ธรรมกายคือแก่นของชีวิต เป็นชีวิตในระดับลึกที่อยู่ภายในตัวของเราที่ทุกคนมีสิทธิ์จะเข้าถึงได้ ถ้าหยุดได้เมื่อไร เข้าถึงได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ถ้าเราเข้าถึงธรรมกายแล้ว ชีวิตเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น ชีวิตจะมีความมั่นคงและปลอดภัย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

"สารญฺจ สารโต ญตฺวา อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺต สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา

ชนเหล่าใด รู้สิ่งที่เป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้จักสิ่งที่ไม่เป็นสาระ โดยความไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมประสบสิ่งเป็นสาระ"

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมา ต่างแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งเป็นสาระที่แท้จริงสำหรับชีวิต แต่เนื่องจากปัญญาและวิจารณญาณที่แตกต่างกัน ทำให้มีการแสวงหากันไปต่างๆ นานา พบทั้งสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ยิ่งถ้าขาดกัลยาณมิตร ก็เหมือนกับคนเดินทางในที่มืด หาหนทางออกไม่พบ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเจ้าลัทธิ หรือผู้ตั้งตนเป็นศาสดาต่างๆ จำนวนมากเกิดขึ้นในโลก เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้ต้องการแสวงหาทางหลุดพ้น ส่วนแนวคำสอนนั้นก็แตกต่างกันไป มีทั้งถูกบ้าง ผิดบ้าง เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานก็มี หรือบางลัทธิก็ตรงกันข้าม ขวางหนทางนิพพาน ที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า เป็นพวกเดียรถีย์ คือ นำสาวกไปสู่ที่ที่ไม่ใช่นิพพาน

ในสมัยพุทธกาล แม้พระบรมศาสดาจะตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูพุทธเจ้า ก็ยังมีเจ้าลัทธิต่างๆ มากมาย ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในยุคร่วมสมัยเดียวกับพระพุทธองค์ พระองค์สามารถเอาชนะความเห็นผิดของเจ้าลัทธิต่างๆ เหล่านั้นได้ แล้วทรงสอนให้รู้จักหนทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริงว่า จะต้องดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ในเส้นทางสายกลางนี้เท่านั้น เพราะมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี อริยสัจ ๔ ก็ดี เป็นปฏิปทาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ การเป็นสมณะคือผู้สงบสำรวมที่แท้จริง มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เมื่อปฏิบัติตามนี้ ก็จะพบกับความสุขอันเป็นอมตะได้

*สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ถ้ำสุกรขาตา บริเวณภูเขาคิชฌกูฏ ปริพาชกชื่อ ทีฆนขะ อัคคิเวสสนะ ซึ่งเป็นนักบวชนอกศาสนา ได้ รับการสอนที่ผิดๆ ว่า การไว้เล็บยาว ผมยาว โดยไม่ต้องตัดเลยตลอดชีวิตนั่นแหละดี ยิ่งยาวมากแสดงว่าไม่ติดอะไร ก็จะทำให้กิเลสหลุดร่อนออกไปได้มาก

เนื่องจากท่านเป็นหลานของพระสารีบุตร เห็นว่าลุงออกแสวงหาโมกขธรรมมานานแล้ว และขณะนี้ก็ออกบวชในพระพุทธศาสนา จึงอยากมาเยี่ยมเยียน ทีฆนขะเห็นพระสารีบุตร ผู้เป็นลุงกำลังยืนถวายงานพัดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้สนทนากับพระพุทธองค์ว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ส่วนพระพุทธองค์ทรงมีความเห็นว่าอย่างไร"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "แม้ความเห็นของท่านที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่านเหมือนกัน ดูก่อนอัคคิเวสสนะ สมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เราก็ดี สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เราก็ดี หรือบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เราก็ดี ความเห็นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นเหตุให้เกิดความกำหนัดยินดีหรือเพลิดเพลินในสิ่งที่ปรารถนา ยังผูกสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในภพสาม ไม่สามารถหลุดพ้นออกจากภพไปได้ ส่วนที่เห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรนั้น เป็นความคิดที่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น" ทีฆนขปริพาชกฟังแล้ว รู้สึกดีใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องความเห็นของตนเอง

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสต่อไปว่า "อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่นถือมั่นซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา แล้วยืนยันว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ก็จะพึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา หรือผู้มีความเห็นว่า บางสิ่งก็ควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็เกิดการทุ่มเถียงกัน เกิดการแก่งแย่งกัน ทำให้มีการเบียดเบียนตามมา วิญญูชนพิจารณาเห็นโทษของการทะเลาะวิวาท การทุ่มเถียงกันแล้วควรละทิฏฐินั้นเสีย ด้วยการไม่ยืดมั่นในทิฏฐิทั้งหลาย"

เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ทีฆนขะพอจะตรองตามที่พระองค์ทรงเทศนาได้ จึงตรัสเวทนาปริคคหสูตร ว่าด้วยการกำหนด ถือเอาเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกาย ว่ากายนี้มีรูปเป็นที่ประชุมของมหาภูตทั้งสี่ ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มีมารดาบิดาเป็นผู้ให้กำเนิด เจริญเติบโตขึ้นด้วยข้าวน้ำที่มารดาหล่อเลี้ยง ต้องดูแลอาบน้ำทำความสะอาดเป็นประจำและมีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา คือ ท่านให้พิจารณาสังขารร่างกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นรังของโรค เมื่อพิจารณาเห็นร่างกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงแล้ว ย่อมละความพอใจในสังขารร่างกาย

เวทนา ๓ อย่างนี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เวทนาเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสุข เป็นทุกข์ บางครั้งก็ไม่สุขไม่ทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา และในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น เมื่อคลายความยึดมั่น จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณ หยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำก็ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว ผู้มีจิตหลุดพ้นย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใครๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิเหล่านั้นเลย

ทีฆนขะได้พิจารณาธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา ก็เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ที่ตนเคยยึดถือมานั้น ยังทำให้ ติดข้องอยู่กับภพสาม ไม่สามารถสลัดตนให้หลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัด คืออาสวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจได้ ท่านได้พิจารณาเห็นธรรมด้วยตัวเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ทำให้ละคลายความเห็นผิดๆ ทั้งหมดที่เคยยึดถือมา แล้วทำใจหยุดนิ่งปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในขณะนั้นเอง

เมื่อทีฆนขปริพาชกได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่าน ได้กราบทูลชื่นชมพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก เปรียบเสมือนบุคคลหงายของที่ควํ่า เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น"
จากนั้นท่านประกาศตนเป็นพุทธมามกะว่า "นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระพุทธองค์จงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะไปตลอดชีวิต"

เราจะเห็นว่า ยังมีหมู่สัตว์อีกมากมายที่หลงยึดมั่น ถือมั่น ในเรื่องที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ มีการยึดถือความเห็นที่ผิดๆ แทนที่จะเป็นเหตุให้ยกตนขึ้นสู่สวรรค์นิพพาน กลับเป็นเหตุให้จมดิ่งลงสู่อบายภูมิ บางคนยึดถือว่าสิ่งใดๆ ที่ทำในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี หรือไม่ดีก็ตาม ล้วนขาดสูญหมด เมื่อเข้าใจผิดอย่างนี้ ทำให้คิดอยากฆ่าสัตว์ อยากลักขโมย ทำไปโดยไม่เกรงกลัวต่อผลของบาป บางท่านเป็นประเภท สัสสตทิฏฐิ มีความเห็นว่า โลกนี้เที่ยง ถ้าชาตินี้เป็นคนจน ชาติหน้าก็ต้องจนต่อไป แต่ ในทางพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อในกฎแห่งกรรม เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเอง ให้พัฒนาขึ้นมาจากสามัญชนคนธรรมดามาเป็นพระอริยเจ้าได้

หรือบางท่านเป็นประเภทนัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่าบุญไม่มี บาปไม่มี โลกนี้ โลกหน้าไม่มี เห็นผิดกันไปอย่างนั้น จึงไม่ทำความดีอะไรเลย แต่ใจของคนส่วนใหญ่นั้น มักคิดในเรื่องการทำมาหากิน เรื่องกามคุณ เกียรติยศชื่อเสียง วนเวียนอยู่อย่างนี้ เมื่อถูกอวิชชาครอบงำจิต ก็ไม่สั่งสมบุญ บาปอกุศลจึงเข้ามาแทนที่ เกิดมาก็เสียโอกาสที่ดีในชีวิต

เพราะฉะนั้น เราอย่าเป็นอย่างนั้น พวกเรานับว่าเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา และเข้าใจหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ควรหมั่นศึกษาหาความรู้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะได้ช่วยกันทำความเข้าใจถูก ให้เกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ ขจัดความเข้าใจผิดให้หมดไป ให้ชาวโลกได้พบ เส้นทางสว่างของชีวิตทั้งหลาย เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่จะเป็นผู้นำประทีปแห่งธรรม ไปจุดในดวงใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นให้เห็นคุณค่าของตนเอง และหมั่นศึกษาค้นคว้าธรรมะ ให้แตกฉาน อีกทั้งให้ตั้งใจปฏิบัติธรรม ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ทีฆนขสูตร เล่ม ๒๐ หน้า ๔๗๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘