มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๖ ( ลี้ภัยการเมือง )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๖
( ลี้ภัยการเมือง )

ผู้อยู่ครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน
มีปกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้ถ้อยคำของผู้ขอ ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ๔ อย่าง
ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรม ไม่ต้อง กลัวปรโลก

การที่จะไปสู่อายตนนิพพานได้ ใจต้องสะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่คอยบังคับบัญชาให้เราเวียนว่ายตายเกิด โดยวิธีการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจจะหยุดนิ่งได้นั้น ต้องอาศัยการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทำอย่างถูกวิธี ทำทุกๆ วัน เมื่อทำบ่อยๆ ใจจะคุ้นเคยกับ ศูนย์กลางกาย และจะอยู่ที่ตรงนั้นตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใด จะทำภารกิจอันใดก็ตาม ใจจะไม่เคลื่อนออกจากศูนย์กลางกาย เมื่อเราทำได้อย่างนี้ ร่างกายของเราจะเป็นฐานรองรับความรู้ภายใน และกระแสแห่งความบริสุทธิ์ภายใน จะไหลผ่านใจเราตลอดเวลา ทำให้เราสมปรารถนาทุกอย่าง

มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย ชาดกว่า

ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ อนตฺถํ จรติ อตฺตโน
อตฺตโน จ ปเรสญฺจ หึสาย ปฏิปชฺชติ

ผู้ด้อยปัญญา ได้ยศมาแล้ว มักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง มักปฏิบัติในทางที่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่น

ธรรมชาติสอนให้เรารู้ว่า ผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย คือ เมื่อกล้วยออกลูกแล้ว มันจะค่อยๆ ตาย เจ้าของก็จะตัดทิ้ง ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ เมื่อมีขุยไผ่เกิดขึ้น ต้นไผ่จะค่อยๆ ตาย ดอกอ้อฆ่าไม้อ้อ ลาภสักการะฆ่าคนโง่ ลาภสักการะไม่เคยทำความปรารถนาของคนพาลให้เต็มอิ่มได้ มีน้อยก็อยากได้มาก มีมากก็อยากได้มากยิ่งๆ ขึ้นไป แม้มีทรัพย์สินเงินทองกองท่วมฟ้า แต่เมื่อใช้ทรัพย์นั้นไม่เป็น ไม่ก่อประโยชน์ต่อโลก ก็จะทำให้เกิดโทษแทน

เหมือนดังเรื่องมโหสถบัณฑิต แม้รับราชการด้วยความเที่ยงธรรมตลอดมา ยังถูกกล่าวหาว่า ตั้งตนเป็นกบฏ ลักขโมยของมีค่าในราชสำนัก ซึ่งเกิดจากความโลภ ความอิจฉาริษยาของอาจารย์เสนกะ ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานในราชสำนักนั้นเอง เพราะข้อกล่าวหาอันฉกรรจ์ จึงทำให้มโหสถต้องลี้ภัยการเมือง

*เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อมโหสถเข้ารับราชการช่วยบริหารงานบ้านเมือง จนเจริญรุ่งเรือง มียศตำแหน่งใหญ่โตเป็นที่ยอมรับของทุกคน เป็นที่รักของชาวเมือง ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณ ลาภสักการะของเสนกะ และพรรคพวกทั้ง ๔ คน ต้องลดน้อยถอยลง เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยฉายแสงในยามรุ่งอรุณ เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลายต้องอับแสง เสนกะจึงเกิดความอิจฉาริษยาและหาทางที่จะกำจัดมโหสถบัณฑิต

วันหนึ่ง เสนกะได้แอบปรึกษาหารือกับปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ว่าทำอย่างไรจึงจะกำจัดมโหสถได้ มิเช่นนั้นพวกตน ก็จะเหมือนวัวแก่ที่ไม่มีค่าแก่การเทียมเกวียน เสนกะได้ออกอุบายด้วยการแอบไปลักขโมยพระจุฬามณีของพระราชา ให้ท่านปุกกุสะไปขโมยสุวรรณมาลา กามินทะแอบเข้าไปขโมยผ้าคลุมเตียง ซึ่งเป็นผ้ากัมพลเนื้อดี ส่วนเทวินทะไปขโมยฉลองพระบาททองคำ จากนั้นให้คนใช้หาทางเอาไปซุกไว้ที่บ้านของมโหสถ เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ต่างก็ไปดำเนินการทันที

เมื่อเสนกะลักขโมยจุฬามณีมา ได้เอาใส่ไว้ในหม้อเปรียง และสั่งนางทาสีให้นำหม้อเปรียงไปเร่ขายที่บ้านของมโหสถ นางอมราภรรยาของมโหสถสังเกตเห็นว่า นางทาสีคนนี้ปักใจเหลือเกินที่จะขายหม้อเปรียงให้กับคนที่บ้านของนาง เมื่อนางทาสีเผลอ นางจึงแอบล้วงมือเข้าไปในหม้อเปรียง ก็รู้ว่ามีพระจุฬามณีของพระราชาอยู่ข้างใน นางเห็นผิดสังเกตจึงตัดสินใจรับซื้อไว้ พร้อมกับลงชื่อของผู้นำมาขาย และวันเดือนปีที่รับซื้อ

ฝ่ายปุกกุสะวางสุวรรณมาลาในผอบซึ่งบรรจุดอกมะลิ กามินทะวางผ้าคลุมเตียงในกระเช้าที่บรรจุผัก และเทวินทะสอดฉลองพระบาททองคำไว้ในฟ่อนข้าวเหนียว แล้วส่งไปขายที่บ้านของมโหสถ นางอมราซึ่งเป็นคนฉลาดเมื่อรับซื้อแล้ว ก็บอกมโหสถถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ฝ่ายบัณฑิตทั้งสี่รีบเดินทางไปราชสำนักตั้งแต่เช้า และกราบทูลว่า " วันนี้ เป็นวันอุดมมงคล พระองค์ควรจะประดับพระจุฬามณี พระเจ้าข้า " พระราชาสดับเช่นนั้น ก็ให้อำมาตย์ไปนำพระจุฬามณีมาให้ เมื่อไม่เห็นก็แสร้งกราบทูลว่า สงสัยมโหสถซึ่งเป็นคนที่เข้านอกออกในเป็นประจำ จะขโมยไปอย่างแน่นอน เมื่อทรงตรวจพระสุวรรณมาลา ผ้าคลุมเตียงหรือกระทั่งฉลองพระบาทของพระองค์ก็หายไปทั้งหมด จึงทรงกริ้วเป็นอย่างมากที่มีผู้บังอาจมาขโมยถึงในห้องบรรทม อีกทั้งได้รับคำยุยงจากคนทั้งสี่ที่กล่าวหามโหสถว่า เป็นกบฏคิดชิงราชสมบัติ จึงขโมยสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไป

ครั้นคนสนิทของมโหสถรู้ว่า มโหสถกำลังถูกกลั่นแกล้งชนิดที่แก้ตัวได้ยาก จึงรีบแอบไปบอกมโหสถ มโหสถได้ฟังแล้ว ตั้งใจว่าจะเข้ากราบทูลความจริง แต่เพราะความกริ้ว ในเช้าวันนั้น พระราชาจึงไม่ยอมให้มโหสถเข้าเฝ้า อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ทหารจับตัวมโหสถไปประหารชีวิต ครั้นมโหสถรู้ว่ามหันตภัยกำลังจะเกิดขึ้นเพราะถูกใส่ความ จึงไปบอกนางอมราและเดินทางออกนอกเมืองเพื่อลี้ราชภัยทันที

เมื่อเสนกะกับพรรคพวกสามารถยุยงพระราชา ให้กำจัดมโหสถออกนอกเมืองได้แล้ว ก็มักใหญ่ใฝ่สูงอยากจะได้นางอมรามาเป็นภรรยา คนทั้งสี่ได้ส่งช่อดอกไม้ และเครื่องบรรณาการไปให้นางที่บ้าน พร้อมกับนัดแนะว่า อยากมาเยี่ยมเยียนนางที่บ้านในเวลาเย็น นางอมราคิดว่าสามีถูกคน เหล่านี้กลั่นแกล้ง จึงคิดจะนำชื่อเสียงกลับคืนมาสู่สามี

นางให้คนในบ้านรีบช่วยกันขุดหลุมลึกท่วมหัว เทคูถ กับน้ำลงไปผสมกันข้างล่าง แล้วให้ปิดแผ่นกระดานที่ปากหลุมคูถ เอาเสื่อปกปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง จากนั้นได้เขียนจดหมายเชิญให้บัณฑิตทั้งสี่มาเยี่ยมนางคนละเวลา

เย็นวันนั้น อาจารย์เสนกะได้รับคำเชิญให้มาก่อน จึงต้องตกหลุมคูถที่นางได้ตระเตรียมไว้ เมื่อได้เวลา ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ต่างทยอยกันมาทีละคน แต่ละคนต่างแต่งกายเต็มยศ หวังว่าจะได้นางอมรามาเป็นคู่ครอง แต่ทันทีที่ย่างเข้ามาในบ้านของนาง ก็ตกลงไปในหลุมคูถทุกคน ต้องดมกลิ่นอุจจาระปัสสาวะตลอดทั้งคืน ทำให้ไม่ได้หลับไม่ได้นอน

ครั้นรุ่งสว่าง นางได้ให้คนหย่อนเชือกลงไป เพื่อให้คนทั้งสี่ปีนขึ้นมาด้วยความทุลักทุเล จากนั้นนางอมราได้ให้คนใช้โกนหัวคนทั้งสี่ แล้วให้นำข้าวเหนียวที่ขยำละเอียดทาไปทั่วทั้งร่างของอาจารย์ทั้งสี่ จากนั้นนำปุยนุ่นโรยลงให้ทั่วตัวอีกทีหนึ่ง นึกภาพดูว่า คนทั้งสี่จะมีความอัปลักษณ์เพียงไร นางอมราให้นำเสื่อลำแพนมาห่อหุ้มตัวและมัดด้วยเชือก จากนั้นได้นำไปถวายพระราชา

พระราชาเห็นอาจารย์ทั้งสี่เหมือนวานรเผือก จึงตรัสถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น นางอมราได้กราบทูลความจริงทั้งหมดว่า มโหสถไม่ได้เป็นคนขโมย แต่อาจารย์ทั้งสี่นี่แหละเป็นคนขโมยของมีค่าทั้ง ๔ อย่าง แล้วให้ทาสีนำไปขายให้ที่บ้าน ซึ่งนางได้บันทึกชื่อของคนขายพร้อมทั้งวันเวลาอย่างชัดเจน แม้พระราชา จะทรงเชื่อว่า มโหสถไม่ได้ขโมย แต่ยังคลางแคลงพระทัยว่า ถ้าหากมโหสถไม่คิดเป็นกบฏ จะหลบหลีกออกนอกเมืองไปทำไม จึงรับสั่งให้ปล่อยบัณฑิตทั้งสี่เป็นอิสระ

ตั้งแต่นั้นมา บัณฑิตทั้งสี่ไม่กล้าสู้หน้านางอมราอีกต่อไป ส่วนมโหสถจะกลับเข้ามารับราชการแผ่นดินตามปกติ และ ฉายแสงแห่งดวงปัญญาของท่านให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเมืองด้วยวิธีการอย่างไร นั้น ให้ติดตามในตอนต่อไป อย่างไรก็ตามขอให้หมั่นสอนตัวเองให้ดี อย่าให้มีความอิจฉาริษยาเกิดขึ้นในใจ ถ้ารู้สึกว่าเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบกำจัดออกไป ให้มีความมุทิตาขึ้นมาแทน ใครเขาได้ดีมีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จ ให้แสดงความยินดีด้วยความจริงใจ เราจะรู้สึกเป็นสุขใจ ได้เพื่อนดี เพิ่มขึ้นอีกมากมาย
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๙๐
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘