มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๖ ( ผู้ผดุงความยุติธรรม )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๖
( ผู้ผดุงความยุติธรรม )

บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่นำคดีไป โดยความผลุนผลัน ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดี และไม่ใช่คดีทั้งสอง ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไป โดยความละเอียดลออ โดยธรรมสม่ำเสมอ ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เรากล่าวว่าตั้งอยู่ในธรรม

การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับตัวเราเองและมวลมนุษยชาติ ผู้มีธรรมะเป็นอาภรณ์ จะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย อาภรณ์ภายนอกอันมีค่าไม่ใช่เครื่องวัดคุณค่าของคน บุคคลใดมีธรรมะเป็นอาภรณ์ จะเป็นบุคคลผู้มีคุณค่า ธรรมะจะเป็นอาภรณ์ชั้นเลิศ เป็นที่พึ่งให้กับตัวของเราได้ตลอดเวลา แม้คนอื่นก็เคารพเลื่อมใส ดังนั้น ธรรมะจึงเป็นอาภรณ์อมตะประดับคู่กายคู่ใจที่มั่นคงที่สุด ที่จะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้มากๆ จะได้เป็นเจ้าของสมบัติอันลํ้าค่านี้กัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

"น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เยนตฺถํ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺ จ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺฑิโต
อสาหเสน ธมฺเมน สเมน นยตี ปเร
ธมฺมสฺส คุตฺโต เมธาวี ธมฺมฏฺโฐติ ปวุจฺจติ
บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่นำคดีไป โดยความผลุนผลัน ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดี และไม่ใช่คดีทั้งสอง ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไป โดยความละเอียดลออ โดยธรรมสม่ำเสมอ ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เรากล่าวว่าตั้งอยู่ในธรรม"

การทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รับใช้ประเทศชาติบ้านเมือง คอยสอดส่องดูแลสังคมให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความวุ่นวายหรือศัตรูภายนอกมารุกราน เป็นงานสำคัญมาก ผู้ที่ทำงานด้านนี้จำเป็นต้องมีธรรมประจำใจ มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่เห็นแก่ลาภยศ ไม่มีความอคติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีใจเที่ยงธรรมดุจตราชู จึงจะได้ชื่อว่าเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านเมืองนั้นๆ ได้อย่างแท้จริง

*เหมือนดังเรื่องของมโหสถบัณฑิต ผู้ฉลาดในการวินิจฉัย อรรถคดี เมื่อตัดสินความใดๆ ก็เป็นที่ถูกใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านชาวเมือง กระทั่งพระราชายังทรงถวิลหา ปรารถนาอยากได้มาเป็นราชบัณฑิตเสริมบารมีของพระองค์ ฉะนั้น ในครั้งนี้เรามาดูตัวอย่างการตัดสินอรรถคดีของมโหสถบัณฑิต ผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์ว่า มีความเที่ยงธรรม และฉลาดในการตัดสินปัญหาอย่างไรบ้าง

เรื่องมีอยู่ว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงมีพระทัย ใฝ่ฝันถึงมโหสถบัณฑิตมาตลอด ยิ่งทรงสดับรายงานการวินิจฉัยคดีสามีภรรยาเมื่อคราวที่แล้ว ยิ่งทรงประสงค์อยากจะเห็นมโหสถ แต่เพราะคำทักท้วงของท่านเสนกะยังคงมีอำนาจ ที่จะยับยั้งพระทัยของพระองค์ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ปรารถนาที่จะเห็นคณะของตนตกตํ่า พระราชาจึงได้แต่ทรงรอคอยด้วยพระทัยที่จดจ่ออยู่กับมโหสถทุกทิวาราตรี
ส่วนเหตุการณ์ที่หมู่บ้านยวมัชฌคามนั้น มโหสถกุมารได้แสดงสติปัญญาของตนเสมอ บ่อยครั้งได้เป็นเหมือนผู้พิพากษา คอยวินิจฉัยคดี และตัดสินปัญหาของชาวบ้านที่เกิดขึ้น อย่างเช่นวันหนึ่ง มีหนุ่มชาวนาผู้ยากจนได้ไปซื้อโคจากบ้านอื่น เพื่อนำมาไถนา ครั้นรุ่งเช้าได้นำโคออกไปหากินตามปกติ ตกกลางวัน เขาเผลอนอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้ ทำให้โจรคนหนึ่งแอบมาลักโคไป

หนุ่มชาวนาตื่นขึ้นมาไม่เจอโคของตน ก็รีบวิ่งออกติดตามรอยเท้าโคไป เมื่อตามไปพบก็ร้องบอกโจรให้นำโคคืนมา ตนจะไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร แต่เหตุการณ์กลับตรงข้าม เพราะโจรอ้างว่าโคนี้เป็นของเขา เมื่อไม่ยอมกันทั้งสองเกิดการทะเลาะวิวาท ชาวบ้านจึงพามาหามโหสถให้ช่วยตัดสินว่า ใครเป็นเจ้าของโคตัวนี้กันแน่

มโหสถบัณฑิตเห็นกิริยาของคนทั้งสองก็รู้ว่า คนไหนเป็นโจร คนไหนเป็นเจ้าของโค แต่ถึงจะรู้ก็ต้องสอบถามไปตามลำดับ ให้ชาวบ้านที่มารับฟังได้เห็นจริงในการตัดสินด้วย
ชาวบ้านช่วยกันถามว่า ซื้อโคมาจากไหน และเหตุเกิดขึ้นที่บริเวณใด เจ้าของโคได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังทุกอย่าง ส่วนโจรกุเรื่องขึ้นมาชี้แจง ให้สมเหตุสมผลเช่นเดียวกัน จนพวก
ชาวบ้านวินิจฉัยไม่ออกว่า โคตัวนี้เป็นของใครกันแน่
มโหสถบัณฑิตถามเพียงประโยคเดียวว่า โคเหล่านี้ท่านให้กินอะไร ให้ดื่มอะไร โจรตอบว่า "ข้าพเจ้าให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้งและขนมกุมมาส" ฝ่ายเจ้าของโคตอบว่า "คนจนอย่างข้าจะได้อาหารดีๆ มาจากไหน ข้าพเจ้าให้โคกินหญ้ากินน้ำเท่านั้นแหละ" มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำของคนทั้งสองแล้ว จึงให้คนนำใบประยงค์มาตำ ขยำด้วยน้ำให้โคดื่ม โคก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า มโหสถบัณฑิตเห็นเช่นนั้น ก็ถามโจรว่า "เจ้าเป็นโจรใช่หรือไม่" โจรยอมรับผิดโดยดี ครั้นโจรรับสารภาพแล้ว มโหสถจึงให้โอวาทว่า"จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าทำอย่างนี้อีก จงประกอบแต่สัมมาอาชีวะ ทำงานสุจริตที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน จะได้ไม่ต้องเป็นบาปเป็นกรรม ตกนรกหมกไหม้" จากนั้นก็ให้สมาทานศีล ๕ และปล่อยตัวไป
ครั้นพระราชารู้ข่าว ทรงปีติโสมนัสในสติปัญญาของมโหสถ ได้ตรัสถามเสนกะบัณฑิตว่า "ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำบัณฑิตนั้นมาได้หรือยัง" เมื่อเสนกะทูลว่า "ข้าแต่มหาราช คดีเรื่องโค ใครๆ ก็วินิจฉัยได้ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอให้ทรงรอไปก่อน" พระราชาจึงทรงได้แต่นิ่ง

ความเป็นผู้มีปัญญาของมโหสถยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ นับวันก็ยิ่งโดดเด่นขึ้น ดังเช่นวันหนึ่ง มีหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง เปลื้องเครื่องประดับไว้บนผ้าสาฎก แล้วเดินลงไปล้างหน้าในสระน้ำ หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งเห็นเครื่องประดับนั้น เกิดความโลภ จึงหยิบเครื่องประดับขึ้นชมแล้วลองสวมใส่ดู และรีบเดินจากไป ฝ่ายหญิงเจ้าของเห็นดังนั้น ก็รีบขึ้นจากสระน้ำวิ่งตามไป ร้องบอกให้เอาเครื่องประดับของตนคืนมา แต่หญิงรุ่นสาวตู่ว่า เป็นเครื่องประดับของตน จึงเกิดการทะเลาะกันขึ้น
ฝ่ายมโหสถบัณฑิตกำลังเล่นอยู่กับเพื่อนเด็กๆ ได้ยินเสียงหญิงสองคนทะเลาะกัน จึงให้เรียกเข้ามาสอบถามต้นสายปลายเหตุ เพียงแค่สังเกตกิริยาอาการและคำพูด ก็รู้ได้ทันทีว่าคนไหนเป็นเจ้าของเครื่องประดับ แต่ก็ถามหญิงที่เป็นผู้ขโมยว่า "ท่านย้อมเครื่องประดับนี้ด้วยของหอมอะไร" หญิงวัยรุ่นที่เป็นหัวขโมยตอบว่า "ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอมทุกอย่าง"
จากนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงเจ้าของ นางตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ จึงย้อมด้วยดอกประยงค์เท่านั้น" มโหสถบัณฑิตให้บริวารจดจำคำให้การของหญิงทั้งสอง และให้นำภาชนะใส่น้ำมาแช่เครื่องประดับ จากนั้นให้เรียกคนที่ชำนาญเรื่องกลิ่นมาสูดดม เพื่อพิสูจน์ว่าเครื่องประดับนี้เป็น กลิ่นอะไร เมื่อผู้ชำนาญพิสูจน์กลิ่น ก็รู้ได้ทันทีว่า เป็นกลิ่นดอกประยงค์ จึงรายงานมโหสถบัณฑิต จากนั้นมโหสถบัณฑิตได้ซักไซ้ไล่เลียง จนหญิงวัยรุ่นยอมรับว่าตนเป็นคนขโมย เหตุที่ทำไปเพราะความโลภอยากได้เครื่องประดับนั่นเอง
จากนั้นมโหสถให้หญิงวัยรุ่นกล่าวขอโทษหญิงที่เป็นเจ้าของ จะได้ไม่มีเวรไม่มีกรรมต่อกัน พร้อมทั้งให้โอวาทว่า "ให้ยินดีในสิ่งที่ตัวเองได้ พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี จะได้สบายใจ ไม่ทุกข์ร้อนใจในภายหลัง อย่าเป็นคนลักขโมย เพราะจะนำไป สู่เปรตวิสัย ไปสู่อบายภูมิ ควรแสวงหาทรัพย์สมบัติมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และความสามารถของตน จะได้มากหรือน้อยก็มีความสันโดษพอใจ ดีกว่าได้มาเพราะความไม่สุจริต" เมื่อสั่งสอนแล้วก็ปล่อยตัวนางไป

นี่เป็นตอนหนึ่งในการทำหน้าที่ วินิจฉัยอรรถคดีอย่างชาญฉลาดของมโหสถบัณฑิต เป็นต้นแบบที่เราควรศึกษาไว้ ฝึกเป็นผู้รู้จักคิด รู้จักแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา เพราะต่อไปพวกเราจะต้องเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่น หลังจากที่เรามีที่พึ่งให้กับตนแล้ว ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนาเพื่อเราจะได้มีปัญญาบริสุทธิ์กันทุกคน
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๓๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘