มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - ผู้ประมาทในวัย



มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
ผู้ประมาทในวัย

หากบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ พึงรักษาตนนั้นไว้ให้ดี
บัณฑิต ควรประคับประคองตนไว้ ในบรรดาวัยทั้ง ๓ อย่างน้อยที่สุด ก็รักษาตนไว้ในวัยใดวัยหนึ่ง

ร่างกายของคนเรา เป็นสิ่งสำคัญต่อการประกอบภารกิจการงาน จึงมีความจำเป็นจะต้องดูแล และชำระล้างให้สะอาดทุกวันด้วยน้ำ ฉันใด จิตใจก็จำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการเจริญภาวนา ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัท เจริญภาวนาอยู่ในหนทางสายกลาง ฝึกฝนใจให้ผ่องใสอันจะนำสุขมาให้ เป็นทางมาแห่งมหากุศล เป็นเครื่องนำสัตวโลกทั้งหลายไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และนำทุกชีวิตไปสู่เป้าหมายอันสูงสุด คือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน

มีพุทธพจน์บทหนึ่ง ในขุททกนิกาย ธรรมบท กล่าวว่า

อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺา รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ
ติณฺณมญฺตรํ ยามํ ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต

หากบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ พึงรักษาตนนั้นไว้ให้ดี
บัณฑิตควรประคับประคองตนไว้ ในบรรดาวัยทั้งสาม อย่างน้อยที่สุดก็รักษาตนไว้ในวัยใดวัยหนึ่งŽ

เมื่อมองไปรอบตัวทั่วทุกสารทิศ จะเห็นว่า ไม่มีใครที่จะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าตนเอง น้อยคนนักที่จะรักคนอื่นมากกว่ารักตน มนุษย์ทุกคนจึงพยายามแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองเสมอ

ช่วงชีวิตของทุกคนสามารถแบ่งได้เป็น ๓ วัย คือ ช่วงเป็นเด็ก ซึ่งช่วงนี้พ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญยิ่งเพราะอยู่ใกล้ชิด จึงควรอบรมสั่งสอน และเป็นต้นแบบในการทำตนให้เป็นคนดี สอนให้รู้จักทำบุญกุศล รักษาศีล นั่งสมาธิ ตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบโตขึ้น เด็กจะคุ้นกับการทำความดี และจะเป็นคนดีของสังคมต่อไป

ในมัชฌิมวัย คือ วัยกลางหรือวัยหนุ่มวัยสาว ซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต และสมองกำลังพัฒนากระตือรือร้น ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จึงเป็นวัยที่ควรได้ความรู้ที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต และรู้ว่าทำอย่างไรเรียกว่าความชั่ว ทำอย่างไรเป็นการทำความดี รู้เป้าหมายของการเกิดมาสร้างบารมี ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์จึงควรให้ความรู้และประคับประครองเด็กให้ใช้ชีวิต ช่วงนี้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด เนื่องจากมีสิ่งยั่วยุรอบตัวให้เด็กเขวไปทำสิ่งไม่ดีได้ง่ายๆ

วัยสุดท้าย คือ ปัจฉิมวัย เป็นวัยชราที่ความแข็งแรงของร่างกายเริ่มถดถอย มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือนบ่อยๆ แต่ถ้าหากเราตั้งใจจริงที่จะเรียนรู้ธรรมะและปฏิบัติตนตามคำสอนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ก็ถือว่ายังไม่สายเกินไป

เนื่องจากความตายไม่มีนิมิตหมาย เราจึงควรเร่งรีบขวนขวายในการทำความดีตั้งแต่วันนี้ ขณะยังแข็งแรงและมีโอกาสสร้างบารมี เพื่อลูกหลานจะได้ยึดถือเป็นแบบอย่างและประพฤติตาม

หากไม่ได้ทำความดีในวัยใดวัยหนึ่ง จะเป็นชีวิตที่สูญเปล่า เป็นโมฆะบุรุษ คือบุคคลผู้ว่างเปล่าจากความดี แม้จะมีอายุยืนยาวนาน แต่มิได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ชีวิตจึงเปรียบเหมือนจอกแหน หรือสวะลอยน้ำ ไหลไปอย่างไร้จุดหมายปลายทาง

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า พวกคนเขลา ไม่กระทำความดี ไม่ขวนขวายหาทรัพย์ในคราวเป็นหนุ่ม ย่อมซบเซา ดังนกกระเรียนแก่ ที่ซบเซาอยู่ในเปือกตมที่หมดปลา เขาย่อมนอนทอดถอนใจถึงทรัพย์เก่าที่หมดไปŽ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องของมหาเศรษฐีที่กลายเป็นยาจกว่า
*ในกรุงราชคฤห์ มหาเศรษฐีคนหนึ่ง มีทรัพย์มากถึง ๘๐ โกฏิ มีลูกชายคนเดียว เศรษฐีรักลูกคนนี้มาก ไม่อยากให้ลูกลำบาก จึงไม่ให้เรียนหนังสือ เพราะเห็นว่าลำพังเงินที่พ่อแม่หามาทั้งหมด รวมทั้งทรัพย์สมบัติประจำตระกูล คงพอที่จะให้ลูกอยู่อย่างมีความสุขไปตลอดชีวิต

เมื่อเติบโตขึ้น ได้แต่งงานกับลูกสาวของเศรษฐีอีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกัน เมื่อนำทรัพย์มารวมกัน จึงเป็นตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่งมาก วันเวลาที่ผ่านไป ทั้งคู่เอาแต่การขับร้องประโคมดนตรี เที่ยวเล่นสนุกสนานเฮฮา ไม่ได้สนใจเรื่องการทำมาหากิน เอาแต่ใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่าย ทำให้ทรัพย์หมดไปอย่างไร้ค่า หาสาระอันใดไม่ได้เลย

ต่อมา พ่อแม่ของทั้งสองได้ถึงแก่กรรม มหาสมบัติ ทั้งหลายจึงตกเป็นของลูกชายลูกสาวรวมเป็นทรัพย์มากถึง ๑๖๐ โกฏิ ซึ่งถ้าหากใช้จ่ายธรรมดา ตลอดชีวิตก็ใช้ไม่หมด แต่ลูกชายเศรษฐีกลับคบคนพาล ถูกหลอกให้ดื่มเหล้า บอกว่า นี่เป็นน้ำกระชับไมตรี มีรสชาติอร่อย ประดุจน้ำผึ้งŽ ลูกเศรษฐี อยากคบหาเพื่อน จึงลองดื่มดู เกิดติดใจในรสชาติ พวกนักเลงสุราพากันแกล้งประจบเพราะเห็นแก่ทรัพย์ จึงตั้งให้ลูกเศรษฐีเป็นหัวหน้าของพวกตน ตั้งแต่นั้นมา เขามีบริวารที่เป็นคนพาล ขี้เมา เอาแต่เที่ยวเตร่เฮฮา เล่นการพนัน เงินทองร่อยหรอไปเรื่อยๆ จนทรัพย์สมบัติหมดในเวลาเพียงไม่กี่ปี

เนื่องจากลูกชายเศรษฐีไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่รู้จักการทำมาหากิน จึงต้องขายที่นา ขายสวน สุดท้ายต้องขายบ้าน เพื่อนๆ ที่เคยเที่ยวด้วยกัน ค่อยๆ หายหน้า หมดไปพร้อมๆ กับมหาสมบัติ ๑๖๐ โกฏิ ในที่สุดไม่มีแม้ที่อยู่อาศัย ต้องเร่ร่อนขอทานเขากินไปวันๆ

วันหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตผ่านมา เห็นเขายืนอยู่ที่ประตูโรงฉัน คอยรับอาหารจากพระภิกษุสามเณร หลังจากพระพุทธองค์เสวยภัตตาหารแล้ว แย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ทูลถามถึงสาเหตุ พระพุทธองค์ตรัสว่า บุตรของเศรษฐีผู้นี้เคยมีทรัพย์มาก แต่ได้ผลาญสมบัติถึง ๑๖๐ โกฏิ พาภรรยาเที่ยวขอทานอยู่ในเมือง ถ้าเขาตั้งใจทำงานประกอบอาชีพสุจริตในปฐมวัย เขาจะได้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ ๑ ในเมืองนี้ และหากออกบวชจะบรรลุอรหัตผล แม้ภรรยาของเขาจักดำรงอยู่ในอนาคามิผล

ถ้าเขาไม่ผลาญทรัพย์ให้หมดไป ตั้งใจทำงานในมัชฌิมวัย จะได้เป็นเศรษฐีอันดับ ๒ หากออกบวช จะได้บรรลุอนาคามิผล แม้ภรรยาของเขาจะบรรลุสกิทาคามิผล

หากไม่ผลาญทรัพย์ให้สิ้นไป ไม่มัวประมาท ตั้งใจทำงานในปัจฉิมวัย เขาจะได้เป็นเศรษฐีอันดับ ๓ และหากออกบวชจะได้บรรลุสกิทาคามิผล แม้ภรรยาของเขาจักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แต่เดี๋ยวนี้บุตรของเศรษฐีได้เสื่อมแล้วจากโภคะของคฤหัสถ์ และเสื่อมแล้วจากสามัญญผล จึงเป็นเหมือนนกกระเรียนแก่ ในเปือกตมที่แห้งขอด ฉะนั้นŽ

ความประมาทมัวเมาในชีวิต และการคบคนพาลเป็นเพื่อน จะทำให้เราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปอย่างน่าเสียดาย สูญเสียทั้งโลกียทรัพย์ และโลกุตรทรัพย์ ดังนั้น คนมีปัญญาจึงไม่ประมาท แต่จะดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย คือ เกิดมาสร้างบารมี มีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย ถ้าหากเรารักตัวเองจริง ต้องไม่มัวเกียจคร้าน ไม่มีข้อแม้ ข้ออ้างและเงื่อนไขในการสร้างบารมี โดยเฉพาะความรักตนที่แท้จริงนั้น คือ ต้องไม่ประมาท ซึ่ง พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญความไม่ประมาทว่า

รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนั้นย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่า รอยเท้าช้าง เลิศกว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า ความไม่ประมาท เลิศกว่ากุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำ ให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘Ž

ฉะนั้น ผู้ที่รักตนอย่างแท้จริง ควรฝึกทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดของความไม่ประมาท หยุดใจไว้ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่าให้คลาดเคลื่อน เมื่อหยุดใจได้สนิท มรรคสมังคี คือ การประชุมกันของมรรคมีองค์ ๘ ก็บังเกิดขึ้น รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจะเห็นดวงปฐมมรรค กลม ใสสว่าง ปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดวงปฐมมรรค นี่แหละ คือ ต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

เมื่อเราดำเนินจิตเข้าสู่เส้นทางสายกลาง กลางของกลางเรื่อยไป เมื่อจิตยิ่งบริสุทธิ์มากขึ้น การรู้ การเห็น ก็ยิ่งละเอียดมากขึ้น เริ่มตั้งแต่เห็นแสงสว่าง เห็นดวง เห็นกายในกาย ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด เข้าไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจะเห็นเป็นองค์พระธรรมกาย เข้าถึงธรรมกายอรหัต เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายอรหัต ชัดใสแจ่มอยู่ภายใน เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงอย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักตนอย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. บุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก เลˆ่ม ๔๒ หน้‰า ๑๘๑

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘