มงคลที่ ๙ มีวินัย - อานิสงส์แห่งศีล

มงคลที่ ๙

มีวินัย - อานิสงส์แห่งศีล

ศีลเป็นเยี่ยมในโลก

สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนปรารถนาความสุข มวลมนุษยชาติต่างปรารถนาอยากจะให้โลกนี้มีสันติสุข จึงมีการเรียกร้องหาสันติภาพกันทั่วโลก ตลอดทั้งได้กำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ออกมามากมาย หวังให้เกิดสันติภาพแก่โลก แต่ก็ไม่เคยมีสันติภาพที่แท้จริงได้ ยิ่งนานวันเข้า สันติภาพที่แสวงหาก็ยิ่งห่างไกลออกไปทุกที เพราะจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าสันติภาพภายนอกต้องเริ่มมาจากสันติสุขภายใน แล้วทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงสันติสุขภายใน เว้นจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นเลย ที่จะทำให้เราได้รู้จักสันติสุขที่แท้จริง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก ว่า
"สีลํ โลเก อนุตฺตรํ ศีลเป็นเยี่ยมในโลก"
การรักษาศีล ๕ เป็นการรักษาปกติของความเป็นมนุษย์ไว้ เพื่อความเป็นปกติสุขของโลก ปกติของมนุษย์จะไม่ฆ่า ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ และมีสติสัมปชัญญะ สมบูรณ์ แต่กลับมีคนจำนวนมาก ที่ละทิ้งปกติวิสัยของตน แล้วปฏิบัติในทางตรงกันข้าม

ปกติวิสัยของคนจะไม่ฆ่า คนเหล่านี้กลับฆ่า ธรรมดาของคนจะไม่ลักทรัพย์ เขากลับลักทรัพย์ โดยทั่วไปคนจะไม่ประพฤติล่วงในกาม คนเหล่านี้กลับประพฤติล่วงในกาม ปกติคนจะไม่พูดเท็จ พวกเขากลับพูดเท็จ และปกติคนจะมีสติมั่นคง แต่คนเหล่านี้กลับเสพสุราเมรัย ที่ทำให้ขาดสติ ทำให้ควบคุมความคิด คำพูด และการกระทำไม่ได้ เมื่อไม่สามารถรักษาปกติวิสัยของคนอยู่ได้ จึงมีสภาพใจผิดปกติ ห่างไกลจากปกติของความเป็นคนออกไปทุกที

หากมนุษย์ไม่มีศีลเลย ก็หมดความเป็นมนุษย์ หมดความสงบ และความสุข แม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว เพราะไม่ทำความดีใดๆ ให้งอกเงยขึ้นมา มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และผู้อื่นเท่านั้น ที่ชาวโลกหาสันติสุขไม่พบก็เพราะ คนไม่สามารถรักษาปกติวิสัยของตนเองเอาไว้ได้ ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นคนของตนไว้ให้ดี จึงต้องอาศัยศีล ๕ ไว้ควบคุมตนเอง ไม่ให้ละทิ้งความเป็นปกติวิสัยของคน

ศีล ๕ จะคอยควบคุมกายวาจาของเรา ไม่ให้เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนจากการกระทำและการพูดไปตามอารมณ์ที่วู่วาม ศีลจึงเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่จะทำลายโทสะ เพราะศีลจะควบคุมกายและวาจา ไม่ให้ไปกระทบกระทั่งใคร ทำให้ใจเยือกเย็นลง จนโทสะที่มีอยู่ในใจสงบระงับไป เหมือนบังคับให้ไฟติดอยู่เฉพาะในเตา ไม่ลุกลามไปสู่ภายนอก ในที่สุดเมื่อหมดเชื้อในเตานั้น ไฟย่อมดับลงเอง

ผู้รักษาศีล ๕ อย่างบริบูรณ์จะได้รับอานิสงส์ใหญ่เป็นอเนกอนันต์ ทำให้ แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน เกียรติคุณฟุ้งขจรไปเพราะเป็นคนเชื่อถือได้ กลิ่นศีลอันหอมทวนลมได้ ย่อมฟุ้งปกคลุมไปทั่วทุกทิศ เมื่อละโลกไปแล้วจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ดังจะเห็นได้จากบุพกรรมของพระปัญจสีลสมาทานิยเถระ เรื่องมีอยู่ว่า

*ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี พระปัญจสีลสมาทานิยเถระ เกิดเป็นคนยากไร้ ต้องทำงานรับจ้างอยู่ในนครจันทวดี แต่ท่านเป็นคนมีปัญญา สามารถสอนตนเองได้และรู้ถึงโทษภัยในสังสารวัฏ จึงปรารถนาอยากบวช แต่ก็ยังหาโอกาสไม่ได้ จึงคิดว่า
เพราะเราเป็นคนยากไร้ ต้องทำงานรับจ้างเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่งๆ
ไทยธรรมของเราที่จะมาทำทานก็ไม่มี จึงไม่สามารถให้ทานได้
อย่างไรก็ตาม ในภพชาตินี้อย่างน้อยเราก็ยังสามารถรักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์ได้
ท่านจึงเข้าไปหาพระนิสภเถระ ผู้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอสมาทานศีล ๕ แล้วตั้งใจรักษาศีลเป็นอย่างดี

ในสมัยนั้นอายุเฉลี่ยของมนุษย์ยาวนานถึงหนึ่งแสนปี ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ ท่านรักษาศีลได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ เมื่อถึงคราวหลับตาลาโลก เหล่าเทวดาพร้อมรถที่เทียมด้วยม้าหนึ่งพัน ได้ปรากฏเป็นคตินิมิตและเชื้อเชิญท่านไปเป็นสหาย พอท่านระลึกถึงศีลของตนเอง มหาปีติก็บังเกิดขึ้น ละโลกแล้ว ได้บังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นจอมเทพเสวยทิพยสมบัติในเทวโลก ๓๐ ครั้ง มีนางอัปสรเป็นบริวารมากมาย แล้วเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๗๕ ครั้ง และเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับจำนวนครั้งไม่ถ้วน

ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านมาเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในนครเวสาลี แคว้นลิจฉวี เมื่ออายุ ๕ ขวบ บิดามารดาของท่านสมาทานศีล ๕ ในช่วงเข้าพรรษา ท่านตามบิดามารดาไปฟังธรรมเรื่องศีลที่วัด ระหว่างที่นั่งฟังธรรมอยู่นั่นเอง บุญที่เคยรักษาศีลมานาน ส่งผลให้ท่านระลึกถึงศีลของตนเองได้ เกิดความปีติ เบิกบาน จึงเจริญสมาธิภาวนา เข้าถึงธรรมกายอรหัต เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุเพียง ๕ ขวบ และได้บรรลุวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ แทงตลอดหมด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประทานการบวชให้ท่าน นับเป็นสามเณรอรหันต์ที่มีอายุน้อยมาก เพียง ๕ ขวบ ก็เป็นพระอรหันต์เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตแล้ว ส่วนใหญ่เราจะได้ยินว่า บรรลุธรรมตอนอายุ ๗ ขวบ แต่นี่เพียง ๕ ขวบเท่านั้น อานุภาพของศีล ๕ มีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ทีเดียว

เพื่อจะประกาศอานิสงส์ของศีลที่ท่านได้รับ พระปัญจสีลสมาทานิยเถระจึงกล่าวว่า
"เมื่อเรารักษาเบญจศีลแล้ว ทำให้ได้ฐานะ ๓ ประการ คือ
เป็นผู้มีอายุยืนนาน
มีโภคทรัพย์สมบัติมากมาย
และมีปัญญาเฉลียวฉลาด แตกฉานในความรู้ของครูอาจารย์
จะเกิดอยู่ในภพภูมิใดๆ ย่อมได้ฐานะเหล่านี้และไม่เคยไปสู่ทุคติเลย"

จะเห็นได้ว่า อานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ สามารถเปลี่ยนจากคนยากจนเข็ญใจ กลายเป็นผู้ได้สมบัติ ๓ ประการ คือ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติและคุณสมบัติ พรั่งพร้อม เหมือนเช่นท่านปัญจสีลสมาทานิยเถระที่ท่านได้รักษาศีล ๕ อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต ทำให้ท่านไม่ไปสู่ทุคติเลย บังเกิดอยู่ใน ๒ ภพภูมิเท่านั้น คือ บังเกิดเป็นเทวดาผู้มีรัศมีกายสว่างไสว พรั่งพร้อมไปด้วยทิพยสมบัติมากมาย เมื่อจุติจากสวรรค์ ก็ลงมาเกิดเป็นมนุษย์สร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แม้เป็นมนุษย์ท่านก็ยังบริบูรณ์ไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะกำลังแห่งศีล ที่รักษาไว้ดีแล้วนั่นเอง

ตลอดระยะเวลาที่เวียนตายเวียนเกิดในภพภูมิต่างๆ ก็เป็นผู้มีอายุยืน มีโภคทรัพย์สมบัติมากและมีปัญญาเฉลียวฉลาด อีกทั้งส่งผลสนับสนุนให้ท่านได้บรรลุธรรมกายอรหัต พร้อมด้วยคุณวิเศษต่างๆ ตั้งแต่เยาว์วัย พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ถึงฝั่งของพระนิพพาน ดินแดนที่มีแต่ความสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้อานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ แล้ว ควรตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ตามอย่างพระปัญจสีลสมาทานิยเถระกัน

วิธีที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา หมั่นประคับ ประคองใจให้หยุดนิ่งที่ตรงนี้นานๆ แล้วเราจะพบว่า ศีลที่ รักษาดีแล้วนี้ มีลักษณะเป็นดวงกลมๆ ใสๆ สว่างๆ กลายเป็นอธิศีลสิกขา ที่มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วเห็นเข้าไปเรื่อยๆ เป็นดวงศีล ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ใส สะอาด บริสุทธิ์ มากยิ่งขึ้นไป

หากเราเผลอสติ ปล่อยใจให้เคลื่อนออกจากศูนย์กลางกาย กิเลสก็จะเข้าครอบงำ บังคับให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุให้ละทิ้งปกติวิสัยของคน กลับประพฤติตรงกันข้าม ทำให้เสียคุณค่าของความเป็นคน และเมื่อล่วงละเมิดศีล จะมี วิบากและภพรองรับ ต้องเสวยทุกข์อันยาวนานในอบายภูมิและสังสารวัฏ

ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน จะต้องหมั่นประคับประคองใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. พระป’ญจสีลสมาทานิยเถระ เล่ม ๗๑ หน้า ๙๗

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘