มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน - ผู้มีขันติธรรมเป็นเลิศ

ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น ผู้มีขันติธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสู่สวรรค์และนิพพาน
ความเมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก เป็นทางมาแห่งสันติภาพอันไพบูลย์ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีการแก่งแย่งรบราฆ่าฟันกันอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เมตตาธรรมจะช่วยค้ำจุนโลก เปลี่ยนแปลงกระแสโลกที่กำลังร้อนแรงด้วยไฟกิเลส เป็นกระแสแห่งความดีที่เกิดจากใจอันใสบริสุทธิ์ รุกเงียบไปในบรรยากาศโลก มวลมนุษยชาติจะปรองดองกัน มีสมบัติสิ่งของเครื่องใช้อะไร ที่พอจะแบ่งปันกันได้ ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป เพราะสมบัติทั้งหลายเป็นของกลางของโลก โลกทั้งโลก คือ บ้านหลังใหญ่ ที่มีสมาชิกในบ้านมากมาย พวกเราทุกคน คือ หมู่ญาติ เพื่อนพ้องพี่น้องกัน ที่ยังต้องเดินทางไกลในสังสารวัฏไปสู่ฝั่งแห่งนิพพาน
มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในบทสวดมนต์ฉบับหลวงว่า
อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ อตฺถาวโห ว ขนฺติโก
สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ อารุฬฺโห โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น
ผู้มีขันติธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสู่สวรรค์ และนิพพาน
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ ตั้งแต่อยู่กันในระดับครอบครัว เพื่อนฝูงในโรงเรียน ในที่ทำงานและในชุมชน จึงต้องประพฤติตามระบบระเบียบที่สังคมกำหนดไว้ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข การจะปรับตนให้เข้ากับทุกสภาวการณ์ได้นั้น ต้องอาศัยขันติธรรม คือ ความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่ได้อยู่เพียงลำพังตัวคนเดียว แต่ละวันที่ผ่านไป ต้องมีการติดต่อสื่อสาร ข้องเกี่ยวกับคนรอบข้าง และผู้คนอีกมากมาย มีทั้งคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ พบปะสิ่งของที่ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ถ้าปราศจากความอดทนเสียแล้ว คุณงามความดีต่างๆที่เราได้สั่งสมไว้ อาจจะพังทลายลงได้ เพราะอารมณ์เพียงชั่ววูบ ที่เกิดจากการขาดความยั้งคิด ขาดความอดทน ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน
ทุกคนที่เกิดมา ต่างก็อยู่ในช่วงกำลังฝึกตนเองให้เป็นผู้สมบูรณ์ จะหาผู้มีความเพียบพร้อมในทุกด้าน เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร หรือเหมือนหาแหล่งน้ำกลางทะเลทราย แม้กระทั่งตัวเราเองก็ยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น เมื่ออยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะใหญ่ ความอดทนต่อกันและกันจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุข
เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ถึงได้ตรัสว่า ผู้มีขันติธรรมประจำใจ จึงได้ชื่อว่านำประโยชน์สุขมาให้ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น คือ นอกจากจะมีอานิสงส์เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว ยังให้เกิดคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เหมือนที่พระบรมศาสดาของเรา ในสมัยที่เป็นพระบรมโพธิสัตว์ กำลังสร้างบารมีอยู่นั้น แม้ว่าหนทางไปสู่การตรัสรู้ธรรมเป็นสิ่งทำได้ยากอย่างยิ่ง และต้องอาศัยเวลายาวนาน แต่พระพุทธองค์ก็อดทน เพื่อบุญบารมีของพระองค์เอง แล้วผลแห่งขันติธรรมนั้น ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และเทวา ต่างก็ได้ดื่มด่ำธรรมรสอันยอดเยี่ยม ได้ตรัสรู้ธรรมตามพระพุทธองค์ เสวยเอกันตบรมสุขกันนับไม่ถ้วน
ความอดทนนี้ ก็เป็นคุณธรรมประจำใจของท้าวสักกะจอมเทพเช่นกัน
*มีเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล แต่เป็นเรื่องของการทำสงครามกันระหว่างชาวสวรรค์ ซึ่งมี พระอินทร์ เป็นจอมทัพ และฝ่ายอสูรมี ท้าวเวปจิตติ เป็นแม่ทัพใหญ่ หลายๆท่านอาจไม่เคยทราบว่า สวรรค์...เขาก็มีการรบกัน เรื่องอย่างนี้มันมีเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของภพภูมิที่ละเอียด เป็นการแย่งชิงทิพยสถานที่ตนเองเคยได้เสวยสุขมาก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้นแคฝอยออกดอกบานสะพรั่ง ท้าวเวปจิตติอสูรพร้อมด้วยบริวาร ซึ่งถูกโยนตกลงมาจากสวรรค์ มาอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ ก็จะนึกถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ตนเองเคยเสวยสุขมาก่อน จึงคิดจะยึดเอาคืนมาให้ได้
แต่ก่อนจะออกทำสงครามกัน ท้าวเวปจิตติจะสั่งอสูรบริวารว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว หากพวกอสูรได้ชัยชนะ พวกเทวดาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก็ขอให้พวกท่านช่วยกันเอาเชือกวิเศษ มัดท้าวสักกะจอมเทพไว้ให้มั่น แล้วนำมาที่ภพอสูรของเรา”
ฝ่ายท้าวสักกะก็จะบัญชาการรบเอง ทรงกำชับกับเหล่าทวยเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า “ดูก่อน...ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรเกิดขึ้น หากพวกเทวดาเป็นฝ่ายชนะ พวกอสูรถึงปราชัย ขอให้พวกท่านช่วยกันมัดมือมัดเท้าของท้าวเวปจิตติจอมอสูร อย่าให้หนีไปได้ แล้วให้นำขึ้นมาหาเราที่สุธรรมสภา”
แล้วก็ออกทำสงครามกัน ชาวสวรรค์เขารบกันด้วยเทวฤทธิ์ อาวุธชนิดต่างๆเกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของเทวดา ฝ่ายอสูรก็มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีลักษณะพิเศษกันออกไป
เทวสงครามแต่ละครั้ง ก็มีการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ในสมัยนั้น ฝ่ายเทวดาได้รับชัยชนะ พวกอสูรพ่ายแพ้ก็พากันหลบหนี กลับลงไปที่ภพอสูรเหมือนเดิม เหลือแต่ท้าวเวปจิตติที่ถูกเทวดาจับมัดไว้ด้วยเชือกวิเศษ แล้วช่วยกันนำขึ้นมาบนสวรรค์ ท้าวเวปจิตติโกรธแค้นมากที่ถูกมัด แม้พระอินทร์จะเสด็จมา สนทนาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเพียงไรก็ไม่ยอมรับฟัง ได้ใช้วาจาหยาบคายตัดพ้อต่อว่าพระอินทร์ แต่พระอินทร์ก็ไม่แสดงอาการโกรธตอบ หรือแม้กิริยาที่แสดงถึงความไม่พึงพอใจก็ไม่มี
มาตลีเทพบุตร เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า “เอ...ทำไมหนอ พระอินทร์ถึงมีกายวาจาที่สงบ ไม่โต้ตอบไม่ทำร้ายและก็ไม่ว่าร้าย พระหฤทัยของพระองค์จะเป็นอย่างไรหนอ” จึงได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพว่า...
“ข้าแต่ท้าว สักกะ พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำอันหยาบคายของท้าวเวปจิตติจอมอสูร ยังทรงอดทนต่อถ้อยคำเช่นนั้นได้ เนื่องเพราะว่ามีความกลัว เพราะไม่มีกำลังจะสู้กับจอมอสูรหรือ พระเจ้าข้า”
ท้าวสักกะตรัส ตอบว่า “เราอดทนต่อถ้อยคำอันหยาบคายของท้าวเวปจิตติได้ เพราะความหวาดกลัวหรือเพราะไม่มีกำลังจะต่อสู้ก็หาไม่ วิญญูชนผู้เช่นเรา ไฉนจะพึงโต้ตอบกับคนพาลเล่า”
มาตลีเทพบุตร ทูลต่อว่า “คนพาลไม่มีผู้กำราบ เหมือนพยัคฆ์ร้าย มันก็ยิ่งกำเริบหนักขึ้นไปทุกวัน ไม่มีทางจะทำให้เชื่องได้ด้วยวิธีการทั่วๆไป เพราะฉะนั้น ธีรชนพึงกำราบคนพาลด้วยอาชญาอย่างรุนแรงสิ พระเจ้าข้า”
ท้าวสักกะ ท่านทรงเป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่ยินดีการฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น จึงอธิบายให้ฟังว่า “ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบระงับได้ เราเห็นว่า การสงบระงับได้ของผู้นั้นแล เป็นการกำราบคนพาล”
มาตลีเทพบุตรฟังแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจกระจ่างแจ้ง จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่ท้าววาสวะ ข้าพระองค์เห็นโทษในความอดทนนี้ว่า เมื่อใด คนพาลย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า ผู้นี้ย่อมอดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้น คนมีปัญญาทราม ยิ่งข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไป ฉะนั้น”
ท้าวสักกะได้ตรัสว่า “บุคคลจงสำคัญว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามที ประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดเป็นคนมีกำลัง อดกลั้นต่อคนผู้ทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นยอดแห่งขันติ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงกำลังของผู้ซึ่งมีกำลังอย่างคนพาลว่า หาใช่กำลังที่แท้จริง ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวโต้ตอบต่อผู้มีกำลัง ผู้ซึ่งธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้น โทษที่ลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ
บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของคนอื่นว่าเป็นคนโง่ เราเห็นประโยชน์ของความอดทนอย่างนี้ จึงเป็นผู้มีความอดทนต่อถ้อยคำหยาบของจอมอสูร โดยไม่รู้สึกว่าต้องอดทนอะไรเลย”
เราจะเห็นว่า แม้พระอินทร์ก็สรรเสริญขันติธรรมว่า เป็นกำลังอันประเสริฐ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จสมปรารถนาทุกอย่าง แม้ความอดทนที่เป็นเรื่องเฉพาะในปัจจุบันก็มีอานิสงส์มาก พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญไว้ว่า...
ดู ก่อน...ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนมี ๕ประการ คือ ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของชนหมู่มาก ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยเวร คือ ทำให้ไม่มีเวรมีภัยกับใคร ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ ย่อมเป็นผู้ไม่หลงทำกาละ เมื่อตายไปย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อย่างเดียว
เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนควรฝึกฝนกัน ให้ความอดทนเป็นคุณธรรมประจำตัว เป็นธรรมาภรณ์ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ให้เอาชนะคนมักโกรธด้วยการไม่โกรธ แล้วตัวเราก็อย่าได้เป็นคนมักโกรธด้วย อย่าได้มีเวรมีภัยต่อใคร และหมั่นฝึกฝนใจ ให้หยุดนิ่งจนกว่าจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เวปจิตติสูตร เล่ม ๒๕ หน้า ๔๖๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘